ขวัญจิตต์ เนียมเกตุ

ขวัญจิตต์ เนียมเกตุ จากลูกชาวนาสู่ว่าที่ดอกเตอร์ ผอ.หญิงแกร่งแห่งชุมชนบ้านปากบางกลม

ขวัญจิตต์ เนียมเกตุ จากลูกชาวนาสู่ว่าที่ดอกเตอร์ ผอ.หญิงแกร่งแห่งชุมชนบ้านปากบางกลม

แม้มี “ต้นทุนชีวิต” ไม่มาก แต่ครูขวัญขวัญจิตต์เนียมเกตุ หญิงร่างเล็กชาวนครศรีธรรมราชก็สามารถฝ่าฟันทุกอุปสรรค หมั่นเพียรเรียนจนถึงระดับปริญญาเอกด้วยตนเอง เธอไม่เพียงเป็นเสาหลักของครอบครัวเท่านั้น แต่ยังเป็นที่พึ่งของชุมชนโดยอาศัย “โรงเรียน” เป็นศูนย์รวมใจ

ปัจจุบันเธอคือผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านปากบางกลมตั้งอยู่ในตำบลชะอวด อำเภอชะอวด จังหวัดนครศรีธรรมราช โรงเรียนขนาดเล็กในถิ่นทุรดาร ทั้งที่ความสามารถและการศึกษานำพาไปสู่ความเจริญในเมืองใหญ่ได้ แต่ครูขวัญขอเลือกใช้ “ทั้งชีวิต” อยู่ในบ้านเกิดเมืองนอนแห่งนี้ด้วยความตั้งใจอันแน่วแน่

เป็นคนนครศรีธรรมราชตั้งแต่กำเนิดเลยไหมคะ

ครูเกิดที่ตำบลเขาพระบาท อำเภอเชียรใหญ่ จังหวัดนครศรีธรรมราช พ่อกับแม่เรียนจบชั้น ป.4 มีอาชีพทำนาเหมือนชาวบ้านส่วนใหญ่ ครูเป็นลูกคนกลาง มีพี่สาวหนึ่งคนและน้องสาวเป็นใบ้อีกหนึ่งคน เรามีที่ทำกินน้อยแค่ 4 - 5 ไร่เหลือแค่พอกิน ทุกคนในครอบครัวจึงต้องออกไปรับจ้างทุกอย่าง ครูจึงรับจ้างทำนา เกี่ยวข้าวตั้งแต่เด็ก ๆ

สมัยก่อนยังไม่มีโรงเรียนอนุบาลของรัฐ ถ้าจะเรียนต้องไปเรียนของเอกชนนอกพื้นที่ ครูจึงไม่ได้เรียนชั้นอนุบาลเริ่มเรียนตอนชั้นประถมเลย จำได้ว่าอยากไปโรงเรียนมากแต่อายุยังไม่ครบเขาก็ไม่รับ แม่ต้องสอนให้หัดอ่านหัดเขียนก่อน ส่วนพ่อมีพรสวรรค์ด้านศิลปะ สามารถวาดภาพแกะหนังตะลุงได้ก็สอนวาดรูป ทำให้ครูชอบวาดรูปและอ่านหนังสือมาตั้งแต่เด็ก มักหัดอ่านหัดวาดรูปตามหนังสือการ์ตูนเล่มละบาทสมัยนั้น เมื่ออายุถึงเกณฑ์จึงได้เข้าเรียนที่โรงเรียนวัดใกล้บ้าน

เรียนในโรงเรียนวัดจนถึงเมื่อไหร่คะ

เรียนจนถึง ป.6 หลังจากนั้นมีโรงเรียนมัธยมในตำบลมาหาเด็กยากจนไปรับทุนเรียนฟรี ครูมีผลการเรียนดีจึงได้ทุนเรียนจนถึงมัธยมปีที่ 3 แต่โรงเรียนอยู่ไกลจากบ้าน 8 กิโลเมตร ต้องตื่นตั้งแต่ตี 4 เพื่อเดินไปโรงเรียนให้ทันเวลาครูเดินไปเดินกลับวันละ 16 กิโลเมตรตลอด 3 ปี

