กำพล ทองบุญนุ่ม

กำพล ทองบุญนุ่ม ลาออกจากความทุกข์…ได้เพราะธรรมะ

กำพล ทองบุญนุ่ม ลาออกจากความทุกข์…ได้เพราะธรรมะ

มีคนฉลาดๆ กล่าวไว้ว่า “ชีวิตคือการเรียนรู้” ซึ่งที่ถูกคือ เราต้องเรียนรู้ทุกเรื่องที่ผ่านเข้ามาในชีวิต ทว่าคนส่วนใหญ่มักอยากรู้เฉพาะสิ่งที่ตนพอใจ…ส่วนสิ่งที่ไม่พอใจ…สิ่งที่ทำให้เป็นทุกข์หรือผิดหวัง…เราไม่ค่อยอยากจะเรียนรู้มันเท่าไร ผม ( กำพล ทองบุญนุ่ม ) เองก็เคยเป็นคนแบบนั้น

ตอนอายุ 24 ผมรับราชการเป็นอาจารย์ในวิทยาลัยพลศึกษา จังหวัดอ่างทองซึ่งขณะนั้นมีวิทยาลัยพลศึกษาเพียง 8 แห่งทั่วประเทศ งานนี้เป็นงานที่ผมใฝ่ฝันเมื่อได้ทำ ผมจึงรักงานของตัวเองมาก และผมก็ไม่ต่างจากหนุ่มสาวสมัยนี้ที่อยากมีชีวิตที่ดีกว่าพ่อแม่ ปู่ย่าตายายของตัวเอง ผมเกิดในเรือ ครอบครัวฐานะยากจน ผมจึงมีความหวังและความฝันมากมาย เช่น อยากสร้างบ้านให้คุณพ่อคุณแม่ อยากให้ท่านขึ้นจากเรือมาอยู่บนบ้านจะได้สบายขึ้น อยากส่งเสียน้องๆ ให้ได้เรียนหนังสือโดยไม่ต้องลำบาก ไม่ต้องอาศัยวัดนอน ไม่ต้องกินข้าวใกล้บูดอย่างผม

ในตอนนั้นผมชอบคำกล่าวที่ว่า “ฝันให้ไกล ไปให้ถึง” มากๆ จนไม่เคยคิดเลยว่าถ้าไม่สมหวังจะเป็นอย่างไร และไม่ยอมรับว่าสิ่งที่ฝันส่วนใหญ่เป็นได้แค่ความคิดเท่านั้น

ที่บอกเช่นนี้เพราะในขณะนั้นผมกำลังมุ่งอยู่กับงานและสนใจแต่เรื่องของตัวเองเป็นหลัก ที่จริงข้าราชการซึ่งเพิ่งจะบรรจุได้เพียงสามปีอย่างผมมีเงินเดือนแค่หลักพัน จะสร้างบ้านราคาเป็นแสนได้อย่างไร นี่เรียกว่าเหตุไม่สมบูรณ์แล้ว เราคงหวังผลอย่างที่ต้องการไม่ได้ เพราะความจริง ไม่ว่าจะต้องการผลลัพธ์แบบไหน เราต้องสร้างเหตุให้ตรงกับผลและสร้างให้มากพอต่างหาก

อย่างไรก็ตาม ความพิการทำให้ผมไม่อาจเบือนหน้าหนีจากความจริงของชีวิตดังที่หลายท่านอาจจะทราบ อุบัติเหตุเกิดขึ้นกับผมรวดเร็วมาก วันหนึ่งผมยังเดินได้วิ่งได้ ตอนสาธิตการกระโดดน้ำ นักเรียนยังจ้องกันตาแป๋ว แต่เพราะกระโดดผิดท่าครั้งเดียวศีรษะน็อกกับก้นสระ กระดูกคอข้อที่ 5 หัก วันถัดมาผมก็กลายเป็นคนพิการ แขนขาที่เคยรับใช้เจ้าของอย่างจงรักภักดีมา 24 ปีหมดสมรรถภาพโดยสิ้นเชิง

ผมเดินไม่ได้ นั่งนานไม่ได้ อิริยาบถส่วนใหญ่คือการนอน แต่ทั้งๆ ที่ร่างกายทุพพลภาพถึงเพียงนั้น อัตตาก็ยังมีศักยภาพอย่างเหลือเฟือและสามารถล่อหลอกให้ผมเชื่อมายาวนานว่าตัวเองจะเดินได้อีกครั้ง แพทย์แผนปัจจุบันหรือแพทย์ทางเลือก ใครว่าที่ไหนมีอะไรดี ผมยินดีทดลอง และยามใดที่เกิดความรู้สึกท้อแท้ ผมก็จะกลับไปอ่านหนังสือธรรมะ

