วิธีทำพินัยกรรม

วิธีทำพินัยกรรม เองแบบง่ายๆ… จะได้ตายตาหลับ

วิธีทำพินัยกรรม เองแบบง่ายๆ…จะได้ตายตาหลับ

ก่อนจะอ่าน วิธีทำพินัยกรรม มาหาคำตอบก่อนว่า “พินัยกรรม…ทำไปทำไม”

“พินัยกรรม” เป็นเอกสารที่เราจะใช้ในการระบุว่า ต้องการมอบทรัพย์สินให้แก่ผู้ใดบ้างภายหลังจากที่เสียชีวิตไปแล้ว ซึ่งแม้จะมีกรอบว่าจะต้องทำตามที่กฎหมายกำหนดไว้ แต่การเขียนพินัยกรรมก็ไม่ใช่เรื่องยากเย็นอะไร และไม่ต้องรอให้ใกล้ตายเสียก่อนด้วย เพราะถึงตอนนั้นก็อาจสายเกินไป ขอเพียงมีคุณสมบัติ 2 ข้อ  คือ

+ มีอายุครบ 15 ปีขึ้นไป

+ ศาลไม่ได้มีคำสั่งให้เป็นบุคคลไร้ความสามารถ

เมื่อนับคุณสมบัติได้ครบ 2 ข้อก็มาเริ่มเขียนกันได้แล้ว!

พินัยกรรมทำเอง (ก็)ได้

เอกสารสำคัญที่เรียกกันว่า “พินัยกรรม” นั้นมีด้วยกัน 6 แบบหลัก ๆ ให้เลือกใช้  คือ

1. พินัยกรรมแบบเขียนเองทั้งฉบับ 2. พินัยกรรมแบบธรรมดา 3. พินัยกรรมแบบเอกสารฝ่ายเมือง 4. พินัยกรรมแบบเอกสารลับ 5. พินัยกรรมแบบทำด้วยวาจา 6. พินัยกรรมทำในต่างประเทศและทำในภาวะสงคราม

แต่ละแบบมีลักษณะแตกต่างกันไป ซึ่งสามารถเลือกทำตามแบบใดก็ได้ แต่สำหรับครั้งนี้ขอแนะนำแบบแรก คือ “พินัยกรรมแบบเขียนเองทั้งฉบับ” ที่สามารถทำได้เลยมีกฎหมายรับรอง และไม่มีขั้นตอนโน่นนี่นั่นให้ยุ่งยาก

ข้อความรู้ ชื่อก็บอกชัดเจนอยู่แล้วว่าเป็นการเขียนเอง “ทั้งฉบับ” จึงเหมาะสำหรับการสั่งเสียเรื่องที่ไม่สลับซับซ้อน ทายาทหรือคนที่ผ่านการตรองแล้วว่าควรได้รับมรดกมีเพียงไม่กี่คน และผู้ทำพินัยกรรมไม่มีทรัพย์สินมากมายอะไรนัก นอกจากนั้นการเขียนเองแบบนี้ก็ยังมีทั้งข้อดีและข้อเสียที่ควรรู้ไว้ก่อนจะตัดสินใจทำ คือ

ข้อดี สามารถเขียนที่ไหน เมื่อไหร่ก็ได้แล้วแต่ความพอใจ ไม่จำเป็นต้องมีใครมาร่วมรับรู้ร่วมเซ็นเป็นสักขีพยาน

ข้อเสีย ด้วยความที่คิดเอง ทำเอง เก็บไว้เองคนเดียว ถ้าไม่มีการแจ้งที่เก็บกับใครเอาไว้ หากผู้ทำเกิดเสียชีวิตอย่างกะทันหัน มีความเป็นไปได้สูงว่า อาจไม่มีใครรู้เลยว่าได้มีการทำพินัยกรรมแล้ว รวมทั้งไม่รู้ว่าเก็บเอกสารเอาไว้ที่ใด พินัยกรรมฉบับนั้นก็อาจสูญค่าไปเปล่า ๆ

 

ตัวอย่างพินัยกรรมแบบเขียนเองทั้งฉบับ

พินัยกรรม

ทำที่………………………………….

วันที่…………เดือน……………………….พ.ศ………….

ข้าพเจ้า………………………………………………………………… อายุ……………ปี อยู่บ้านเลขที่………………… หมู่ที่………….

ถนน………………………………………… ตำบล/แขวง………………………………….. อำเภอ/เขต………………………………..

จังหวัด…………………………………… ได้ทำพินัยกรรมฉบับนี้ขึ้นไว้ เพื่อแสดงเจตนาว่า เมื่อข้าพเจ้าถึงแก่กรรม

ให้ทรัพย์สินของข้าพเจ้าทั้งหมดทั้งที่มีอยู่ในปัจจุบัน ได้แก่…………………………………………………………………..

และที่จะมีต่อไปในอนาคตตกเป็นของ……………………………………………..แต่ผู้เดียว

                พินัยกรรมนี้ ข้าพเจ้าเขียนด้วยลายมือของข้าพเจ้าเองทั้งฉบับ และได้ทำไว้ 2 ฉบับ  มีข้อความถูกต้องตรงกันทุกประการ  ฉบับหนึ่งเก็บไว้ที่………………………………………………อีกฉบับหนึ่งเก็บไว้ที่………………………………………….

