บุญยืน ศิริธรรม  “คนบ้าปากพล่อย” ผู้เปลี่ยนชีวิตชาวแม่กลองไปตลอดกาล

หญิงสาวรูปร่างผอม ผิวคล้ำผมเผ้ากระเซอะกระเซิงรุงรัง เดินอุ้มสุนัขขนฟูเข้าไปยังที่ว่าการอำเภอเมืองสมุทรสงคราม พร้อมตะโกนด้วยเสียงอันดังว่า

“เฮ้ย! นายอำเภออยู่ไหนวะ ออกมาดูสิว่า กว่าคนปากมาบจะมาถึงอำเภอเนี่ย สภาพมันยังดูเหมือนคนอยู่ไหม”

ทว่าขณะนั้นนายอำเภอไม่อยู่ ผู้หญิง (บ้า) คนนี้จึงเกิดความรู้สึกฉุนเฉียว ใช้รองเท้าที่เปรอะโคลนย่ำพื้นจนเลอะเทอะไปทั่วบริเวณที่ว่าการอำเภอ ก่อนจะจากไป…

หลังเหตุการณ์นั้นไม่นานก็เกิดเสียงร่ำลือไปทั่วว่า ที่หมู่บ้านปากมาบมี “คนบ้า” บุกเข้ามาอาละวาดถึงที่ว่าการอำเภอ แต่ชาวปากมาบส่วนใหญ่ต่างทราบดีว่าผู้หญิงคนนั้นคือ บุญยืนศิริธรรม ลูกสาวชาวประมงยากจน (ซึ่งหลังจากนั้นอีกเพียงไม่กี่ปี ผู้หญิงบ้าคนนี้ได้กลายเป็นฮีโร่ที่เข้ามาเปลี่ยนชีวิตชาวแม่กลองไปตลอดกาล)

บุญยืน เล่าเรื่องราวตั้งแต่สมัยเธอยังเด็กว่า “พี่เป็นลูกสาวคนที่สองจากลูกทั้งห้าคนของพ่อแม่ซึ่งเป็นชาวประมง บ้านเรามีฐานะยากจน สมัยเด็กพี่ไม่ได้เรียนหนังสือ เพราะพ่อแม่อยากให้ช่วยทำงานที่บ้าน แต่ครูใหญ่ของโรงเรียนละแวกนั้นขู่พ่อกับแม่ว่า ถ้าไม่ให้พี่ไปโรงเรียน ครูใหญ่จะจับพ่อกับแม่ขังคุก แต่กว่าพี่จะได้เรียน ป.1 ก็ปาเข้าไป 10 ขวบแล้ว

“พี่เป็นคนเนื้อตัวสกปรกและพูดไม่เพราะตั้งแต่เด็ก จึงถูกครูทำโทษประจำ โชคดีที่พี่อ่านหนังสือเก่งและความจำดีพอจบ ป.1 ครูก็เลยให้พี่ข้ามชั้นไปเรียน ป.3 เลย พี่ใช้เวลาเรียนจนจบตามหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐานสมัยนั้นคือ ป.4 ในเวลาเพียงสามปี แต่ก็ไม่ได้เรียนต่ออีก เพราะต้องกลับมาช่วยงานพ่อแม่เหมือนเดิม

“ทุกวันที่ไปออกเรือ พี่ต้องแบกปลาที่จับได้ไปขายในตลาด ถ้าเป็นช่วงน้ำมากก็สามารถบรรทุกปลาใส่เรือไปขายได้ แต่ถ้าเป็นช่วงน้ำน้อย พี่จะต้องแบกปลาเทินไว้บนหัว แล้วเดินเท้าฝ่าโคลนตมเข้าไปที่ตลาดซึ่งอยู่ไกลประมาณสามกิโลเมตรทุกวันและทุกครั้งที่เข้าไป พี่จะรู้สึกสงสัยเสมอว่า ทำไมในตลาดมีไฟฟ้า มีน้ำที่ไหลมาจากก๊อก มีถนนหนทาง แต่ทำไมบ้านเราไม่มีวะ”

ด้วยความตั้งใจที่จะให้หมู่บ้านมีสาธารณูปโภคใช้ บุญยืนจึงลุกขึ้นไปปลุกระดมชาวบ้านให้ช่วยกันเรียกร้องความชอบธรรม แต่ชาวบ้านกลับไม่สนใจและต่างบอกเป็นเสียงเดียวกันว่า “ไม่มีถนน ไม่มีไฟฟ้า ไม่มีน้ำประปาใช้ก็ไม่เห็นเป็นไร เราก็อยู่กันมาได้ตั้งนานแล้ว บุญยืนมันบ้า มันขี้โวยวาย อย่าไปสนใจมัน”