จากนั้นไปสอบคัดเลือกเข้า ม.4 ที่โรงเรียนประจำอำเภอ วันประกาศผลสอบนั่งทำใจอยู่นาน ไม่กล้าไปดูเพราะกลัวสอบตกแล้วทำให้แม่เสียใจ ปรากฏว่ามีคุณครูเดินแหวกกลุ่มคนเข้ามาหาชื่อขวัญจิตต์ ได้ยินแบบนั้นก็ตกใจกลัว เพราะคิดว่าทำอะไรผิด แต่เขากลับบอกว่ายินดีด้วยนะ เธอสอบได้อันดับ 1 ตอนนั้นดีใจมาก ไม่ใช่เพราะได้ที่ 1 แต่เพราะโรงเรียนนอกพื้นที่มีข้อจำกัดหลายอย่างเด็กส่วนใหญ่จึงมีผลการเรียนด้อยกว่าเด็กที่ได้เรียนในเมืองแต่เราทำได้

ตอนเรียน ม.ปลาย ไม่มีเงินขึ้นรถรับส่งประจำ ต้องเดินจากบ้านไปป้ายรถเมล์ 6 กิโลเมตร เพื่อต่อรถประจำทางสายนครศรีธรรมราช - สงขลา ทางก็เป็นถนนดินลูกรังต้องถือถุงเท้ามาสวมที่ป้ายรถเมล์ ไม่อย่างนั้นถุงเท้าสีขาวจะกลายเป็นสีแดง บางทีรถมาช้าทำให้เข้าโรงเรียนสาย ก็โดนทำโทษโดยการร้องเพลงชาติและสวดมนต์คนเดียว

สมัยนั้นค่าเทอมไม่แพง ภาคเรียนละ 500 บาท แต่ก็ยังไม่มีเงิน อาศัยว่าเรียนดี โรงเรียนจึงเมตตาไม่ไล่ออกส่งมาแต่หนังสือทวง จึงขอเรียนให้ครบ 6 เทอม แล้วหาเงินไปจ่ายทีเดียว ครูไปรับจ้างเกี่ยวข้าวทุกวันเสาร์ - อาทิตย์และรับจ้างทุกอย่าง ปิดภาคเรียนก็ไม่ได้ไปเที่ยวที่ไหนเหมือนคนอื่น ๆ ต้องทำงานช่วยพ่อแม่ตลอด

เข้าสู่เส้นทางวิชาชีพครูได้อย่างไรคะ 

ตอนแรกตั้งใจว่าเรียนให้จบแค่ ม.6 แล้วออกมาทำงานเหมือนพี่สาว ไม่เรียนต่อ เพราะสงสารพ่อกับแม่ที่ต้องทำงานหนักส่งให้เราเรียน แต่ช่วงนั้นครูที่โรงเรียนแนะนำให้สอบเข้าโครงการคุรุทายาทของมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒวิทยาเขตสงขลา ซึ่งเป็นโครงการที่ผลิตครูโดยตรง เวลานั้นถ้าเรียนได้ตามเกณฑ์แล้วจะได้บรรจุเป็นครู มีงานทำแน่นอนจึงลองไปสอบ ก็สอบได้ แต่ก็ยังไม่กล้าบอกที่บ้าน เพราะกลัวว่าพ่อแม่จะกังวลที่ต้องหาเงินมาให้เรียนอีก

กระทั่งทางมหาวิทยาลัยมีจดหมายเรียกให้ไปรายงานตัวจึงเล่าให้แม่ฟัง ปรากฏว่าแม่ดีใจมาก บอกว่าไม่ต้องกลัวให้เรียนให้ดี ให้ได้เกรดเฉลี่ยตามเงื่อนไขอย่างเดียว ครูดีใจมากที่มีโอกาสเรียนต่อ ระหว่างเรียนจึงตั้งใจว่าจะไม่รบกวนเงินทางบ้าน จึงหางานทำไปด้วย วันธรรมดาหลังเลิกเรียนตั้งแต่ห้าโมงเย็นถึงสองทุ่ม ก็ไปทำงานที่ห้องสมุดของมหาวิทยาลัย วันเสาร์ - อาทิตย์ไปรับจ้างทำวิจัยที่หาดใหญ่ใส่ชุดนักศึกษาตระเวนเดินตามบ้าน เพื่อทำวิจัยเชิงสำรวจความพึงพอใจให้สินค้าต่าง ๆ นอกจากไม่รบกวนเงินพ่อแม่แล้ว ยังเหลือส่งให้ทางบ้านด้วย

