คำสอนคุณป้าห้าแผ่นดิน

อะพิโถ่ อะพิถัง กะละมังเอ๊ย! คำสอนคุณป้าห้าแผ่นดิน

ป้าลิ้มเคยเป็นพี่เลี้ยงพี่สาวผมตั้งแต่ผมยังไม่เกิด (คำสอนคุณป้าห้าแผ่นดิน)

พอพี่ผมเข้าเรียนจุฬาฯก็รับป้าลิ้มมาอยู่กับครอบครัวผม ตอนนั้นผมอายุ 10 – 11 ขวบ ส่วนป้าลิ้มอายุร่วม 90 แล้วยังแข็งแรงดี ป้าลิ้มพักอยู่ด้านหลังแยกจากตัวเรือนใหญ่ มีหลานสาวโตกว่าผมหน่อย อายุประมาณ 14 – 15 ปี ตอนเช้าหลานไปเรียนหนังสือ บ่าย ๆ กลับมาอยู่กับป้าลิ้มจนกระทั่งเข้านอน

ป้าลิ้มเกิดสมัยรัชกาลที่ 5 เอกลักษณ์ประจำตัวคือ ป้าลิ้มจะเกล้าผมทำเป็นผมมวยอยู่ด้านหลังมีปิ่นทำด้วยไม้เสียบเอาไว้ บางทีมองไปมองมาหาปิ่นไม่เจอ แกก็เอาตะเกียบเสียบแก้ขัดไว้ก่อน

ส่วนเสื้อผ้าอาภรณ์ แกใส่เสื้อคอกลมแขนกระบอกสีขาว นุ่งผ้าโจงกระเบนสีน้ำตาลแดง เรียกว่าแฟชั่นแต่ละปีจะเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร กระโปรงจะสั้นจะยาว หรือปีนี้สีสด ปีหน้าสีเข้ม ไม่มีผลกระทบเสื้อผ้าของป้าลิ้มเลย เพราะแกมีชุดประจำตัวอยู่ชั่วนาตาปี

เมื่อป้าลิ้มแก่ตัวกระดูกหลังแกโค้ง เวลาเดินหลังโกงต้องมีไม้เท้าช่วยค้ำยัน แต่แกก็เดินขึ้นลงบันได 2 – 3 ขั้นไปห้องแกได้ไม่ยาก

การที่ป้าลิ้มอายุยืนถึง 5 แผ่นดิน ถ้าเอาหลัก 5 อ. สมัยนี้ไปจับก็คงผ่านได้สบายมาก หลักที่ว่าคือ

อาหาร ป้าลิ้มทานมังสวิรัติ มีเต้าหู้ เห็ดฟางเป็นหลัก เห็ดอื่น ๆ ก็กินบ่อย นอกนั้นมีทั้งผักบุ้ง ฟักทอง ชะอม ถั่วฝักยาว มะเขือยาว แกงที่ทำประจำมีแกงป่า แกงลาว แกงเลียง แล้วก็น้ำพริก ผักลวกจิ้ม ผักต่าง ๆ ที่ว่าหั่นเป็นชิ้นเล็กพอคำเพื่อให้กินง่าย เคี้ยวง่าย แกงเห็ด 3 อย่างที่สมัยนี้นิยมกัน ป้าลิ้มตักใส่ถ้วยให้ผมกินมานานนักหนาแล้ว

อากาศ สมัยนั้นรถรา บ้านเรือน รวมทั้งผู้คนไม่หนาแน่นเท่าไร อากาศจึงบริสุทธิ์สดชื่นเอามาก ๆ จำได้ว่าแค่วันปิยมหาราชไปเดินดูพวงมาลา ตอนเย็นค่ำต้องใส่เสื้อกันหนาวไปด้วย เพราะอากาศเย็นยะเยือกแล้ว

ออกกำลังกาย ข้อนี้ป้าลิ้มอาจจะทำได้น้อยสักหน่อย เพราะแกอายุมากแล้ว อย่างดีก็เดินมาหน้าบ้าน ไม่ได้ออกนอกบ้านไปไหนไกล

อุจจาระ ป้าลิ้มกินง่ายก็เชื่อว่าถ่ายสะดวก เพราะไม่เห็นป้าลิ้มต้องกินยาคุณพระหรือยาคุณหลวงอะไรที่จะต้องช่วยขับถ่ายระบายท้องเลย

อารมณ์ ข้อสุดท้ายนี่น่าจะเป็นเรื่องสำคัญมาก ๆ ป้าลิ้มอารมณ์ดีและมีอารมณ์ขัน ไม่โกรธใคร แม้หลานแกจะทำผิดบ้าง ถูกบ้างก็ไม่มีการเอ็ดตะโรหรือดุด่าว่ากล่าว แต่จะพูดด้วยดี ป้าลิ้มพักผ่อนเพียงพอ นอนเป็นเวลา หลานแกบอกว่าป้าลิ้มชวนให้สวดมนต์ก่อนนอนทุกคืนประมาณสองทุ่ม

