เลี้ยงลูกอย่างไร

เลี้ยงลูกอย่างไร ไม่ให้กลายเป็นฆาตกร

เลี้ยงลูกอย่างไร ไม่ให้กลายเป็นฆาตกร

บทความ เลี้ยงลูกอย่างไร ไม่กลายเป็นฆาตกร เขียนโดย : นพ.ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์ จิตแพทย์แผนกจิตเวช โรงพยาบาลเชียงรายประชานุเคราะห์

 

Prasert

Q : ปัจจุบันเราจะได้ยินข่าวฆาตกรรม ข่มขืน หรือคดีสะเทือนขวัญมากขึ้นโดยผู้ก่อคดีกลับเป็นเยาวชนที่อายุน้อยลงเรื่อยๆ ในฐานะพ่อแม่ เราจะเลี้ยงลูกและปลูกฝังเขาอย่างไรไม่ให้ลูกกลายเป็นฆาตกรดีคะ แล้วจริงหรือไม่ที่ละครหรือเกมมีส่วนทำให้เด็กๆ มีพฤติกรรมที่ไม่ดีตามได้

A : ความจริงอาชญาวิทยาเป็นศาสตรที่อธิบายการกำเนิดของอาชญากรได้ดีกว่าจิตวิทยาทั่วไปหรือจิตวิเคราะห์ ความรู้ที่เราได้จากจิตวิทยาหรือจิตวิเคราะห์พอจะประมวลได้ดังนี้

1. ผู้ร้ายมีหลายประเภทหากดูเฉพาะโจรลักทรัพย์

โจรมี 2 ประเภท คือประเภททำร้ายคน และไม่ทำร้ายคน

พวกไม่ทำร้ายคนจะคอยหลบเลี่ยงเจ้าทรัพย์ อาจจะล้วงกระเป๋าหรือย่องเบา แต่ไม่อยากทำร้ายใคร พวกทำร้ายคนและฆ่าคนเพื่อชิงทรัพย์เป็นอีกกลุ่มหนึ่งอย่างไรก็ตาม ทั้งสองพวกมีข้อเหมือนกันอยู่บ้างคือ ไม่มีความสามารถในการเข้าถึงความทุกข์ของผู้อื่น เรียกว่า ไร้ความสามารถที่จะมี Empathy โจรลักทรัพย์ไม่เข้าใจว่าคนที่สูญเสียทรัพย์เจ็บปวดอย่างไร

อันนี้เฉพาะประเด็นจิตวิทยา เรื่องขี้เกียจ เห็นแก่ตัว ไม่ยอมทำงานเอง เป็นอีกประเด็นเรื่องสังคม คนตกงาน ไม่มีงานให้ทำ ก็เป็นอีกประเด็น เมื่อไม่เข้าใจเสียแล้วก็ลงมือได้ง่าย ไม่คิดมากผู้ร้ายที่ฆ่าคนได้เป็นตัวอย่างของการสูญเสียความสามารถนี้สมบูรณ์แบบ นั่นคือไม่รู้เลยว่าการกระทำของตนสร้างความเจ็บปวดแสนสาหัสทั้งทางร่างกายและจิตใจต่อเหยื่ออย่างไร ยังไม่นับเรื่องพฤติกรรมทารุณและฆ่าสัตว์ ไม่เข้าใจว่าสัตว์รู้สึกอย่างไรการสร้าง Empathy คือความสามารถในการล่วงรู้และเข้าใจจิตใจของสิ่งมีชีวิตร่วมโลก จึงเป็นเรื่องควรปลูกฝังให้เด็กเล็ก

แต่เรื่องนี้ไม่เกิดจากการสั่งสอน หากเกิดจากการบ่มเพาะทางจริยธรรม และควรเข้าใจด้วยว่าจริยธรรมมิใช่ศีลธรรมศีลธรรมสอนให้ไม่ฆ่านั้นดีแล้ว แต่ไม่มีผลต่อเด็กเล็กเท่าไรนักจริยธรรม หรือ Ethics ในความหมายที่ว่า คนเราควรประพฤติปฏิบัติต่อส่วนรวมเพื่อประโยชน์ของส่วนรวมมากกว่าประโยชน์ส่วนตน มีผลต่อพัฒนาการเด็ก โดยเฉพาะเด็กเล็กมากกว่า และได้ผลกว่า หากส่วนรวมดี ตัวเราก็จะดีด้วย นี่เป็นหลักการพื้นฐานของจริยธรรม การรับผิดชอบต่อส่วนรวมจึงเป็นปฐมบทของการสร้าง Empathy เราเลี้ยงดูเด็กเล็กให้รับผิดชอบร่างกายตนเองเป็นอย่างที่หนึ่งกินข้าวให้เป็นที่เป็นทาง อาบน้ำถูสบู่ แปรงฟันด้วยตนเองให้เรียบร้อย ถัดจากตนเองจึงมาถึงเรื่องรอบตนเอง ได้แก่ เก็บที่นอนทุกเช้า เทกระโถนของตนเอง ใส่เสื้อผ้า รองเท้าด้วยตนเอง ถัดจากตนเองจึงมาถึงเรื่องของบ้าน ช่วยล้างถ้วยล้างจาน กวาดบ้านถูบ้าน ซักผ้าตากผ้า เก็บขยะ และเทขยะ

