ในคราบน้ำตายังมีเสียงหัวเราะ…ธงธง  มกจ๊ก (คัชฑาเทพ  เอี่ยมศิริ) (จบ)

เมื่อพูดถึงกฎแห่งกรรม ผู้คนส่วนใหญ่มักจะคิดแต่เรื่องลบๆ เช่น ถ้าทำชั่วก็จะต้องชดใช้กรรมที่ทำไว้ คำว่า “กรรม” จึงกลายเป็นคำเชิงลบมาโดยตลอด

 

ทั้งที่จริงแล้ว “กรรม” คือการกระทำ เป็นคำกลางๆ มีทั้งดีและไม่ดี ส่งผลเป็นวิบาก ดังนั้นสิ่งที่เรากำลังรับอยู่คือวิบาก ไม่ใช่กรรมและหากจะพูดถึงผลของการทำกรรมดีหรือทำบุญกุศล เราอาจจะเคยได้ยินมาว่าทำบุญกับพระอรหันต์แล้วจะได้บุญมาก แต่หลายคนอาจสงสัยว่าแล้วเราจะไปหาพระอรหันต์ให้ทำบุญได้จากไหน เรื่องนี้ในยุคสมัยของพระพุทธเจ้ามีคนเคยทูลถามไว้แล้วเช่นกันว่า ต่อไปในกาลข้างหน้าเมื่อไม่มีใครรู้ว่าใครเป็นพระอรหันต์ แล้วจะให้พวกเขาไปทำบุญกับใคร

พระพุทธเจ้าตรัสว่าก็ทำบุญกับพ่อแม่ของตัวเองนั่นแหละ…ได้อานิสงส์เท่ากัน

ธงธง มกจ๊ก เล่าเรื่องราวข้างต้นให้ฟัง พร้อมกับบอกว่าเมื่อก่อนไม่ทราบเลยว่าการกตัญญูรู้คุณต่อพ่อแม่จะให้ผลบุญมากถึงเพียงนี้ เพราะเมื่อก่อนก็ปฏิบัติตนเป็นชาวพุทธโดยทั่วไป เข้าวัด ฟังธรรมบ้าง แต่ยังไม่ได้ศึกษาธรรมะอย่างลึกซึ้ง ส่วนการดูแลพ่อแม่นั้นเขาทำมาตั้งแต่เด็ก จนคนข้างบ้านพูดว่า “ถ้ามีลูกแบบธงก็คงดี”เพราะเขาเป็นเด็กเรียบร้อย อยู่กับเหย้าเฝ้ากับเรือน ทำงานบ้านทุกอย่างจนสะอาดเอี่ยม หลังจากเข้าวงการมีเงินมีทองครั้งแรกก็ซื้อบ้านให้พี่สาวและดูแลแม่เป็นอย่างดี ทุกวันนี้เขาจึงพูดได้ว่า มาถึงจุดนี้ได้ก็เพราะความกตัญญู

ที่สำคัญ ธรรมะยังช่วยให้ธงธงเข้าใจเหตุการณ์ที่ผ่านเข้ามาในชีวิตมากขึ้น รู้จักบุญ - บาป และรู้ว่าวิบากกรรมของคนเราแต่ละคนนั้นต่างกัน ดังเช่นพี่สาวของเขาที่ต้องประสบกับโรคมะเร็งเต้านมระยะสุดท้ายและลามไปที่สมอง เขาเล่าเรื่องนี้ให้ฟังว่า…

เข้าใจธรรมะเพราะพี่สาวป่วย 

วันนั้นพี่สาวโทรศัพท์มาจากโรงพยาบาลบอกกับเราว่า “พี่เจ็บปวดทรมานเหลือเกิน…ขอกินยาตายได้ไหม”

ตอนนั้นกำลังขับรถอยู่ก็ไม่รู้ว่าจะช่วยพี่สาวได้อย่างไร แต่ด้วยความที่ไปปฏิบัติธรรมมาบ้างแล้วที่ศูนย์พัฒนาจิตเฉลิมพระเกียรติวัดผาณิตาราม จังหวัดฉะเชิงเทรา ตามคำแนะนำของ คุณกิ๊ก - มยุริญ ผ่องผุดพันธ์ จึงถามพี่สาวว่า “ปวดกับไม่ปวดอะไรมากกว่ากัน”

