จูลี่ แอนดรูวส์

ชีวิตที่เต็มไปด้วยความโชคดีของ จูลี่ แอนดรูวส์

เมื่อเอ่ยถึง จูลี่ แอนดรูวส์ หลายคนอาจนึกถึงเสียงของเธอ หรือฮัมเพลง “โด เร มี” ซึ่งเป็นเพลงประกอบภาพยนตร์เรื่อง มนต์รักเพลงสวรรค์ (The Sound of Music) ที่เธอแสดงนำในปี 1965 ก่อนเป็นอย่างแรก

จูลี่เป็นนักแสดงที่มีชื่อเสียงด้านการขับร้องอย่างหาตัวจับยากและโลดแล่นอยู่ในวงการฮอลลีวู้ดมานานกว่าครึ่งศตวรรษ เธอเคยให้สัมภาษณ์ไว้ว่า ชีวิตของเธอได้พบกับความโชคดีอย่างเหลือเชื่อถึงสามครั้ง แต่ละครั้งเปรียบได้กับการก้าวขึ้นบันไดศิลาอันแข็งแรงที่นำพาให้ชีวิตของเธอเปลี่ยนแปลงไป

จูลี่ แอนดรูวส์ (Dame Julia Alizabeth Andrews) เกิดเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม ค.ศ. 1935 ที่ประเทศอังกฤษ เธอมีภูมิหลังครอบครัวที่ซับซ้อนอย่างยิ่ง ตรงข้ามกับลักษณะนิสัยที่สุภาพ เรียบง่าย และมองโลกในแง่ดีอย่างที่เธอเป็นมาโดยตลอด จูลี่เคยพูดถึงชีวิตของตัวเองอย่างติดตลกว่า “ฉันเป็นคนที่มีพ่อแม่มากกว่าใครๆ ในโลก”

แม่ของจูลี่ให้กำเนิดเธอในขณะที่ยังเป็นภรรยาของ เท็ด เวลส์ ครูสอนวิชาช่างไม้ ทว่าพ่อแท้ๆ ของจูลี่ไม่ใช่เขา หลังจากสงครามโลกครั้งที่สองปะทุไม่นาน สามี – ภรรยาคู่นี้ก็หย่ากัน ต่างฝ่ายต่างแต่งงานใหม่ พ่อเลี้ยงคนใหม่ของจูลี่มีชื่อว่า เท็ด แอนดรูวส์ เขาเป็นนักร้อง จูลี่ใช้นามสกุลตามพ่อเลี้ยง และเรียนพื้นฐานการร้องเพลงจากเขาตั้งแต่อายุ 6 ขวบ แน่นอนว่าความสัมพันธ์อันซับซ้อนของผู้ใหญ่ย่อมทำให้เด็กอย่างเธอรู้สึกสับสน แต่ในเวลาที่พวกเขาไม่เมาและไม่หมกมุ่นกับตัวเองจนเกินไป ทั้งคู่ก็ดีต่อเธอมาก ดังนั้น แม้ว่าบางครั้งเธอจะได้พบกับช่วงเวลาที่ขมขื่น แต่เธอก็สามารถผ่านมันมาได้ แถมมีข้อดีคือการได้เห็นคนรอบตัวทำบางอย่างที่ผิดพลาด ทำให้เธอใช้ชีวิตอย่างระมัดระวังและไม่เคยออกนอกลู่นอกทาง แม้ว่าจะมีชื่อเสียงตั้งแต่อายุยังน้อย

 

จูลี่ แอนดรูวส์

 

จูลี่เป็นเด็กที่มีพรสวรรค์ด้านการร้องเพลงมาก เธอมีโอกาสเรียนด้านการขับร้องในโรงเรียนดีๆ แต่ไม่ต่อเนื่องเพราะต้องเดินสายร้องเพลงกับพ่อแม่ตั้งแต่อายุเพียง 10 ขวบ อย่างไรก็ดี ด้วยความที่เธอเป็นลูกศิษย์เอกของ ลิเลียน สไตลส์ – อัลเลน (Lilian Stiles-Allen) นักร้องเสียงโซปราโนและครูสอนการขับร้องที่มีชื่อเสียง เธอจึงได้เรียนรู้การใช้เสียงที่ถูกต้องมาจากลิเลียน ซึ่งเป็นพื้นฐานการร้องเพลงที่สำคัญมาก

จูลี่เคยอธิบายเกี่ยวกับเสียงของเธอว่า “เสียงของฉันมีพลังใสและกังวาน อีกทั้งช่วงเสียงก็กว้างถึง 4 ออกเตฟ (four octave) เวลาร้องเพลงโน้ตสูงๆ สุนัขจากที่ไกลๆ จะวิ่งมาหาฉันกันเยอะแยะเต็มไปหมด”

