ความเกรงใจ

บททดสอบวัดความเกรงใจ…เช็คซิ คุณขี้เกรงใจแค่ไหนกัน!?

บททดสอบวัด ความเกรงใจ…เช็คซิ คุณขี้เกรงใจแค่ไหนกัน!?

หลายคนมี ความเกรงใจ มากจนติดนิสัยขี้เกรงใจ โดยมักเอ่ยคำว่า  “ได้” หรือ “ใช่” ไปเสียทุกครั้ง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเล็กหรือเรื่องใหญ่ โดยหารู้ไม่ว่า การตอบรับเช่นนั้น อาจนำพาความทุกข์มาสู่เราได้สักวัน

ผลสำรวจทางจิตวิทยาระบุว่า การตอบรับในขณะที่จิตใจของเราอยู่ในสภาวะที่อยากปฏิเสธนั้น ส่งผลให้เกิดภาวะเครียดปวดหัว ปวดไหล่ ไปจนถึงขั้นนอนไม่หลับสำหรับบางคน ในขณะที่ อาจารย์พอใจ พุกกะคุปต์ เคยกล่าวไว้ในบทความเรื่อง“ทฤษฎีว่าด้วยความเกรงใจ” ว่า

“ความเกรงใจคนอื่นทำให้ ‘คนอื่นสุขมาก - ตัวเราสุขน้อย’ ความเกรงใจตัวเองทำให้ ‘ตัวเราสุขมาก - คนอื่นสุขน้อย’ ถ้าอยากให้ทุกคนทุกฝ่ายมี ‘ความสุขร่วมกัน’ ได้จริง ๆ จะต้องหาจุดสมดุลหรือพื้นที่ ‘ทับซ้อน’ (overlap) แห่งความพอเหมาะ - พอดีตรงนี้ให้ได้”

 

บททดสอบวัดความเกรงใจ

1. เวลาคุณไปไหนมาไหนกับเหล่าบรรดามิตรสหาย คุณมักเลือกใช้รถของ…

(1) เพื่อน (ไปข้อ 3)

(2) ตัวเอง (ไปข้อ 2)

2. คุณมีความรู้สึกอย่างไรเมื่อได้รับซองผ้าป่า

(1) เอาน่า…อย่างน้อยก็ได้ทำบุญ (ไปข้อ 4)

(2) ภาษีสังคม! (ไปข้อ 3)

3. เวลาที่คุณถังแตก เมื่อกลับบ้านเจอแม่ คุณจะ…

(1) แม่ขอเงินหน่อย (ไปข้อ 4)

(2) แม่ขอกินข้าวด้วยคน (ไปข้อ 5)

4. ขณะนั่งรถเมล์ พนักงานสาวร่างเล็กที่ทำงานออฟฟิศเดียวกันขึ้นมาพร้อมกับหอบของพะรุงพะรัง คุณจะทำอย่างไร

(1) อยากสละที่นั่งให้ แต่กลัวโดนปฏิเสธจึงไม่เอ่ยอะไร แต่รู้สึกผิดมาก ๆ แม้ลงรถมาแล้ว (ดูเฉลยข้อ A)

(2) สะกิดและถามทันทีว่า “นั่งไหม” (ไปข้อ 5)

5. เมื่อคุณเห็นแบงค์ 500 ตกอยู่ที่พื้นตลาดที่คนพลุกพล่านคุณจะหยิบขึ้นมา พร้อมกับคิดว่า…

(1) ถ้าคนที่ทำตกรู้ตัวต้องตกใจมากแน่ ๆ (ดูเฉลยข้อ B)

(2) โชคดีจริง ๆ เรา (ดูเฉลยข้อ C)

 

เฉลย

เฉลยข้อ A คุณเป็นคนขี้เกรงใจระดับสูงสุด เรียกว่าถ้าใครขออะไร มีแต่ “ได้ครับ” หรือ “โอเคค่ะ” ชัวร์ ๆ ซึ่งได้ใจผู้คนแน่นอน แต่ก็ระวังไว้ว่าคุณอาจจะถูกเอาเปรียบได้ง่าย ๆ และบ่อย ๆ

ฉลยข้อ B  คุณรู้จักแบ่งรับแบ่งสู้ได้ดีพอสมควร รู้จักพิจารณาว่าสถานการณ์ใดควรตอบรับ สถานการณ์ใดควรจะปฏิเสธ แม้บางทีคุณอาจจะดูเขี้ยวอยู่บ้าง แต่ทุกคนก็เข้าใจว่าเนื้อแท้แล้วคุณคือคนที่ขี้เล่นและเป็นมิตร

