รางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี

ต้นแบบชีวิตนอกตำราครู รางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี

ต้นแบบชีวิตนอกตำราครู รางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี

รางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรีมหาจักรี (Princess Maha Chakri Award) คือรางวัลเกียรติยศแห่งความเป็นครูของประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ก่อตั้งขึ้นด้วยสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีที่ทรงเล็งเห็นถึงความสำคัญของวิชาชีพครู ทรงอุทิศพระองค์เพื่อส่งเสริมการศึกษาแก่เด็กและเยาวชนผู้ด้อยโอกาสในถิ่นทุรกันดารมาโดยตลอด

ทุก 2 ปี มูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี สำนักงานเลขาธิการคุรุสภา กระทรวงศึกษาธิการ จะคัดเลือกครูผู้สร้างการเปลี่ยนแปลงในชีวิตศิษย์และมีคุณูปการต่อวงการศึกษาทั้ง 11 ประเทศในอาเซียนและติมอร์เลสเต ประเทศละ 1 คนเพื่อเข้ารับพระราชทานรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรีจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีนี่คือเรื่องราวของครูผู้ได้รับรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรีของประเทศไทย ในปี 2560 รวมถึงครูผู้ได้รับรางวัล “คุณากร” ครูผู้เปลี่ยนแปลงชีวิตของศิษย์และสร้างแรงบันดาลใจให้ลูกศิษย์ดำเนินรอยตาม

จิรัฏฐ์  แจ่มสว่าง อดีตครูไร้บ้าน ผู้เปิดโลกกว้างให้ชีวิตศิษย์      

ครูผู้ได้รับรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรีปี 2560 คือ จิรัฏฐ์ แจ่มสว่าง ครูเชี่ยวชาญโรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย นนทบุรีผู้สร้างนวัตกรรมทางการศึกษา จัดการเรียนรู้แนวใหม่บนโลกอินเทอร์เน็ต เพื่อเปิดโลกกว้างแก่นักเรียนตั้งแต่ปี 2528 ซึ่งเป็นยุคที่เด็กไทยแทบไม่มีใครรู้จักคอมพิวเตอร์

“ผมเคยเป็นเด็กยากจน เรียนจบประถมก็บ้านแตกสาแหรกขาดไม่มีบ้าน บางวันต้องนอนบนเบาะยูโดในห้องยิมของโรงเรียนมัธยมระหว่างเรียนต้องออกไปรับจ้างเป็นครูสอนฟันดาบ จึงขาดเรียนเยอะมาก กระทั่งโดนแบล็กลิสต์ เมื่อเรียนจบผมไม่มีเงินไปสมัครสอบเอนทรานซ์ โชคดีที่ผลการเรียนดี ได้รับพระราชทานทุนภูมิพลจึงได้เรียนปริญญาตรีคณะพลศึกษา มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒเป็นแรงบันดาลใจให้ผมอยากตอบแทนคุณแผ่นดินด้วยวิชาชีพครู เพราะถ้าไม่ได้โอกาสตอนนั้น ผมก็คงไม่ได้เรียน”

หลังเรียนจบ เขาเริ่มจากเป็นครูสอนวิชาพลศึกษา และพัฒนาตนเองโดยการสอบชิงทุนไปเรียนต่อ เพื่อเรียนรู้วิธีการเรียนการสอนเพิ่มเติม กระทั่งราวปี 2528 ได้รับทุนไปศึกษาที่ประเทศญี่ปุ่น จึงพบว่าที่นั่นแม้กระทั่งชาวไร่ชาวนายังใช้คอมพิวเตอร์เปิดฐานข้อมูลประกอบการซื้อขายข้าว ในขณะที่เมืองไทยยังไม่มีคอมพิวเตอร์ในโรงเรียนด้วยซ้ำ

เขาจึงมุ่งเรียนรู้เรื่องคอมพิวเตอร์อย่างจริงจัง จนสามารถเปิดห้องเรียนคอมพิวเตอร์ให้เด็ก ๆ เข้าถึงข้อมูลความรู้นอกตำรา บุกเบิกหลักสูตรการสอนไอซีที และนำเทคโนโลยีหุ่นยนต์มาร่วมจัดการเรียนรู้ ส่งเสริมให้นักเรียนพัฒนานวัตกรรมจนชนะการประกวดทั้งในระดับชาติและนานาชาติอย่างต่อเนื่อง

ปัจจุบันโรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัยนนทบุรี เป็นโรงเรียนที่มีการเรียนการสอนด้านไอทีทันสมัยในอันดับต้น ๆ ของประเทศมีคอมพิวเตอร์ในการเรียนการสอนมากกว่า700 เครื่องพร้อมอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงซึ่งเกิดจากความร่วมมือจากเครือข่ายเอกชนและผู้ปกครองโดยไม่พึ่งงบประมาณจากภาครัฐ

ตลอด 36 ปี ครูจิรัฏฐ์ยังอาศัยความรู้ทางเทคโนโลยีผลักดันให้ลูกศิษย์ก้าวสู่ความสำเร็จทางการศึกษาโดยไม่แบ่งชนชั้นว่าใครเป็นเด็กหัวกะทิหรือเด็กเกเร อย่างเช่น หมู - ธนชัย เกษมเสรีวงศ์ อดีตเด็กเกเรของโรงเรียนซึ่งมักหาเรื่องชกต่อยทะเลาะวิวาท แต่ปัจจุบันเขาคือนักพัฒนาหุ่นยนต์ที่ได้รับรางวัลมาหลายเวที ธนชัยบอกว่ามีวันนี้ได้ก็เพราะ “ครู”

“ผมชอบใช้ความรุนแรง ใจร้อน การทะเลาะวิวาทค่อนข้างเป็นเรื่องใหญ่ในโรงเรียนแต่ครูจิรัฏฐ์ให้โอกาสผม ท่านลงโทษด้วยการให้ไปเรียนเรื่องโปรแกรมคอมพิวเตอร์เพิ่มเติม เป็นการทำโทษที่ไม่จำเป็นต้องดุด่าหรือตีผม ไม่เคยเห็นครูด่าหรือตีเด็กแรง ๆ เลยจากคำพูดและวิธีการสอนของครูทำให้ผมได้เรียนรู้ว่าสิ่งที่ทำไปมันผิด เวลากินข้าวกันครูมักเล่าว่าชีวิตเป็นอย่างไร เป็นชีวิตที่ผมไม่เคยรู้ ไม่เคยสัมผัส แต่ทำให้ผมเห็นความสำคัญของการเรียนมากขึ้น”

ธนชัยพัฒนาศักยภาพตนเอง กระทั่งมีบริษัทเอกชนให้ทุนผลิตหุ่นยนต์ เขาชวนปอนด์ - ณัฏฐพล กมลศิริวัฒน์ อดีตคู่อริมาร่วมทำงานด้วยกัน

“ผมรู้ว่าบ้านปอนด์มีปัญหาเรื่องเงินและสุขภาพไม่ค่อยแข็งแรง เป็นโรคแพ้ภูมิตัวเอง ครูจิรัฏฐ์และภรรยาคอยช่วยเหลือและพาไปหาหมอตลอด แต่ผมไม่ขัดสนเดือดร้อนอะไร ปอนด์ควรได้ทุนในส่วนนี้ด้วย จึงตั้งทีมทำงานร่วมกันซึ่งประสบความสำเร็จมากระดับหนึ่ง เราได้รับรางวัลมาเรื่อย ๆ ถ้าอาจารย์ตัดโอกาสผมตั้งแต่ตอนนั้น เราอาจจะเหลวไหลไปมากกว่านี้”

ครูจิรัฏฐ์ให้ข้อคิดเกี่ยวกับการเป็นครูว่า

“วิชาชีพครูต้องเสริมความรู้ตลอดเวลา รู้นวัตกรรม รู้จักการแก้ปัญหา และต้องรู้จักการปราบทุก ๆ อย่างด้วยหัวใจ แต่ถ้าครูสนใจปั้นแค่เด็กเก่ง แล้วเด็กกลุ่มอื่นจะอยู่ตรงไหนของสังคม ครูต้องมองเด็กทุกคนส่งเด็กทุกคนให้ถึงฝั่ง”

แม่พิมพ์คุณากร ผู้สร้างฝันให้ศิษย์ด้วยแรงบันดาลใจ

นอกจากรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรียังมีครูผู้ได้รับรางวัล “คุณากร” อีก 2 คนคนแรก คือ นฤมล แก้วสัมฤทธิ์ ครูผู้มีอุดมการณ์และความมุ่งมั่นอย่างยิ่งในการเป็นครูนักพัฒนา เริ่มจากการเป็นครูอาสา ณ ศูนย์การเรียนรู้ชุมชนในอำเภอพบพระ จังหวัดตาก แล้วย้ายมาเป็นครูศูนย์การเรียนรู้ชุมชนชาวไทยภูเขา “แม่ฟ้าหลวง” บ้านกรูโบ อำเภออุ้มผาง จังหวัดตาก หมู่บ้านกะเหรี่ยงที่ไกลที่สุดของอำเภออุ้มผาง ติดชายแดนพม่า

