เรื่องต้องห้าม

5 เรื่องต้องห้าม…ยาม ” ปลอบใจ ” คน

5 เรื่องต้องห้าม …ยาม”ปลอบใจ”คน

คุณอาจไม่รู้ว่าเวลาคนใกล้ตัวเราเศร้าเสียใจหรือต้องเผชิญปัญหา วิธีที่เราปลอบใจเขานั้นอาจทำให้สถานการณ์แย่ยิ่งกว่าเดิม ทั้งๆ ที่เราไม่ได้ตั้งใจสักนิด… Secret ขอเสนอเทคนิคที่จะช่วยให้คุณเป็นนักปลอบใจที่ดี ขอเพียงใส่ใจและไม่ทำ “5 เรื่องต้องห้าม …ยามปลอบใจคน” ดังนี้

1. ห้ามพูด:อย่าไปคิดมาก”

สถานการณ์ตัวอย่าง : เมื่อบ้านเพื่อนคุณถูกยกเค้า

A : “เอาน่า…อย่าไปคิดมากเลยเธอ”

B : “จะไม่คิดมากได้ไงยะ เธอไม่ได้เจอเหมือนฉันนี่”

ควรทำ : ให้กำลังใจ

 ในเวลาที่คนใกล้ตัวของเรากำลังเศร้า พยายามอย่าปลอบใจด้วยคำว่า “อย่า” เพราะให้ความรู้สึกเหมือนกำลังบังคับหรือสั่งมากกว่าการปลอบใจ ดังนั้น หากเจอสถานการณ์นี้ ควรให้กำลังใจและลองหากิจกรรมดี ๆ ที่น่าจะนำพาเขาออกจากความทุกข์ได้ เช่น กิจกรรมจิตอาสาต่าง ๆ ทำบุญใส่บาตร ปลูกป่าชายเลน เลี้ยงอาหารเด็กกำพร้า ฯลฯ

2.ห้ามพูด : ก็เธอผิดเองนี่

สถานการณ์ตัวอย่าง : เมื่อเพื่อนคุณกำลังอกหัก

A : “ก็เธอไปนอกใจเขาก่อนทำไมล่ะ…เลยโดนเขาทิ้งจนต้องมานั่งร้องไห้อยู่นี่ไง”

B : “นี่ตกลงเธอเป็นเพื่อนฉันหรือเปล่ายะ”

ควรทำ : บอกสิ่งที่ควรทำ

การหาความผิดหรือนำความผิดของเขามาพูดตอกย้ำซ้ำแล้วซ้ำเล่าไม่ช่วยอะไร เพราะส่วนมากคนที่ทำผิดมักรู้ความผิดของตัวเองดีอยู่แล้ว สิ่งที่ควรทำคือบอกสิ่งที่ถูกให้เขาฟังแทน เช่น บอกเขาว่า “ความจริงใจและซื่อสัตย์อาจทำให้เธอมีความรักที่แสนวิเศษก็ได้นะ”

3.ห้ามพูด : “ฉันก็เป็นเหมือนกัน

สถานการณ์ตัวอย่าง : สัตว์เลี้ยงแสนรักของเพื่อนคุณเพิ่งจะตายไป และเธอปรับทุกข์กับคุณว่า…

A : “ฮือ ฮือ หมาฉันเพิ่งตายไปเมื่อวานนี้เอง”

B : “เมื่อเดือนที่แล้วหมาเราก็เพิ่งโดนรถชนตายเหมือนกันน่าสงสารมากเลย หมาตัวโปรดของฉันด้วยนะเธอ บลา ๆ ๆ ๆ”

ควรทำ : ฟังให้มากกว่าพูด

การปลอบใจที่ดีที่สุดคือการรับฟังในสิ่งที่เขาพูด เพราะบางทีคนที่กำลังเศร้าก็ไม่ได้อยากได้วิธีแก้ปัญหาอะไรเลย เพียงแต่ต้องการคนที่รับฟังและอยู่ข้าง ๆ เท่านั้น

