ผู้ปิดทองหลังพระ

นาทีชีวิตของ “ผู้ปิดทองหลังพระ” ณ ปลายด้ามขวานไทย

นาทีชีวิตของ “ผู้ปิดทองหลังพระ” ที่ยินดีสละชีพเพื่อชาติ

เมื่อเสียงระเบิดดัง ความหวังในชีวิตของผู้ปิดทองหลังพระก็ดับลง เหมือนป๊อปปี้ดอกบางถูกบดขยี้ด้วยแรงระเบิด กลีบดอกยับเยินราวกับว่าจะไม่สามารถลุกขึ้นมาชูช่อรับแดดฝนอีกต่อไป

แต่นั่นไม่ใช่ธรรมชาติของดอกไม้ชนิดนี้…เจ้าดอกป๊อปปี้สีแดง

_mg_9728

 

“ป๊อปปี้”…จากแดนด้ามขวาน

_mg_9775-2

เช้าตรู่วันที่ 29 มกราคม 2552 ณ อำเภอเมือง จังหวัดยะลา ก่อนเสียงระเบิดจะดังขึ้น…

“ผมออกลาดตระเวนเส้นทางคุ้มกันครูตั้งแต่เช้าตรู่ วันนั้นหน่วยเราออกปฏิบัติหน้าที่กัน 5 นาย เรานั่งพักที่โต๊ะม้าหินอ่อนในเพิงสังกะสีเก่าๆ แห่งหนึ่ง ระเบิดถูกฝังอยู่ใต้ม้าหินอ่อนตัวนั้น…ตัวที่ผมนั่งพอดี

“ผมจำได้ว่าทันทีที่เพื่อนลุกเดินไปซื้อน้ำ ระเบิดลูกนั้นก็ทำงาน”

พลทหารต่วนอัมรัน กูโซะ หรือ พลทหารต่วน เติบโตตามวิถีไทยมุสลิมอยู่ที่อำเภอสุไหงปาดี จังหวัดนราธิวาส เมื่อถึงวันเกณฑ์ทหารต่วนในวัยยี่สิบเอ็ดปีตบเท้าสมัครเข้าร่วมกองทัพไทยโดยไม่รอจับใบดำใบแดง เขาประจำการอยู่ในค่ายทหารจังหวัดปัตตานีเป็นเวลาสองปีด้วยความที่พูดและฟังได้ทั้งภาษาไทยและยาวี ก่อนจะปลดประจำการเพียงไม่กี่เดือน พลทหารต่วนอัมรันตัดสินใจขออนุญาตนายลงไปปฏิบัติหน้าที่ภาคสนามที่จังหวัดยะลา

“ ‘ก๊ะ (พี่สาว) แถวนี้เป็นอย่างไรบ้าง’

ผมมักจะถามไถ่ชาวบ้านด้วยความสนิทสนม

‘ไม่ต้องห่วงหรอกน้อง แถวนี้สงบดี ไม่มีอะไรหรอก’

ชาวบ้านมักตอบกลับมาเช่นนี้ และผมก็เชื่อเช่นนั้นมาตลอด

กระทั่งวันที่ระเบิดลูกนั้นทำงาน…

ตูม! ผมใจหาย ตามองเห็นทุกอย่างเพียงรางๆ ขาทั้งสองข้างหมดความรู้สึก ผมพยายามใช้มือยันกายขึ้นมองสภาพตัวเอง…ขาผมขาดไปแล้ว

พลทหารต่วนมีสติรับรู้ความเจ็บปวดอยู่เพียงไม่กี่วินาที แต่เขายังจดจำถ้อยคำปลอบใจของเพื่อนทหารได้ “ทำใจดีๆ ไว้ ไม่ต้องไปมองหรอกต่วน มันเป็นไปแล้ว” ต่วนได้ยินประโยคนี้เป็นประโยคสุดท้ายก่อนจะสลบไปพร้อมกับความคิดที่ว่าตนเองคงได้ไปอยู่กับองค์อัลเลาะห์เป็นแน่