พี่สาวตอบว่า “ไม่ปวด” เราเลยบอกเขาว่า “ถ้าอย่างนั้นก็ตามดูตามรู้ เข้าไปสังเกตความปวดนั้นนะพี่” เรารู้มาว่าความทุกข์ของคนเรานั้นมาจากการปรุงแต่ง เลยอยากให้พี่สาวรู้จักการเจริญสติในขณะที่ปวด เพราะจิตที่ปรุงแต่งไปเรื่อยจะเป็นทุกข์ ห่อเหี่ยวสิ้นหวัง แต่การฝึกเจริญสติคือรู้กายรู้ใจตามความเป็นจริง นั่นก็คือการรู้ทันว่าอะไรเกิดขึ้นกับกาย รู้ทันว่าอะไรเกิดขึ้นที่ใจ เป็นการเข้าไปรู้สึกถึงสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นแบบตรงไปตรงมานั่นเอง แม้ความปวดจะไม่หาย แต่จิตเขาจะทันกับความทุกข์ที่เกิดได้มากขึ้น จิตใจก็จะสงบลงได้ในที่สุด

ไม่เฉพาะพี่สาวเท่านั้นที่ใช้ธรรมะในการดับทุกข์ เพราะตัวเราเอง ซึ่งเป็นน้องชายที่รักพี่สาวคนนี้มากที่สุดก็พบกับความทุกข์ด้วยเช่นกันทุกข์ที่ไม่สามารถช่วยอะไรคนที่เรารักได้ดีไปกว่านี้ บวกกับต้องมาเจอกับช่วงที่งานในวงการบันเทิงเริ่มหดหาย ทำให้เงินที่จะใช้จ่ายในการรักษาตัวพี่สาวเริ่มฝืดเคือง แต่โชคดีที่ได้รู้จักธรรมะของพระพุทธเจ้าจึงผ่านเหตุการณ์ครั้งนั้นมาได้

จำได้ว่าพี่สาวป่วยราวปี พ.ศ. 2547 เราเทียวเข้าเทียวออกโรงพยาบาลเหมือนเป็นบ้านหลังที่สอง จนล่วงเข้าปี พ.ศ. 2549 พี่สาวจึงได้จากไปอีกหกเดือนให้หลังพี่เขยก็ตรอมใจตาย เขานอนหลับแล้วไม่ฟื้น เหลือแต่เพียงหลานสาวคนเดียวไว้ให้เราดูแล

ความป่วยไข้ของพี่สาวทำให้เราได้เห็นความทุกข์อย่างถึงที่สุด และรู้ว่าทุกข์อยู่กับเราได้ก็จากเราไปได้เช่นกัน ตอนเด็กๆ เราอาจจะทุกข์เพราะยากจน ไม่มีจะกิน แต่เมื่อโตขึ้นมีเงินมีทอง มีหนี้สินเราก็ทุกข์ไปอีกแบบ ทุกข์อยู่กับเราตลอด อยู่ที่การวางใจของเรา หากวางใจได้ถูก เราก็จะไม่ทุกข์กับมัน

 

อนาคตขอเป็นวิทยากรสอนธรรมะ

นอกจากจะปฏิบัติธรรมที่ศูนย์พัฒนาจิตเฉลิมพระเกียรติ วัดผาณิตาราม จังหวัดฉะเชิงเทราแล้ว เราก็พาแม่ไปปฏิบัติธรรมด้วยกันที่ ศูนย์วิปัสสนามูลนิธิบุญญานุภาพ ตำบลแม่ปะ อำเภอเถิน จังหวัดลำปาง

