บทความให้กำลังใจ

บทความให้กำลังใจ “ป่วยกายแต่ใจไม่ป่วย” เรื่องเล่าของผู้ป่วยระยะสุดท้าย

บทความให้กำลังใจ เรื่องจริงของผู้ป่วยระยะสุดท้าย

บทความให้กำลังใจ ต่อไปนี้ เป็นเรื่องของความงดงามและเข้มแข็งของจิตใจมนุษย์ที่ไม่ย่อท้อต่ออุปสรรค ในที่นี้คือความเจ็บป่วยทั้งหลาย ไม่จำนนต่อความทุกข์ที่ธรรมชาติมอบให้ แต่กลับพัฒนาและยกระดับจิตใจให้แกร่งเกินกาย เอาชนะโรคและอุปสรรคด้วยหลักยึดที่ว่า “แม้กายของฉันป่วยหรือทุกข์ร้อนเพียงใด แต่ใจของฉันจะไม่ป่วยไปด้วย”

บ่อยครั้งที่ผมลืมไปเลยว่า คุณอาสมนึก เป็นโรคไตวายเรื้อรังระยะสุดท้าย ต้องรักษาด้วยการบำบัดทดแทนไต หรือที่เราเรียกกันด้วยภาษาง่าย ๆ ว่า “ฟอกไต” ท่านมักทักทายผมด้วยสีหน้าร่าเริง ส่งยิ้มให้ตลอด บางครั้งมีปล่อยมุกขำขันให้หัวเราะเล่นเป็นครั้งคราวแต่สิ่งที่หน้าทึ่งก็คือ นอกจากท่านป่วยเป็นโรคไตแล้ว ยังเป็นโรคลิ้นหัวใจรั่วจนต้องผ่าตัดเปลี่ยนลิ้นหัวใจหลายครั้ง และต้องรับประทานยาละลายลิ่มเลือดต่อเนื่องหลังผ่าตัด หลังจากรับประทานยานี้ได้ไม่นาน ก็มีภาวะเลือดออกในสมอง เนื่องจากระดับยาเกินขนาด พอรักษาฟื้นตัวได้ไม่นานก็เกิดอาการข้ออักเสบจากโรคเกาต์กำเริบ เจ็บปวดทุรนทุรายอยู่หลายวัน ก่อนกลับมาร่าเริงใหม่

หลังจากนั้นท่านก็มีภาวะหัวใจล้มเหลวจนต้องรักษาตัวในหอผู้ป่วยวิกฤติอยู่เป็นสัปดาห์ แต่กระนั้นก็ตาม จะว่าไปแล้วพวกเราจะได้เห็นคุณอาสมนึกตอนป่วยหนักนอนโรงพยาบาลนี่ละครับ เพราะเวลาที่ท่านอาการดี ๆ ก็มักออกตะลุยเที่ยวเปลี่ยนบรรยากาศตามจังหวัดต่าง ๆ จะว่าไปแล้วท่านคงอยากทยอยตรวจเช็กประสิทธิภาพของเครื่องฟอกไตให้ครบทั่วทุกจังหวัดก็ว่าได้ (อันหลังนี้ผมชอบแซวท่านเล่นน่ะครับ)

ผมเคยถามเคล็ดลับความใจสู้ของท่าน คุณอาบอกว่า “จริง ๆ ก็อยากจะไปหลายครั้งแล้วนะหมอ ยิ่งย้อนหลังไปเจ็ดแปดปีก่อนนี่ เรื่องฟอกไตสมัยนั้นลำบากมาก มีเครื่องน้อยต้องเดินทางมาทำไกล ๆ บางครั้งต้องเสียเงินเพิ่มอีก ผมคิดในใจแต่เพียงว่า เอาน่า อยู่อีกหน่อย รอให้ลูกชายเรียนจบมหาวิทยาลัยเสียก่อนค่อยว่ากัน”

“อ้าว ตอนนี้ลูกชายคุณอาเรียนจบแล้วนี่ครับ ต้องเจ็บป่วยหนัก ๆ อีกหลายครั้งไม่ท้อหรือครับ ทำไมถึงผ่านมาได้ครั้งแล้วครั้งเล่าล่ะครับ” ผมถามด้วยความสงสัย