“ผมลืมตาอีกทีตอนบ่ายโมง พบว่าตัวเองยังไม่ตายก็จริง แต่ทุกอย่างในชีวิตได้สูญสลายไปพร้อมกับขาทั้งสองข้าง…ตอนนั้นผมอยากจะตายให้รู้แล้วรู้รอดไปเสียด้วยซ้ำ”

บาดแผลฉกรรจ์ที่ท่อนขาอาจไม่รุนแรงรวดร้าวเท่าบาดแผลที่หัวใจวินาทีนั้นพลทหารหนุ่มรู้สึกพ่ายแพ้ในสมรภูมิชีวิตอย่างราบคาบ เขาไม่มีแม้แต่ “ความหวัง” ซึ่งเป็นกำลังสำคัญในการประกาศชัยเหนือข้าศึกที่ชื่อว่า “ความท้อแท้”

แต่โชคดีเป็นของพลทหารต่วนก็ตรงที่…ในสมรภูมิที่ว่านี้เขาแพ้ไม่นาน

“ผมยิ้มได้อีกครั้งตอนเข้ามารักษาตัวที่โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้าซึ่งมีเจ้าหน้าที่คอยดูแลทั้งสุขภาพกายและสุขภาพใจ ผมได้ร่วมโครงการส่งเสริมอาชีพ ได้ร่วมโครงการเพื่อนช่วยเพื่อน ได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับคนพิการหลายคน ทำให้ผมมีกำลังใจ คนที่เป็นหนักกว่าเราเขายังอยู่ได้ แล้วทำไมเราจะอยู่ไม่ได้

“ผมพยายามทำให้ตัวเองมีความสุข เข็นรถไปคุยกับคนโน้นบ้างคนนี้บ้าง ว่างๆ ก็ร้องเพลง หรือไม่ก็เล่นอินเทอร์เน็ต”

ที่สำคัญคือ พลทหารหนุ่มวัยยี่สิบสามปีลุกขึ้นมาตั้งความหวังในชีวิตได้อีกครั้ง

“ผมหวังจะกลับมาเดินได้อีกครั้ง แม้ว่าอาจไม่เป็นปกติอย่างคนทั่วไป แต่ผมจะเข้มแข็ง จะพยายาม จะสู้เท่าที่จะสู้ได้

“ผมบอกตนเองเสมอว่า สำหรับทุกเรื่องราวที่เกิดขึ้นในชีวิต ทั้งในวันนั้นและในวันนี้…ผมจะพยายามทำให้ดีที่สุด”

แม้วันนี้ชีวิตของพลทหารต่วนจะถูกจำกัดพื้นที่อยู่แต่บนรถเข็น แต่คนไทยทุกคนรู้ดีว่ารถเข็นคันเล็กๆ นั้นได้บรรจุความภาคภูมิใจของพลทหารนายหนึ่งไว้อย่างเต็มเปี่ยม

“ภูมิใจนะครับ อย่างน้อยผมก็ได้ทำหน้าที่ทหารอย่างเต็มกำลังความสามารถ คนไทยหลายล้านคนอยู่รอดปลอดภัยเพราะทหารไทยอย่างเรา

“สำหรับทหารทุกนายที่ลงสนามปฏิบัติหน้าที่อยู่ในขณะนี้ ขอให้ทุกคนปกป้องประเทศของเราอย่างเข้มแข็ง ผมอยู่ทางนี้จะคอยเป็นกำลังใจให้ ถึงเราไม่ได้นับถือศาสนาเดียวกัน แต่ผมรักเมืองไทย รักคนไทย และอยากให้คนไทยทุกคนปลอดภัยนะครับ”

พลทหารต่วนอัมรัน กูโซะ จบประโยคนี้ด้วยรอยยิ้ม…เขารู้ดีว่ายิ้มครั้งนี้ยังมีริ้วรอยของความเศร้า แต่ก่อนจากกันเขาสัญญาหนักแน่นว่าจะยิ้มให้สดใสขึ้นในทุกๆ วัน และจะไม่ลืมมอบรอยยิ้มสดใสนั้น…ให้กับตัวเอง