ครูนฤมลไม่เกรงกลัวต่อความยากลำบาก เธอคือครูเพียงคนเดียวของศูนย์ฯที่ยืนหยัดสอนเด็ก ๆ ในชุมชนแห่งนี้มาร่วม 20 ปี ความอุตสาหะและเสียสละของครูนฤมลกลายเป็นแรงบันดาลใจอันยิ่งใหญ่ให้ ลูกอ๊อด - พรรณิภา บำเพ็ญรุ่งโรจน์หญิงสาวชาวกะเหรี่ยงบ้านกรูโบ

“หนูเรียกครูนฤมลว่าแม่ แม่อยู่กับหนูตั้งแต่โรงเรียนเพิ่งสร้างใหม่ ๆ ใช้ใบตองตึงมุงหลังคา หนูเห็นแม่อยู่คนเดียวในโรงเรียนจนถึงปัจจุบันก็ยังอยู่คนเดียวในโรงเรียนพ่อแม่หนูเสียแล้ว จึงไปอยู่กับท่านทุกวัน หนูประทับใจท่านมาก ท่านแกร่ง อดทน เสียสละ ทำให้หนูรู้สึกว่าหนูก็แกร่ง อดทน และเสียสละแบบท่านได้”

พรรณิภาได้รับพระราชทานทุนการศึกษาจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ไปศึกษาระดับปริญญาตรี คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒเธอมีต้นทุนที่จำกัดทั้งด้านปัจจัยและภาษาจึงต้องใช้ความพยายามมากกว่าเพื่อนร่วมชั้นเรียนหลายเท่า

“แม่ต้องเดินมาโรงเรียนเป็นสิบปีบนเส้นทางที่ไม่มีใครเดินเลย หนูก็เดินไปเรียนได้เหมือนกัน ที่กรุงเทพฯหนูเดินไปเรียนทุกวันจากที่พักแถวพระราม 9 ไปมหาวิทยาลัย (ระยะทางประมาณ 5 กิโลเมตร)แม่เสียสละ หนูก็เสียสละได้เหมือนกันหลายครั้งที่อยากลาออกจากมหาวิทยาลัยท่านก็สอนเสมอว่า ถ้าหนูไม่เรียนแล้วถ้าแม่ไม่อยู่ ใครจะขึ้นมาสอนหนังสือบนดอยเมื่อก่อนอาจมีครูหลายคนเข้าไป แต่ไม่นานก็ออกไป มีแม่คนเดียวที่ไม่ไปไหนเลย

“แม่อดทน หนูก็อดทนเหมือนกัน หนูมีเงินไม่มาก แต่อยู่กรุงเทพฯมีค่าใช้จ่ายเยอะเอกสารการเรียนก็ต้องจ่ายทุกบาททุกสตางค์แทนที่จะใช้เงินซื้อข้าว 30 - 40 บาท หนูก็ซื้อมาม่า 4 - 6 บาทกินแทน บางครั้งพระอาจารย์ที่วัดก็ให้ข้าวสาร อาหารกระป๋องมาก็อยู่ได้ เวลาเรียนหนูต้องตั้งใจและพยายามมากกว่าคนอื่นหลายเท่า เพราะเรายังไม่เก่ง ไม่มีพื้นฐานภาษาไทยเหมือนเพื่อน ๆ หนูจึงอยากเป็นครูสอนภาษาไทยให้เด็ก ๆ บนดอยเก่งกว่านี้”

พรรณิภามุ่งมั่นเรียนจนจบปริญญาตรีปัจจุบันกลับมาเป็นครูสอนภาษาไทยในโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนบ้านหม่องกั๊วะ อำเภออุ้มผาง จังหวัดตาก

ครูสอนดนตรีแบบนอกกรอบผู้ผลักดันศิษย์ให้ไกลกว่าครู

ครูผู้ได้รับรางวัลคุณากรอีกท่าน คือ ศรัณย์ ศรีมะเริง ครูสอนวิชาดนตรี โรงเรียนเมืองนครราชสีมา อำเภอเมืองฯ จังหวัดนครราชสีมา เขาคือครูผู้พาวงโยธวาทิตของโรงเรียนไปคว้ารางวัลชนะเลิศการแข่งขันทั้งในประเทศและต่างประเทศ และเป็นหนึ่งในผู้ร่วมออกแบบงานพระราชพิธีราชาภิเษกสมรสของ กษัตริย์จิกมี เคเซอร์ นัมเกล วังชุกแห่งราชอาณาจักรภูฏาน

