กะทิชาวเกาะ

จรีพร เทพผดุงพร นายแม่ “ กะทิชาวเกาะ ” ผู้สะกดคำว่า แพ้ ไม่เป็น

จรีพร เทพผดุงพร นายแม่ “ กะทิชาวเกาะ ” ผู้สะกดคำว่า แพ้ ไม่เป็น

แม้มีโอกาสได้เรียนหนังสือเพียงชั้นประถมสี่ แต่ผู้หญิงคนหนึ่งก็ได้ใช้ความมุ่งมั่น ขยัน อดทน ฟันฝ่าอุปสรรคนานา จนสามารถสร้างสินค้าในชื่อ “กะทิชาวเกาะ” ให้เป็นที่ยอมรับของคนไทยได้สำเร็จ

เพราะเกิดเป็นลูกสาวคนจีน ฉันจึงต้องแบกรับงานทุกอย่างของครอบครัว ชีวิตไม่เคยรู้จักวันหยุด ต้องแจวเรือจากบางขวางถึงบางแค ตวงข้าวเปลือก ข้าวสารและน้ำมันก๊าดขาย

สมัยก่อนคนจีนไม่รักลูกสาว พ่อจึงไม่สนับสนุนให้เรียนหนังสือ แต่เมื่อฉันใช้น้ำตาเข้าแลกบวกกับคำอ้อนวอนของแม่ จึงได้เรียนถึงชั้นประถมสี่ โดยมีข้อแม้ว่างานบ้านห้ามขาดตกบกพร่อง

สมัยเรียนพ่อไม่เคยให้เงินค่าขนม แม่แอบขโมยให้บ้าง แต่นานๆ ครั้ง กลางวันต้องกลับมากินข้าวที่บ้านแล้วรีบกลับไปเก็บดินสอสั้นๆ ที่เขาทิ้งไว้ตามใต้ถุนโรงเรียนเพื่อหาหญ้าปล้องมาต่อด้ามให้ยาวพอที่จะจับเขียนได้

เมื่อไม่ได้เรียนต่อ ก็เปลี่ยนมาช่วยน้าสาวขายขนม เลี้ยงเป็ด หากุ้งหาปลามาทำกะปิ เรียกว่าทำทุกอย่างที่สุจริตเพื่อเงิน แต่เมื่อน้องชายสองคนไปเรียนต่อเมืองจีน ฉันก็ต้องกลับมาช่วยที่บ้านขายของ แบกกระสอบข้าว ใช้แรงงานเหมือนผู้ชาย

 

chaokoh1

 

เมื่ออายุครบ 19 ปี ญาติห่างๆ คนหนึ่งแนะนำคุณอำพล เทพผดุงพร ให้พ่อรู้จักเพื่อขอฉันแต่งงาน พ่อเห็นเป็นคนขยัน โหงวเฮ้งดี จึงยกให้ ทั้งๆ ที่ยังไม่ได้ถามความสมัครใจของฉัน

น้ำตาแห่งความเคว้งคว้างไหลอาบแก้ม นาทีนั้นหากมียาพิษใกล้มือคงตัดสินใจจบชีวิตลง แต่เมื่อหาทางออกให้ชีวิตไม่ได้ ก็จำใจต้องแต่ง

คุณอำพลมีหุ้นค้ามะพร้าวกับญาติๆ แต่ถูกโกงจึงมาเปิดกิจการส่วนตัว แต่ละวันฉันต้องแจวเรือมาจอดขายมะพร้าวที่สี่แยกมหานาค สวมเสื้อแขนยาว สวมงอบสู้แดด ตั้งแต่เช้าจดเย็น ส่วนสามีทำตลาดขายส่งในเมือง

เมื่อมีลูกก็ต้องฝากให้แม่ช่วยเลี้ยง สองสามีภรรยาปากกัดตีนถีบ ขนมะพร้าววันละสามสี่พันลูกไปขาย เมื่อกิจการเริ่มไปได้ดี พ่อจึงช่วยเซ้งห้องแถวย่านท่าเตียนให้ โดยเปิดเป็นห้างหุ้นส่วนจำกัดอุดมมะพร้าว ขายตั้งแต่ตีสี่ถึงสี่ทุ่ม แม้จะเหนื่อยสายตัวแทบขาดแต่ก็ชื่นใจ เพราะกิจการโตวันโตคืน มีรายได้ถึงขั้นส่งลูกสามคนไปเรียนเมืองนอกได้สบาย

แต่แล้วเหตุการณ์ก็พลิกผัน เมื่อลูกชายคนที่สี่ (เกรียงศักดิ์ เทพผดุงพร) เรียนจบมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มารบเร้าให้เปลี่ยนจากขายมะพร้าวลูกมาทำกะทิพาสเจอไรซ์ เพราะเล็งเห็นว่ารายได้ของครอบครัวเริ่มคงที่ไม่สูงขึ้นเหมือนก่อน เนื่องจากเกษตรกรเริ่มมีรถขนส่งได้เอง ไม่ต้องอาศัยเรือไฟเหมือนในอดีต

เขาอ้อนวอนอยู่เป็นปีจนฉันใจอ่อน ลงทุนไปประมาณ 3 ล้านบาท สร้างโรงงานชาวเกาะ จ้างคนงานเกือบ 100 คน แต่เมื่อลงมือทำก็ขาดทุน ด้วยเป็นสินค้าใหม่ที่คนไม่กล้าซื้อ เพราะชินกับการใช้กะทิสดทำอาหาร