 

“ป๊อปปี้”…จากถิ่นอีสาน

_mg_9745

บ่ายวันที่ 25 สิงหาคม 2552 ณ อำเภอยะรัง จังหวัดปัตตานี… ก่อนเสียงระเบิดจะดังขึ้น

“ผมและเพื่อนทหารพรานออกลาดตระเวนเส้นทางคุ้มครองครูตามปกติ แต่วันนั้นฝนตกหนัก เราจึงเข้าไปนั่งพักใต้ร่มไม้ โดยหารู้ไม่ว่าระเบิดถูกฝังอยู่ใต้พื้นดินห่างจากปลายเท้าผมไปเพียงไม่กี่เมตร

“ประมาณบ่ายสามโมงกว่าๆ มีรถเก๋งคันหนึ่งแล่นมาช้าๆ ผมยังเอ่ยปากเตือนเพื่อนว่า ระวังให้ดี รถเก๋งคันนี้ขับช้าผิดปกติ บอกเพื่อนเสร็จผมเดินออกจากร่มไม้ได้ไม่ถึงสามก้าว คนในรถเก๋งคันนั้นก็กดรีโมท สะเก็ดระเบิดกระเด็นเข้าที่ขาซ้ายผมเต็มๆ”

อาสาสมัครทหารพรานสุครีพ ภาโว มีภูมิลำเนาอยู่ที่อำเภอน้ำยืนจังหวัดอุบลราชธานี เดิมทีทหารพรานนายนี้ประจำการอยู่ที่ค่ายทหารแถบอีสาน ก่อนจะลาออกและสมัครเข้ารับใช้ชาติอีกครั้งเมื่ออายุสี่สิบต้นๆ

เขาเจาะจงลงไปประจำการที่จังหวัดปัตตานี…ด้วยเหตุผลที่ใครได้ฟังก็ต้องยกนิ้วให้…ใจมันเอาซะอย่าง

“อีสานบ้านเราไม่มีศึกแล้ว จะมีก็แต่ทางใต้ที่ยังมีปัญหา ด้วยความที่เราเป็นทหารมาทั้งชีวิต พอรู้ว่าที่นั่นต้องการทหาร เราก็สมัครใจอาสาลงไปทันที”

ทหารพรานลูกข้าวเหนียวปฏิบัติหน้าที่ในจังหวัดปัตตานีได้ไม่ถึงปีก็ถูกระเบิด…ระเบิดลูกนั้นทำให้ขาซ้ายของเขาไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป

“ผมกระเด็นไปประมาณสามเมตรด้วยแรงระเบิด ในวินาทีนั้นผมคว้าปืนมาตั้งท่าจะยิง แต่ปืนเกิดขัดข้องเสียก่อน คนร้ายบนรถเก๋งคันนั้นขยับจะลงมาซ้ำผมให้ตาย แต่คงเห็นว่าผมยังมีสติ จึงรีบบึ่งรถหนีไป

“ผมรับรู้ความเจ็บปวดได้ทุกวินาที ขาซ้ายทั้งเจ็บทั้งปวดเพราะกระดูกหักสองท่อน กระทั่งถึงโรงพยาบาลยะลา หมอให้ดมยาสลบนั่นแหละ ความเจ็บปวดถึงได้บรรเทา

“ผมพักรักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาลยะลาได้ระยะหนึ่ง ก่อนเข้ามารักษาตัวที่โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้าแพทย์พบว่าบาดแผลติดเชื้อ…ต้องตัดขาข้างซ้ายอย่างไม่มีทางเลือก”

ชีวิตของทหารนายหนึ่งไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป จากที่เคยแบกปืนกระบอกละหลายกิโลกรัมวิ่งรอบสนามวันละหลายรอบ แต่ในวันนี้… เวลานาทีส่วนใหญ่ของอาสาสมัครทหารพรานสุครีพถูกใช้บนเตียงพยาบาลและห้องกายภาพบำบัด

