ซาตาน

True story: ซาตาน ในเครื่องแบบสีขาว

True story : ซาตาน ในเครื่องแบบสีขาว

ฉันมีอาชีพเป็นหมอ และเป็นลูกสาวคนเดียวของพ่อแม่ซึ่งเป็นหมอทั้งคู่ ท่านไม่เพียงแต่เลี้ยงดูฉันอย่างดีที่สุดแต่ยังทำให้เชื่อเสมอมาว่า คนเป็นหมอต้องเป็นแบบอย่างให้กับคนทั่วไป เพราะสำหรับคนไข้ส่วนใหญ่หมอก็แทบไม่ต่างจากเทวดา ฉันเห็นพ่อแม่เป็นหมอที่เก่งเป็นมนุษย์ที่ประเสริฐและเชื่อว่าหมอส่วนใหญ่…ตีเสียว่า 95 เปอร์เซ็นต์ต้องเป็นหมอที่ดีเหมือนท่าน

ในปีที่สองหลังเรียนจบจากคณะแพทยศาสตร์จากมหาวิทยาลัยเอกชนแห่งหนึ่ง ฉันก็ไปเป็นหมออินเทิร์นที่โรงพยาบาลประจำอำเภอ ในจังหวัดหนึ่งทางภาคอีสาน โรงพยาบาลแห่งนี้มีประมาณ 60 เตียง มีหมอประจำราว 6-7 คน ซึ่งเล็กกว่าโรงพยาบาลประจำจังหวัดที่ฉันเคยทำงานมาเมื่อปีก่อน โดยปกติโรงพยาบาลชุมชนจะรับตรวจรักษาโรคทั่วไป เช่น ปวดหัว ตัวร้อน หรือทำการผ่าตัดที่ไม่เฉพาะทางมากนัก แต่ถ้าเป็นเคสใหญ่ๆ เราจะ “เรเฟอร์” ซึ่งหมายถึงการส่งตัวคนไข้ไปรักษาต่อที่โรงพยาบาลประจำจังหวัด เนื่องจากที่นั่นมีหมอเฉพาะทางมากกว่าและมีเครื่องมือที่พร้อมสำหรับทำการรักษามากกว่า จะว่าไปแล้วงานที่นี่เบากว่างานที่เคยทำสมัยอยู่ที่โรงพยาบาลจังหวัดมาก แต่ฉันกลับได้พบประสบการณ์เลวร้ายจากที่นี่

เรื่องที่จะเล่าต่อไปนี้เป็นเรื่องส่วนตัวก็จริง แต่มีหลายแง่มุมที่สะท้อนให้เห็นถึงความเหลวแหลกของระบบการบริหารงานภายในโรงพยาบาลแห่งนี้ เมื่ออ่านจบ คุณไม่จำเป็นต้องเชื่อฉันก็ได้ แค่เก็บเฉพาะส่วนที่เป็นประโยชน์ไว้กับตัวคุณก็พอ

คนที่สร้างประสบการณ์อันเลวร้ายให้กับฉันคือผู้อำนวยการซึ่งเป็นคนที่มีอำนาจสูงสุดในโรงพยาบาล ผอ.งานที่โรงพยาบาลแห่งนี้มานานกว่า 30 ปีแล้ว ถ้าดูจากบุคลิกภายนอกเขาแทบไม่ต่างจากครูบาอาจารย์ที่น่าเลื่อมใส ผอ.เป็นคนร่างเล็กวัย 60 กว่าๆ สวมแว่นตา และพูดจาไพเราะมาก

แต่หลังจากทำงานไปสักพัก ฉันก็เริ่มเห็นความไม่ชอบมาพากลหลายอย่าง เช่น การใช้เงินหลวงกับเรื่องส่วนตัวอย่างหน้าตาเฉย การยุแยงให้หมอแตกคอกันเอง ฯลฯ ซึ่งกรณีหลัง ทั้งฉันและเพื่อนหมอด้วยกันเห็นบ่อยจนมองเป็นเรื่องขำ (ตราบเท่าที่ไม่เกี่ยวข้องกับตัวเอง) หมอและพยาบาลที่อยู่มานานชาชินกับพฤติกรรมของ ผอ.กันทุกคน และไม่มีใครกล้าทักท้วงหรือต่อต้าน

