สิ่งมีชีวิตที่เรียกว่า รากหญ้า

สิ่งมีชีวิตที่เรียกว่า “รากหญ้า” อาชีพที่ผู้คนต่างเหยียบย่ำและเหยียดหยาม

สิ่งมีชีวิตที่เรียกว่า รากหญ้า อาชีพที่ผู้คนต่างเหยียบย่ำและเหยียดหยาม

ในอดีต อาชีพชาวนาได้รับการยกย่องให้เป็น “กระดูกสันหลังของชาติ” เฉกเช่นเดียวกับรั้วของชาติอย่างทหารกล้า และครูผู้เป็นแม่พิมพ์ของชาติ ทว่าในปัจจุบัน อาชีพชาวนาถูกเปรียบเปรยเป็นแค่ รากหญ้า ที่ผู้คนต่างเหยียบย่ำและเหยียดหยามว่า“ไร้ค่า” จนเกือบลืมไปแล้วว่า…เราเติบโตมาได้เพราะใครกัน

เปิบข้าวทุกคราวคำ         จงสูจำเป็นอาจิณ

เหงื่อกูที่สูกิน                   จึงก่อเกิดมาเป็นคน

ข้าวนี้นะมีรส                    ให้ชนชิมทุกชั้นชน

เบื้องหลังสิทุกข์ทน          และขมขื่นจนเขียวคาว

จากแรงมาเป็นรวง            ระยะทางนั้นเหยียดยาว

จากรวงเป็นเม็ดพราว       ล้วนทุกข์ยากลำบากเข็ญ

เหงื่อหยดสักกี่หยาด         ทุกหยดหยาดล้วนยากเย็น

ปูดโปนกี่เส้นเอ็น              จึงแปรรวงมาเป็นกิน

น้ำเหงื่อที่เรื่อแดง              และน้ำแรงอันหลั่งริน

สายเลือดกูทั้งสิ้น              ที่สูซดกำซาบฟัน

ผู้ประพันธ์ : จิตร ภูมิศักดิ์

“ยุคนี้ชาวนาเป็นอาชีพที่หมดหวัง ไม่มีอนาคต ไม่น่าภาคภูมิใจ ลูกหลานเลยหลีกหนีจากการทำนาไปทำอาชีพอื่นกันหมด” ในอดีตคุณเดชา ศิริภัทร ผู้อำนวยการมูลนิธิข้าวขวัญเองก็เคยคิดเช่นนั้น ถึงแม้จะเป็นลูกเจ้าของโรงสีข้าวและมีพื้นที่นาให้เช่ากว่าสองหมื่นไร่เรียนจบสัตวบาลจากมหาวิทยาลัย และรับราชการที่ศูนย์เกษตรเป็นเวลากว่า 4 ปีก็ตาม

…แต่แล้วความคิดของเขาก็เปลี่ยนไป เมื่อได้ค้นพบความสุขที่แท้จริงจากการไปบวชที่สวนโมกข์เป็นระยะเวลา4 เดือน

“…ผมค้นพบว่า ชีวิตคนเรามีความสุขได้โดยเกี่ยวข้องกับปัจจัยภายนอกน้อยมาก คนเราสามารถอยู่กับปัจจัยภายในเป็นหลัก และต้องการของที่จำเป็นไม่เยอะ กินข้าวมื้อเดียวเสื้อผ้า 2 ชุด มีบ้านเล็กๆ ก็พอแล้ว

“จริงๆ แล้วธรรมะคือการทำประโยชน์ คือทำทั้งประโยชน์ตนและประโยชน์ท่าน ทำแต่ประโยชน์ตนอย่างเดียวก็เห็นแก่ตัว เบียดเบียนคนอื่น ประโยชน์ท่านทำมากจนตัวเองเดือดร้อนก็ทุกข์ ผมเลยหางานที่ไม่เบียดเบียนตัวเองและผู้อื่น”

เมื่อความคิดเปลี่ยนไป แผนชีวิตจึงถูกวาดขึ้นใหม่ หลังจากสึกเขายกกิจการที่บ้านทั้งหมดให้แก่พี่น้องแล้วหันกลับมาตอบแทนแผ่นดินบ้านเกิด โดยการถ่ายทอดความรู้ในเรื่องการปลูกข้าวที่ตนมีให้แก่ชาวนาและตั้งศูนย์เทคโนโลยีเพื่อสังคมขึ้นที่จังหวัดสุพรรณบุรี

“พอทำงานก็เริ่มพบว่า จริงๆ แล้วสุพรรณฯเป็นเมืองที่มีน้ำเยอะมากน่าจะผลิตข้าวได้เยอะ แต่แปลกที่ชาวนาส่วนมากกลับจนเพราะมีหนี้สิน ตั้งแต่ผมยังเด็กจนโต ฐานะของชาวนาบ้านผมไม่ได้ดีขึ้นเลย… แสดงว่าต้องมีอะไรผิดปกติแน่ๆ ผมเลยคิดหาทางช่วยเขา

