ระหว่างทางสู่ความสำเร็จของ ปรเมศวร์ มินศิริ เจ้าของ “Kapook.com”

ระหว่างทางสู่ความสำเร็จของ ปรเมศวร์ มินศิริ เจ้าของ “Kapook.com”

“จุดสุดยอดของความสำเร็จ” ของแต่ละคนอาจมีที่มาแตกต่างกัน บ้างมาจากความมานะพยายาม บ้างมาจากหนึ่งสมองและสองมือ บ้างคือการก้าวข้ามอุปสรรคขวากหนามไปให้ได้…ท้ายที่สุดแล้วความสำเร็จเกิดจากอะไร…

“สำหรับผมความสำเร็จใหญ่ๆ เกิดจากความสำเร็จง่ายๆ หลายๆ ครั้งรวมกันครับ” ถ้วยกาแฟตั้งอยู่เต็มโต๊ะ บรรยากาศในร้านก็เป็นไปอย่างคึกคัก แต่คำพูดของ คุณปรเมศวร์ มินศิริ ผู้ชายที่อยู่ตรงหน้าเราสามารถกลบความวุ่นวายและทุกเสียงในร้านกาแฟแห่งนี้ไปจนหมดสิ้น เขามองหน้าเราด้วยแววตานักสู้ในสังเวียนชีวิต…ก่อนอธิบายความหมายของสิ่งที่พูด

“เราต้องแบ่งความสำเร็จที่เราหวังออกเป็นหลายๆ ช่วง เช่น หากเราปีนเขาสักลูก ให้ลองแบ่งภูเขาลูกนี้เป็นหลายๆ ช่วง พอปีนมาได้ช่วงหนึ่งก็หันไปมองวิว…สวยจัง ขึ้นมาอีกชั้นก็ดูวิว ถ้าทำแบบนี้ เราก็จะมีความสุขตลอดการปีนและปีนได้สำเร็จเป็นชั้นๆ โดยที่ไม่ยากจนเกินไป อย่าไปมองว่าเหลืออีกตั้งครึ่ง แต่ให้มองว่ามาได้ตั้งครึ่ง…ใกล้จะสำเร็จแล้ว ในที่สุดเราจะปีนถึงจุดสูงสุดของภูเขาลูกนั้น” ขณะนั่งมองชายร่างใหญ่ตรงหน้า เรานึกสงสัยว่าเขาผ่านอะไรมาบ้างนะ กว่าจะมาถึงจุดนี้…

“ฐานะของครอบครัวผมไม่ได้ดีมาก เพราะคุณแม่ต้องเลี้ยงลูกสองคนด้วยตัวคนเดียว เราเลยไม่ค่อยได้รับโภชนาการที่ดีเท่าไร แม่ทำงานเยอะจึงให้คุณตาช่วยเลี้ยง แต่ก็เลี้ยงแบบได้ทานข้าวบ้าง ไม่ได้ทานบ้าง”

“…แต่ตอนนั้นเราไม่ได้รู้สึกว่าลำบากอะไร คงเพราะไม่ได้เห็นครอบครัวอื่นก็เลยไม่มีตัวเปรียบเทียบ…จนมีอยู่ครั้งหนึ่ง พี่น้องของแฟลตข้างบ้านทะเลาะกัน โยนของเล่นลงมา เรางงมากว่าคนอื่นเขามีของเล่นด้วยเหรอ ทำไมเราไม่เคยมีของเล่นเลย…ตอนหลังเจ้าของมาขอคืน เราเลยต้องคืนเขาไป” ของเล่นของเขาและน้องจึงเป็นแค่ของไม่ใช้แล้วภายในบ้าน อย่างกล่องยาสีฟันและกระป๋องไมโลที่ถูกนำมาแต้มจินตนาการให้กลายเป็นรถไฟคันยาว

“พอโตขึ้นผมไม่เก่งเลขเลย จำได้ว่า ม.3 - ม.4 ตกคำนวณ เลยลาออกมาเรียนสายช่างสองปี มีความสุขมากเพราะได้ลงมือปฏิบัติ ไม่ใช่เรียนแต่ทฤษฎี…เป็นชีวิตที่ได้สัมผัสกับเครื่องไม้เครื่องมือมากกว่าจับปากกา” จนกระทั่งวันหนึ่ง เมื่อคุณครูชวนให้ไปช่วยงานทำป้ายรถเมล์แถวจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ความเปลี่ยนแปลงก็เดินเข้ามาทักทาย