 

4.ห้ามพูด : ทำไม ทำไมทำไม

สถานการณ์ตัวอย่าง : เมื่อเพื่อนเล่าปัญหาชีวิตให้คุณฟัง

A : “เครียดจังเลยเธอ ฉันโดนเพื่อนที่ทำงานแบน ไม่มีใครยอมคุยกับฉันเลย”

B : “ทำไมเธอไม่เข้าไปคุยกับเขาก่อนล่ะ เขาอาจยอมคุยด้วยก็ได้…”

ควรทำ : รู้สึกอย่างไร

ทุกครั้งที่ปลอบใจ พยายามอย่าใช้คำถามที่เริ่มต้นด้วยคำว่า“ทำไม” เพราะจะทำให้ผู้ฟังรู้สึกเหมือนถูกตำหนิทางอ้อม แต่ให้ถามว่า “รู้สึกยังไงกับเหตุการณ์นั้น” เพื่อให้ผู้ที่กำลังเศร้าได้ระบายความในใจและได้ทบทวนความรู้สึกตัวเองอีกครั้ง

5.ห้ามพูด: ปลอบแล้วต้องหาย (เท่านั้น!)

สถานการณ์ตัวอย่าง : หลังจากปลอบมา 3 วัน

A : “ฮือ - อ - อ - อ - อ ทำไมเขาถึงทำกับฉันอย่างนี้…”

B : “เวรกรรม ปลอบมา 3 วันแล้วยังไม่หายอีก…แล้วไอ้ที่ฉันแนะนำเธอไป ได้ฟังบ้างไหมเนี่ย”

ควรทำ : ปลอบแล้วปล่อยวาง

อย่าคาดหวังผลของการปลอบใจมากเกินไปว่าจะทำให้คนใกล้ชิดของเราหายจากอาการเศร้าได้ทันทีทันใด  บางทีคนเราก็ต้องใช้เวลาในการฟื้นตัว และต้องรอให้ความคิดตกผลึกด้วยตัวเอง ถึงจะผ่านช่วงเวลาแห่งความเสียใจได้

สำหรับผู้ปลอบใจนั้น มีหน้าที่เพียงช่วยเหลือเขาเท่าที่เราช่วยได้ หากไม่สำเร็จควรปล่อยวาง ก่อนจะกลายเป็นสมาชิกที่อาศัยชายคา “ศาลาคนเศร้า” ไปอีกคน

เพียงไม่ทำ 5 ข้อเหล่านี้ “สมาชิกศาลาคนเศร้า” ก็ลดไปอีกหนึ่งคนแล้ว


เรียบเรียงจากบทความของ ผั่นพั้น

 


บทความน่าสนใจ

4 วิธี ง่าย ๆ ” ปลอบใจ ” เพื่อนร่วมงานให้หายเศร้า

แม้ชีวิตต้องพบแต่ ความสูญเสีย แต่หัวใจไม่ยอมเสียศูนย์

5 ข้อเสียของการชอบพูดคำว่า “ฉันโอเค ฉันไม่เป็นไร”

สาเหตุที่ทำให้ เพื่อน บางคนหล่นหายไปจากชีวิต

อยู่กับทุกข์ให้เป็น ก็ไม่เป็นทุกข์ บทความให้กำลังใจจาก พระไพศาล วิสาโล

5 วิธี สร้างกำลังใจในการทำงาน

“ ก๋วยเตี๋ยวกำลังใจ ” เย็นตาโฟที่เด็ดที่สุดในอำเภอแม่จัน

วิธี ช่วยสร้างกำลังใจ ให้กับคนที่กำลังผิดหวังในความรัก

เอลลี่ – ชาร์ล็อตต์ หนูน้อยผู้เป็นกำลังใจให้กันในวันไม่สมบูรณ์

 

© COPYRIGHT 2024 Amarin Corporations Public Company Limited.