เฉลยข้อ C ปรับปรุงตัวเสีย คุณเป็นคนที่ยึดประโยชน์ส่วนตนเป็นใหญ่ แน่นอนว่าคุณจะไม่ค่อยเหนื่อยแรง และอนาคตคุณอาจเป็นเจ้าคนนายคนได้ แต่ถ้าไม่รู้จักมีน้ำใจเสียบ้าง ระวังจะไม่มีใครคบ เดี๋ยวจะหาว่าไม่เตือน

 

6 เทคนิคเพื่อการปฏิเสธอย่างฉลาด

1. ตอบปฏิเสธตรง ๆ โดยเน้นคำว่า “ไม่” 2 ครั้ง เพื่อสื่อว่าคุณทำไม่ได้จริง ๆ พร้อมเอ่ย “ขอบคุณ” ปิดท้าย

ตัวอย่าง : “ไม่ได้ครับ ผมไปไม่ได้จริง ๆ ขอบคุณที่ชวน”

2. สะท้อนถึงคำว่า “ไม่” ก่อนปฏิเสธ เพื่อให้อีกฝ่ายเห็นว่าคุณเข้าใจในสิ่งที่คนชวนต้องการ เพียงแต่ทำให้ไม่ได้จริง ๆ

ตัวอย่าง : “ผมรู้ดีว่าคุณแค่ขอข้อมูล ใช้เวลาไม่นาน แต่ผมต้องรีบไปจริง ๆ”

3. บอกเหตุผลที่ทำให้ต้องปฏิเสธ เพื่อให้ได้ผลดี เหตุผลที่ใช้ต้องสั้น กระชับ ชัดเจน เพื่อให้ไม่ดูเป็นข้ออ้าง

ตัวอย่าง : “ฉันคงไปกับคุณไม่ได้ เพราะมีงานที่ต้องทำให้เสร็จภายในคืนนี้”

4. ปฏิเสธพร้อมต่อรอง หากทำในครั้งนี้ไม่ได้ ลองยื่นข้อเสนอไปว่าเป็นคราวหน้าได้หรือไม่

ตัวอย่าง : “ผมไปเลี้ยงรุ่นไม่ได้จริง ๆ เดี๋ยววันหลังค่อยไปนอกรอบกันนะ”

5. ปฏิเสธแล้วถามกลับ หลังจากปฏิเสธแล้ว ให้ถามกลับไปทันที เพื่อสื่อถึงความใส่ใจและไม่ดูดายในเรื่องนั้น ๆ

ตัวอย่าง : “ครั้งนี้ฉันคงไปเที่ยวด้วยไม่ได้จริง ๆ ว่าแต่เราจะมีโอกาสได้เจอกันอีกครั้งเมื่อไหร่เนี่ย”

6. ทวนคำปฎิเสธ เทคนิคข้อนี้แสดงให้เห็นถึงความใส่ใจของเรา และสื่อว่าที่ต้องปฏิเสธเพราะมีเหตุจำเป็นจริง ๆ

ตัวอย่าง : “เราอยากไปด้วยแต่ไปไม่ได้ ถ้าไปได้ วันนี้กะจะเลี้ยงเธอซะหน่อย น่าเสียดายที่ไปไม่ได้จริง ๆ”

สุดท้ายแล้วหากลองพิจารณาถึงข้อดีข้อเสียให้ถ้วนถี่ก่อนตัดสินใจทุกครั้ง ทุกคนก็จะสามารถใช้ชีวิตร่วมกันโดยปราศจากทุกข์

 

ที่มา : นิตยสาร Secret

Image by Pexels from Pixabay

Secret Magazine (Thailand)


บทความน่าสนใจ

8 วิธีคลายเครียดสะสม อย่างง่าย ๆ ในเวลาทำงาน : Secret เคล็ดลับ

ไม่มีถูกกับผิด มีแต่ ทุกข์กับพ้นทุกข์ – นิตยสาร Secret

3 ความ กลัว ที่ต้องทำความรู้จัก แล้วกำจัดมันซะ : Secret เคล็ดลับ

เคล็ดลับของการปฏิบัติธรรมให้มีชีวิตชีวา โดย พระอาจารย์นวลจันทร์ กิตติปัญโญ

7 เคล็ดลับเพิ่มความ“สมานฉันท์”ในครอบครัว (ฉบับคุณลูกฝากถึงคุณพ่อคุณแม่)


 

© COPYRIGHT 2024 Amarin Corporations Public Company Limited.