อาจกล่าวได้ว่า การไปปฏิบัติธรรมของเราทุกวันนี้มาจากความคิดที่ว่าคนเราไม่รู้ว่าจะตายเมื่อไร อะไรที่เป็นบุญก็ควรสะสมเป็นเสบียงไว้ ตัวเราเองข้อดีก็มี ข้อเสียก็เยอะ จะให้จิตบริสุทธิ์เกลี้ยงเกลาเลยคงยาก แค่มีสติ รู้กาย รู้ใจของตัวเองในแต่ละวันก็ดีมากแล้ว

ที่ผ่านมาเคยไปบรรยายธรรมที่ยุวพุทธิกสมาคมและที่วัดผาณิตาราม ส่วนใหญ่จะบรรยายให้เด็กวัยรุ่นฟัง เพราะเด็กวัยนี้ไม่ชอบอะไรที่จริงจังจนเกินไป ธรรมะที่เล่าจึงสนุกแต่ให้แง่คิด

เรื่องที่นำมาเล่าก็เรื่องของตัวเองทั้งนั้น ยกตัวอย่างเช่น ถ้าจะสอนให้เด็กรู้ว่าการมีสติสำคัญอย่างไรในชีวิต ก็จะเล่าเรื่อง “โทรศัพท์ตกในโถชักโครก” ให้ฟัง

เรื่องมีอยู่ว่า วันหนึ่งช่วงที่นั่งรอทีมงานอัดรายการอยู่ เราก็เดินไปเข้าห้องน้ำพร้อมหนังสือ ส่วนโทรศัพท์มือถือที่เพิ่งซื้อมาใหม่หมาดนั้นใส่ไว้ในกระเป๋ากางเกง พอนั่งไปได้สักพักเห็นแสงวาบๆ ออกมาจากโถชักโครก ก็คิดไปว่าที่นี่มีแมลงเรืองแสงแน่ๆ คิดไปนั่น…แถมยังไม่ได้เอะใจใดๆ ทั้งสิ้น สักพักหลังถ่ายหนักเรียบร้อยแล้ว ก้มลงไปดู โอ้…แม่เจ้า ตกใจสุดๆ เพราะสิ่งที่เห็นคือโทรศัพท์มือถือของตัวเองลอยรวมอยู่กับสิ่งปฏิกูล นาทีนั้นตัดสินใจใช้หัวแม่เท้าหนีบสายชำระให้เกี่ยวโทรศัพท์ขึ้นมา พร้อมกับกดโถชักโครกไปด้วย

แต่อะพิโธ่อะพิถัง…โทรศัพท์ยังไม่ทันได้สัมผัสอากาศบริสุทธิ์ ก็กลับถูกชักโครกดูดกลับไปอีกครั้ง ตอนนั้นด้วยความเสียดายของสุดๆ เลยรีบคว้าโทรศัพท์ไว้ โชคดีที่คว้าได้ทัน แต่เรื่องยังไม่จบแค่นั้นหลังจากเดินหน้าเศร้าออกมาจากห้องน้ำ พี่หนุ่ม - สันติสุข พรหมศิริ เห็นเข้าก็ทักว่าเป็นอะไรทำไมหน้าซีด จึงเล่าให้ฟังว่าทำโทรศัพท์ตกอ่างล้างหน้า เพราะไม่กล้าเล่าความจริง พี่หนุ่มก็ดีใจหาย รีบบอกว่า“พี่ซ่อมได้” พร้อมกับนำมือถือไปแนบหู แล้วบอกว่า “เฮ้ย…พี่ได้กลิ่นไหม้ สงสัยคงจะเสีย” ตอนนั้นกลัว…กลัว กลัวเหลือเกินว่าพี่หนุ่มจะได้กลิ่นอีกอย่างแทน ทุกวันนี้พี่หนุ่มก็รู้ความจริงไปเรียบร้อยแล้ว!

(เรื่อง ธงธง มกจ๊ก (คัชฑาเทพ เอี่ยมศิริ) / เรียบเรียง เสาวลักษณ์ ศรีสุวรรณ / ภาพ วรวุฒิ วิชาธร)

Posted in MIND
BACK
TO TOP
A Cuisine
Writer

© COPYRIGHT 2024 Amarin Corporations Public Company Limited.