สิบหกปีผ่านไปผมอ่านหนังสือธรรมะมากมาย ได้แต่เข้าใจ แต่ยังไม่เข้าถึง กระทั่งถึงปี พ.ศ. 2538กัลยาณมิตรท่านหนึ่งแนะนำให้ผมเขียนจดหมายไปขอคำแนะนำการปฏิบัติธรรมจาก หลวงพ่อคำเขียน สุวณฺโณ วัดภูเขาทอง อำเภอแก้งคร้อ จังหวัดชัยภูมิ ไม่นานท่านก็ตอบจดหมายและแนะนำวิธีเจริญสติโดยการเคลื่อนไหวตามแนวของ หลวงพ่อเทียน จิตฺตสุโภ ให้แม้จะเป็นคนพิการนอนเฉยๆ ก็ปฏิบัติได้ ท่านให้ผมเจริญสติด้วยการพลิกฝ่ามือ ทำเล่นๆ ไม่ต้องเอาจริง ขอแค่กายอยู่ไหน ใจอยู่ด้วยเป็นใช้ได้ การพลิกมือเป็นอุบายในการฝึก “ความรู้สึกตัว” ซึ่งต่อมาผมจึงเรียนรู้ว่า ความรู้สึกตัวนี่เองคือสิ่งสำคัญที่สุดในชีวิต

ความรู้สึกตัวต่างจากสติตรงที่สติเป็นสิ่งที่ใครๆ ก็มีได้ ถ้าไม่บ้า ไม่เมา ไม่สลบ ไม่หลับ คนเรามีสติด้วยกันทั้งนั้น แต่สติตามธรรมชาติเป็นสติที่ไม่สมบูรณ์ ยังตกอยู่ในอำนาจความโลภ โกรธ หลง ส่วน ความรู้สึกตัวคือสติที่พัฒนาแล้วและยกระดับจนพ้นไปจากสัญชาตญาณเดิมโดยสิ้นเชิง

คลิกเลข 2 ด้านล่าง เพื่ออ่านหน้าถัดไป

สติตัวหลังนี้พัฒนามาจากสติตามธรรมชาติ หนทางในการพัฒนาสติเรียกว่า “สติปัฏฐาน” อธิบายอย่างง่ายคือ การมีสติอยู่กับอาการของกายและจิต อันที่จริงเมื่อกายขยับ จิตก็จะขยับคู่กันไปเสมอ กายขยับ – จิตขยับ…เกิดและดับต่อเนื่องกันไป วิธีเจริญสติในชีวิตประจำวันคือ ให้เราย้อนกลับมาดู รู้ในอาการของกาย เดินก็รู้ นั่งก็รู้ยืนก็รู้ นอนก็รู้ กินก็รู้ โกรธก็รู้ ถ้าทำแบบนี้ได้บ่อยๆ เรียกว่าสติเริ่มพัฒนาแล้ว

เวลามีสติสมบูรณ์เราจะไม่โกรธ ความโกรธมาทีหลัง มาแล้วก็ไป แต่ที่คนเรายังโกรธไม่หายเพราะเราคอยเติมเชื้อไฟให้มันเอง ถ้าทำความรู้สึกตัวทัน ในเมื่อเรารู้ว่าความโกรธทำให้เหนื่อย แทนที่จะเป็นผู้โกรธ เราก็เปลี่ยนมาเป็นผู้ดูความโกรธ ไม่ว่าจะมีสิ่งใดเกิดขึ้น เราไม่ต้อง “เป็น” สิ่งนั้นตามไปด้วย เพียงแต่ “รับรู้ รับทราบ” เท่านั้น ทุกวันนี้แม้ว่าร่างกายของ “อาจารย์กำพล”จะพิการ แต่ความจริงผมไม่ใช่ “อาจารย์กำพล” เป็นเพียง “ผู้ดูอาจารย์กำพล”ใจผมก็ไม่พิการและไม่ทุกข์ตามร่างกายที่พิการนั้น

ร่างกายที่พิการทำให้ตัวตนของผมมีที่ทางจำกัด เพราะคนทุกคนเมื่อเกิดมาก็ต้องอาศัยร่างกายตัวตนในการทำงานตามสมมุติด้วยกันทั้งนั้น มีเรา มีฉัน มีเธอ…ใครเรียกชื่อเรา เราก็ต้องหัน ใครวานให้ทำอะไร เราก็ต้องทำ จะนั่งนิ่งทำไม่รู้-ไม่ชี้ไม่ได้ มิฉะนั้นเราจะอยู่ในโลกนี้อย่างลำบาก คนจะเรียกเราว่า “หลุดโลก หลุดสมมุติ” ข้างนอกเราต้องใช้ตัวตนทำงานตามหน้าที่ ตามสมมุติให้ดีที่สุด แต่ข้างในไม่ใช่ ใครว่าเราไม่ดี…ไม่เป็นไร เพราะไม่ใช่ตัวเราจริงๆ ของจริงของชีวิต “ไม่มีตัวตน”แต่มีไว้เพื่อดับทุกข์ เราต้องเรียนรู้โลกทั้งด้านสมมุติและโลกด้านที่เป็นจริง จึงจะเป็นการเรียนรู้ที่แท้จริง

