เทมเพิล แกรนดิน

เทมเพิล แกรนดิน อัจฉริยะออทิสติกผู้พลิกโฉมวงการปศุสัตว์ของอเมริกา

เทมเพิล แกรนดิน (Temple Grandin) เกิดมาพร้อมกับความมหัศจรรย์ เพราะเธอมีสมองที่คิดเป็นรูปภาพ และมีประสาทสัมผัสที่ตอบสนองต่อสิ่งเร้าอย่างรวดเร็วในทำนองเดียวกับสัตว์ป่า ความสามารถดังกล่าวทำให้เธอเข้าใจพฤติกรรมของสัตว์อย่างที่คนทั่วไปไม่อาจเข้าใจได้

ปัจจุบันเทมเพิลเป็นอาจารย์ด้านสัตววิทยาประจำมหาวิทยาลัยโคโลราโดที่มีลูกศิษย์ลูกหามากมาย เธอเป็นนักเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิของสัตว์ที่มนุษย์นำมาเป็นอาหาร เป็นนักเขียนที่มีผลงานกว่า 20 เล่ม และเป็นผู้ออกแบบไร่ปศุสัตว์ในสหรัฐอเมริกาและแคนาดากว่าร้อยละ 50

 

เทมเพิล แกรนดิน

 

เทมเพิล แกรนดิน

 

เวลาที่เทมเพิลต้องออกแบบสถานที่หรืออุปกรณ์ในปศุสัตว์ เธอเพียงแต่เดินสำรวจไปรอบๆ โดยใช้เวลาไม่ถึงชั่วโมง เธอก็จะสามารถออกแบบพิมพ์เขียวที่มีอัตราส่วนตรงตามความเป็นจริงในสมอง เธอมองเห็นกระทั่งบรรยากาศโดยรอบ แสงไฟ เงาที่ตกกระทบ และภาพฝูงสัตว์ที่เดินเข้ามาในสถานที่นั้นๆ ราวกับกำลังดูวิดีโอ โดยที่เธอจะกดปุ่มหยุดเมื่อไรก็ได้และเปลี่ยนแปลงมุมมองไปได้เรื่อยๆ ตามความพอใจ

อย่างไรก็ตาม ความสามารถที่น่าอิจฉาข้างต้นก็สร้างความทุกข์ให้เธอไม่น้อย อันที่จริงความสามารถดังกล่าวเป็นผลมาจากอาการของโรคออทิสติก (autism) ซึ่งเป็นโรคที่ผู้คนในทศวรรษ 1950 อันเป็นช่วงที่เทมเพิลลืมตาดูโลก ยังไม่เข้าใจนัก

ตอนเล็กๆ อาการออทิสติกเป็นปัญหาของพ่อแม่มากกว่าจะเป็นปัญหาของเทมเพิล พ่อแม่ไม่เข้าใจว่าทำไมลูกสาวจึงไม่ยอมให้กอด ไม่ยอมพูด มีทีท่าว่าจำใครไม่ได้ และมักแสดงออกด้วยการกรีดร้อง ที่เป็นเช่นนี้เพราะสมองของเธอไม่ได้คิดผ่านภาษาเหมือนคนทั่วไป เธอไม่มีทักษะด้านอารมณ์ และการสัมผัสก็ทำให้เธอหวาดกลัว

 

เทมเพิล แกรนดิน

 

เทมเพิล แกรนดิน

 

เทมเพิล แกรนดิน

 

หากจะอธิบายโดยละเอียด เราคงต้องใช้พื้นที่หลายหน้ากระดาษจึงจะอธิบายพฤติกรรมของเทมเพิลได้หมด อันที่จริงเทมเพิลก็เหมือนกับเด็กออทิสติกส่วนใหญ่ที่เกิดมาพร้อมกับบางสิ่งที่หายไปและบางสิ่งที่เพิ่มขึ้นมา ที่จริงแล้วเด็กออทิสติกหลายๆ เคสที่ได้รับการดูแลอย่างถูกต้องจะสามารถพัฒนาความสามารถที่หายไปได้ ยกตัวอย่างเช่น แม้ว่าเด็กจะกระโดดหนีหรือโวยวายเมื่อถูกกอด แต่ถ้าพ่อแม่มีความพยายามที่จะกอดลูกให้ได้ เช่น อาจจะกระตุ้นมากขึ้นในบางครั้งและผ่อนปรนบ้างในเวลาที่ลูกส่งสัญญาณว่า “ไม่ไหวแล้ว” ลูกก็จะมีพัฒนาการด้านอารมณ์ดีขึ้น

