พิชิตทุกข์

พิชิตทุกข์ ด้วย 6 ขั้นสร้างสุข

พิชิตทุกข์ ด้วย 6 ขั้นสร้างสุข

ความทุกข์เป็นเหมือนเชื้อโรคที่เราไปติดเอามา จะแก้ไขได้เราต้องรู้จักเชื้อโรคตัวนี้ให้ดีเสียก่อน ดูว่าประกอบไปด้วยอะไรบ้าง อาจมีทั้งความเจ็บปวด ความเปลี่ยนแปลง และสภาพที่ไม่คงทนถาวร ซีเคร็ตขอลองเอาวิธีสังเกตทุกข์เพื่อสร้างสุขตามแบบ ทะไลลามะ มาให้ผู้อ่านได้ลองฝึกปฏิบัติเพื่อ พิชิตทุกข์ กัน

ขั้นตอนสำหรับปฏิบัติในชีวิตประจำวัน

1.สำรวจตรวจดูเจตนาของตนเองบ่อยๆ แม้ก่อนลุกออกจากที่นอนในตอนเช้า ก็พึงตั้งใจไว้ในทางอหิงสา และสร้างทัศนคติที่จะไม่สู้รบตบมือกับใครๆ ในวันนั้น พอตอนค่ำควรพิจารณาดูว่าวันนั้นได้ทำอะไรไปบ้าง

 

2.สังเกตดูว่าในชีวิตของเรา มีความทุกข์อย่างไรบ้าง ดังนี้

– มีความทุกข์กายทุกข์ใจอย่างไรไหม จากการป่วยไข้ ความชรา และการตาย (โดยที่เราพยายามเลี่ยงสิ่งเหล่านี้)

– ประสบการณ์ชั่วครู่ชั่วยาม อยากกินอาหารดีๆ ซึ่งดูเหมือนให้ความสุขสำราญ แต่ถ้าคุ้นเคยแต่กับการกินอยู่อย่างดี แล้วอาจกลับกลายไปเป็นความทุกข์ได้ นี่คือทุกข์ที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลง เมื่อสถานการณ์เปลี่ยนไปจากความสุขเป็นความทุกข์ ลองพิจารณาดูถึงธรรมชาติที่ลึกลงไปกว่านั้น ให้เห็นว่าต้นตอของความสุขสำราญจะเผยตัวเองออกมาอย่างไร ยิ่งไปยึดติดอยู่กับความสนุกสุขสำราญที่ฉาบฉวยย่อมนำความทุกข์มาให้

– พิจารณาถึงการที่เราติดอยู่ในขบวนการของปัจจัยต่างๆ คือแทนที่เราจะเป็นตัวบงการ แต่เรากลับถูกอิทธิพลของกรรมและอารมณ์อันหวั่นไหวให้เข้ามามีอิทธิพล

 

3.ค่อยๆ พัฒนาทัศนคติที่ลึกซึ้งลงไปเรื่อยๆ เกี่ยวกับร่างกายของเรา โดยเข้าใจถึงความเป็นจริงของอวัยวะต่างๆ ตั้งแต่ผิวหนัง เลือดเนื้อ และกระดูก

 

4.พิเคราะห์ชีวิตอย่างใกล้ชิดจนรู้ว่ายากที่จะใช้ชีวิตให้เป็นเพียงเครื่องจักรกลที่จะแสวงหาทรัพย์ โดยไปเข้าใจว่านี่คือหนทางแห่งความสุข

 

5.ตั้งใจไว้ในทางบวก เมื่อเผชิญกับความยุ่งยาก ขอให้วาดภาพไว้ว่าเมื่อเผชิญกับสถานการณ์ที่ยุ่งยากด้วยความสง่างามนั้นเท่ากับเป็นการป้องกันไม่ให้ผลร้ายตามมาจากกรรม

 

6.เปรียบเทียบอยู่เนืองๆ ถึงผลในทางบวกและลบจากความรู้สึก ซึ่งเป็นไปในทางราคะ โทสะ อิจฉา และเคียดแค้น เมื่อรู้ชัดว่าผลของมัน ย่อมเป็นไปในทางที่เป็นโทษ ควรวิเคราะห์ต่อไป ภายในเวลาอันไม่ช้า ก็จะเกิดความเชื่อมั่นขึ้นอย่างแข็งแรง แล้ววิเคราะห์ดูอีกถึงผลลบของโทสะ จนเห็นได้ว่าความโกรธไม่มีคุณค่าใดๆ เลย

การตัดสินใจเช่นนี้ได้ย่อมช่วยให้ความโกรธของเราค่อยๆ หายไปเรื่อยๆ ได้ในที่สุด


หมายเหตุ: ทะไลลามะ ไม่ใช่ชื่อ แต่เป็นตำแหน่งประมุขแห่งทิเบตทั้งในด้านอาณาจักรและพุทธจักร ข้อนี้เป็นแง่มุมอันต่างไปจากประเทศอื่นๆ ที่ทิเบตมี “พระสงฆ์” เป็นผู้ปกครองประเทศ ตำแหน่งทะไลลามะ สืบต่อกันมาตั้งแต่ราวพุทธศตวรรษที่ 20 โดยใช้ระบบ “ตุลกู” หรือ การกลับชาติมาเกิด และถือกันว่า องค์ทะไลลามะ คืออวตารอันศักดิ์สิทธิ์แห่งอวโลกิเตศวร พระโพธิสัตว์แห่งความกรุณา ซึ่งปัจจุบันนับเป็นองค์ที่ 14 ผู้ที่ดำรงตำแหน่งนี้ในปัจจุบันคือ สมเด็จพระเท็นซิน กยัตโส

 

ที่มา :

ทะไลลามะ. มรรควิธีแห่งการฝึกตน หนทางเข้าถึงชีวิตที่เปี่ยมความหมาย. ส.ศิวรักษ์ แปล.สำนักพิมพ์สวนเงินมีมา, 2545.

50 คุรุหัวใจตื่นรู้

ภาพ :

www.pexels.com


บทความที่น่าสนใจ

9 เคล็ดลับปราบทุกข์ รับรองทำแล้วสุขทุกวัน

5 วิธีมีความสุขได้  โดยไม่ต้อง “เพอร์เฟ็กต์

สุข-ทุกข์อยู่บนเหรียญคนละด้าน แต่เหรียญไม่ได้มีแค่สองด้าน

ไม่มีถูกกับผิด มีแต่ ทุกข์กับพ้นทุกข์ – นิตยสาร Secret

บุคคลจะล่วงทุกข์ได้ก็เพราะทุกข์ ธรรมะโดย พระอาจารย์นวลจันทร์ กิตติปัญโญ

 

© COPYRIGHT 2024 Amarin Corporations Public Company Limited.