“ผมเชื่อมั่นว่าดนตรีสามารถเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการเรียนรู้และพัฒนาคุณภาพชีวิตได้ อย่างผมเองเกิดมาในครอบครัวยากจน เติบโตมากับชุมชนลิเก จับเครื่องดนตรีชิ้นแรกคือระนาด เมื่อเรียนมัธยมได้ไปเล่นวงดุริยางค์ แต่ไม่สามารถอ่านโน้ตสากลได้ เป็นเรื่องที่คาใจมาตลอด กระทั่งผ่านช่วงชีวิตที่ค้นหาตนเองมาหลายรูปแบบทั้งเป็นนักดนตรีโฟล์คซอง นักแต่งเพลงเป็นแกนนำขบวนประท้วง แต่สุดท้ายผมอยากเป็นครูสอนดนตรี เพราะรู้สึกว่าครูเป็นวิชาชีพเดียวที่ทำบุญได้ตลอดชีวิต”

ครูศรัณย์สร้างวิธีอ่านตัวโน้ตเพื่อให้ลูกศิษย์สามารถเข้าถึงดนตรีได้ง่ายขึ้นโดยใช้ตัวเลขและชื่อสัตว์ (เช่น ตัวโน้ตโด เร มี ฟาซอล สอนให้ออกเสียงว่าเต่า ปลา นก ช้าง ม้า) นอกจากนี้เขายังมอบความรักและเมตตาต่อลูกศิษย์จนประสบความสำเร็จในการประกอบอาชีพ เช่น โกสินทร์ สืบประสิทธิวงศ์ หนึ่งในลูกศิษย์ที่เป็นความภาคภูมิใจของครูศรัณย์

“ผมชอบดนตรี อยากเล่นอังกะลุงตั้งแต่อนุบาล แต่ครูไม่ให้เล่นเพราะตัวเล็ก ถึงชั้นประถมให้เล่นอะไรผมก็ไปเล่น ตำแหน่งแรกคือตีฉิ่ง เมื่อคุณพ่อเสียชีวิตและคุณแม่ป่วยเป็นอัมพาต ต้องย้ายจากอ่างทองมาเรียนชั้นมัธยมที่โคราชจนพบอาจารย์ศรัณย์ เป็นจุดเปลี่ยนที่ทำให้ผมเล่นดนตรีในวงโยธวาทิตอย่างจริงจัง เมื่อมีความรู้จึงอยากถ่ายทอดให้รุ่นน้อง อาจารย์ศรัณย์ก็เปิดโอกาสให้ผมช่วยสอนและทำวงขึ้นเอง จนสามารถทำวงเมโลเดี้ยนประกวดได้แชมป์ 3 ปีซ้อน ทั้งที่ตอนนั้นผมยังเรียนอยู่ชั้นมัธยม

“อาจารย์ศรัณย์เปรียบเสมือนพ่อคนหนึ่งท่านสนับสนุนทั้งเรื่องการเงินและวิธีการใช้ชีวิตต่าง ๆ ท่านผลักดันจนผมสามารถสอบผ่านไปเล่นในรายการ Drum Corps International (รายการประกวดวงโยธวาทิตระดับโลก) ที่ประเทศสหรัฐอเมริกาได้ ซึ่งเป็นความฝันสูงสุดของผม”

ปัจจุบันโกสินทร์ไม่อาจกลับมาช่วยอาจารย์ศรัณย์สอนน้อง ๆ วงโยธวาทิตเช่นเดิมเพราะมีภารกิจที่ยิ่งใหญ่กว่า คือการสานฝันให้แก่ผู้รักดนตรีรุ่นหลังในฐานะนายกสมาคมการประกวดวงโยธวาทิตโลก (ประเทศไทย)และประธานสมาพันธ์วงโยธวาทิตเอเชีย

ครูจึงไม่ใช่แค่เรือจ้าง หากแต่ไม่ต่างอะไรจากบุพการีคนที่สองของศิษย์


บทความที่น่าสนใจ

เพราะมีลูกเป็นแรงบันดาลใจผมจึงไม่ท้อ โก้ นฤเบศร์ จินปิ่นเพ็ชร

James Kearsley ชายหนุ่มผู้ เอาชนะโรคร้าย กลายมาเป็นนักเพาะกายสร้าง แรงบันดาลใจ

เอาชนะความไม่สมบูรณ์ของร่างกาย สู่นักพูดสร้างแรงบันดาลใจ อับดี โอมาร์

10 ข้อคิดสร้างแรงบันดาลใจให้คุณ โดย แจ็ค หม่า

© COPYRIGHT 2024 Amarin Corporations Public Company Limited.