ฉันเองเป็นหมอที่เพิ่งเรียนจบมาได้ปีเดียว จึงยิ่งต้องพยายามเก็บปากเก็บคำ ทั้งที่จริงๆ แล้วรู้สึกตกใจทุกครั้งเวลาที่เห็น ผอ.รักษาคนไข้โดยไม่อิงตามหลักวิชาการ แต่จะใช้ความเคยชิน ซึ่งหลายครั้งทำให้คนไข้ตกอยู่ในอันตราย

ยกตัวอย่างเช่น คนไข้เข้าโรงพยาบาลเพื่อผ่าตัดไส้ติ่ง แต่ผอ.กลับไปตัดส่วนติ่งของลำไส้ใหญ่และเย็บแผลไม่สนิท ทำให้อุจจาระกระจายเต็มท้องคนไข้ และต้องผ่าตัดอีกครั้ง หรือคนไข้มาโรงพยาบาลเพราะเหนื่อย เมื่อเอกซเรย์ก็เห็นปอดบางส่วนเป็นสีขาวซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของมะเร็ง แต่ ผอ.กลับสั่งยาวัณโรคให้คนไข้ กว่าคนไข้จะรู้ตัวว่าเป็นมะเร็งปอด เวลาก็ผ่านไปถึงเก้าเดือนแล้ว!

อย่างไรก็ตาม ทั้งที่ไม่ชอบแต่สิ่งที่ฉันทำก็ไม่ต่างจากหมอและพยาบาลคนอื่นๆ คือ “ไม่พูดดีกว่า พูดไปใครจะเชื่อผอ.ทำงานมานาน มีเพื่อนเป็น ผอ.โรงพยาบาลทั่วทั้งจังหวัด เพื่อนบางคนก็เป็นตำรวจชั้นผู้ใหญ่ เป็นนักการเมืองท้องถิ่น…ไม่มีใครทำอะไรเขาได้” ตราบใดที่ยังไม่ใช่เรื่องคอขาดบาดตาย พวกเราก็กล้ำกลืนกันไป

กระทั่งวันหนึ่งมีคนไข้อายุ 18 ปีมาแอดมิตเพื่อรับการผ่าตัดขริบปลายอวัยวะเพศ ซึ่งจริงๆ เป็นหน้าที่ของหมอแผนกศัลยกรรมทางเดินปัสสาวะ แต่ ผอ.กลับขอทำแทน ทั้งที่ตัวเองไม่มีความชำนาญ พอผ่าเสร็จไม่นาน ปรากฏว่าคนไข้มีอาการบวมอย่างรุนแรงที่แผลผ่าตัด (ทราบภายหลังว่าเป็นเพราะเย็บแผลไม่เรียบร้อย) ตอนนั้นฉันขึ้นเวรพอดี จึงโทรศัพท์ไปปรึกษารุ่นพี่ที่เป็นศัลยแพทย์ทางเดินปัสสาวะ ซึ่งประจำอยู่ที่โรงพยาบาลจังหวัด รุ่นพี่ตกใจมาก รีบบอกให้ฉันเรเฟอร์คนไข้ทันที เขาสำทับว่า “ไม่เช่นนั้น…เป็นเดชไอ้ด้วนแน่น้อง”

ฉันทราบดีว่าในการรักษาคนไข้จะมีช่วงเวลาสำคัญที่เรียกว่า Golden Period ซึ่งหมายถึงช่วงที่เหมาะในการทำการรักษา ถ้าเลยจากเวลานี้ไปแล้ว อาจรักษาไม่ได้ หรือต้องใช้วิธีซับซ้อนขึ้น หรือมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้น ฉันไม่สามารถติดต่อผอ.ได้ในเวลานั้น และด้วยความกลัวว่าคนไข้จะเป็นอันตรายจึงรีบเรเฟอร์ทันที

วันรุ่งขึ้น พอ ผอ.รู้ว่ามีการส่งตัวคนไข้ ก็ไม่พอใจมากต่อว่าฉันว่าสั่งการข้ามหน้าข้ามตาเขา ซึ่งฉันก็ก้มหน้ารับความผิดแต่โดยดี ไม่น่าเชื่อว่านี่เป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้เขาตั้งป้อมเป็นศัตรูกับฉันทันที!