ฉันลงทุนซื้อถังน้ำแข็งเดินอ้อนวอนฝากแม่ค้าแช่ขายหน้าร้าน บางคนก็ยอม แต่บางคนบอกว่าเกะกะเพราะมั่นใจว่าขายไม่ได้ เพื่อนๆ ที่ขายมะพร้าวด้วยกันกว่า 10 โรงงานบอกว่าสามีฉันโง่ คนเขากินกะทิสดๆ กัน จะมาทำกะทิถุงให้เจ๊งทำไม

ทุกๆ วันคนในครอบครัวต้องกลับมานั่งร้องไห้ปรึกษากัน ฝ่ายลูกชายเขาเสียใจมาก แต่ก็ไม่ท้อ เดินหน้าทำทุกอย่างเพื่อสร้างแบรนด์ชาวเกาะ ทั้งติดป้ายโฆษณาตระเวนทำอาหารจากกะทิให้คนชิมตามต่างจังหวัด

 

กะทิชาวเกาะ

 

ตอนทำโฆษณาโทรทัศน์ ลูกปิดบังฉัน มาบอกอีกทีตอนที่ต้องจ่ายเงินค่าจ้าง 5 ล้านบาท เขาบอกว่า “ผมยอมให้แม่ด่าครั้งเดียว เพราะถ้าบอกแม่ก็คงไม่ให้ทำ” ฉันนั่งร้องไห้ เพราะจนปัญญาที่จะหาเงินมาให้เขา

ฝ่ายสามีก็โมโหลูกถึงขั้นลงไม้ลงมือ ปากก็พร่ำด่าว่าขายมะพร้าวอยู่ดีๆ ทำไมต้องทำให้เป็นหนี้ด้วย ฉันเองก็ทั้งปลอบทั้งโมโห เพราะเงินที่สะสมมาจมหายไปหมด ของมีค่าในบ้านก็ขายมาสู้หมดแล้ว

แม่ของฉันเตือนว่าอย่าไปดุลูก ลูกใช้เงินไปกับการทำงาน ไม่ได้เอาไปเล่นการพนัน เงินเป็นของนอกกาย ถ้าไม่ตายก็หาใหม่ได้ และแม่จะหาทางช่วยอีกแรงหนึ่ง

ฉันบอกสามีว่าเราต้องสู้ ต้องอดทน เพราะเขาเริ่มถอดใจแล้ว เมื่อขี่หลังเสือแล้วห้ามลง ต้องอดทนให้ถึงที่สุด เงินจะหมดก็หมดไป แต่เราจะยอมแพ้ให้คนอื่นเขาดูถูกซ้ำเติมไม่ได้

เมื่อกิจการเริ่มอยู่ได้ ลูกชายคนโตที่กลับมาจากอเมริกาจึงแนะนำให้ฉันลงทุนทำกะทิกระป๋องเพื่อยืดเวลาหมดอายุ ฉันจึงใช้ที่ดินที่มีอยู่เป็นหลักทรัพย์กู้เงินมาอีก 20 ล้าน และเริ่มบุกตลาดต่างประเทศจนธุรกิจเดินหน้า

ต่อมาปี พ.ศ. 2529 ดวงตาที่กำลังเห็นแสงสว่างกลับพร่ามัวอีกครั้ง เพราะสามีโดนลอบยิงเสียชีวิตโดยไม่ทราบสาเหตุ แต่ความรักจากลูกๆ ทั้งห้าคนก็ช่วยให้ความท้อใจคลายลงได้

เมื่อตลาดกะทิสำเร็จเป็นรูปเป็นร่าง ฉันจึงเปิดโรงงานอำพลฟูดส์ โพรเซสซิ่ง จำกัด ผลิตกะทิกล่องยูเอชที และต่อมาก็เปิดโรงงานแม่พลอยเพื่อผลิตแกงกระป๋องขายส่งนอกคู่กับกะทิกระป๋อง

สินค้าชนิดไหนที่น่าจะทำตลาดก็ลองหมด เพื่อสร้างความเป็นผู้นำด้านผลิตภัณฑ์จากมะพร้าว ปัจจุบันทั้งสามโรงงานรับซื้อสินค้าจากเกษตรกรมาผลิตอาหารสุขภาพป้อนตลาดภายในและต่างประเทศ

ไม่เคยคิดเลยว่าคนจบแค่ชั้นประถมอย่างฉันจะประสบความสำเร็จได้ ทุกวันนี้ความสุขในชีวิตคือการแบ่งปัน เราเคยลำบากมาก่อน เมื่อถึงคราวสบายก็ควรช่วยเหลือคนที่ด้อยโอกาสกว่าเรา

อายุ 91 เป็นเพียงตัวเลขของประสบการณ์ชีวิต แต่ไม่ได้เป็นอุปสรรคในการทำงานที่ท้าทาย เพราะหัวใจของคุณจรีพร เทพผดุงพร ไม่เคยยอมแพ้ ความลำบากที่ผ่านเข้ามาจึงกลายเป็นฐานที่มั่นคงของอนาคต และวันนี้บาดแผลจากการล้มลุกคลุกคลานได้สอนให้เธอเอื้อมมือไปพยุงคนอ่อนแอให้ลุกขึ้นสู้ เหมือนอย่างที่เธอได้เคยทำมาแล้ว

 

ที่มา  นิตยสาร Secret

เรื่อง  มุฑิตา รัตนมุสิทธิ์

ภาพ  อนุพงศ์ เจริญมิตร

Secret Magazine (Thailand)

IG @Secretmagazine

© COPYRIGHT 2024 Amarin Corporations Public Company Limited.