นี่คือวัตรปฏิบัติต่อส่วนรวมที่ใกล้ตัวถัดจากบ้าน รอบบ้าน จึงมาถึงนอกบ้านคือสาธารณะ การเคารพกติกาสาธารณะเป็นเรื่องต้องสอนกันตั้งแต่เป็นเด็กเล็ก ไม่ส่งเสียงในที่ที่ไม่ควรส่งเสียง ไม่วิ่งเล่นในร้านอาหารสาธารณะส่วนที่ผู้คนกำลังนั่งกินอาหารไม่ส่งเสียงดังบนรถสาธารณะ ไม่ทิ้งขยะไม่แซงคิว ฯลฯ การเคารพกติกาสาธารณะเป็นขั้นตอนการฝึกให้เข้าถึงจิตใจของคนอื่น ๆที่อยู่ด้วยกันในสังคม

2. ผู้ร้ายก็มีเซลฟ์เอสตีม (Self-Esteem)

คือการรับรู้ว่าตนเองทำอะไรได้บ้าง ที่เขาได้เรียนรู้และรับรู้มาตลอดชีวิตคือตนเองเป็นคนไม่เอาไหน เรียนไม่เก่งและไม่สามารถประกอบสัมมาชีพ สาเหตุเพราะครั้งที่เป็นเด็กเล็กได้พยายามทำทั้งหมดนี้แล้วแต่ไม่เคยได้รับคำชมเลย ไม่มีการกอด และไม่มีความรัก ความสามารถเหล่านี้หรือเซลฟ์เอสตีมที่ดีจึงค่อย ๆ เลือนหายไปในทางตรงข้าม เวลาไม่ส่งการบ้านไว้ผมยาว ไปโรงเรียนสาย กลับถูกทำโทษประจาน ยืนหน้าชั้น ตากแดดหน้าเสาธงเด็ก ๆ จะค่อย ๆ เรียนรู้ว่านั่นคือความสามารถที่เขาทำได้และทำได้ “ดี”

นอกจากนี้ทำแล้วยังได้รับการเสริมแรงทางลบ กล่าวคือ ตอนทำดีไม่เคยได้รับการเสริมแรงทางบวก ตอนทำไม่ดีมีการเสริมแรงมากมายจนกระทั่งกลายเป็นจุดเด่น มีความโก้เก๋ และเมื่อทำได้ก็อยากทำอีก เพราะได้รับการเสริมแรงพ่อแม่จึงมีหน้าที่ให้รางวัลลูกเมื่อเขาทำดีไม่ว่าจะเป็นการล้างจานหรือเก็บขยะ มิใช่ไม่อยู่บ้าน ปล่อยให้ความสามารถที่จะทำอะไรดี ๆ ค่อย ๆ เลือนหายไปโดยไม่ทันระวังโรงเรียนไม่ควรทำโทษรุนแรงและประจานโดยไร้เหตุผล และถึงแม้จะมีเหตุผลก็ต้องคิดให้หนักว่าเราควรปรับพฤติกรรมเด็กด้วยการเปิดโอกาสให้เขามองเห็นคุณค่า (Value) ของตนเองด้วยวิธีการอื่น ๆ จึงจะเป็นการเสริมแรงทางบวกให้เข็มทิศชีวิตนั้นหมุนวนขึ้นบนไปในทางที่ดีละครหรือเกมไม่มีผลอะไร หากบ้านไม่เปิดโอกาสให้มีผลอะไร กล่าวคือ พ่อแม่ที่อยู่บ้านจะทำหน้าที่เป็นฟองน้ำดูดซับเรื่องชั่วร้ายเกินเลยต่าง ๆ นานาที่แฝงมากับละครหรือเกมไร้คุณภาพอยู่แล้ว ไม่มีอะไรน่ากังวลตราบเท่าที่เราอยู่บ้านและลูก ๆ เห็นเราในสายตา

“สาเหตุเพราะครั้งที่เป็นเด็กเล็กได้พยายามทำทั้งหมดนี้แล้วแต่ไม่เคยได้รับคำชมเลยไม่มีการกอด และไม่มีความรักหรือเซลฟ์เอสตีมที่ดีจึงค่อย ๆ เลือนหายไป”


ขอขอบคุณข้อมูลจาก นิตยสาร Amarin Baby & Kidsปี 2559 ฉบับที่ 134  (เม.ย. 59)  หน้า 70-71

Posted in MIND
BACK
TO TOP
A Cuisine
Writer

© COPYRIGHT 2024 Amarin Corporations Public Company Limited.