เสียงสวดมนต์ดังออกมานอกห้องด้วย ไม่ใช่สวดในใจหรือสวดแบบปากขมุบขมิบ หรือสวดแบบเสียงบ่นพึมพำ

อารมณ์ขันของป้าลิ้มบางทีแกก็ไม่ได้ตั้งใจ อย่างคำบางคำพูดไม่ได้ ป้าลิ้มก็พูดเป็นภาษาของแกเอง เช่น ขันอะลูมิเนียมก็บอกให้หลานไปหยิบขัน “ลูมิเนีย” ให้หน่อย ใครได้ยินเป็นหัวเราะทุกคน

แต่ประโยคยอดฮิตติดปากป้าลิ้มเมื่อรู้เห็นหรือได้ยินได้ฟังเรื่องแปลก ๆ ป้าลิ้มจะอุทานว่า “อะพิโถ่ อะพิถัง กะละมังเอ๊ย!” แล้วแกก็หัวเราะไปอีกพักใหญ่

บางทีหัวเราะจนน้ำหูน้ำตาไหล ทำให้ผมขำไปด้วย

ช่วงที่ป้าลิ้มอยู่กับครอบครัวผมประมาณ 4 ปี ผมไปขลุกอยู่ห้องป้าลิ้มบ่อยมาก เพราะหลังห้องป้าลิ้มมีระเบียงเล็ก ๆ ลมพัดเย็นสบาย ข้างล่างเป็นบ่อน้ำกว้างขวางพอควร มีทั้งปลาและตะพาบน้ำมาชุมนุมกินข้าวที่ป้าลิ้มโปรยปรายให้ทุกวัน ป้าลิ้มบอกว่าแบ่ง ๆ กันกิน นั่นเป็นวิธีการให้ทานของป้าลิ้มอย่างหนึ่ง

ผมเองตอนนั้นอยู่ในวัยซนตามประสาเด็กผู้ชาย หาไม้ไผ่มาได้ก็จัดแจงซื้อเบ็ดซื้อเอ็นมาทำคันเบ็ด พอนั่งที่ระเบียงห้องป้าลิ้มก็บิเอาเนื้อกุ้งหรือเนื้อหมูเกี่ยวเบ็ดหย่อนลงน้ำ พอยกคันเบ็ดขึ้นปลาหมอก็ดิ้นกระแด่ว ๆ ป้าลิ้มเห็นเข้าแกก็ร้องว่า “อะพิโถ่ อะพิถัง กะละมังเอ๊ย!” แต่ตอนนั้นแกไม่หัวเราะด้วย

ผมบ่นว่าตกได้แต่ปลาหมอ ไม่ได้ปลาช่อน ป้าลิ้มดูผมตกปลาอยู่หลายวัน มาวันหนึ่งแกบอกว่าที่ผมตกปลาช่อนไม่ได้ดีแล้ว แปลว่าผมไม่มีดวงในทางทำบาปทำกรรมหรือทำบาปไม่ขึ้น แกถามผมว่าถ้ามีเหล็กแหลมเกี่ยวเพดานปากเรา เราจะรู้สึกอย่างไร ผมตอบไปว่าคงเจ็บปวดน่าดู

ป้าลิ้มรีบสรุปว่าขอให้คิดถึงอกเขาอกเรา ถ้าเราเอาเบ็ดไปเกี่ยวปากเขาก็เจ็บ เพราะฉะนั้นอย่าตกปลาอีกเลยนะ เป็นบาปเป็นกรรมเปล่า ๆ ผมคิดดูแล้วก็เห็นจริงตามที่ป้าลิ้มว่า เลยตกปากรับคำและเลิกตกปลาตั้งแต่วันนั้นเป็นต้นมา

นั่นเป็นบุญคุณของป้าลิ้มอีกข้อหนึ่ง ทำให้ผมเลิกทำบาปด้วยการฆ่า หรือเลิกตกปลาเสียได้

บ่ายวันหนึ่งป้าลิ้มนั่งเคี้ยวหมากสบายใจอยู่พักใหญ่ ผมเลยเลียบ ๆ เคียง ๆ ถามป้าลิ้มว่า ไอ้ที่ป้าตะโกน อะพิโถ่ อะพิถัง กะละมังเอ๊ย น่ะ มันคืออะไร

ป้าลิ้มเฉลยว่า อะพิโถ่ ก็มาจาก ปัดโถ่ หรือ ปัดโถ่เอ๊ย ปัดโถ่ก็มาจากพุทโธอย่างไรเล่า พุทโธก็เหมือนที่บทสวดมนต์แปลไว้ว่าเป็นผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน

แต่ที่ป้าตะโกนอย่าไปถือสาอะไร แล้วไอ้กะละมังของป้าจะมาจากไหนป้าก็ไม่รู้เหมือนกัน มันมาของมันเอง ว่าแล้วป้าลิ้มแกก็หัวเราะจนน้ำหมากหก ขำตัวเองที่หอบกะละมังพ่วงมาด้วย แต่ไม่รู้ว่าไปคว้ามันมาจากไหน