“สิ่งแรกที่คิดหลังทำงานเสร็จคือ เราทำอะไรอยู่หว่า เวลาที่งานเสร็จคนออกแบบเขาก็รับหน้าไป แต่คนสร้างตัวมอมๆ ไม่มีใครเห็น…เอ๊ะ! หรือเรามาขยับเข้าไปเรียนสายวิศวะดีไหม ได้ออกแบบด้วย ไหนๆ เราก็รู้วิธีการทำอยู่แล้ว”

จากเด็กช่างจึงมุ่งมั่นที่จะสอบเข้าเรียนมหาวิทยาลัย โดยการสอบเทียบเพื่อนำผลไปสอบเอนทรานซ์ต่อ…สอบเทียบครั้งแรก เขาได้เกรด 1 ทุกวิชา เพราะไม่เคยเรียนวิชาฟิสิกส์ เคมี หรือชีววิทยา จึงไม่น่าแปลกใจที่เอนทรานซ์ครั้งแรกในชีวิต เขาสอบไม่ติด

“ปีแรกไม่ติด ปีสองติดพระจอมเกล้าบางมด แต่พอเข้าไปเรียนก็ติดโปร เพราะความสามารถทางการเรียนเราไม่มี พื้นฐานเราไม่เท่าคนอื่น…คนอื่นเขาเข้าใจอะไรง่าย เราเลยลาออกมากวดวิชาเพื่อเอนทรานซ์ใหม่ ปรากฏว่ามาติดที่จุฬาฯ คราวที่แล้วว่ายากแล้ว คราวนี้ยากกว่าเดิม” เมื่ออาจารย์ตัดค่าเฉลี่ยแต่ละครั้ง คะแนนของเด็กวิศวะอุตสาหการคนนี้มักอยู่รั้งท้ายเสมอ จนโปรแล้วโปรอีก อาจารย์จึงแนะนำว่าแต่ละเทอมไม่ควรลงทะเบียนเรียนให้มากเกินตัว

เรื่องราวในช่วงที่เรียนมหาวิทยาลัยจึงยังคงเป็นฝันร้ายจนถึงทุกวันนี้ เพราะเขาใช้เวลาเรียนถึง 7 ปีครึ่งท่ามกลางเสียงล้อเลียนของรุ่นน้องปีแล้วปีเล่าที่จบออกไป ‘ขนาดจบมา 10 ปีแล้ว กลางคืนผมยังฝันว่าเรียนไม่จบ สะดุ้งตื่นทุกที’ คุณปรเมศวร์แอบกระซิบบอกเรา…

“เรื่องนี้สอนให้รู้ว่าถ้าพื้นฐานไม่แน่น เวลาขึ้นไปเรียนชั้นสูงๆ จะมีปัญหา แต่พอเข้ามาแล้ว เราก็ต้องเรียนให้ได้ เกรดออกมาร่อแร่ก็ต้องเอา…ตอนเพื่อนจบ รุ่นน้องจบ เราก็ยินดีกับเขา ส่วนเรื่องล้อเลียนช่างมันเถอะครับ ดีกว่าเราเรียนไม่ไหว ถ้าเราไม่ยอมปรับตัวจะยิ่งแย่ไปใหญ่ ถึงช้าแต่ก็ดีกว่าไม่จบ”

เมื่อจำต้องลงเรียนวิชาที่ “เรียนอย่างไรก็ไม่จบเสียที!” อีกหลายรอบ ครั้งสุดท้ายเขาจึงปรับกลยุทธ์ใหม่ ด้วยการย้ายตัวเองมานั่งข้างหน้า (แต่ก็ใช่ว่าจะเข้าใจมากขึ้น!) และตามหลังอาจารย์เข้าไปถามข้อสงสัยในห้องพักทุกครั้งเมื่อไม่เข้าใจ