เขามีสิทธิ์จะร้องไห้ฟูมฟายให้แก่โชคชะตาที่โหดร้าย…แต่ชายชาติทหารนายนี้ไม่ขอใช้สิทธิ์นั้น

“ผมเชื่อว่าทหารทุกนายต่างพร้อมใจพร้อมกายเข้าปฏิบัติหน้าที่ จะศึกนี้หรือศึกไหน ผมเชื่อว่าทหารทุกนายพร้อมรบเสมอ

“ถ้าใจไม่เกินร้อย คงไม่มีใครกล้ามาเป็นทหารหรอกจริงไหม”

ไม่นึกเสียใจกับสิ่งที่ผ่านมา ไม่นึกเสียดายกับสิ่งที่ผ่านไป สำหรับชีวิตของนายทหารคนหนึ่งที่ผ่านมาหลายสมรภูมิ…เขามีดวงตาไว้เพื่อมองไปข้างหน้าเท่านั้น

“ผมว่าตัวเองโชคดีด้วยซ้ำที่ได้กลับมาเห็นหน้าลูกเมีย ไม่ต้องห่มธงชาติกลับบ้าน จากนี้ไม่นานผมใส่ขาเทียมแล้วก็คงได้กลับไปอยู่บ้านเลี้ยงหลานตามประสา

“นึกถึงเหตุการณ์วันนั้นขึ้นมาผมก็ยังใจหายอยู่บ้าง แต่โล่งใจที่ทีมลาดตระเวนวันนั้นไม่มีใครได้รับบาดเจ็บหนักหนาอะไร สะเก็ดระเบิดกระเด็นมาทางผมพอดี รับไปคนเดียวเต็มๆ เลย

“แต่ไม่เป็นไร แค่นี้ยังไม่ตายหรอก” (หัวเราะ)

เมื่อเสียงระเบิดดัง ความหวังในชีวิตของใครหลายคนก็ดับวูบลงพวกเขาจมดิ่งไปกับความเจ็บปวดทรมาน พวกเขาบอบช้ำเหมือนดอกป๊อปปี้ที่ถูกบดขยี้ให้จมดิน ทว่าเมื่อสิ้นเสียงกัดฟันร้องด้วยความเจ็บปวด…ความหวังจะถูกปลูกขึ้นอีกครั้ง ครั้งนี้มันจะผลิบานสดสะพรั่งไม่ต่างจากดอกป๊อปปี้ยามชูช่อรับน้ำฝน…

ราวกับจะให้คนทั้งโลกรู้ว่า แท้จริงแล้ว…ธรรมชาติกำหนดมาให้ป๊อปปี้เป็นพืชล้มลุก!

ป๊อปปี้สีแดง

ดอกป๊อปปี้สีแดง (Flanders Poppy) ถูกกำหนดให้เป็นสัญลักษณ์ของทหารผ่านศึก เพื่อระลึกถึงทหารฝ่ายสัมพันธมิตรในเหตุการณ์สงครามโลกครั้งที่หนึ่ง ซึ่งเสียชีวิตไปเป็นจำนวนมากในการรบที่ทุ่ง Flanders ทางตอนใต้ของประเทศเบลเยียม

สำหรับประเทศไทยนั้น หลังสงครามโลกครั้งที่สอง หรือสงครามมหาเอเชียบูรพาสิ้นสุดลง กระทรวงกลาโหมได้เสนอพระราชบัญญัติจัดตั้งองค์การสงเคราะห์ทหารผ่านศึกขึ้น และได้รับประกาศไว้ในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2491 นับแต่นั้นจึงถือเอาวันที่ 3 กุมภาพันธ์ ของทุกปีเป็นวันทหารผ่านศึก โดยมีดอกป๊อปปี้สีแดง เป็นสัญลักษณ์

เรื่อง อิสระพร บวรเกิด / ภาพ อนุพงศ์ เจริญมิตร

Posted in MIND
BACK
TO TOP
cheewajitmedia
Writer

© COPYRIGHT 2024 Amarin Corporations Public Company Limited.