ล้มได้ แต่ลุกให้เป็น

3 เรื่องราว “ล้มได้ แต่ลุกให้เป็น” ข้อคิดดี ๆ จาก เต๋อ กัน และท็อป

3 เรื่องราว “ล้มได้ แต่ลุกให้เป็น”

คนบางคนตีความคำว่า “ล้ม” เท่ากับ “แพ้” เมื่่อแพ้ก็พานล้มเลิก ไม่อยากจะลุกขึ้นสู้ใหม่ ยอมรับความพ่ายแพ้ไปโดยปริยาย 3 เรื่องราว “ ล้มได้ แต่ลุกให้เป็น ” 3 หนุ่มที่ Secret ยกมานี้ เคย “ล้ม”มาแล้วเช่นกัน แต่พวกเขาเลือกที่จะ “ลุกขึ้นสู้ใหม่” และเก็บเรื่องราวเหล่านี้ไว้เป็นบทเรียน

 

เต๋อฉันทวิชช์ ธนะเสวี

บทเรียนจากทุเรียนเน่า

 

ล้มได้ แต่ลุกให้เป็น

 

ถึงแม้ว่าความฝันสูงสุดของผมคือการได้เป็นผู้กำกับภาพยนตร์ แต่เมื่อได้รับโอกาสให้เป็นนักแสดงควบคู่กับการเขียนบท (ก่อน) ผมก็ยินดีเพื่อจะได้เก็ บเกี่ยวข้อมูลการแสดง และการทำงานในกองถ่าย ฯลฯ ไปในตัว

ก่อนหน้านั้นชีวิตผมก็ราบรื่นดี มาสะดุดเพราะภาพยนตร์เรื่องที่สองที่ผมเล่นนี่แหละ เรื่องนี้ผมถูกโหวตให้ได้รับ “รางวัลทุเรียนเน่า สาขานักแสดงนำชายยอดแย่ครับ ถึงจะเป็นแค่รางวัลล้อเลียนขำๆ ที่จัดขึ้นในเว็บไซต์หนึ่ง แต่นั่นก็หมายความว่า

“ตลอดปีนั้นผมเป็นดารานำชายที่แสดงได้ห่วยที่สุด” ตอนนั้นเครียดครับ เพราะผมมั่นใจว่าผมทำดีที่สุดแล้วแต่ในเมื่อทำตรงนี้แล้วไม่ดี ผมก็ยอมกลับไปเขียนบทอย่างเดียวตอนน้นั คุณพ่อ คุณแม่ และพี่ๆ ในบริษัทให้กำลังใจผมกันใหญ่โดยเฉพาะ พี่โต้ง ผู้กำกับภาพยนตร์ที่เหมือนจะรู้ว่าผมกำลังคิดอะไรอยู่ พี่โต้งเข้ามาบอกผมว่า

“ถ้าวันนี้เต๋อเลิกเล่นหนัง กลับไปเขียนบทอย่างเดียว คนก็จะจำแค่ว่า เต๋อเป็นนักแสดงแย่ ๆ ที่ได้รางวัลทุเรียนเน่า เลยท้อแล้วก็เลิกเล่นไปเต๋ออยากให้คนจำแบบนั้นเหรอ”

พี่โต้งเลยชวนผมมาเขียนบทเรื่องกวน มึนโฮ และให้โอกาสผมได้เล่นหนังอีกครั้งเพื่อจะ “กู้ชื่อ” ผมกลับมาให้ได้พอรู้อย่างนี้ ผมจึงตัดสินใจกลับมาสู้อีกครั้ง พร้อมกับตั้งใจว่าต้องไปเรียนการแสดงเพิ่มอย่างจริงจัง

ในที่สุดหนังเรื่องนี้ก็กู้ชื่อผมกลับมาได้จริงๆ เพราะนอกจากจะทำรายได้ทะลุร้อยล้านแล้ว ผมยังได้รับรางวัลดาวรุ่งชายแห่งเอเชียในปีนั้นด้วย…เชื่อไหมครับว่า เหตุการณ์ที่พลิกผันทั้งหมดนี้เกิดขึ้นภายในปีเดียว!