จนกระทั่งผมโตขึ้นจึงเข้าใจอย่างแจ่มชัดว่า คำอุทานของป้าลิ้มคือคำว่า “พุทโธ” นั้นเป็นคำยิ่งใหญ่ เป็นคำที่สามารถกำกับสติให้อยู่กับเนื้อกับตัวได้เนือง ๆ เมื่อพูดหรือนึกถึงคำนี้

ช่างเป็นคำที่ลึกซึ้งจริง ๆ

พุทโธก็มาจากพุทธะ หมายถึง ผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน ซึ่งก็คือพระพุทธเจ้านั่นเอง เราได้ยินคนอุทานบ่อย ๆ ว่า โธ่เอ๊ย หรือปัดโถ่เอ๊ย บ้างก็ว่า โถ ๆ ๆ ล้วนมาจากคำว่า “พุทโธ” เหมือนเป็นการเตือนให้ระลึกถึงพระพุทธเจ้า เป็นการเตือนสติ เป็นการเตือนให้รู้จักวางรู้จักปลง ให้รู้ว่าทุกอย่างเป็นไปเพราะมีเหตุปัจจัย หรือให้ทำใจเป็นกลาง ให้รู้ ให้ดูเฉย ๆ ไม่ต้องเอาจิตไปปรุงแต่งมันเพิ่มเติม ทำให้รู้เท่าทันกิเลส ไม่เสียรู้กิเลส

ส่วนที่ป้าลิ้มอุทานว่า อะพิโถ่ อะพิถัง แล้วมี “กะละมังเอ๊ย” มาต่อท้าย ก็เพราะมันเป็นคำสัมผัสคล้องจองกันตามวิถีชีวิตคนไทยที่เป็นเจ้าสำบัดสำนวนมาแต่อ้อนแต่ออก

คำว่าพุทโธนี้ใช้กันมาก ผู้ที่ฝึกเจริญวิปัสสนากรรมฐานคงจำได้ว่าช่วงแรก ๆ ครูบาอาจารย์จะแนะว่าให้เอามือไว้ที่ท้อง พอหายใจเข้านึกถึงคำว่า “พุทธ” แล้วให้รู้ว่าหายใจเข้าท้องพอง หายใจออกนึกถึงคำว่า “โธ” แล้วให้รู้ว่าหายใจออกท้องยุบ ก็จะช่วยให้จิตรวมเป็นหนึ่งหรือเป็นสมาธิได้เร็วขึ้น สำนักไหนจะใช้พุทโธหรือใช้คำว่า “ยุบหนอ พองหนอ” ได้ทั้งนั้นไม่ผิดกติกาอะไร

หลวงพ่อโต หรือ ขรัวโต ท่านเคยกล่าวว่าท่านไม่ได้มีเวทมนตร์คาถาอะไร เมื่อยามปลีกวิเวกอยู่ในป่าช้า ท่านตั้งจิตไว้กับคำว่า “พุทโธ พุทโธ พุทโธ” ก็ช่วยคุ้มกันภยันตรายจากพวกที่ชอบ “ลองของ” กับท่านได้ทุกอย่าง เพราะพุทธานุภาพนี้ประเสริฐนัก

แม้แต่คนเจ็บไข้ได้ป่วยในช่วงวาระสุดท้าย ญาติพี่น้องก็จะให้ระลึกถึงคำว่า “พุทโธ” บ้าง “อรหันต์” บ้าง เพื่อที่คนเจ็บจะได้มีจิตน้อมระลึกถึงสิ่งที่ดีงามที่เคยทำมาและจากไปอย่างสงบ

เช่นเดียวกับป้าลิ้มที่คืนหนึ่งแกสวดมนต์แล้วเข้านอน แต่ครั้งนี้นอนหลับแล้วไม่ตื่นอีกเลย เรียกว่าไปแบบคนมีบุญ คือไปสบายจริง ๆ

ทุกวันนี้ผมได้ยินคำอุทานว่า “ปัดโถ่” หรือ “โธ่เอ๊ย” ทีไร อดนึกถึงป้าลิ้มไม่ได้ และก็ยังไม่เคยได้ยินใครอุทานแบบป้าลิ้มอีกเลย ขอบคุณป้าลิ้มที่ทิ้งคำอุทานที่เป็นคำสอนอันมีค่าไว้ให้

อะพิโถ่ อะพิถัง กะละมังเอ๊ย!

(คำสอนคุณป้าห้าแผ่นดิน)

ที่มา  นิตยสาร Secret

เรื่อง  เสริมศักดิ์ ศุกรวรรณ

Secret Magazine (Thailand)

IG @Secretmagazine


บทความน่าสนใจ

บานเย็น เรืองสันเทียะ จากคนทำอาหารไม่เป็นสู่ เชฟมิชลิน 1 ดาวคนแรกของนนทบุรี

© COPYRIGHT 2024 Amarin Corporations Public Company Limited.