แม่ดีเด่น

18 แม่ดีเด่นทั่วประเทศ รางวัล “มหิดล – วันแม่” ประจำปี 2562

รางวัล “แม่อนุรักษ์สิ่งแวดล้อม”

รางวัลนี้จัดตั้งขึ้นตามแนวคิดที่ว่า “สิ่งแวดล้อมดีเริ่มต้นที่แม่” คัดเลือกแม่ที่มีบทบาทในการสนับสนุนให้ลูกเห็นคุณค่าของสิ่งแวดล้อมที่ดี และเป็นแม่ที่มีบทบาทสนับสนุนและอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมในสังคมอย่างเด่นชัด มีผู้ได้รับรางวัล 4 รายดังนี้

แม่สุวรรณี พรหมประสิทธิ์ จังหวัดนครสวรรค์

เริ่มจากวัยเด็ก แม่เห็นรถขนไม้ซุงในพื้นที่แล่นผ่าน แม่มีความคิดว่า ทําอย่างไรให้พื้นที่ป่าไม่โดนรุกล้ำ แม่จึงมีความสนใจด้านสิ่งแวดล้อมตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา และเลือกเรียนด้านชีววิทยา

เมื่อแม่มีโอกาสเข้ารับราชการครูสอนวิชาวิทยาศาสตร์ ทําให้แม่มีโอกาสได้ปลูกฝังลูกศิษย์หลายรุ่น โดยให้ธรรมชาติเป็นห้องเรียน เน้นเรียนรู้ความหลากหลายทางชีวภาพของท้องถิ่น ถ่ายทอดความรู้ให้เด็กได้มีความเจริญงอกงามทางจิตใจ มีความเอื้ออาทรต่อธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม แม่พานักเรียนไปศึกษาสถานที่จริง ให้รู้จักรากเหง้าของท้องถิ่น รวมถึงการอนุรักษ์พืชพันธุ์ธรรมชาติ แม่ยังจัดทําหลักสูตรรายวิชาเกี่ยวกับธรรมชาติ ได้แก่ วิชาเขาชอนเดื่อ วิชาพฤกษศาสตร์สมุนไพร วิชาวิทยาศาสตร์สุขภาพ โดยจัดการเรียนรู้ให้เชื่อมโยงกับทรัพยากรธรรมชาติในท้องถิ่น

นอกจากนี้ แม่ทํางานร่วมกับชุมชนในการเฝ้าระวังไฟป่ารอบเขารอยเสือ ด้วยวิธีโยนเมล็ดกระถินเพื่อสร้างแนวป้องกันไฟ แม่ยังเป็นนักเขียนคอลัมน์ในหนังสือพิมพ์ท้องถิ่นที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับการอนุรักษ์ทรัพยากรท้องถิ่น

ในบทบาทความเป็นแม่  แม่ปลูกฝังให้ลูกรู้จักธรรมชาติรอบ ๆ ตัว พาลูกเข้าร่วมกิจกรรมด้านการอนุรักษ์ธรรมชาติ พร้อมสอนให้ลูกเรียนรู้วิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อมท้องถิ่น กระทั่งลูกมีความสนใจ เป็นผู้นําเพื่อน ๆ ในโรงเรียนทํากิจกรรมสิ่งแวดล้อม ซึ่งเกิดจากการปลูกฝังของแม่ที่มีต่อลูก โดยมุ่งหวังให้ลูกและเยาวชนเรียนรู้รักษ์ป่าอย่างยั่งยืน ถ่ายทอดให้เกิดความรักและหวงแหนป่าจากรุ่นหนึ่งไปสู่อีกรุ่นหนึ่ง

แม่ศิวพร เอี่ยมจิตกุศล จังหวัดจันทบุรี

จากเดิมที่แม่ไม่มีพื้นฐานด้านการเกษตร แม่พยายามศึกษาหาความรู้เรื่องการทําเกษตรอินทรีย์ โดยเริ่มจากการปรับปรุงดินให้กลับมามีชีวิตอีกครั้ง หลังจากที่ดินถูกทําร้ายเพราะสารเคมีมานานกว่า 10 ปี

การตัดสินใจลาออกจากงานประจําในอาชีพสถาปนิกของแม่มาใช้ชีวิตเกษตรกร นอกจากจะทําให้สุขภาพและโรคภัยที่แม่ต้องเผชิญหายไปแล้ว แม่ยังช่วยให้คนรอบข้างมีสุขภาพดีขึ้น ด้วยการปรับเปลี่ยนระบบเกษตร ปลูกผักผลไม้อินทรีย์ ลดการพึ่งพาสารเคมี หันมาพึ่งพาตนเองเป็นหลัก แม่เปิดสวนให้เป็นแหล่งเรียนรู้การทําเกษตรแบบไม่ใช้สารเคมี แม่ยังเป็นผู้ก่อตั้งโครงการปลูกเปลี่ยนโลก (โรค) โดยรวบรวมคนในพื้นที่ให้หันมาใส่ใจอนุรักษ์ป่า อนุรักษ์น้ำ