นอกจาก ผอ.จะเห็นฉันเป็นศัตรูแล้ว หัวหน้าพยาบาลก็ไม่ชอบหน้าฉันอย่างแรง โดยที่สมองอันอ่อนด้อยของฉันก็ไม่เข้าใจสาเหตุ เมื่อทั้ง ผอ.และหัวหน้าพยาบาลไม่ชอบฉันทั้งคู่ แม้แต่นิสัย การแต่งตัว หรือกิริยาเล็กๆ น้อยๆ ก็กลายเป็นหัวข้อของการนินทาได้ ฉันโดนนินทาว่าเป็นหมอที่แต่งตัวจัด เพียงเพราะฉันแต่งหน้าและชอบใส่เสื้อผ้าเข้าชุดกันมาทำงานหรือการที่ฉันเป็นคนพูดเสียงดัง ก็นินทาว่าฉันชอบตวาดคนไข้…

ฉันรู้ตัวว่าฉันอายุยังน้อย อาจมีนิสัยบางอย่างที่ทำให้คนอื่นระคายใจ สิ่งไหนที่พอสังเกตเห็นได้เอง ฉันก็พยายามปรับตัว แต่ดูเหมือนว่าทั้ง ผอ.และหัวหน้าพยาบาลจะไม่ให้โอกาสฉันเลย เรื่องที่ไม่เป็นเรื่องจึงกลายเป็นเรื่องขึ้นมา เรื่องเล็กๆ ก็กลายเป็นเรื่องใหญ่ แต่ก่อนคนที่ตกเป็นหัวข้อของการนินทาจะมีการสลับสับเปลี่ยนกันไป แต่มาระยะหลังฉันได้ครองตำแหน่งนี้อย่างถาวร

เกือบหนึ่งปีที่ฉันประจำอยู่ที่นั่น ฉันมักมาทำงานเป็นคนแรกและกลับเป็นคนสุดท้าย ไม่เคยมาสายเลยแม้แต่ครั้งเดียว แต่ ผอ.กลับใส่ความว่าฉันขี้เกียจ และใช้เรื่องนี้เป็นข้ออ้างในการไม่ปรับขั้นให้ฉัน เวลาปรับทุกข์กับพ่อแม่หรือเพื่อนๆ ฉันบอกพวกเขาว่า “บ้านเรารวย ฉันไม่แคร์หรอก” แต่ในใจจริงๆ นั้น ฉันรู้สึกผิดหวัง อับอาย และเสียใจมาก…ความรู้สึกด้านลบประดังประเดกันเต็มไปหมด

ที่สำคัญ เรื่องราวทั้งหมดที่เล่ามานี้ไม่ได้พูดกันเฉพาะในโรงพยาบาลเท่านั้น แต่ ผอ.ถึงกับนำเรื่องของฉันไปเล่าในที่ประชุมผู้อำนวยการโรงพยาบาลประจำปีด้วย

ทีแรกฉันก็ไม่เชื่อว่าลำพังคำพูดของ ผอ.คนเดียวจะทำให้ผอ.ทั้งจังหวัดเชื่อ แต่เอาเข้าจริงๆ ส่วนใหญ่กลับเชื่อ เว้นแต่อาจารย์หมอที่รู้จักกับฉันเป็นการส่วนตัว ในวงการหมอของจังหวัดนั้น ฉันจึงกลายเป็นที่รู้จักในฐานะหมอเด็กที่อวดดี ไม่มีวุฒิภาวะ ควบคุมอารมณ์ตัวเองไม่ได้ และเป็นหมอที่ทุกคนในโรงพยาบาลเกลียดชัง!