“ผมก็คิดใหม่อีกว่า สู้อีกหน่อย อยากเลี้ยงหลาน แล้วก็คิดถึงภรรยาด้วย อยู่ดูแลกันมานาน เลยเอาเธอมาเป็นกำลังใจ ไม่อยากจากไปเร็วน่ะครับ” แล้วท่านก็หัวเราะพอใจในคำตอบสุดหวาน

คุณอาสมนึกมักได้รับการกล่าวถึงบ่อย ๆ เวลามีผู้ป่วยโรคไตวายที่ต้องเริ่มฟอกไต ประวัติการต่อสู้กับความเจ็บป่วยสารพัดโรคของท่าน มักเป็นตัวอย่างที่ดีให้ผู้ป่วยท่านอื่นใจชื้นลุกขึ้นต่อสู้ตามท่าน ตัวท่านเองก็มักปลอบใจและแนะนำคนอื่นด้วยสีหน้ายิ้มแย้ม โดยที่พวกเรารู้ดีว่าภายใต้ใบหน้าที่ยิ้มแย้มแจ่มใสนั้นผ่านการอดทนต่อสู้กับอุปสรรคมานับไม่ถ้วน

หากเรามองเหตุผลของคุณอาสมนึกให้ดีแล้ว เรื่องที่ทำให้ท่านยังอยากหายใจและใช้ชีวิตต่อไปทั้ง ๆ ที่ร่างกายเป็นแหล่งรวมโรคเรื้อรังก็คือ ท่านยังอยากมีชีวิตต่อไปเพื่อจะได้เห็นคนที่ท่านรัก ท่านมีคนที่ท่านรักเป็นหลักยึดที่เข้มแข็งภายในใจ ได้เห็นและได้อยู่ใกล้ ๆ คนที่รักจึงทำให้มีความสุข ความสุขที่เกิดขึ้นคือที่มาของพลังชีวิตมากมาย สิ่งนี้จึงถือได้ว่าเป็นข้อคิดของคนที่กำลังเจ็บป่วยและท้อแท้ การหาหลักยึดที่ดีงาม มั่นคงไม่ว่าจะเป็นบุคคล งาน หรือกิจกรรมใด ๆ ล้วนเป็นสิ่งที่ให้กำลังใจเราได้อย่างมหาศาล มอบพลังชีวิตแก่เราได้ไม่สิ้นสุด

ครั้งหนึ่งสมัยพุทธกาล พระพุทธเจ้าเคยตรัสก่อนที่จะเสด็จปรินิพพานว่า จริง ๆ แล้วพระองค์สามารถทรงดำรงขันธ์อยู่ต่อได้ไปจนชั่วอายุกัลป์ (ในที่นี้คือหนึ่งชั่วอายุคน หรือประมาณหนึ่งร้อยปี) ด้วยการบำเพ็ญอิทธิบาทอันเริ่มด้วย ฉันทะ คือมีความพอใจและต้องการอย่างเต็มที่ที่จะอยู่ต่อเพื่อทำสิ่งที่ดีงาม ซึ่งในที่นี้คือ อยู่ต่อเพื่อเผยแผ่คำสอนที่พระองค์ทรงค้นพบ แต่พระองค์ทรงพิจารณาแล้วว่า พระพุทธศาสนาในขณะนั้นมั่นคงมากดีแล้ว ไม่ต้องทรงกังวลแล้ว พระองค์จึงเสด็จดับขันธปรินิพพาน

เคล็ดลับในการหาหลักยึดที่มั่นคง ดีงามไว้นี้ มีประโยชน์อย่างยิ่งในการช่วยสร้างฉันทะคือความต้องการ ความปรารถนาในการอยากมีชีวิตอยู่เพื่อทำสิ่งที่ดีงามตามที่ตนยึดไว้นั้นต่อไป

และยังช่วยสร้างกำลังใจในการต่อสู้กับโรคร้ายหรือปัญหาและอุปสรรคต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในระหว่างที่เรากำลังทำในสิ่งที่ต้องการนั้น จนกระทั่งสำเร็จตามที่มุ่งหวังไว้

 

บทความนี้เคยตีพิมพ์ในนิตยสาร Secret ฉบับที่ 185

คอลัมน์ HEALING STORY เรื่อง เหตุผลที่ทำให้ยังมีแรงหายใจ (ตอนที่ 1)

เขียนโดย นายแพทย์ชวโรจน์ เกียรติกำพล

Image by Free-Photos from Pixabay

Secret Magazine (Thailand)

IG @Secretmagazine

© COPYRIGHT 2024 Amarin Corporations Public Company Limited.