เรื่องน่ารู้เกี่ยวกับ การบริจาคอวัยวะ

ตายแล้ว (เอาตัว) ไปไหน (ดี) เรื่องน่ารู้เกี่ยวกับ การบริจาคอวัยวะ

การบริจาคอวัยวะ ต้องทำอย่างไร…เรามีคำตอบ

ขณะที่พวกเราต่างแข็งแรงดี อีกด้านหนึ่งกลับมีผู้ป่วยระยะสุดท้ายจำนวนมากกำลังทุกข์ทรมานจากการที่อวัยวะสำคัญ เช่น หัวใจตับไตปอดฯลฯไม่สามารถทำงานได้ตามปกติ การบริจาคอวัยวะ

วิธีรักษาที่ดีที่สุดสำหรับผู้ป่วยเหล่านี้คือ การปลูกถ่ายอวัยวะใหม่จากอวัยวะของผู้มีจิตศรัทธา ซึ่งได้บริจาคไว้ก่อนเสียชีวิต

หากอยากบริจาคอวัยวะต้อง…

● อายุไม่เกิน 60 ปี

● เสียชีวิตจากภาวะสมองตายด้วยสาเหตุต่างๆ

● ปราศจากโรคติดเชื้อ โรคมะเร็งหรือเชื้อที่ถ่ายทอดทางการปลูกถ่ายอวัยวะอย่างเช่น ไวรัสตับอักเสบ

● ไม่เป็นโรคเรื้อรัง เช่น เบาหวาน หัวใจ โรคไต ความดันโลหิตสูง โรคตับและไม่ติดสุรา

● อวัยวะที่จะนำไปปลูกถ่ายต้องทำงานได้ดี

 

บริจาคอวัยวะด้วยการบอกญาติ

แม้คุณได้แสดงความจำนงบริจาคอวัยวะกับสภากาชาดไทย ด้วยความตั้งมั่นที่จะสร้างบุญกุศลช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ แต่จตนารมณ์ของคุณก็อาจไม่บรรลุผลในวันที่คุณลาจากโลกนี้ไปด้วยอาการสมองตาย นั่นเพราะเมื่อถึงเวลาสำคัญ ผู้ที่ตัดสินใจ “ให้บริจาค” หรือ “ไม่ให้บริจาค” คือญาติ ไม่ใช่ตัวคุณ

ปัจจัยสำคัญปัจจัยหนึ่งที่ทำให้การบริจาคอวัยวะ ไม่เกิดขึ้นอย่างที่ผู้บริจาคตั้งใจ คือการไม่เคยบอกกล่าวกับญาติถึงความตั้งใจของผู้บริจาคในวันที่ผู้บริจาคยังมีลมหายใจ และสติดีพร้อม

ด้วยเหตุนี้ จึงขอชวนผู้มีความจำนงบริจาคอวัยวะบอกต่อความตั้งใจในวันนี้แก่ญาติของคุณ แม้ไม่ได้แสดงความจำนงกับสภากาชาดไทย การเอ่ยปากบอก ความตั้งใจกับญาติ ก็ทำให้ความตั้งใจของคุณบรรลุผลได้

สามารถเข้าไปอัดพินัยกรรมอวัยวะของคุณได้ที่ https://www.บริจาคอวัยวะด้วยการบอกญาติ.com/home

 

มีข้อห้ามในศาสนาพุทธเกี่ยวกับ “การบริจาคอวัยวะ” หรือไม่

ไม่มีข้อห้าม เพราะการบริจาคอวัยวะเป็นการเสียสละเพื่อประโยชน์ต่อผู้อื่นต้องการให้ผู้อื่นพ้นจากความทุกข์และมีความสุข การบริจาคเป็นหลักธรรมที่สำคัญของพระพุทธศาสนา เรียกว่า “ทาน” คือการให้เพื่อประโยชน์แก่ผู้อื่น โดยเฉพาะในการบำเพ็ญบารมีของพระโพธิสัตว์ ซึ่งเรียกว่าเป็นการบำเพ็ญ “ทานบารมี” ซึ่งแบ่งออกเป็น 3 ขั้น ได้แก่