จากวันแรกที่ฉันเห็น ผอ.เป็นหมอที่ใจดี ถึงตอนนี้ ทั้งจากสิ่งที่เขาทำกับฉัน รวมถึงสิ่งที่เขาทำกับคนไข้ ทุกครั้งที่ฉันเห็นหน้าเขา ฉันก็รู้สึกเหมือนเห็นซาตาน และแล้วเหตุการณ์ร้ายแรงที่สุดก็เกิดขึ้น…คนไข้หญิงรายหนึ่งมาโรงพยาบาลด้วยอาการจามบ่อย ไอ มีเสลด เมื่อเอกซเรย์ก็ไม่พบสัญลักษณ์ของวัณโรค แต่ ผอ.กลับสั่งยาวัณโรคให้คนไข้ โดยให้เหตุผลว่ากินกันไว้ก่อน! ในความเป็นจริง ยาวัณโรคเก้าเม็ดที่คนไข้ต้องกินทุกวันติดต่อกันเป็นเวลาอย่างน้อยหกเดือนนั้นเป็นยาที่กินเพื่อรักษา ไม่ใช่กินเพื่อป้องกัน หนำซ้ำยาชุดนี้มีผลข้างเคียงรุนแรงมาก ทำให้ตับอักเสบได้ง่าย หลังจากคนไข้รายนี้กินยาไปนานสามเดือน เธอก็กลับมาที่โรงพยาบาลอีกครั้ง ซึ่งวันนั้นตรงกับเวรของฉันพอดี เมื่อฉันเช็กประวัติ ก็เห็นว่าคนไข้น่าจะเป็นภูมิแพ้ไม่ใช่วัณโรค จึงแจ้งให้ ผอ.ทราบเพื่อขอหยุดยา ผอ.กลับไม่ยอมยืนยันให้คนไข้กินยาต่อจนครบคอร์ส

ไม่นานคนไข้ก็กลับมาที่โรงพยาบาลอีกครั้งด้วยอาการตัวเหลือง ฉันจึงส่งตัวเขาไปที่โรงพยาบาลประจำจังหวัด ทว่าเพียงไม่กี่ชั่วโมง รุ่นน้องก็โทร.มาบอกว่าคนไข้มาถึงโรงพยาบาลไม่นานก็สิ้นลม

เวลานั้นฉันรู้สึกใจหาย เพราะแม้ว่าการตายของคนไข้จะไม่ได้เกี่ยวกับฉันเสียทีเดียว แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่าฉันก็มีส่วนรับผิดชอบ จนถึงวันนี้ฉันยังอดคิดไม่ได้ว่า ถ้าฉันบอกเขาไปตามตรงว่า “เลิกกินยาเถอะค่ะ มันอันตราย ไปหาหมอโรงพยาบาลอื่นเถอะ” เขาจะรอดหรือไม่…คิดให้ดีแล้วถ้า ผอ.เป็นซาตาน ฉันก็คงไม่ต่างจากผู้สมรู้ร่วมคิด

แล้วชีวิตก็ดำเนินต่อไป ความวุ่นวาย ความสับสน และความเร่งด่วนในโรงพยาบาลทำให้ฉันไม่ต้องหยุดคิด แต่ละวันฉันทำงานตามหน้าที่ไป คอยหลบหน้า ผอ.และหัวหน้าพยาบาลไป วันไหนมีเรื่องเดือดร้อนใจ ก็โทรศัพท์ไปร้องไห้กับพ่อแม่และเพื่อนๆ

และแล้วขณะที่ยังไม่รู้ว่าควรทำอย่างไรต่อไปกับชีวิต ฉันก็ทำงานพลาดเข้าจนได้!

มีคนไข้รายหนึ่งมาโรงพยาบาลครั้งแรกเนื่องจากอุบัติเหตุ ครั้งนั้นฉันจำเป็นต้องเรเฟอร์เขาไปที่โรงพยาบาลประจำจังหวัดซึ่งทำให้เขาไม่พอใจมาก ชี้หน้าด่าฉันอย่างรุนแรง หลังจากนั้นไม่รู้ด้วยเหตุผลกลใด เขากลับมาหาฉันอีก บอกว่ามีอาการเหนื่อยหอบ ครั้งนี้ฉันพลาดตรงที่คิดว่าเขาไปโรงพยาบาลจังหวัดมาแล้ว และเพราะเขาไม่ได้บอกว่าเจ็บมาก ฉันจึงไม่ได้สั่งเอกซเรย์ซ้ำ ได้แต่ให้ยาระงับอาการกลับไปกิน