ตอนนั้นวางแผนอนาคตไว้อย่างไรบ้างคะ

ตอนแรกคิดแค่ว่าได้เป็นครู ได้อยู่กับเด็ก ๆ มีรายได้เลี้ยงครอบครัวก็พอแล้ว แต่เหตุผลที่สำคัญกว่านั้นคือได้อยู่ใกล้ครอบครัว เพราะตั้งใจไว้แล้วว่าจะเลือกอาชีพที่อยู่ไม่ไกลบ้าน ไม่ไกลพ่อแม่ หากได้บรรจุให้สอนในโรงเรียนก็จะไม่เลือกโรงเรียนในเมืองเพราะคงอยู่ไม่ได้ เราชอบอยู่แบบเรียบง่าย ไม่ต้องมีอะไรในชีวิตมากก็มีความสุขได้

ปี 2539 หลังเรียนจบจึงเลือกบรรจุเป็นครูที่โรงเรียนบ้านบางสิบบาท อำเภอปากพนัง จังหวัดนครศรีธรรมราชเป็นโรงเรียนที่ไกลมาก เดินทางจากบ้านประมาณ 45 กิโลเมตรต้องหัดขี่มอเตอร์ไซค์ ขี่รถล้มได้แผลไม่รู้เท่าไร เพราะถนนเป็นดินเหนียว ขี่ไปไม่ถึงนะ ต้องไปจอดรถทิ้งไว้แล้วเดินผ่านสวนมะพร้าวเข้าไปอีกประมาณ 1 กิโลเมตร

อยู่ที่นั่น 4 ปี กระทั่งมีโครงการยุบโรงเรียนขนาดเล็กจึงย้ายมาอยู่โรงเรียนวัดทองพูนในอำเภอเชียรใหญ่ ห่างจากบ้านประมาณ 6 กิโลเมตร ไม่ไกลมาก แต่ทางไม่ดีเหมือนกันสมัยนั้นไม่ได้ใส่กระโปรงเลย ต้องใส่แต่กางเกงยีน เพราะถ้ารถล้มจะได้ไม่เจ็บมาก แต่ละวันครูจะจอดมอเตอร์ไซค์โดยเสียบกุญแจทิ้งไว้เลย เพราะบางทีมีชาวบ้านจะพาลูกไปหาหมอหรือทำธุระก็ให้เขาไปใช้ เขารู้เวลาและกลับมาจอดไว้ให้ที่เดิม และมักมีผักหรือผลไม้ใส่ไว้ให้เต็มตะกร้าหน้ารถจนเป็นเรื่องปกติ

ครูอยู่โรงเรียนวัดทองพูน 13 ปี นอกจากสอนได้ทุกวิชาแล้ว ยังต้องช่วยงานผู้อำนวยการโรงเรียนบ่อย ๆจนคิดได้ว่าเราทำงานผิดไหม เช่น แผนงานนี้ เอกสารนี้ถูกต้องหรือเปล่า จึงไปเรียนต่อปริญญาโทด้านบริหารการศึกษาของมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช (มสธ.) โชคดีที่หลังเรียนจบโทมีเปิดสอบผู้บริหาร ครูจึงสอบเป็นผู้อำนวยการโรงเรียนได้เมื่อปี 2555

ทำไมจึงเลือกเป็นผอ.ที่โรงเรียนบ้านปากบางกลมคะ

ตอนนั้นมีรายชื่อให้เลือก 3 โรงเรียน ครูก็ขับรถไปตระเวนดูโรงเรียนทั้ง 3 แห่ง เห็นว่าที่นี่ค่อนข้างด้อยกว่าโรงเรียนอื่น ๆ จึงคิดว่ามาอยู่ในพื้นที่ลำบากค่อนข้างขาดแคลนแบบนี้ เราอาจได้ทำประโยชน์มากกว่าไปอยู่ในโรงเรียนที่มีทุกอย่างพร้อมอยู่แล้ว

ที่นี่เป็นโรงเรียนขนาดเล็ก มีเด็กนักเรียนแค่ 69 คนมีปัญหาเหมือนโรงเรียนเล็ก ๆ ทั่วไป เช่น ขาดแคลนงบประมาณมีคุณครูไม่ครบชั้น เนื้อหาสาระไม่ตรง แต่คุณครูทุกคนสอนได้ทุกอย่าง ตั้งแต่ระดับอนุบาลจนถึงประถมศึกษาปีที่ 6เน้นเรื่องคุณธรรมและจริยธรรมมากกว่าผลการเรียน ตั้งแต่ครูมาอยู่ที่นี่จนถึงปัจจุบันไม่เคยมีนักการภารโรงเลยสักคนแต่ได้อาศัยน้ำใจจากผู้ปกครองและดูแลกันเอง