กระนั้นบุญยืนก็ไม่ท้อถอย กลับพยายามหาหนทางเรียกร้องสิทธิ์เรื่อยมา จนกระทั่งในวันที่สุนัขของบุญยืนป่วย

“สุนัขป่วย พี่จึงพาสุนัขไปหาหมอ ระหว่างทางพี่แวะไปที่ว่าการอำเภอ เพื่อจะเข้าไปเรียกร้องให้นายอำเภอหันมาสนใจหมู่บ้านปากมาบบ้าง วันนั้นนายอำเภอไม่อยู่ พี่เลยย่ำโคลนตมไว้เต็มพื้นอำเภอจนสะใจ แล้วพี่ก็กลับบ้าน”

จากเหตุการณ์บนที่ว่าการอำเภอวันนั้นได้กลายเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้ผู้หญิงชาวบ้านธรรมดาคนหนึ่งมีโอกาสเข้าไปร้องทุกข์ถึงในที่ประชุมกับผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสงคราม จนเกิดความเปลี่ยนแปลงให้หมู่บ้านแห่งนี้มีถนนบางบ่อ - ปากมาบตัดผ่านและเริ่มมีการวางท่อประปาภายในหมู่บ้าน

“เมื่อการวางท่อประปาสำเร็จ พี่เห็นชาวบ้านบางคนนั่งมองก๊อกน้ำแล้วร้องไห้ ในขณะที่หลายๆ คนนั่งอึ้งกับก๊อกน้ำที่ตั้งอยู่ตรงหน้า แต่ไม่กี่วันต่อมา ความตื่นเต้นยินดีก็หายไปหมดเพราะน้ำไม่ไหล กระทั่งเวลาผ่านไปครบหนึ่งปี พี่รอต่อไปไม่ไหวจึงบุกไปที่กรมโยธาธิการและผังเมือง เพื่อถามว่าทำไมน้ำที่หมู่บ้านจึงไม่ไหล แต่เจ้าหน้าที่บอกให้พี่ใจเย็นและให้กลับไปก่อน พี่เลยตอบกลับไปว่า ‘หนึ่งปีที่ผ่านมากูไม่เคยโผล่หน้ามาให้มึงเห็นเลยกูใจเย็นแล้ว ฉะนั้นวันนี้ถ้ากูไม่ได้คำตอบ กูไม่ยอมกลับ’ตอนนั้นเจ้าหน้าที่ตกใจมาก รีบเร่งประสานงานให้ จนได้ทราบว่าเป็นเพราะช่างรับเหมาลืมเชื่อมไฟ พร้อมรับปากว่าพรุ่งนี้น้ำจะไหลแน่ๆ พี่จึงยอมกลับ แล้ววันต่อมาน้ำก็ไหลจริงๆ เช่นเดียวกับไฟฟ้าและโทรศัพท์ที่พี่ต้องไปบู๊ก่อน ถึงจะมีใช้”

ทุกเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นสิ่งยืนยันให้ชาวบ้านเกิดความเชื่อมั่นว่า “แม้บุญยืนจะชอบโวยวายและพูดไม่เพราะ แต่ทุกสิ่งที่บุญยืนทำ มาจากความตั้งใจที่จะช่วยเหลือพวกเขาอย่างแท้จริง”

“หลังจากถนนตัดผ่าน มักมีลูกหลานประสบอุบัติเหตุบ่อยครั้งและเริ่มมียาเสพติดเข้ามาในหมู่บ้าน ขณะนั้นพี่ได้รับแต่งตั้งจากชาวบ้านให้เป็นรองนายก อบต. (องค์การบริหารส่วนตำบล) พี่นำเงินเดือนทั้งหมดรวมกับเงินของชาวบ้านคนละ 20 บาทมาช่วยกันคิดทำอาชีพเสริม จนกระทั่งปัจจุบันพ่อบ้านของเรามีอาชีพเสริมในการประดิษฐ์เรือจิ๋ว ส่วนแม่บ้านก็มีอาชีพเสริมในการทำปลาหยองซึ่งขายดีมากจนทำเกือบไม่ทัน”

ต่อมาจังหวัดสมุทรสงครามเริ่มถูกรุกรานจากภาคอุตสาหกรรมก่อให้เกิดปัญหาสิ่งแวดล้อมตามมามากมาย ชาวแม่กลองนำโดยบุญยืนจึงรวมตัวกันคัดค้าน