“ที่จบช้า ส่วนหนึ่งเพราะผมสอนคอมพิวเตอร์ตามที่ต่างๆ เพื่อหาเงินมาส่งตัวเองเรียนด้วย พอจบมาก็ทำงานกับบริษัทซอฟต์แวร์ที่ทำซอฟต์แวร์ขายให้โรงแรมส่วนใหญ่ในประเทศไทย”

“ระหว่างทำงานที่นี่ ผมเขียนหนังสือเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ด้วย ปรากฏว่าขายดี เลยตัดสินใจออกจากบริษัทมาเปิดสำนักพิมพ์เล็กๆ เขียนเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์และอินเทอร์เน็ตเพื่อป้อนตลาดโดยเฉพาะ”… เขาเขียนโดยไม่ลืมที่จะเข้าไปเสพเว็บไซต์ ส่งเมล ดูเว็บ เล่นแชต เพื่อให้เข้าใจ “เว็บไซต์” อย่างทะลุปรุโปร่งในฐานะ “ผู้ใช้งาน”

ในช่วงที่มีเวลาว่าง เขาจึงใช้เงินเก็บสร้างเว็บไซต์ขึ้นมาเล่นๆ จากความชอบส่วนตัว โดยตั้งชื่อเว็บไซต์นั้นว่า “sanook.com”…ไม่กี่ปีหลังจากนั้น sanook.com ถูกขายให้กับบริษัทต่างชาติแห่งหนึ่งด้วยราคาหลายล้าน “พอออกมาจากบริษัท sanook ได้หนึ่งปี ผมก็ซื้อเว็บไซต์กระปุกมาจากรุ่นน้องคนหนึ่งแล้วสร้างขึ้นมาใหม่…ก็ถือว่าไม่มีอะไรลำบาก เพราะว่าไม่ได้ตั้งเป้า ไม่ได้คิดว่าจะต้องทำอะไรใหญ่โต แค่ทำไปเรื่อยๆ”

การทำไปเรื่อยๆ ซึ่งคล้ายกับการปีนเขาขึ้นไป “ทีละช่วง” ของ “เขา” นั้น ทำให้ทุกวันนี้ “คุณปรเมศวร์ มินศิริ” เป็นเจ้าของเว็บกระปุกดอตคอม (kapook.com) เว็บไซต์อันดับสองของประเทศไทยที่มียอดการขายโฆษณาถึง 60 ล้านบาทต่อปี และหากตีมูลค่าเว็บอาจสูงถึง 100 ล้านบาท…เป็นกรรมการบริษัท บัณฑิต เซ็นเตอร์ จำกัด และเป็นผู้สร้างเว็บไซต์ที่ช่วยประสานงานในการช่วยเหลือผู้ประสบภัยที่เป็นที่รู้จักกันดีในช่วงน้ำหลาก อย่าง thaiflood.com นอกจากนี้ยังร่วมสนับสนุนกิจกรรมดีๆ อีกมากมาย อาทิ งาน Ignite Thailand และอื่นๆ

“ผมอยากให้เข้าใจว่าการจะประสบความสำเร็จไม่ง่าย ทุกอย่างย่อมมีอุปสรรคๆ แต่ผมอยากให้ทุกคนมองอุปสรรคเป็นส่วนหนึ่งของความสำเร็จครับ”

ในสายตาหลายๆ คนอาจมองว่าชายผู้นี้ได้ปักธงอยู่บนจุดสูงสุดของภูเขาที่มีชื่อว่า “ความสำเร็จ” แล้ว แต่สำหรับคุณปรเมศวร์เองนั้น เขาแอบกระซิบว่า ตอนนี้ยังมีโครงการอยู่ในหัวมากมาย โดยเฉพาะอยากจะสร้างหน่วยงานสารสนเทศที่จะทำงานเกี่ยวกับภัยพิบัติ เพื่อช่วยประสานงานในเรื่องข้อมูลข่าวสารยามเกิดภัยพิบัติขึ้นในประเทศไทย

…บางทีผู้ชายคนนี้อาจมีความสุขกับช่วงเวลาระหว่างปีนเขามากกว่าการได้อยู่นิ่งๆ บนจุดสูงสุดกระมัง 

Secret Magazine (Thailand)

Posted in MIND
BACK
TO TOP
A Cuisine
Writer

© COPYRIGHT 2024 Amarin Corporations Public Company Limited.