หากวัดจากเกณฑ์รายได้ เด็กนักเรียนอยู่ในขั้นยากจนร้อยเปอร์เซ็นต์ เพราะครอบครัวมีรายได้ไม่เกินสี่หมื่นบาทต่อปี ชาวบ้านส่วนใหญ่มีอาชีพทำนา ฐานะพวกเขาไม่ดี แต่มีความร่วมมือร่วมใจสูงมาก วันเปิดเรียนวันแรกหลังจากเกิดเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่เมื่อต้นปีนี้โรงเรียนเสียหายหนัก ครูไม่กล้าชวนใครมาช่วยขัดล้าง เพราะบ้านทุกคนต่างเสียหายจากน้ำท่วมเยอะเหมือนกัน ปรากฏว่าชาวบ้านพากันมาเองเต็มเลย มาช่วยกันขัดล้างเช็ดถู เป็นน้ำใจที่เราคาดไม่ถึง ทั้งที่เขาเองก็ลำบาก

โรงเรียนเสี่ยงถูกปิดหรือควบรวมกับโรงเรียนอื่น ไหมคะ

ถ้ายังมีนักเรียนอยู่ในจำนวนนี้ก็คงไม่ หรืออาจมีการเปลี่ยนแปลงตามแผนของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) เพื่อการจัดสรรงบประมาณที่ดีขึ้นก็ต้องเป็นตามนั้น แต่ในมุมมองของครูคิดว่า โรงเรียนเล็ก ๆไม่ใช่แค่สถานที่ที่เด็กมาเรียนหนังสือ แต่เป็นมากกว่านั้นที่นี่เป็นเหมือนสัญลักษณ์และสมบัติของชุมชน ชาวบ้านในพื้นที่ห่างไกลแบบนี้จะไม่มีกิจกรรมอื่น ๆ เลยถ้าโรงเรียนไม่จัดงานตามเทศกาลต่าง ๆ หากมีกิจกรรมสนุกสนานของเด็ก ๆ ผู้ปกครองและคนแก่ในชุมชนก็มีความสุขไปด้วย

นอกจากนั้นโรงเรียนขนาดเล็กส่วนใหญ่ยังเป็นเกียรติประวัติที่ภาคภูมิใจของหมู่บ้าน เป็นศูนย์รวมใจของชาวบ้านเช่นที่โรงเรียนบ้านปากบางกลมแห่งนี้ไม่ได้สร้างโดยรัฐแต่สร้างโดยชาวบ้านตั้งแต่ปี 2513 สมัยก่อนมีโรงเรียนวัดย่านแดง ตั้งอยู่อีกฝั่งคลอง ชาวบ้านต้องพายเรือไปส่งลูกหลาน แต่เกิดอุบัติเหตุเรือคว่ำเรือล่มบ่อยครั้ง ชาวบ้านจึงร่วมกันบริจาคที่ดิน 14 ไร่ เพื่อสร้างโรงเรียนแห่งนี้ขึ้นมา

พวกเขาช่วยกันสร้างอาคารไม้เพื่อให้ลูกหลานได้เรียนจึงได้เริ่มเรียนเริ่มสอน กระทั่งปี 2522 โรงเรียนวัดย่านแดงถูกยุบ เด็ก ๆ จึงมาเรียนรวมกันที่นี่ ชาวบ้านก็ขนไม้จากอาคารเดิมของโรงเรียนวัดย่านแดงมาสร้างอาคารเรียนเพิ่มที่โรงเรียนนี้ กลายเป็นว่า 2 โรงเรียนผูกพันกับชาวบ้าน 2 ฝั่งคลองมาโดยตลอด