เสียงสี่ออกเตฟหมายถึงการไล่เสียง โด เร มี ฟา ซอล ลา ที ครบทั้งเจ็ดตัวโน้ตได้สี่ชุด โดยแต่ละชุดจะเพิ่มระดับเสียงสูงขึ้นหนึ่งระดับ ซึ่งมีนักร้องน้อยคนมากที่จะสามารถร้องเสียงสูงได้ถึงขนาดนี้ แต่จูลี่สามารถร้องเสียงโน้ตแต่ละตัวได้ถูกต้องและเป็นธรรมชาติ

ความโชคดีครั้งแรกเกิดขึ้นตอนที่จูลี่มีอายุเพียง 12 ขวบ เธอได้ขึ้นเวทีร้องเพลงเปิดตัวในฐานะนักร้องใน ลอนดอนฮิปโปโดรม (London Hippodrome) ซึ่งเป็นโรงละครที่มีบรรยากาศกึ่งไนต์คลับ แน่นอนว่าฮิปโปโดรมไม่ใช่ที่ของเด็กโดยสิ้นเชิง และในตอนแรกโปรดิวเซอร์ของโรงละครก็ไม่ยอมให้เธอขึ้นแสดงบนเวที แต่แม่ของจูลี่ก็หว่านล้อมจนเขายินยอม ค่ำคืนนั้นจบลงด้วยการที่คนทั้งโรงละครลุกขึ้นยืนปรบมือให้จูลี่เป็นเวลายาวนาน นักข่าวตามไปทำข่าวของเธอถึงที่บ้าน ซึ่งทำให้จูลี่กลายเป็นนักร้องรุ่นเยาว์ที่ใครๆ ก็ต้องการตัวตั้งแต่นั้น

 

จูลี่ แอนดรูวส์
ขึ้นเวทีที่ลอนดอนฮิปโปโดรม

 

ความโชคดีครั้งที่สองเกิดขึ้นประมาณ 6 ปีหลังจากนั้น พรสวรรค์และความโด่งดังของจูลี่ดึงดูดให้โปรดิวเซอร์ชาวอเมริกันติดต่อให้เธอไปแสดง ละครบอร์ดเวย์ ที่สหรัฐอเมริกา จูลี่ได้รับบทนำในละครเรื่อง เดอะบอยเฟรนด์ ซึ่งต่อมาประสบความสำเร็จอย่างยิ่งใหญ่ และทำให้เธอได้แสดงละครเพลงที่ยิ่งใหญ่ที่สุดเรื่องหนึ่งในชีวิต นั่นคือการได้รับบท อีไลซ่า ในเรื่อง มายแฟร์เลดี้ (My Fair Lady) นั่นเอง

 

จูลี่ แอนดรูวส์
เดอะบอยเฟรนด์

 

จูลี่ แอนดรูวส์
มายแฟร์เลดี้

 

มายแฟร์เลดี้ เป็นละครเพลงที่ประสบความสำเร็จที่สุดเรื่องหนึ่งของบรอดเวย์ และยืนโรงแสดงติดต่อกันนานถึงสามปีครึ่ง ละครเรื่องนี้ทำให้จูลี่รู้ทุกอย่างเกี่ยวกับละครเวทีอย่างแตกฉาน หลังจากนั้นเธอก็แสดงละครเพลงอีกหลายเรื่อง และเป็นนักแสดงชาวอังกฤษที่แฟนละครเวทีชาวอเมริกันรู้จักเป็นอย่างดี

ในเวลานั้น เป็นช่วงที่บรรดาผู้สร้างภาพยนตร์ในฮอลลีวู้ดนิยมนำละครเวทีที่ประสบความสำเร็จไปสร้างเป็นภาพยนตร์ ซึ่งในจำนวนนี้มีละครเรื่อง มายแฟร์เลดี้ รวมอยู่ด้วย ซึ่งทัังตัวจูลี่เอง ผู้กำกับละคร และคนทำงานเบื้องหลัง ตลอดจนแฟนละครต่างคาดหมายว่าจะได้เห็นจูลี่แสดงเป็นอีไลซ่าฉบับภาพยนตร์ ทว่าผู้สร้างกลับเลือก ออเดรย์ เฮปเบิร์น มาแสดง เหตุการณ์นี้ทำให้จูลี่รู้สึกผิดหวังมาก (แม้ปัจจุบันเธอจะเลิกผิดหวังแล้ว แต่แฟนของเธอจำนวนไม่น้อยก็ยังไม่เลิกผิดหวัง) แต่เธอก็ยังแสดงละครเวทีต่อไป

ความโชคดีครั้งที่สามเกิดขึ้นในเวลาเพียง 6 เดือนหลังจากที่เธอถูกฮอลลีวู้ดปฏิเสธ จูลี่กำลังแสดงละครเรื่อง คาเมล็อต และ วอลท์ ดิสนีย์ เจ้าของสตูดิโอดิสนีย์ก็มาชมการแสดง เขาทาบทามให้เธอรับบท แมรี่ ป๊อปปิ้นส์ ฉบับภาพยนตร์ ซึ่งขณะนั้นจูลี่เพิ่งตั้งครรภ์ เธอจึงปฏิเสธ ทว่าวอลท์ ดิสนีย์ ก็ยืนยันว่าเขาจะรอ

