ปูเน่ - อนัญญาลัลน์

ปูเน่ – อนัญญาลัลน์ วัฒนะนุพงษ์ นางฟ้านักบิด

ย้อนกลับไปเมื่อปี พ.ศ. 2544 ปูเน่ – อนัญญาลัลน์ วัฒนะนุพงษ์ ได้รับเลือกให้เป็นรองนางสาวไทย (รุ่นเดียวกับ นุ้ย – สุจิรา อรุณพิพัฒน์) ปัจจุบันเธอหันหลังให้วงการบันเทิง ก้าวเข้าสู่โลกแห่งความเร็วอย่างจริงจัง

“หลังออกจากวงการบันเทิง ปูเน่ไปเรียนต่อ จบมาเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัยจนถึงปัจจุบัน ส่วนจุดเริ่มต้นที่มาแข่งรถบิ๊กไบค์คือพี่ชายชอบเรียกให้ดูการแข่งรถ ดูแล้วก็ชอบ ยิ่งช่วงน้ำท่วมใหญ่ปี พ.ศ. 2554 ได้ดูเยอะเพราะว่าง หลังจากนั้นจึงไปเข้าคอร์สเรียน วันที่สองที่ไปเรียนอาจารย์เห็นแวว ถามว่าจะไปแข่งไหม ปูเน่อยากสัมผัสบรรยากาศอยู่แล้วจึงตอบตกลงทันที ตอนนั้นมีเวลาฝึกซ้อมประมาณหนึ่งเดือน มีคนลงแข่งทั้งหมด 14 คน เราได้ที่ 7 อาจารย์ให้กำลังใจบอกว่าไม่คว่ำก็ดีแล้ว” (ยิ้ม)

 

ปูเน่ - อนัญญาลัลน์

 

ปูเน่ - อนัญญาลัลน์

 

ปูเน่ - อนัญญาลัลน์

 

เห็นสวย ๆ หวาน ๆ แบบนี้ เธอมีวิธีปลุกเร้าตัวเองในขณะลงแข่งได้ฮาร์ดคอร์มาก

“ก่อนลงสนามจะบอกตัวเองตลอดว่า ต้องทำได้ ขี่ทำเวลาให้ได้ดีกว่าเดิม ชนะตัวเองให้ได้ เพราะยังกลัวทางโค้ง และระหว่างอยู่ในสนามจะคิดถึงคำพูดของครูตลอดว่า เวลาเราออกโค้งให้ช้า ๆ แล้วเติมคันเร่งในโค้ง แล้วก็จะตะโกนในหมวก เอ้า! เติม บิด เร่ง! เติม บิด ใส่เกียร์ เร็ว ๆ ๆ ๆ (น้ำเสียงฮึกเหิมมาก) สู้เพื่อพ่อโว้ย! เร็ว ๆ ๆ ๆ เร่ง ๆ ๆ ๆ”

ด้วยความที่เป็นคนมุ่งมั่นและตั้งใจในทุกครั้งที่ฝึกซ้อม ส่งผลให้เธอคว้าถ้วยรางวัลมาแล้วมากมาย

“จริง ๆ ภูมิใจทุกถ้วยนะ แต่สิ่งที่ทำให้มีกำลังใจคือรางวัลดาวรุ่ง มันเป็นรูปเหมือนออสการ์ รางวัลนี้พิจารณาจากความพยายาม ความอดทน ในการแข่งขันแต่ละครั้งต้องทำเวลาดีขึ้นทุกครั้ง แม้กระทั่งพี่ช่างภาพหนังสือมอเตอร์ไซค์ก็สังเกตเห็น เขาบอกอาจารย์ว่าปูเน่ดีขึ้นเรื่อย ๆ เลยนะ รูปช่วงแรกที่ถ่ายตัวแข็งมาก ดูเกร็ง ระยะหลังตัวเริ่มอ่อน มีพัฒนาการดีมาก ยิ่งมีคนสังเกตเห็น เราก็ยิ่งภูมิใจและก็มีกำลังใจมากขึ้นว่าสิ่งที่เราทำไม่สูญเปล่า”

 

ปูเน่ - อนัญญาลัลน์

 

ปูเน่ - อนัญญาลัลน์

 

ปูเน่ - อนัญญาลัลน์

 