แม่สอนให้ลูกมีความรับผิดชอบในหน้าที่ ปัจจุบันลูกมีอาชีพเป็นหมอ แต่ได้ช่วยส่งเสริมกิจกรรมของแม่ โดยหวังว่าการไม่พึ่งพาสารเคมี ทําให้มีคนป่วยน้อยลง สังคมห่างไกลโรค และสร้างความรู้ให้แก่ผู้ป่วยได้ตระหนักถึงการดูแลใส่ใจสุขภาพมากขึ้น แม่เชื่อว่าการสร้างนิสัย “กินดี ทําให้สุขภาพดี”

แม่สมรศรี พันธุ์สอิ้ง จังหวัดสุพรรณบุรี

แม่เน้นการรักษาความสะอาดให้แก่ชุมชน โดยเริ่มจากการคัดแยกขยะ ทําน้ำหมักชีวภาพช่วยให้ขยะย่อยสลายได้ง่ายขึ้น  และช่วยบําบัดน้ำเสีย แม่แนะนําให้สถานประกอบการในชุมชนจัดการน้ำเสียด้วยบ่อดักไขมัน

แม่อนุรักษ์พันธุ์พืชท้องถิ่น ได้แก่ ต้นจัน ต้นหว้า ต้นชํามะเลียง ปลูกต้นไม้ ปรับปรุงภูมิทัศน์ แม่เป็นผู้ประสานงาน “ชมรมรักษ์ผีเสื้อ” โดยร่วมกับลูก ๆ ในการดูแลและขยายพันธุ์ผีเสื้อ เพราะบริเวณใดมีผีเสื้อ แสดงว่าบริเวณนั้นมีสิ่งแวดล้อมดี

แม่ปลูกฝังให้ลูกรักธรรมชาติ สิ่งนี้ทําให้ลูกซึมซับและเติบโตกับธรรมชาติ แม่กับลูกได้ทํากิจกรรมร่วมกัน ไม่ว่าจะเป็นการอนุรักษ์ธรรมชาติ กิจกรรมจิตอาสาด้านต่าง ๆ ทําด้วยใจรักและหวงแหนธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

แม่เป็นผู้นําด้านสิ่งแวดล้อม คิดสร้างสรรค์เพื่อประโยชน์ส่วนรวม และเพื่อชุมชนให้เกิดการเรียนรู้และเข้มแข็งอย่างยั่งยืน

แม่รุ้งทอง ภูเขาใหญ่ จังหวัดพิจิตร

แม่เป็นผู้ริเริ่มการทํานาอินทรีย์ ปลูกพืชหมุนเวียน นํามูลสัตว์มาไถกลบเป็นปุ๋ย ไม่ใช้สารเคมี เน้นทําเกษตรด้วยหลักธรรมชาติ จนเป็นที่ยอมรับในระดับสากล แม่ได้รับใบรับรองข้าวไรซ์เบอรี่มาตรฐานเกษตรอินทรีย์สากล EU/USDA และเป็นวิทยากรถ่ายทอดความรู้และประสบการณ์ให้แก่ผู้ที่มาศึกษาดูงาน

แม่เป็นผู้เสียสละ โดยมอบที่นาของตนเองให้แก่โรงเรียนได้ทํานาชั่วคราว และเป็นแปลงเรียนรู้สําหรับนักเรียนและผู้ปกครองใช้ทํานาอินทรีย์ เพื่อนําข้าวที่ได้มาสีและมอบให้นักเรียนรับประทานในโครงการอาหารกลางวัน นําเงินส่วนหนึ่งที่ได้จากการขายข้าวมอบเป็นทุนการศึกษาในโครงการ “เด็กดีศรีบรเพ็ด”

แม่ฝึกลูกให้ทํานาและทําสวนแบบอินทรีย์ตั้งแต่เยาว์วัย สอนให้ลูกเข้าใจถึงโทษของสารเคมีที่มีผลเสียต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อม ลูกจึงเป็นหัวเรี่ยวหัวแรงในการทํานาอินทรีย์ พร้อมทั้งชักชวนชาวบ้านให้หันมาทํานาอินทรีย์ โดยชี้ให้ชาวบ้านเห็นถึงประโยชน์ของการทํานาอินทรีย์ และโทษของสารเคมีต่อสุขภาพและสภาพแวดล้อม ลูกได้สานต่อเจตนารมณ์การทํางานของแม่ เพราะเห็นถึงการทํางานของแม่ที่ก่อให้เกิดประโยชน์และพัฒนาคุณภาพชีวิตที่ดีของชุมชน

 

ขอบคุณข้อมูลและภาพจาก  มหาวิทยาลัยมหิดล

Secret Magazine (Thailand)

IG @Secretmagazine


บทความน่าสนใจ

วิธีตอบแทนพ่อแม่ ระดับสูง…หนทางสู่การเป็น “ที่สุด” แห่งความกตัญญู

© COPYRIGHT 2024 Amarin Corporations Public Company Limited.