จากเหตุการณ์น้ำท่วมครั้งใหญ่ที่ผ่านมาโรงเรียนได้รับผลกระทบอย่างไรบ้างคะ 

ที่ตรงนี้จะถูกน้ำท่วมซ้ำซากทุกปี เพราะเป็นส่วนหนึ่งของป่าพรุควนเคร็ง แต่ปกติท่วมแค่ทางเดินประมาณ 2 สัปดาห์ ปีนี้เป็นครั้งแรกที่ท่วมหนักขนาดนี้ ระดับน้ำสูงถึง 2 เมตร ทุกอย่างจมน้ำหมด ครูไม่สามารถเข้ามาโรงเรียนได้แต่ก็ประสานผู้ใหญ่บ้านขอเข้ามาดูเพราะเป็นห่วง โดยต้องนั่งเรืออ้อมมาอีกทางประมาณ 5 กิโลเมตร ถึงจะช่วยอะไรมากไม่ได้ แต่ขอมาดูด้วยตัวเอง และเป็นห่วงเด็ก ๆ และครอบครัวว่าเป็นอย่างไร แต่ละบ้านก็สาหัสมาก จะกินนอนหรือถ่ายก็ลำบากมาก ตอนนั้นถึงแม้จะมีคนเอาถุงยังชีพมาให้แต่ก็ไม่สามารถลงพื้นที่ได้ เพราะต้องใช้เรือขน จึงพยายามลงพื้นที่ช่วยครอบครัวเด็กนักเรียนให้มากที่สุด

ครูไม่เคยเจอเหตุการณ์แบบนี้มาก่อน เพราะบ้านตัวเองที่เขาพระบาทเป็นเนินเขา เห็นแล้วรู้สึกสะเทือนใจจึงคิดว่าถ้าโรงเรียนมีอาคาร 2 ชั้นสักหลังหนึ่ง นอกจากทรัพย์สินของโรงเรียนจะปลอดภัยแล้ว ชาวบ้านก็จะมีที่พักพิงในสถานการณ์แบบนี้ บังเอิญว่าช่วงนั้นได้เจอคุณตุด นาคอน (ศุภกร วงศ์เมฆ ศิลปินเพลงเพื่อชีวิตระดับแถวหน้าของภาคใต้) ที่มาลงพื้นที่แจกยาให้ชาวบ้านเขาเห็นสภาพโรงเรียนจึงโพสต์ในเฟซบุ๊กส่วนตัว ตั้งใจระดมเงินมาช่วยฟื้นฟูโรงเรียนหลังน้ำลด นักข่าวผู้จัดการออนไลน์ที่ติดตามคุณตุดมาก็ช่วยเผยแพร่ข่าว

เหตุการณ์นั้นทำให้ครูเห็นว่า เขาเป็นคนอื่นแท้ ๆ ยังมีน้ำใจคิดช่วยเหลือโรงเรียนขนาดนี้ จึงไปปรึกษากับลูกพี่ลูกน้อง ศิริวร แก้วกาญจน์ ซึ่งเป็นนักเขียน เขาก็นำรายได้ส่วนหนึ่งจากการขายหนังสือ “เก็บความเศร้าไว้ให้พ้นมือเด็กเด็ก” (รวมบทกวีไร้ฉันทลักษณ์ เข้ารอบสุดท้ายรางวัลซีไรต์ ปี พ.ศ. 2550) มาช่วยสมทบทุนด้วย วันนั้นทำให้เราตัดสินใจว่า คงรอพึ่งงบรัฐไม่ได้ จึงตั้งเป็นโครงการเพื่อระดมความช่วยเหลือให้โรงเรียนในชื่อ “เก็บความเศร้าไว้ให้พ้นมือเด็กเด็ก” ตามชื่อหนังสือ ซึ่งได้รับความช่วยเหลือมาโดยตลอด ปัจจุบันสามารถรวบรวมทุนได้พอสมควรกำลังจะก่อสร้างอาคารสองชั้นแล้ว

แม้จะมีอาคารใหม่ อย่างไรก็ตาม ครูตั้งใจว่าอาคารไม้หลังเดิมก็ต้องซ่อมบำรุงไว้ใช้ให้นานที่สุด เพราะมันมีคุณค่ากับโรงเรียน เป็นน้ำพักน้ำแรงของชาวบ้าน มีเท่าไหร่ก็ค่อย ๆ ทำไปก่อน ถ้าไม่ตั้งต้น ไม่ออกสตาร์ตเลยก็ไม่มีโอกาสจะสำเร็จ ครูมองว่าเราไม่ออกเดิน เราก็ไปไม่ถึงสักที อย่างน้อยการเริ่มของเราก็เป็นความหวังให้เด็ก ๆ และชุมชนได้

