นิทาน

นิทานแสนเศร้า บทความเตือนใจสำหรับพ่อแม่ทุกคน

กาลครั้งหนึ่งซึ่งนานมา ทว่าเรื่องราวยังคงอยู่ในความทรงจำ นิทาน

สมัยยังเป็นนักเรียนคอซอง บ่อยครั้งที่เรามักเห็นผู้ชายวัยรุ่นสวมแว่นหนา หน้าตาสะอ้าน เดินงง ๆ วนเวียนอยู่ข้างรั้วโรงเรียน วันดีคืนดีก็ปีนขึ้นไปอยู่บนรั้ว จนอดตั้งคำถามไม่ได้ว่า “เขาเป็นใคร” ไม่น่าเชื่อ…คำตอบที่ได้รับจากรุ่นพี่คนหนึ่งทำให้เราอึ้ง!

“เขาเรียนเก่งมากจนเสียสติ”

เราเองไม่ใช่คนเรียนเก่ง และด้วยวัยขณะนั้นซึ่งยังเรียนรู้โลกมาไม่มากนัก เลยไม่ค่อยเข้าใจว่า ทำไมคนที่เรียนเก่ง สมองดี ถึงตกอยู่ในสภาพเช่นนี้

ทว่าเมื่อเวลาผ่านวันผัน ชีวิตก้าวสู่วัยผู้ใหญ่ และได้อยู่ในสถานะของคนเป็นแม่ เรื่องราวในวันนั้นได้ผุดขึ้นมาจากหวังความทรงจำอีกครั้งพร้อม ๆ กับ “ความเข้าใจ” เมื่อวันหนึ่งได้ดูข่าว “โรงเรียนชื่อดังถูกเผาวอด” แวบแรกที่ได้เห็นเพลิงลุกไหม้อาคารของโรงเรียนผ่านจอทีวีให้รู้สึกใจหาย แต่ก็ไม่เศร้าเท่ากับรู้ว่า มือเผาคือ “นักเรียน” และยิ่งเพิ่มความเศร้าเป็นทวี เมื่อข่าวรายงานว่า สาเหตุเกิดจากความเครียดเพราะผลการเรียนไม่เป็นดังที่หวัง

ไม่…เราไม่ได้คิดกล่าวโทษเด็กคนนี้แม้แต่น้อย ตรงกันข้ามกลับรู้สึกห่วงใยเหลือเกิน เพราะ “โรงเรียน” สร้างใหม่ได้ แต่ “หัวใจสลาย” ของเด็กคนหนึ่งจะเยียวยากันอย่างไร

ก่อนที่เด็กจะถูกพิพากษาให้ผิดด้วยคิดไม่ถึง เราคงต้องย้อนมองกลับไปหาสาเหตุด้วยความพินิจพิเคราะห์อย่างละเอียดลออว่า ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นครอบครัว ครู เพื่อน สังคม สภาพแวดล้อม หรือแม้แต่ตัวเด็กเอง อาจจะมีส่วนสร้างความกดดันถึงขั้นเครียด จนนำมาสู่เหตุการณ์สุดสะเทือนใจครั้งนี้ และนี่ก็ไม่ใช่ครั้งแรก เพราะแม้แต่เด็กเล็กวัยเจ็ดแปดขวบก็กระทำอัตวินิบาตกรรมจนเป็นข่าวขึ้นหน้าหนึ่งมาแล้ว เหตุเพียงเพราะมีเรื่อง “ขี้ผง” (ในสายตาของผู้ใหญ่) มากระทบใจ เหตุการณ์ลักษณะนี้เกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่า ข่าวเก่าไปข่าวร้ายใหม่ก็มา นั่นเป็นเพราะเราหาสาเหตุที่แท้จริงไม่เจอ หรือบางที…อาจไม่พยายามมองเห็นมัน เมื่อเป็นเช่นนี้ ปมปัญหาจึงไม่ถูกแก้

กับกรณี “เผาโรงเรียน” ครั้งนี้ เห็นทีต้องมุ่งประเด็นไปที่ “ระบบการศึกษา” ของบ้านเรา ที่เด็กไทยต้องเรียนกันหนักมาก ในหนึ่งวันมีคาบเรียนเต็มเอี้ยด พักเที่ยงยังต้องเข้าห้องสมุด ตกเย็นติวต่อเสาร์-อาทิตย์ฟิตเพิ่ม วิ่งรอกกวดวิชาตามสถาบันชื่อดัง ในขณะที่เนื้อหาบางวิชาก็ซ้ำซ้อนกัน นั่นเป็นเพราะระบบการศึกษาที่เราคิดกันว่า ทันสมัย ได้นำพาสังคมให้ (จำ) ยอมรับว่า คนที่จะประสบความสำเร็จในชีวิตได้ต้องเป็นคนเรียนเก่งและได้เข้าไปอยู่ในรั้วของสถาบันการศึกษาชื่อก้องเท่านั้น

