การบริจาคร่างกาย

ตายแล้ว (เอาตัว) ไปไหน (ดี) เรื่องน่ารู้เกี่ยวกับ การบริจาคร่างกาย

การบริจาคร่างกาย ต้องทำอย่างไร?…เรามีคำตอบ

เชื่อหรือไม่ว่า…เมื่อเราต้องจากโลกนี้ไปร่างกายของเรายังสามารถทำประโยชน์ให้ผู้อื่นได้อีกมากมายทีเดียว โดยเฉพาะ การบริจาคร่างกาย

การบริจาคร่างกายมีประโยชน์อย่างยิ่งในทางการแพทย์ เพราะร่างของเราจะถูกนำไปให้นักศึกษาแพทย์การศึกษากายวิภาคศาสตร์ และให้แพทย์เฉพาะทางได้ฝึกหัตถการ ผ่าตัด ศึกษาเกี่ยวกับโครงกระดูกและเนื้อเยื่อเพื่อใช้ในการรักษาผู้อื่นต่อไปในอนาคต

แบบที่ 1: บริจาคเพื่อให้นักศึกษาแพทย์ได้ศึกษา

Must - have

สมัครเป็น “อาจารย์ใหญ่” ต้องเตรียมอะไรบ้าง

  •  สำเนาบัตรประชาชน 1 ฉบับ
  •  รูปถ่ายหนึ่งนิ้ว หน้าตรง ถ่ายไว้ไม่เกิน 6 เดือน
  •  ตัวและหัวใจในการเดินทางไปสมัครบริจาคร่างกายตามสถานที่ที่ประกาศรับบริจาค อาทิเช่น สภากาชาดไทย โรงพยาบาลของรัฐที่มีหน่วยงานรับบริจาคเป็นต้น
  •  แบบฟอร์มการบริจาคซึ่งสามารถดาวน์โหลดได้ที่ www.md.chula.ac.th หรือ www.redcross.or.th

สิ่งที่ควรรู้…ก่อนเป็น “อาจารย์ใหญ่”

  •  ผู้ที่ต้องการบริจาคร่างกายต้องมีอายุตั้งแต่ 17 ปีขึ้นไป เมื่อตกลงใจบริจาคแล้ว ควรแจ้งให้คนรอบตัวทราบด้วย
  •  หลังจากผู้อุทิศร่างกายถึงแก่กรรมทายาทผู้รับมรดก (พ่อแม่ ลูก ญาติ) มีสิทธิ์คัดค้านการมอบศพให้กับโรงพยาบาลได้โดยไม่มีความผิดทางกฎหมาย
  •  หลังจากผู้อุทิศร่างกายถึงแก่กรรมและทายาทผู้รับมรดกยินยอมมอบร่างให้แก่ผู้รับบริจาคแล้ว ญาติควรโทร.แจ้งหน่วยงานตามบัตรบริจาคร่างกายที่ผู้ป่วยแสดงความจำนงไว้ภายใน 24 ชั่วโมง
  •  เมื่อไปรับร่างของผู้บริจาค เจ้าหน้าที่โรงพยาบาลจะต้องแสดงบัตรประจำตัวพร้อมมอบเอกสารหนังสือสำคัญการมอบศพให้ญาติกรอกรายละเอียดและลงนามไว้เป็นหลักฐาน เมื่อโรงพยาบาลรับร่างมาแล้ว ร่างผู้อุทิศร่างกายนั้นถือเป็นมรดกที่มอบไว้ให้กับโรงพยาบาล
  •  แพทย์จะใช้เวลาในการศึกษาร่างกายเป็นระยะเวลาทั้งหมด 2 ปีหลังจากนั้นทางโรงพยาบาลจะจัดให้มีพิธีบำเพ็ญกุศลอาจารย์ใหญ่ให้แก่ผู้ล่วงลับ

หลักฐานสำหรับบริจาคร่างกาย

1. สำเนาใบมรณบัตร จำนวน 3 ฉบับ

2. สำเนาบัตรประชาชนของทายาทผู้มอบร่างผู้อุทิศร่างกายเพื่อการศึกษา จำนวน 1 ฉบับ

เป็นอาจารย์ใหญ่…ก็มีข้อจำกัดเหมือนกันนะ!