แต่ทว่าหลังออกจากโรงพยาบาล เขาก็ไปหาหมออีกโรงพยาบาลหนึ่ง เอกซเรย์พบว่ามีซี่โครงหักทิ่มปอด กลายเป็นว่าฉันวินิจฉัยผิดพลาด เขาเข้าไปโพสต์ด่าฉันต่างๆ นานาในอินเทอร์เน็ต เมื่อหัวหน้าพยาบาลเห็น ก็พริ้นต์ให้ ผอ.อ่านและแล้วโดยไม่มีการตรวจสอบแต่อย่างใดทั้งสิ้น ผอ. เรียกฉันไปด่าแบบไม่ยั้ง ตบท้ายด้วยการลุกขึ้นตวาดใส่หน้าว่า “คุณจะทำยังไงก็ได้ แต่ช่วยไปให้พ้นๆ หน้าผมที”

เขาทำราวกับฉันไม่มีชีวิตจิตใจ เป็นแค่เพียงเศษขยะชิ้นหนึ่ง วินาทีที่เขาออกปากไล่ ฉันไม่รู้ว่าขวัญกำลังใจหลุดลอยไปไหน หน้าฉันชา ตัวฉันสั่นไปหมด ในแง่หนึ่งฉันก็เป็นเหมือนคนที่ทำผิดแล้วถูกจับได้ ฉันต่อว่าตัวเองที่ไม่ละเอียดกว่านี้ ไม่อดทนกว่านี้…อีกแง่หนึ่งก็ต้องการความยุติธรรมบ้างเพราะในการตรวจรักษา ถ้าคนไข้ไม่ให้ความร่วมมือ หมอก็ยากจะวินิจฉัยเหมือนกัน ฉันอาจไม่ใช่หมอที่เก่ง แต่ก็ไม่เคยทิ้งคนไข้…แวบหนึ่งฉันรู้สึกเสียใจในชะตาชีวิตของตัวเองที่ต้องมาเจอผู้บังคับบัญชาที่ไม่เคยคิดจะปกป้องลูกน้อง อีกแวบหนึ่งก็แค้นจนอยากจะฆ่าเขาให้ตาย ที่ทำให้ฉันต้องมาใช้ชีวิตราวกับในละครน้ำเน่า ต้องตกเป็นขี้ปากชาวบ้านไปทั่วทั้งจังหวัด

อย่างไรก็ตาม พอพ่อของฉันทราบเรื่อง ก็เดินทางมาขอพบ ผอ.ทันที ตอนแรกเขาไม่ยอมให้พบ สุดท้ายพอได้พบกันเขาก็บอกกับพ่อของฉันว่า ลูกสาวของท่านเป็นหมอที่แย่มากไม่มีใครชอบ ไม่มีใครต้องการ ซ้ำยังบอกว่าชาวบ้านกำลังจะรวมตัวประท้วงขับไล่ฉันอยู่แล้ว (ตอนหลังพ่อสืบพบว่า ผอ.หาทางจ้างชาวบ้านมาถือป้ายไล่ฉันจริงๆ) พ่อนั่งฟังเขาเล่าเกือบหนึ่งชั่วโมงโดยไม่เถียงไม่โต้ตอบ เมื่อเขาเล่าจบ พ่อก็บอกกับ ผอ.ว่า “ขอบคุณนะครับที่เล่าให้ฟัง แต่ผมไม่เชื่อคุณเลยสักคำเดียว”

ฉันเข้าใจว่าพ่อแม่ทุกคนย่อมรักลูกของตัวเอง แต่ก่อนหน้านั้นฉันนึกไม่ออกจริงๆ ว่า ในยามที่ชีวิตต้องเผชิญกับเรื่องเลวร้าย การที่พ่อแสดงออกถึงความรักและความเชื่อใจในตัวฉัน จะช่วยเพิ่มพลังชีวิตให้ฉันได้อย่างมหาศาล ความแค้นและความเศร้าลดหายไปกว่าครึ่ง ฉันเริ่มมองไปข้างหน้าหาทางที่จะย้ายโรงพยาบาล ซึ่งตอนแรกมีอุปสรรคอยู่บ้าง แต่ด้วยความช่วยเหลือจากอาจารย์หมอที่ปรารถนาดี ตอนนี้ฉันจึงได้ย้ายกลับไปทำงานที่โรงพยาบาลประจำจังหวัดเหมือนเดิม