                ขณะทำพินัยกรรมข้าพเจ้ามีสติสัมปชัญญะสมบูรณ์ดีทุกประการ

                ข้าพเจ้าได้อ่านและเข้าใจข้อความโดยตลอดแล้ว

ลงชื่อ…………………………………………ผู้ทำพินัยกรรม

(………………………………………..)

 

“เออ! แล้วรู้ไหม ยังมีพินัยกรรมประเภทที่เขียนบอกไว้ล่วงหน้าว่าอยากจะตายยังไงด้วยนะ”

“ฟังดูเหมือนจดหมายฆ่าตัวตายเลย”

“ลองฟังรายละเอียดดูก่อนแล้วค่อยตัดสินดีไหม”

“โอเค ๆ”

 

พินัยกรรมชีวิต

พินัยกรรมชีวิต (Living Will) หรือหนังสือแสดงเจตนาปฏิเสธการรักษาที่เกินจำเป็นของผู้ป่วยที่อยู่ในวาระสุดท้ายของชีวิตนี้  มีผลทางกฎหมายเป็นครั้งแรกในประเทศสหรัฐอเมริกา  ในปี พ.ศ. 2519 เพื่อรับรองสิทธิของผู้ป่วยในการยอมรับหรือปฏิเสธกระบวนการทางการแพทย์ที่เป็นไปเพื่อยืดชีวิตออกไปโดยไม่เกิดประโยชน์ทั้งต่อผู้ป่วยเองและครอบครัว เพราะเกิดคำถามว่าการที่ผู้ป่วยต้องนอนอยู่บนเตียงโดยที่ช่วยตัวเองไม่ได้ เป็นการอยู่แบบมีคุณภาพชีวิตและมีศักดิ์ศรีของมนุษย์หรือไม่

สำหรับประเทศไทยนั้น ปัจจุบันผู้ป่วยที่เป็นโรคร้ายแรงหรือบาดเจ็บสาหัสจนไม่สามารถหายขาดได้ หรือที่เรียกว่าผู้ป่วยระยะสุดท้าย ก็มีทางเลือกใหม่ตามมาตรา 12 ของพระราชบัญญัติสุขภาพแห่งชาติ  พ.ศ. 2550  ที่อนุญาตให้ทำ“พินัยกรรมชีวิต” หรือ “หนังสือแสดงเจตนาปฏิเสธการรักษา” ได้แล้ว โดยการใช้สิทธิตามเจตนาข้างต้นมี 2 วิธี  คือ

  1. ผู้ป่วยเขียนหรือพิมพ์หนังสือแสดงเจตนาด้วยตัวเอง
  2. กรณีที่ผู้ป่วยเขียนหนังสือไม่ได้ให้แสดงเจตนาเป็นคำพูดต่อหน้าแพทย์พยาบาลที่ให้การรักษา รวมถึงญาติหรือผู้ใกล้ชิด แล้วให้ผู้อื่นช่วยเขียนหรือพิมพ์ข้อความให้ แต่ก็ควรลงชื่อผู้เขียนและพยานไว้ด้วย

ผู้สนใจสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่  www.thailivingwill.in.th หรือดูตัวอย่างหนังสือแสดงเจตนาปฏิเสธการรักษา  ซึ่งเขียนโดย คุณหญิงจำนงศรี หาญเจนลักษณ์  ผู้บุกเบิกการสร้างสถานพยาบาลผู้ป่วยระยะสุดท้ายอย่างเป็นระบบในประเทศไทยได้ที่ www.facebook.com/peacefuldeath2011

“เห็นไหมว่าพินัยกรรมทำง่ายจะตาย”

“แต่ยังไงก็เหมือนแช่งตัวเองอยู่ดีนะ!”

“การเตรียมตัวเรื่องนี้ก็เหมือนการจัดตารางสอนก่อนเรียนนั่นแหละ โอกาสที่จะลืมของหรือทำการบ้านไม่ครบก็จะหมดไปไงล่ะ”

“อืม…คือถึงพลาดเสียชีวิตโดยไม่รู้ตัวแต่มั่นใจได้ว่ามรดกที่เราหวงแหนจะถึงผู้รับไม่มีพลาดสินะ”

“ใช่ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น สิ่งที่ควรเตรียมให้พร้อมเช่นเดียวกับการทำพินัยกรรมก็คือการเตรียมตัวตายล่วงหน้า ด้วยการมีชีวิตอยู่โดยไม่ประมาทตามหลักมรณานุสติ นั่นคือในขณะที่ยังมีชีวิตอยู่ต้องหมั่นทำความดีและเปิดใจยอมรับความจริง ไม่ว่าจะมีสิ่งใดเกิดขึ้น ทั้งการเจ็บป่วยและความตาย เมื่อประกอบกับการได้สั่งเสียมอบทรัพย์สมบัติเป็นลายลักษณ์อักษรให้กับคนที่คู่ควรแล้ว จะตายเมื่อไหร่ เราก็จะจากไปอย่างสบายใจไร้กังวลเลยละ”

“โอเค งั้นเรามาเตรียมตัวตายอย่างรอบคอบทั้งในเรื่องการทำพินัยกรรมและการทำใจกันดีกว่า…จัดไป!” 

 

เรื่อง วรวิทย์ เต็มวุฒิการ

Posted in MIND
BACK
TO TOP
A Cuisine
Writer

© COPYRIGHT 2024 Amarin Corporations Public Company Limited.