โรงพยาบาลต่าง ๆ ไม่สามารถรับศพผู้อุทิศร่างกายเพื่อการศึกษาได้หาก…

  •  ผู้อุทิศร่างถึงแก่กรรมเกิน 20 ชั่วโมงยกเว้นได้เก็บไว้ในห้องเย็นของโรงพยาบาลแล้ว
  •  ผู้อุทิศร่างเคยผ่านการผ่าตัดใหญ่และสูญเสียอวัยวะสำคัญ ๆ หรือมีร่างกายที่ไม่เหมาะจะใช้ศึกษาได้ เช่น แขนขาคดงอจนเสียรูปร่าง
  •  ผู้อุทิศร่างมีสาเหตุการตายจากโรคร้ายแรง เช่น โรคมะเร็ง  หรือติดเชื้อโรคร้ายแรง เช่น เอดส์ ไวรัสลงตับ และวัณโรค หรือมีคดีที่เกี่ยวข้องกับการผ่าพิสูจน์
  •  ผู้อุทิศร่างมีน้ำหนักมากเกินกว่า 80 กิโลกรัม หรือผอมมากจนไม่มีกล้ามเนื้อ

 

อยากทำบุญเชิญทางนี้!

หากต้องการทำบุญเพื่อพัฒนาอาจารย์ใหญ่ สามารถบริจาคเงินสมทบเข้ากองทุนสภากาชาดไทยเพื่อการบริจาค ธนาคารไทยพาณิชย์สาขาสภากาชาดไทย เลขที่บัญชี0452-88000-6 ชื่อบัญชี “เงินฝากเพื่อพัฒนาอาจารย์ใหญ่เพื่อการศึกษาด้านการแพทย์” ได้ตามศรัทธา

 

แบบที่ 2: บริจาคร่างกายเพื่อให้แพทย์เฉพาะทางฝึกผ่าตัด

มีเงื่อนไขน้อยกว่าแบบแรก คือ

1.ไม่เคยผ่าตัดบริเวณข้อต่างๆ

2.เมื่อเสียชีวิตญาติต้องแจ้งเจ้าหน้าที่ภาควิชาฯ ให้มารับศพทันที

3.ให้ญาติตัดผมและเล็บของผู้เสียชีวิตใส่โลง เพื่อสวดทำบุญ

4.ไม่ฉีดยารักษาศพ

 

แบบที่ 3: บริจาคร่างกายเพื่อเก็บโครงกระดูกใช้ในการศึกษา

1.ขณะเสียชีวิตต้องมีอายุไม่เกิน 55 ปี

2.ญาติสามารถนำอวัยวะบางส่วนของศพดอง ไปทำพิธีทางศาสนาได้

3.ไม่ฉีดยารักษาศพเพราะจะทำให้ไม่สามารถเก็บโครงกระดูกของศพได้

 

ที่มา : นิตยสารซีเคร็ต

ภาพ : https://pixabay.com


บทความน่าสนใจ

ศาสนาอื่นตายแล้วไปไหน? ท่าน ว. ไขข้อข้องใจ “นรกสวรรค์มีทุกศาสนา”

แมเรี่ยน กรูซาลสกี้ ผู้หญิงที่ถูกลิขิต ให้ค้นพบความหมายของชีวิตจากความตาย

ถามกวน แต่ชวนให้ตอบ 2 คำถามเรื่องตาย-เกิด กับท่าน ว.วชิรเมธี

เมื่อความตายให้โอกาส

“ชีวิตคือความตาย” ธรรมะโดย หลวงพ่อโพธินันทะ

© COPYRIGHT 2024 Amarin Corporations Public Company Limited.