อยู่กับความเร็วและความเสี่ยงแบบนี้ สิ่งที่หนีไม่พ้นคืออุบัติเหตุ เธอเล่านาทีบาดเจ็บด้วยน้ำเสียงสบาย ๆ ว่า

“มันเป็นเรื่องปกติ คือเวลาซ้อมรถทุกซีซี. ใหญ่ – เล็กจะมารวมกันหมด ตอนนั้นปูเน่มือใหม่มาก มีรถตัว 1,000 ซีซี.คันหนึ่งทำเสียงดัง น่ากลัวมาก ก็พยายามซ้อมตามปกติ โดยอาจารย์ขี่อยู่ข้างหน้า น้องในทีมอยู่ถัดจากอาจารย์ ถัดไปก็เป็นปูเน่ ขี่ไปสักพักรถคันเดิมที่เราเกรง ๆ แต่แรกขับมาเร็วมาก ทีนี้เรามัวแต่พะวง หันไปมองอยู่เรื่อย ๆ ยิ่งเห็นเขามาใกล้ก็ยิ่งเกร็ง ตัดสินใจหลบตรงทางโค้ง ชั่ววินาทีที่หักหลบเราควบคุมรถไม่ได้ ทุกอย่างมันเกิดขึ้นเร็วมาก รถแหกโค้งทันที พอล้ม มันมึนไปหมด เจ็บมากจนร้องไม่ออก พยายามยกมือให้อาจารย์เห็นก็ยกไม่ได้ ปวดไปหมด พออาจารย์ขี่วนมาเห็นก็บอกให้เราลุก เพราะมันอันตรายมาก เดี๋ยวรถคันอื่นอาจมาชนได้ ปูเน่ลุกไม่ไหวจริง ๆ สุดท้ายต้องพาไปโรงพยาบาล โชคดีไม่ได้เป็นอะไรมาก แค่เอ็นข้อไหล่ฉีก แต่ไม่ต้องเข้าเฝือก

“พอเจ็บตัวแบบนี้หลายคนอาจคิดว่าเราจะกลัวจนอยากเลิกเล่นเลยไหม ปูเน่ไม่มีความคิดนั้นในหัว บาดเจ็บวันพฤหัสบดี วันเสาร์ขออาจารย์ลงแข่งอีก แต่อาจารย์ไม่อนุญาต ปูเน่ร้องไห้เลย คืออยากแข่งมากจริง ๆ”

 

ปูเน่ - อนัญญาลัลน์

 

ปูเน่ - อนัญญาลัลน์

 

ปูเน่ - อนัญญาลัลน์

 

หลายคนมองว่าการแข่งบิ๊กไบค์เป็นกีฬาสำหรับผู้ชาย แต่หญิงสาวคนนี้เห็นแตกต่างไป

“ปูเน่มองว่าหญิงชายเท่าเทียมกันนะ ได้เปรียบกันคนละเรื่องมากกว่า ผู้ชายกล้าลุย เวลาเจ็บก็เจ็บเยอะ แต่ผู้หญิงระมัดระวังมากกว่า มักเจ็บน้อยกว่า และไม่ใช่ว่าผู้ชายจะแข่งชนะผู้หญิงเสมอไป น้องในทีมคนหนึ่งเคยโดนผู้ชายแกล้งในสนามโดยขับมาชนจนขาหัก แต่เขาก็ใจสู้นะ ขับทั้ง ๆ ที่ขาหักแล้วก็เข้าเส้นชัยเป็นคนแรก เรื่องแบบนี้ปูเน่ว่ามันอยู่ที่ใจ ที่สำคัญที่สุดคือสติกับสมาธิ ถ้าไม่มีสองสิ่งนี้ ยังไงก็ไม่ประสบความสำเร็จอย่างแน่นอน”

สำหรับเป้าหมายในอนาคตของสาวนักบิดคนสวย เธอแข่งกับตัวเองในการทำเวลาแต่ละครั้งให้ดีขึ้น และได้ขึ้นโพเดียมทุกครั้งก็เพียงพอแล้ว

 

ที่มา  นิตยสาร Secret ฉบับที่ 170

เรื่อง  เชิญพร คงมา, อุรัชษฎา ขุนขำ

ภาพ  ฝ่ายภาพ อมรินทร์พริ้นติ้งฯ , Pune Ananyalan

Secret Magazine (Thailand)

IG @Secretmagazine

© COPYRIGHT 2024 Amarin Corporations Public Company Limited.