 

จูลี่ แอนดรูวส์
คาเมล็อต

 

จูลี่ แอนดรูวส์
แมรี่ ป๊อปปิ้นส์

 

ปรากฏว่าการรอคอยของวอลท์ ดิสนีย์ ให้ผลเกินคุ้ม เพราะภาพยนตร์เรื่อง แมรี่ ป๊อปปิ้นส์ ประสบความสำเร็จอย่างถล่มทลาย ส่วนจูลี่ก็ได้รับรางวัลออสการ์และลูกโลกทองคำในฐานะนักแสดงหญิงยอดเยี่ยมจากบทบาทนี้ หลังจากนั้นจูลี่ก็ได้แสดงภาพยนตร์เรื่องอื่นๆ อีกมากมายและประสบความสำเร็จขึ้นเรื่อยๆ เธอได้รับรางวัลทางดนตรีและการแสดงมาแล้วจากทุกสถาบัน รวมทั้งได้รับพระราชาทานยศ Dame Commander of the British Empire จากสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบทที่ 2 เมื่อปี ค.ศ. 2000

 

จูลี่ แอนดรูวส์

 

นอกจากจูลี่จะเป็นนักแสดงขวัญใจผู้ชมแล้ว เธอยังเป็นแบบอย่างในการดำเนินชีวิตของคนทั่วไปด้วย จูลี่แต่งงานกับ เบลค เอ็ดเวิร์ดส์ (Blake Edwards) ผู้กำกับชื่อดัง ในปี ค.ศ. 1968 (เป็นการแต่งงานครั้งที่สองของทั้งคู่) สำหรับเบลค เธอเป็นคู่ชีวิตที่อ่อนหวานและสง่างามนับตั้งแต่วันแรกที่ทั้งคู่แต่งงานกันตราบจนถึงวันที่เขาเสียชีวิตเมื่อปี 2010 จูลี่เป็นแม่ที่มีทั้งลูกของตัวเอง เป็นแม่ที่เลี้ยงดูลูกๆ ของเบลคที่เกิดจากภรรยาคนแรก และเป็นแม่บุญธรรมของลูกสาวชาวเวียดนามสองคนที่เธอและเบลครับมาอุปการะตั้งแต่ต้นทศวรรษ 1970 และเธอก็ทำงานการกุศลมาโดยตลอด

 

จูลี่ แอนดรูวส์

 

จะว่าไปแล้ว ชีวิตของจูลี่ก็ไม่ได้มีแต่โชคดีเพียงอย่างเดียว เพราะในปี ค.ศ. 1997 เธอต้องเข้ารับการผ่าตัดกล่องเสียง และหลังการผ่าตัดเธอก็ไม่สามารถร้องเพลงได้เหมือนเดิมอีก และต้องตัดใจจากอาชีพที่เธอรัก ทว่า ณ ขณะนี้ จูลี่ได้หันมาเขียนหนังสือสำหรับเด็กอย่างจริงจัง ซึ่งงานนี้เป็นงานที่เธอรักมากอีกอย่างหนึ่ง เธอเขียนหนังสือเล่มแรกตั้งแต่ปี ค.ศ. 1970 แต่เพิ่งได้เขียนอย่างต่อเนื่องในช่วงหลายปีหลังนี้เอง ถึงตอนนี้เธอมีผลงานเขียนมากกว่า 20 เล่ม (ส่วนใหญ่เขียนร่วมกับ เอมม่า ลูกสาวที่เกิดจากสามีคนแรก)

 

จูลี่ แอนดรูวส์

 

มาถึงวันนี้จูลี่บอกว่า เธอเป็นคนโชคดีมาก และบางทีเคล็ดลับความโชคดีของเธอก็ไม่ใช่อยู่ที่การได้อะไรมา แต่คือการที่เธอได้เห็นว่า ทุกครั้งที่ประตูบานหนึ่งปิดไป ก็จะมีประตูบานใหม่เปิดขึ้นมาเสมอ

 

Secret Box

When god closes a door,
somewhere he opens a window.
เมื่อพระเจ้าทรงปิดประตู
พระองค์มักจะทรงเปิดหน้าต่างไว้ที่ไหนสักแห่งหนึ่งเสมอ

– มาเรีย ฟอน แทร็ปป์ –

 

ที่มา  นิตยสาร Secret

เรื่อง  Violet

ภาพ  playbill.com, mercy2908.wordpress.com, m80radio.com, auburnpub.com

Secret Magazine (Thailand)

IG @Secretmagazine

© COPYRIGHT 2024 Amarin Corporations Public Company Limited.