เทมเพิลเปรียบเทียบการเลี้ยงเด็กออทิสติกว่าคล้ายกับการฝึกสัตว์ป่า ซึ่งสมัยเธอยังเล็ก ความรู้ด้านการเลี้ยงดูเด็กออทิสติกมีน้อยมาก เธอจึงไม่ได้รับการดูแลอย่างถูกต้อง ทั้งที่แม่พยายามทำทุกวิถีทางที่คิดออก แต่เธอก็มีพัฒนาการทางอารมณ์จำกัด และเป็นสาเหตุที่ทำให้ชีวิตช่วงวัยรุ่นของเธอเต็มไปด้วยความขมขื่นเพราะถูกล้อเลียนเสมอ

อย่างไรก็ตาม เทมเพิลโชคดีที่ได้เจอครูวิทยาศาสตร์ที่เข้าใจเธอและสนับสนุนให้เธอเรียนต่อด้านสัตววิทยา ผลงานการออกแบบ “ทางเดินเข้าสู่โรงฆ่าสัตว์” ทำให้เธอได้แจ้งเกิดตั้งแต่ครั้งยังเป็นนักศึกษา การออกแบบทางเดินให้เป็นรูปโค้งและมีลักษณะแคบจนทำให้วัวต้องเดินเรียงเดี่ยวเข้าไป บวกกับผนังด้านข้างที่ปิดทึบสามารถช่วยลดอาการตื่นกลัวของวัวได้เป็นอย่างดี

แม้จะเป็นการเดินไปสู่ความตายเช่นกัน แต่ก็ช่วยให้พวกมันไม่ต้องทรมานเหมือนเมื่อก่อน อีกทั้งยังเป็นการกระตุ้นเจ้าของฟาร์มปศุสัตว์และประชาชนทั่วไปให้ปฏิบัติกับสัตว์เลี้ยงที่คนเราตีค่าว่า “เกิดมาเพื่อเป็นอาหาร” ให้ดีขึ้น

นอกจากนี้เทมเพิลยังเป็นผู้ป่วยออทิสติกคนแรกๆ ของโลกที่เปิดเผยความจริงเกี่ยวกับอาการออทิสติกผ่านการแสดงปาฐกถาและเขียนหนังสือ ซึ่งทำให้คนทั่วไปเข้าใจผู้ที่เป็นออทิสติกมากขึ้น

 

เทมเพิล แกรนดิน

 

เทมเพิล แกรนดิน
ชีวิตของเทมเพิลถูกนำไปสร้างเป็นภาพยนตร์ในปี 2010

 

แม้เทมเพิลจะไม่เข้าใจในเรื่องของอารมณ์และความรู้สึกอย่างลึกซึ้งเหมือนคนทั่วไป แต่ด้วยการทุ่มเททำงานด้านนี้มานานกว่า 30 ปี ทำให้ ณ วันนี้เธอเข้าใจความหมายของชีวิตเป็นอย่างดี…ในแบบของเธอ

“ในตอนนี้ฉันมองเห็นภาพแม่คนหนึ่งที่บอกกับฉันว่า หนังสือของฉันช่วยให้ลูกของเธอสามารถเข้าเรียนในมหาวิทยาลัยได้…แม่ที่บอกว่า ลูกของเธอได้งานทำเพราะได้ฟังเลกเชอร์ของฉัน หรือไม่ก็เจ้าของฟาร์มที่เดินมาบอกกับฉันว่า อุปกรณ์ที่ฉันออกแบบช่วยเขาได้มาก…สำหรับฉัน นี่แหละคือความหมายของชีวิต”

 

ที่มา  นิตยสาร Secret

เรื่อง  Violet

ภาพ  daimakadin.com, elsevier.com, TED.com, impactingourfuture.com

Secret Magazine (Thailand)

IG @Secretmagazine


บทความน่าสนใจ

สตีเฟน วิลต์เชียร์ “มนุษย์กล้องถ่ายรูป” ศิลปินออทิสติกสุดยอดอัจฉริยะ

© COPYRIGHT 2024 Amarin Corporations Public Company Limited.