“โรงฆ่าหมูของกำนันตุ้ยพยายามเข้ามาตั้งบริเวณแม่น้ำแม่กลอง และมีแผนจะปล่อยน้ำที่บำบัดแล้วลงคลองยายเจิมวันละสองล้านลิตร พวกพี่ก็รวมตัวกันเพื่อต่อต้านด้วยเหตุผลว่า ถ้าน้ำเสียที่ปล่อยมาผ่านการบำบัดที่ดีแล้ว ทำไมโรงฆ่าหมูไม่นำน้ำนั้นไปใช้ต่อ นำมาปล่อยลงคลองทำไม พวกเราใช้เวลาคัดค้านนานกว่าสามปีจึงชนะ ทำให้โรงไฟฟ้าพิกุลทอง รวมถึงโรงงานอุตสาหกรรมอื่นๆ เข็ดขยาดไม่กล้าตั้งโรงงานในเขตจังหวัดสมุทรสงครามไปด้วย”

เมื่อการต่อสู้เพื่อชาวบ้านดำเนินต่อเนื่องมาหลายปี บุญยืนจึงเกิดความคิดหนึ่งซึ่งกลายเป็นจุดเริ่มต้นครั้งสำคัญในการช่วยเหลือชาวแม่กลอง รวมทั้งคนไทยทั้งประเทศอย่างยั่งยืน

 “หลังจากสู้กับบรรดาผู้มีอำนาจมาหลายครั้ง ทำให้พี่รู้ว่าหากต้องการช่วยเหลือชาวบ้านให้ได้อย่างยั่งยืนนั้น การสู้คัดค้านแบบตาต่อตาอย่างเดียวคงไม่พอ แต่ควรเข้าไปสู้เป็นตัวแทนของชาวบ้านตั้งแต่ช่วงร่างนโยบายหรือวางแผนโครงสร้างแล้วดังนั้นพี่จึงตัดสินใจกลับไปเรียนต่อจนจบปริญญาโท สาขาสหวิทยาการเพื่อการพัฒนาท้องถิ่น ด้วยเกรดเฉลี่ย 4.00 จากนั้นก็เข้าไปเป็นตัวแทนของชาวบ้านอย่างเต็มตัว

“พี่เข้าไปช่วยเหลือทุกอย่าง ตั้งแต่ช่วยกันปลูกฝังนิสัยรักบ้านเกิดให้กับชาวบ้าน ทำให้ชาวบ้านมีงานทำที่บ้านของตนไม่ต้องไปเป็นลูกจ้างใคร เข้าไปเสนอให้เทศบาลอัมพวาฟื้นฟูตลาดอัมพวาให้กลับมามีชีวิตอีกครั้ง…แล้วพี่ก็ร่วมกับชาวบ้านในการอนุรักษ์ดอนหอยหลอด จนได้ขึ้นทะเบียนในอนุสัญญาแรมซาร์ (Ramsar Convention) ว่าด้วยการเป็นเขตพื้นที่ชุ่มน้ำที่ควรอนุรักษ์เป็นอันดับที่ 1,099 ของโลก…และยังมีโอกาสได้ช่วยเหลือชาวบ้านในระดับประเทศด้วยการเป็นหนึ่งในกรรมาธิการร่างกฎหมายหลายฉบับ อาทิ หลักประกันสุขภาพแห่งชาติและอื่นๆ”

จากผลงานการให้ความช่วยเหลือชาวบ้านมาสามสิบกว่าปีของบุญยืน ทำให้เธอได้รับโล่รางวัลยกย่องมากมาย ทั้งรางวัลพลเมืองผู้กล้า รางวัลคนดีศรีสมุทรสงคราม และรางวัลอื่นๆ ที่เธอจำได้ไม่หมด

คนบ้าในอดีตผู้นี้ ปัจจุบันได้กลายมาเป็นผู้กล้า ซึ่งสามารถสร้างแรงบันดาลใจให้คนรุ่นใหม่ของแม่กลองในการทำคุณประโยชน์เพื่อสังคมและประเทศชาติอย่างมากมาย

บุญยืนกล่าวด้วยเสียงอันหนักแน่นถึงแรงบันดาลใจของเธอว่า มาจากการที่ได้เห็นพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงงานหนักเพื่อชาวไทยอย่างไม่เหน็ดเหนื่อย บุญยืนจึงตั้งปณิธานไว้ว่าจะพยายามช่วยเหลือชาวบ้านอย่างเต็มกำลังความสามารถ แม้ว่าจะทำได้เพียงเศษเสี้ยวของพระองค์ท่านก็ตาม 

 

เรื่อง ชลธิชา แสงใสแก้วภาพ วรวุฒิ วิชาธร

Posted in MIND
BACK
TO TOP
A Cuisine
Writer

© COPYRIGHT 2024 Amarin Corporations Public Company Limited.