เราไม่ได้จะสื่อสารเรื่องราวครั้งนี้เพื่อให้เขียนหลักสูตรการศึกษาที่ว่าด้วยความขี้เกียจขึ้นมาแทนที่หลักสูตรเดิม ไม่ได้บอกให้เด็กเลิกขยัน ไม่ได้ต้องการให้ใครเลิกเข้มงวดกวดขันเด็กในปกครอง เพียงแต่อยากบอกว่า บนความหวังดีที่อยากให้เด็กได้ดีนั้น โปรดมี ”ความพอดี” และ “ความเข้าใจ” ใส่ลงไปด้วย ทุกวันนี้เด็กเรียนรู้แต่การ “แข่งขัน” จนขาดความ “เข้มแข็ง” เร่งไขว่คว้ากันจนขาดความเสถียรทางอารมณ์ที่เป็นสุข

ลองตั้งคำถามกับตัวเองกันหน่อยไหมว่า เราจะวัดค่าของคนด้วยเกรดเฉลี่ย 4.00 งั้นหรือ ทั้งที่เราท่านก็เห็นกันมามากว่า คนที่ประสบความสำเร็จในโลกนี้มีอยู่มากมายที่เรียนจบแค่ ป.4 หรือแม้กระทั่งไม่มีโอกาสได้เรียนเลยก็อีกเยอะ ในขณะที่คนที่เก่ง แต่หัวสมองประคองตัวไม่รอดก็มีถม

ระบบการศึกษาที่ระดมความรู้ทางวิชาการเข้าสมอง แต่มองข้ามที่จะมอบวิชาสำคัญให้ด้วย นั่นคือ “ความเข้าใจแก่นแท้ของชีวิต” ส่งผลให้มนุษย์มีลมหายใจดำเนินไปโดยไม่รู้จัก “ความสุขที่แท้ ความสำเร็จที่เที่ยง”

ถึงวันนี้ เราคงเกี่ยงกันไม่ได้แล้วว่า “ใคร” จะเป็นคนแก้ปัญหา เพราะไม่ว่าคุณจะอยู่ในสถานะของคนเป็นพ่อ แม่ ลูก ครู นักเรียน รัฐมนตรี หรือไม่ว่าคุณจะมีดีกรีบัณฑิต มหาบัณฑิต ดอกเตอร์ ศาสตราจารย์…เราต่างต้องเริ่มเรียนกันใหม่ เรียนวิชาที่ว่าด้วย “สุข”“สุขให้เป็น แล้วจะเป็นสุข”

สุดท้ายแล้ว เชื่อเถอะว่า ระบบการศึกษาที่อัดแน่นไปด้วยสารพัดวิชานานาศาสตร์ ซึ่งถาโถมความรู้มาพร้อมความเครียดให้ทั้งเด็กที่ถูกคาดหวังและผู้ใหญ่ที่ตั้งความหวัง ภายใต้ความเชื่อใน “ระบบการศึกษาแบบเดิมๆ” จะถูกเปลี่ยนด้วย “ระบบความคิดใหม่” ที่สร้างโดยตัวคุณเอง เมื่อถึงวันนั้น “ความรู้ในศาสตร์แห่งสุข” จะก่อเกิด “ปัญญา”ช่วยคลี่คลาย “ปัญหา” ควบคู่ไปกับการไม่สร้างปัญหาใหม่

แต่…ถ้าทุกคนทุกฝ่ายยังคงนิ่งเฉย ปล่อยปัญหาผ่านมาแล้วเลยไปเหมือนไฟไหม้ฟาง รับรองว่า “นิทาน แสนเศร้า” จะต้องถูกเปิดเพื่อเล่าซ้ำกันอีกครั้ง

 

ที่มา  นิตยสาร Secret

เรื่อง  วาริณฑร์ มาเปี่ยม

Secret Magazine (Thailand)

IG @Secretmagazine


บทความน่าสนใจ

พุทธศาสนาคือศาสนาแห่งความสุข โดย สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ประยุทธ์ ปยุตฺโต)

เมื่อฉันได้พบ อาวุธฟาดฟันความทุกข์

© COPYRIGHT 2024 Amarin Corporations Public Company Limited.