ใครก็ตามที่กำลังจะแพ้ ขอให้ “แพ้แบบนักสู้” คือสู้ให้ถึงที่สุดก่อน ไม่ใช่ว่าแพ้เพราะใจไม่สู้เอง

 

กัน – นภัทร อินทร์ใจเอื้อ

ค้นฟ้าคว้าดาว

 

ล้มได้ แต่ลุกให้เป็น

 

ย้อนกลับไปหลายปีที่แล้ว ตอนกันไปสมัครเดอะสตาร์ปี 5 ครั้งนั้นกันไปสมัครด้วยความรู้สึกว่าอยากหาประสบการณ์ อยากลองทำดูบ้างครั้งนั้นกันเลือกร้องเพลงลูกทุ่งแนวถนัดแล้ว ก็ทำได้ดี กันการคัดเลือกจากคนเป็นพัน ๆ เหลือแค่ 30 คน แล้วก็คัดอีกให้เหลือ12 คน จนใกล้จะได้ตัวแทนภาคกลางเต็มที

ความที่เริ่มเห็นโอกาสใกล้เข้ามา และกรรมการก็ดูเหมือนจะชอบกัน ทำให้เริ่มมีความหวังมากขึ้นจากที่ไม่เคยหวังมาก่อน สุดท้ายก็มากจนกลายเป็นความคาดหวัง พอผลออกมาว่า “กันไม่ได้ไปต่อ”

ทุกอย่างก็พังครืน กันร้องไห้ออกมาตรงนั้นแบบไม่อายใคร ทั้งผิดหวัง ทั้งเสียใจว่าเราทำเต็มที่แล้ว แต่ทำไมเราไม่ได้ไปต่อตอนนั้นใจคิดว่า ไม่เอาอีกแล้ว กันไม่อยากเป็นเหมือนพี่ ๆ เพื่อน ๆ หลายคนที่มาสมัครแล้วสมัครอีกก็ยังตกรอบอยู่ คุณพ่อคุณแม่ก็ปลอบใจว่า

“ไม่เป็นไร ตอนนี้กันอาจจะยังไมพร้อม แต่พ่อเชื่อมั่นว่าถ้ากันตั้งใจจะทำอะไรแล้ว กันต้องทำได้ และทำได้ดีด้วย ยิ่งถ้าเป็นสิ่งที่รักด้วยแล้ว ก็ไม่มีเหตุผลอื่นที่กันจะทำไม่ได้”

1 เดือนต่อมา กันไปเรียนร้องเพลงอย่างจริงจังกับครูเจี๊ยบ (คุณนนทิยา จิวบางป่า) เปลี่ยนมาเน้นการร้องเพลงป๊อปอย่างจริงจัง พยายามลบเสียงเอื้อนแบบลูกทุ่งให้ได้ ถึงช่วงแรกๆ จะยาก แต่พอยิ่งเรียน กันก็ยิ่งรู้สึกมั่นใจมากขึ้นๆ ประกอบกับคำแนะนำจากครูเจี๊ยบที่ทำให้กันเริ่มคิดว่า “น่าจะลองดูอีกครั้งเพื่อสิ่งที่เรารัก”

กันจึงกลับไปสมัครเดอะสตาร์อีกครั้งด้วยความรู้สึกที่ต่างไปจากเดิม คราวนี้กันมาพร้อมกับความมั่นใจ ค่อยๆ ฝ่าฟันการประกวดไปแต่ละรอบ ๆ โดยมีทางบ้าน ครูเจี๊ยบ และเพื่อน ๆ คอยเป็นกำลังใจ

ในที่สุดกันได้เข้ามาเป็น 8 คนสุดท้ายของโครงการเดอะสตาร์ปี 6 ซึ่งถือว่ามาไกลเกินฝันมาก ๆ แล้ว กันบอกกับตัวเองว่า “การแข่งขันรอบที่เหลือคือทำให้ดีที่สุด ผลจะออกมาเป็นอย่างไรก็ช่าง”

…ให้เธอได้รู้นี่แหละใจของคน ที่แท้นั้นยิ่งใหญ่ตราบใดความฝันยังไม่จางหายไป เมื่อนั้นใจจะไม่แพ้…

เนื้อเพลงท่อนสุดท้ายของเพลงสุดท้ายที่กันร้องบนเวทีเดอะสตาร์ ก่อนจะประกาศผลผู้ชนะในวันตอ่ มา บอกถึงการต่อสู้ที่ผ่านมาของกันได้ดี…การต่อสู้ของจิตใจที่มีเดิมพันเป็น “ชัยชนะ”

 

ท็อป – พิพัฒน์ อภิรักษ์ธนากร

ท้องฟ้าหลังพายุผ่าน

 

ล้มได้ แต่ลุกให้เป็น

 