แล้วชีวิตส่วนตัวของครูขวัญเองล่ะคะ ตั้งใจอย่างไรไว้บ้าง

ครูยังไม่มีความคิดว่าจะต้องย้ายไปที่อื่นเลยครอบครัวทางบ้านก็ดีขึ้นแล้ว ไม่ได้ร่ำรวย แต่ก็ไม่ลำบากเหมือนเมื่อก่อน ครูปลูกบ้านให้พ่อแม่ ซื้อที่ให้น้องสาวทำสวนปาล์มให้เขาดูแลตัวเองได้ ญาติ ๆ หลายคนเป็นห่วงพยายามผลักดันให้เราไปอยู่ในที่สบาย แต่เราก็ยังขอยืนหยัดอยู่ตรงนี้ เพราะอยากให้อะไรแก่เด็ก ๆ และชุมชน มันคุ้มค่ากว่าไปนั่งสบายแต่ไม่เกิดประโยชน์กับใคร คงเพราะเบื้องหลังชีวิตของเรามาจากเด็กบ้านนอกยากจน จึงอยากให้โอกาสเด็ก ๆ อยากให้เขามั่นใจและภูมิใจในตัวเอง ให้เรื่องของเราและสิ่งที่เราทำเป็นแรงบันดาลใจให้เขาตั้งใจเรียน

ตอนนี้กำลังเรียนปริญญาเอก มสธ.ใกล้จบแล้วหลายคนบอกว่าเป็น ผอ.โรงเรียนไม่ต้องจบดอกเตอร์ก็ได้ความรู้ความสามารถก็ไม่ได้ต้องใช้เยอะแยะมากมาย แต่นั่นไม่ใช่เป้าหมาย ครูเป็นคนชอบอ่านหนังสือ ชอบหาความรู้อยู่แล้ว แต่จะไม่เบียดบังเวลาจากใครเด็ดขาด ไม่ว่าเวลาที่ต้องดูแลโรงเรียน พ่อแม่พี่น้อง หรือเวลาของสามีและลูก ๆของตัวเอง ยังดูแลทุกคนเหมือนเดิม และใช้เวลาว่างก่อนนอนอ่านหนังสือเอง เป็นอย่างนี้มาตั้งแต่เรียนปริญญาโท

เป้าหมายของการเรียนจบปริญญาเอก คือ ทำให้เด็ก ๆ แถวนี้เห็นว่า ครูขวัญหรือคนที่ใส่ผ้าถุงเดินพบกันในตลาดก็จบดอกเตอร์ได้ ถ้าคุณอยากจะไปไหน หรืออยากจะเป็นอะไรก็ได้เหมือนกัน มันขึ้นอยู่กับความคิดความมั่นใจ ความพยายามของตัวเอง

อีกอย่างคือ อยากให้เขารู้สึกว่าเรียนจบดอกเตอร์ก็ไม่จำเป็นต้องไปทำงานในที่หรูหราหรือสะดวกสบายก็ได้มันขึ้นอยู่กับใจ ถ้าเรามีความสุขอยู่ตรงไหน ก็เป็นกำไรชีวิตของเราแล้ว

เราสร้างคุณค่าให้กับชีวิตตัวเองได้ด้วยการให้ “ให้” เมื่อไหร่ก็ “สุข” เมื่อนั้น 


เรื่อง อุราณี ทับทอง ภาพ สรยุทธ พุ่มภักดี


บทความที่น่าสนใจ

ด้วยแรงบันดาลใจอันยิ่งใหญ่ นฤมล แก้วสัมฤทธิ์ ครูอาสาจากแดนไกล บ้านกรูโบ

ชายผู้ไม่เคยหมด “แรงบันดาลใจ” – โอม ชาตรี คงสุวรรณ

เรื่องราวสร้างแรงบันดาลใจ เริ่มวันนี้ยังไม่สาย! คุณตาวัย 82 ปี เรียนวิทยาลัยพร้อมหลานสาว

เด็กดาวน์ซินโดรมผู้สร้างแรงบันดาลใจ…คอลลิน คลาร์ค นักล่าฝัน หัวใจกำยำ

Posted in MIND
BACK
TO TOP
cheewajitmedia
Writer

© COPYRIGHT 2024 Amarin Corporations Public Company Limited.