            วันนี้ฉันไม่ต้องอยู่กับ ซาตาน อีกแล้ว และไม่ต้องเป็นผู้สมรู้ร่วมคิดทำร้ายชีวิตใครอีกต่อไป แต่สิ่งหนึ่งที่ยังติดค้างในใจก็คือ ความรู้สึกเป็นห่วงคนไข้ที่อาจตกเป็นเหยื่อ และหากหมอตัวเล็กๆอย่างฉันจะสามารถแนะนำอะไรได้สักอย่าง ฉันอยากบอกว่าหมอก็เป็นคนธรรมดา มีทั้งหมอที่เก่ง ไม่เก่งดีแย่อย่าคิดว่าหมอเป็นเทวดาเพราะหมอที่เหมือนซาตานมีอยู่จริง! 

คำแนะนำจากพระอาจารย์ไพศาล วิสาโล

คนที่ประสบเหตุการณ์อย่างในเรื่องข้างบน มีจำนวนไม่น้อยที่รู้สึกท้อแท้จนอยากเลิกเป็นหมอไปเลย แต่การที่คุณหมอผู้เล่าเรื่องนี้ไม่รู้สึกถึงขนาดนั้น หากเลือกที่จะเป็นหมอต่อไป เป็นเรื่องที่น่าชื่นชมและขอให้กำลังใจสำหรับความตั้งใจที่จะเป็นหมอที่ดี แม้จะพบอุปสรรคมากมายตั้งแต่ปีแรกๆ ของการเป็นหมอ

เมื่อเห็นความไม่ถูกต้องเกิดขึ้นในหน่วยงาน แม้เราจะไม่พอใจ แต่ก็ควรตั้งสติก่อน เพื่อไตร่ตรองว่าจะทำอย่างไรได้บ้างเพื่อแก้ไขเหตุการณ์โดยไม่ก่อปัญหาตามมา อย่างไรก็ตาม ควรยอมรับความจริงว่าบางครั้งมีเหตุหลายอย่างที่ทำให้เราทำอะไรไม่ได้มากในขณะนั้น การหาโอกาสและจังหวะที่เหมาะ รวมทั้งวิธีการที่แยบคายจึงเป็นสิ่งจำเป็น

เวลาเรารู้สึกไม่ดีหรือหรือผิดใจกับใคร เรามักจะเห็นเขาเป็นตัวเลวร้าย ไม่เห็นส่วนดีของเขาเลย นี่คือความรู้สึกที่ ผอ.มีต่อคุณหมอผู้เล่าเรื่อง อย่างไรก็ตาม ดูเหมือนว่าคุณหมอก็มีท่าทีอย่างเดียวกันกับ ผอ. อาตมาคิดว่า หากคุณหมอปรับท่าทีในส่วนนี้ คือพยายามมองเห็นด้านดีของคนที่มีพฤติกรรมกระทบใจตน หรือตระหนักว่าเขาเองก็มีความทุกข์เมื่อทำงานผิดพลาด จะช่วยลดความเกลียดชังและโกรธแค้นเขาลงได้มาก ขณะเดียวกันหากมองเห็นข้อบกพร่องของตนเองด้วย เชื่อว่าคุณหมอจะมีปัญหาในเรื่องความสัมพันธ์กับผู้อื่นน้อยลง และมีความสุขเวลาทำงานกับคนอื่นมากขึ้น หรือแม้มีปัญหาก็จะไม่รู้สึกโดดเดี่ยว เพราะมิตรสหายพร้อมอยู่เคียงข้างและให้กำลังใจ

 

เรื่อง Violet 

Secret Magazine (Thailand)

Posted in MIND
BACK
TO TOP
A Cuisine
Writer

© COPYRIGHT 2024 Amarin Corporations Public Company Limited.