สิ่งที่พิธีกรทุกคนไม่ควรพลาด โดยเฉพาะอย่างยิ่งในงานอีเว้นต์ก็คือ “การพูดชื่อสินค้าผิด” ผมเองทุกครั้งที่ทำงานก็ภาวนาไมให้ตัวเองพลาด แต่แล้ววันหนึ่งก็พลาดจนได้

วันนั้นผมทำหน้าที่พิธีกรตามปกติ ทุกอย่างดำเนินไปได้ด้วยดีจนกระทั่งผมเกิดพูดชื่อสินค้าผิดขึ้นมา ไปพูดชื่อสินค้าคู่แข่งเข้า  ทุกอย่างที่เกิดขึ้นในวินาทีต่อจากนั้น ผมยังจำได้ไม่ลืม ผมเห็นคนร่วมงานนับร้อยหัวเราะชอบใจเพราะคิดว่าเป็นมุกตลกของพิธีกร

ผมเห็นบรรดาผู้บริหารบริษัทสินค้าหน้าเสียทันที และสุดท้ายผมก็หันไปเห็นพี่ ๆ ทีมงานตกใจว่า เกิดอะไรขึ้น  ตอนนั้นผมรู้สึกเหมือนโดนน้ำร้อนๆ ลวก อารมณ์ประมาณว่า “ซวยแล้ว กู” แต่ก็พยายามทำหน้าที่ต่อจนจบ สุดท้ายวันนั้นถึงไม่มีใครต่อว่าอะไร แต่ผมก็รู้สึกว่า “เป็นวันที่แย่ที่สุดของชีวิตการเป็นพิธีกร”

หลายวันต่อมาผู้ใหญ่ในบริษัทเรียกผมเข้าไปคุย ทีท่าของทุกคนในวันนั้นทำให้ผมสัมผัสได้ว่าพวกเขารักและเป็นห่วงผมจริง ๆ เพราะทุกคนต่างเป็นกำลังใจให้ผม และช่วยกันหาทางออกที่ดีที่สุดให้ ผลสรุปคือผู้ใหญ่แนะนำให้ผมพักงาน เพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบไปยังส่วนอื่น ๆ ในบริษัท เพราะบริษัทสินค้ารายนี้เป็นสปอนเซอร์รายใหญ่ให้บริษัทที่ผมทำงานอยู่

ถึงจะเสียใจกับเรื่องที่เกิดขึ้นมากแค่ไหน แต่อย่างน้อยการพักงานครั้งนี้ก็ทำให้ผมมีเวลาได้อยู่กับตัวเองมากขึ้น ได้คิดอะไรใหม่ ๆ หลายอย่าง เช่น นำความผิดพลาดที่เกิดขึ้นมาเป็นบทเรียนเพื่อพัฒนาตัวเอง เพราะไม่มีใครที่ดีแล้ว “พอ” แต่ดีแล้วต้อง “พัฒนา” ต่อไปเรื่อย ๆ

ผมได้ใช้เวลาว่างขีด ๆ เขียน ๆ ออกแบบผลิตภัณฑ์อย่างจริงจัง (หลังจากทิ้งไปนานเพราะไม่มีเวลา) จนกระทั่งได้เปิดร้าน ECOSHOP อย่างที่ฝันไว้

สิ่งที่เกิดขึ้นทั้งหมดทำให้ผมเรียนรู้ว่า “เวลาเกิดเรื่องแย่ๆ ขึ้นไม่นานก็จะมีเรื่องดีๆ เกิดตามมา เพราะความทุกข์มีอายุอยู่ได้ไม่นานความสุขก็มักตามมาแทนที่ ขอให้เข้มแข็งไว้เป็นพอ”

เรื่อง วรลักษณ์ ผ่องสุขสวัสดิ์

ภาพ สรยุทธ พุ่มภักดี


บทความน่าสนใจ

ถ้าไม่เคย “ล้ม” ผมคงไม่รู้ว่าการลุกขึ้นมามีค่าแค่ไหน กิก ดนัย จารุจินดา

เพราะไม่กลัวความล้มเหลว จึงมีทุกวันนี้… พันธ์ศักดิ์ พสุกุลพันธ์

“กระดาษโพสต์อิท” สิ่งประดิษฐ์สุดห่วย เปลี่ยนความล้มเหลว ให้เป็นความสำเร็จอันยิ่งใหญ่

7 ข้อคิดในวันที่รู้สึกว่า ชีวิตล้มเหลว

เก่ง ธชย ประทุมวรรณ กับเส้นทางชีวิตที่ไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ

 

© COPYRIGHT 2024 Amarin Corporations Public Company Limited.