“ชาวนาหลายคนเคยเป็นเจ้าของนา แต่พอเขาใช้สารเคมีก็ต้องซื้อปุ๋ยเคมีและยาฆ่าแมลงเพื่อบำรุงต้นข้าว ผัก ปลาที่มีอยู่ตายหมดเพราะสารเคมี เขาต้องไปซื้อข้าวคนอื่นกินเพราะไม่กล้ากินข้าวของตัวเองกำไรเริ่มกลายเป็นขาดทุน หรือถ้ามีกำไรบ้าง ความเจริญที่เข้ามาก็ทำให้ต้องหาซื้อทีวี รถยนต์ มอเตอร์ไซค์ มือถือ…กลายเป็นว่าสุดท้ายต้องขายนา ไม่ก็ถูกยึดนาไป

“จริงๆ แล้วชาวบ้านทำเศรษฐกิจพอเพียงมาแต่เดิมอยู่แล้ว แต่เดี๋ยวนี้จากพอเพียงกลายมาเป็นพึ่งตลาด ปลูกข้าวต้องลงทุนซื้อทุกอย่างปุ๋ย น้ำมัน ยาฆ่าหญ้าสารเคมี เครื่องจักร พอทำนาได้แล้วก็ต้องจ้างเขามาช่วยเกี่ยว เกี่ยวแล้วขายหมด ไม่มีเก็บไว้กินเอง โรงสีให้ราคาเท่าไรก็ต้องยอม…ทำให้จนและเป็นหนี้อย่างทุกวันนี้”

พอพบต้นเหตุของปัญหาเขาจึงรีบเปลี่ยนปัญหาให้เป็นปัญญา โดยเริ่มต้นจากการตั้งโรงเรียนชาวนา ผันตัวจากคนธรรมดาให้กลายมาเป็นอาจารย์ อบรมเหล่าชาวนาที่เปลี่ยนสภาพกลายมาเป็นลูกศิษย์ (ชั่วคราว)

“เราเริ่มต้นจากการลดต้นทุนการผลิต โดยหยุดใช้สารเคมี แต่ถ้าจะให้เขาเลิก เราต้องมีทางเลือกให้เขาก่อน”

จากยาฆ่าแมลง เขาลองให้ “นักเรียน” ทุกคนเอาตาข่ายอันโตจับแมลงในนามาศึกษา…ตัวนี้กินต้นข้าวไว้ซ้าย กินแมลงด้วยกันแบ่งไว้ทางขวา…และแล้วชาวนาก็พบว่า แมลงดีช่วยกำจัดแมลงร้ายมีมากมาย แล้วเขาจะใช้ยาฆ่าแมลงไปทำไม

จากการเผาฟางเพื่อทำปุ๋ยซึ่งทำให้แร่ธาตุหายไป คุณเดชาก็เล่นมายากล โยนจุลินทรีย์ใส่ในนา ทำให้นักเรียนตื่นตาตื่นใจว่า 10 วันฟางธรรมดาในนากลายเป็นปุ๋ยไปแล้ว

พันธุ์ข้าวที่ไปซื้อมาก็เลิกซื้อ แล้วให้ทุกคนลองปล่อยให้ต้นข้าวโตเองโดยธรรมชาติ ต้นไหนทนแดด – ลม – ฝนมากสุดก็จับต้นนั้นมาทำพันธุ์ ไม่ต้องเสียสตางค์สักบาท

…แทบไม่ต้องสงสัยเลยว่าเหล่าลูกศิษย์ตัวดีทั้งหลายจะเลือกเดินทางไหน

“สมัยก่อนทำไมคนทำนาไม่เคยเป็นหนี้ เพราะเขาไม่ต้องลงทุนทำนาเท่าไรกำไรทั้งหมด ข้าวเก็บไว้กินและทำพันธุ์ ส่วนหนึ่งมีเหลือก็ขาย ไก่เลี้ยงเอง ผักปลูกเอง ปลาจับในนานั่นเอง…ทุกอย่างมีหมด…มีความสมบูรณ์ในตัวเอง

“ดังนั้น ส่วนไหนที่เราทำได้ เราควรทำเองก่อน ทำอย่างไรให้ไม่ต้องซื้อ จาก 100 เปอร์เซ็นต์ ซื้อมา 75 เปอร์เซ็นต์อีก 25 เปอร์เซ็นต์พึ่งตัวเอง แค่นี้ก็พอแล้ว”

ในขณะที่ศิษย์ชาวนาหลายคนจบออกไปรุ่นแล้วรุ่นเล่า ก่อร่างสร้างผลงานดีๆ ออกมามากมาย แต่น่าเสียดายที่ยังมีชาวนาอีกหลายคนไม่ยอมมาเพราะกลัวถูกหาว่า “โง่และบ้า”