1. ทานบารมี ระดับสามัญ คือ การบริจาคทรัพย์สินเงินทองของนอกกาย

2. ทานอุปบารมี คือ ทานบารมีระดับรอง ได้แก่ การเสียสละทำความดีถึงขั้นสามารถ บริจาคอวัยวะ เพื่อช่วยเหลือผู้อื่นได้

3. ทานปรมัตถบารมี คือ ทานบารมีขั้นสูงสุด ได้แก่ การบริจาคชีวิต เพื่อช่วยเหลือผู้อื่นหรือเพื่อรักษาธรรม ฉะนั้นจึงแน่นอนว่า ไม่มีข้อห้ามในการบริจาคอวัยวะ นอกจากจะทำด้วยโมหะไม่มีเหตุผล

 

บริจาคอวัยวะคนตาย ใครได้บุญ

ใครเป็นผู้บริจาค คนนั้นก็ได้บุญเพราะขึ้นอยู่กับเจตนาของผู้บริจาค ในกรณีตายไปแล้วและญาติเป็นผู้บริจาค ญาติจะต้องอุทิศส่วนกุศลไปให้คนตายอีกทีหนึ่งเพื่อให้คนตายได้บุญด้วย แต่ในทางธรรมถือว่าผู้ที่บริจาคในขณะที่ตนเองยังมีชีวิตอยู่จะได้บุญขั้นสูง

 

บริจาคอวัยวะแล้ว เมื่อเกิดใหม่จะมีอวัยวะครบสมบูรณ์หรือไม่

เรื่องนี้มีหลักพิจารณา 2 อย่างคือ

1. พิจารณาจากหลักฐานทางคัมภีร์: เมื่อครั้งพระพุทธเจ้ายังเป็นพระโพธิสัตว์ ได้ทรงบริจาคนัยน์ตา จึงเป็นเหตุให้พระองค์ทรงได้ ”สมันตจักขุ” คือดวงตาซึ่งมองเห็นโดยรอบ ทั้งนี้ยังหมายถึงดวงตาแห่งปัญญาอีกด้วย จึงเป็นข้อสนับสนุนได้เป็นอย่างดีว่า การบริจาคทำให้ได้ผลตอบรับในทางที่ดี

2. พิจารณาที่เจตนา: คนที่บริจาคอวัยวะให้คนอื่นเป็นเพราะมีจิตคิดดี ปรารถนาอยากให้ผู้อื่นพ้นจากความทุกข์ อยากให้เขามีความสุข หายเจ็บหายป่วย ซึ่งจิตที่คิดเช่นนี้เป็นจิตที่ดีมีคุณภาพ เป็นจิตที่ยินดีเบิกบานและมีความโน้มเอียงไปในทางที่ดี คุณสมบัตินี้จะแต่งจิตของเราให้อยู่ในฝ่ายบุญฝ่ายกุศล

เพราะฉะนั้นความผ่องใส ความมีคุณธรรม มีเมตตาปรารถนาดีนี้เองที่จะทำให้เราได้บุญมากและส่งผลให้ในชาติต่อไปเรามีรูปร่างหน้าตาดีและร่างกายที่แข็งแรงสมบูรณ์

 

ผู้ที่สนใจอยากบริจาคอวัยวะ สามารถเข้าไปดูรายละเอียดเพิ่มเติมและดาวน์โหลดแบบฟอร์มการบริจาคได้ที่ www.organdonate.in.th หรือไปที่ ศูนย์รับบริจาคอวัยวะ สภากาชาดไทยอาคารเทิดพระเกียรติสมเด็จพระญาณสังวร(เจริญ สุวฑฺฒโน) ชั้น 5 ถนนอังรีดูนังต์ เขตปทุมวัน กรุงเทพฯ 10330 โทร. 0-2256-4045 - 6

 

 

ขอบคุณภาพ

diwou on pixabay

Posted in MIND
BACK
TO TOP
cheewajitmedia
Writer

© COPYRIGHT 2024 Amarin Corporations Public Company Limited.