หากเรียนรู้ชีวิตอย่างแท้จริง เราจะรู้ว่าการจัดโลกให้ถูกใจเราเป็นเรื่องยาก แต่การฝึกจิตให้เข้าใจโลกทำได้ง่ายกว่า ทุกวันนี้ผมไม่ได้“ฝันให้ไกล ไปให้ถึง” อีกแล้ว แต่ผม “ฝันให้ไกล ไปเท่าที่ถึง” ถึงแค่ไหนก็แค่นั้น นี่เรียกว่าความสันโดษ คือความพอใจในสิ่งที่ทำได้ ความรู้สึกตัวอยู่ที่ใด ความสันโดษก็อยู่ที่นั่น และอย่าว่าแต่อยากพ้นทุกข์เลย ไม่ว่าคาดหวังสิ่งใด เล็กน้อยหรือยิ่งใหญ่ขนาดไหน ก็สมหวังสมบูรณ์แบบทุกประการ

อย่างความฝันสมัยหนุ่มที่ผมอยากทำให้คุณพ่อคุณแม่สบายใจ ก็สำเร็จได้ด้วยร่างกายที่พิการนี้ สมัยที่คุณพ่อยังมีชีวิต ท่านเคยเป็นทุกข์ในเรื่องที่ผมช่วยตัวเองไม่ได้ แต่เมื่อคุณพ่อเข้าใจว่าผมปฏิบัติธรรม ท่านจึงออกปากว่า “งั้นยกให้ธรรมะเป็นผู้ดูแล!”…คุณพ่อเสียชีวิตด้วยจิตใจที่สงบและวางใจได้ ธรรมะยังจัดสรรให้ผมได้มาอยู่กับชมรมเพื่อนคุณธรรม มีญาติธรรมมากมาย เป็นชีวิตที่ไม่มีคำว่าเหงาและอบอุ่นมาก แม้แต่เวลาป่วยไข้ ผมก็ไม่ได้ป่วยคนเดียวมีเพื่อนป่วยแทนผมเสียด้วยซ้ำ

ผมลาออกจากความทุกข์ได้เพราะธรรมะ แล้วจะไม่ให้บอกต่อได้อย่างไรว่า “พุทธศาสนาคือแพทย์ทางรอดของจริง!”


คนที่รู้จัก อาจารย์กำพล ทองบุญนุ่ม แม้ไม่ถึงกับลึกซึ้งก็คงพอทราบว่า อาจารย์คือนิทรรศการธรรมะที่มีชีวิต อาจารย์มีงานเขียนหลายเล่ม เช่นจิตสดใส แม้กายพิการ, ปาฏิหาริย์แห่งความรู้สึกตัว ฯลฯ ทุกวันนี้แม้จะมีหลายโรคคอยโจมตีแต่ท่านยังเผยแพร่ธรรมะตามแต่โอกาสจะอำนวย

ปัจจุบันชมรมเพื่อนคุณธรรมได้รับเกียรติให้เป็นผู้ดูแลอาจารย์ ชมรมก่อตั้งขึ้นเพื่อเกื้อกูลผลประโยชน์ทางธรรมผ่านช่องทางต่างๆ เช่น พิมพ์หนังสือ ผลิตซีดีธรรมะ สื่อธรรมของชมรมซึ่งเป็นไปเพื่อการแบ่งปัน ผู้อ่านที่ต้องการร่วมบุญติดต่อได้ที่ โทร. 0-2435-5310 หรือเยี่ยมชมเว็บไซต์

www.kunnadham.com 

เรื่อง กำพล ทองบุญนุ่ม / เรียบเรียง นภ / ภาพ สรยุทธ พุ่มภักดี

Secret คือแรงบันดาลใจ
สั่งซื้อนิตยสารหรือสมัครสมาชิก Secret ได้ที่ 0-2423-9889
ทาง Naiin.com : https://www.naiin.com/magazines/title/SC/

Posted in MIND
BACK
TO TOP
A Cuisine
Writer

© COPYRIGHT 2024 Amarin Corporations Public Company Limited.