“เกษตรกรส่วนมากพอใครไม่ใช้ยา – ปุ๋ย – เคมี ก็หาว่าไอ้นี่บ้า โง่ ทำอะไรไม่เหมือนคนอื่น โดยเฉพาะอย่างยิ่งสังคมชนบทเป็นสังคมที่ไม่มีความลับ ใครทำอะไรรู้หมด พอคนหนึ่งเลิกคบ ทุกคนก็เลิกคบกันหมด ดังนั้น ถึงเกษตรอินทรีย์จะดี แต่ถ้าต้องถูกหาว่าบ้า โง่ถูกนินทา เลิกคบ เขาเลยเลือกที่จะเป็นเหมือนเดิมเพราะทำใจเลิกไม่ได้

“เคยมีการทำวิจัยของอาจารย์ธันวา บอกว่าเกษตรยั่งยืนดี แต่ไม่ขยายตัว เพราะสมองของเราถูกโฆษณา ค่านิยม การศึกษาและนโยบายรัฐบาลครอบมาว่าคุณต้องใช้ปุ๋ย ยา สารเคมี และต้องพึ่งตลาด พึ่งตัวเองไม่ได้ ต้องเอากำไรเยอะๆ เทคนิคต้องใหม่ สิ่งเหล่านี้แหละที่ทำให้คนจนเลิกสารเคมีไม่ได้ รวมถึงคนปกติที่ต้องทำตามกระแสตลอดเวลาด้วย”

แม้แต่คุณเดชาเองก็เคยถูกหาว่า บ้า เช่นเดียวกัน แต่เขาไม่เคยใส่ใจและไม่สนใจ เพราะคนที่ว่าเขาบ้า ก็บอกไม่ได้เช่นกันว่าเขา บ้า ตรงไหน

“ถ้าไม่มีธรรมะ ผมคงท้อไปแล้ว เพราะเราคงมองแต่ผลประโยชน์ตัวเอง ว่าทำไปทำไม ทำแล้วได้อะไร แต่พอเรามีธรรมะ เรามองเพื่อผลประโยชน์คนอื่น ในเมื่อสิ่งที่เราทำมีประโยชน์ต่อสังคม ผู้บริโภคสิ่งแวดล้อม ถึงจะถูกหาว่าบ้า แต่ผมก็จะขอทำงานนี้ต่อไปเรื่อยๆ จนกว่าจะหมดแรงทำ

“ลองคิดดูว่า ถ้าประเทศไทยมีเกษตรกรอย่างลูกศิษย์ผมสัก25 เปอร์เซ็นต์ของประเทศ ชาติไทยจะเปลี่ยนไปขนาดไหน ปุ๋ยยาไม่มาปนเปื้อน ชาวนาไม่ไปเป็นรากหญ้า ไม่ต้องตกเป็นเครื่องมือของใครสามารถช่วยเหลือตนเองและผู้อื่นได้ ศีลธรรมก็จะกลับมาสู่ลูกหลานสู่สังคม สู่โลก ทุกอย่างก็จะดีตามไปหมด

“สิ่งเล็กๆ เราทุกคนช่วยได้ คือการบอกต่อหรือสนับสนุนให้ชาวนาปลูกข้าวแบบเกษตรอินทรีย์ โดยถ้าทุกคนเลือกผักปลอดสารพิษเกษตรกรก็จะรอด ผู้บริโภคก็รอดด้วยเช่นกัน

“ทุกข์ของชาวนาคือทุกข์แผ่นดิน เพราะเมืองไทยเป็นชาติเกษตร-กรรม อาหารที่กิน น้ำที่ดื่ม อากาศที่หายใจ อยู่ในมือของเกษตรกรทั้งนั้น ถ้าเราทุกคนยังสนับสนุนให้เขาผลิตสารพิษกันต่อไป แล้วสังคมของเราจะอยู่อย่างไร”

แม้ปัจจุบันอาชีพชาวนาจะถูกเปรียบเปรยว่าเป็นแค่ รากหญ้า…ส่วนประกอบที่แทบไม่มีความสำคัญในป่าใหญ่ แต่หากมองในทางกลับกัน รากของหญ้านี่เองที่ทำให้เรามีต้นหญ้าเล็กๆ คอยให้ความชุ่มชื้นแก่ผืนดินและเป็นฐานให้แก่ต้นไม้ใหญ่ค่อยๆ เจริญเติบโตขึ้นมา…อย่างสง่างาม…

เรื่อง ณัฐนภ ตระกลธนภาส ภาพ สรยุทธ พุ่มภักดี


บทความน่าสนใจ

5 อารมณ์ไม่ดี ที่ต้องรีบกำจัดให้สิ้นซาก…อย่างเร่งด่วน!

3 นักธุรกิจใจดีมีแต่ให้

Dhamma Daily : การกระทำบางอย่าง บางสังคมบอกว่าเป็นความดี อีกสังคมบอกว่าเป็นความชั่ว จริงๆ แล้วใช้เกณฑ์อะไรวัด

 

Posted in MIND
BACK
TO TOP
cheewajitmedia
Writer

© COPYRIGHT 2024 Amarin Corporations Public Company Limited.