นที เอกวิจิตร์

อุ๋ย – นที เอกวิจิตร กับการเดินทางสาย “ธรรม”

อุ๋ย – นที เอกวิจิตร กับการเดินทางสาย “ธรรม”

จากเด็กดื้อที่คอยตั้งคำถามเรื่องความศรัทธาในศาสนา กลับค้นพบและได้สัมผัสกับแง่งามของ “ธรรมะ” แต่กว่าจะรู้จักและเข้าใจแก่นแท้ของพุทธศาสนาอย่างลึกซึ้งเขาต้องผ่านบทพิสูจน์หลายอย่างด้วยตัวเองบทสนทนาต่อจากนี้เล่าเรื่องราวการเดินทางตามสายธรรมของเขาได้เป็นอย่างดี

 

คุณอุ๋ยพูดเสมอว่า ตอนเด็กเป็นเด็กดื้อ อยากให้อธิบายว่าขนาดไหนคะ

ผมเป็นเด็กหยาบคาย ก้าวร้าวมากทั้งกับพ่อแม่ ญาติพี่น้อง และเป็นเด็กดื้อมาก ไม่ยอมใคร ยิ่งถ้าผมมั่นใจว่าตัวเองไม่ผิด ให้ตายผมก็ไม่ยอม ไม่สนใจว่าจะเป็นปู่ย่าตายายหรือแม่ ถ้าแม่ตีมา ผมตีคืนนะครับ ซึ่งบอกไม่ได้เหมือนกันว่าทำไมเป็นเด็กแบบนี้ คงเป็นสันดานมั้งครับ (หัวเราะ)

ถึงดื้อขนาดนี้ คุณแม่ก็พยายามปลูกฝังเรื่องธรรมะมาตลอดหรือคะ

ใช่ครับ เพราะแม่ชอบทำบุญ ท่านเล่าว่า สมัยแม่เด็ก ๆเหล่าม่าและอาม่ามาจากเมืองจีน มาอยู่บ้านริมน้ำแถวคลองเตยแถวนั้นเป็นคนจีนทั้งหมด แต่เหล่าม่าเป็นคนเดียวในละแวกนั้นที่ใส่บาตร แม่จึงถูกปลูกฝังมา โดยไม่รู้ว่าทำไมต้องใส่บาตร แม่เข้าวัดทำบุญมาตลอด แต่ก็เป็นการทำบุญแบบเปลือก หมอดูก็หา เข้าทรงก็ไป ไหว้พระก็ขอ จุดธูปขอให้รวย ๆ

ผมจำได้ว่า การไปวัดไม่ใช่ความรู้สึกที่ดีสำหรับผม ที่บ้านพาไปวัดปากน้ำตั้งแต่เด็กผมก็ไปด้วยความง่วง ไปถึงก็ต้องนั่งฟังพระสวด รอพระฉันภัตตาหาร ทั้งเมื่อยและง่วง พอพระฉันเสร็จแทนที่จะกลับ แม่ก็ให้รอรับพร พอเสร็จแล้วแม่ก็ชอบอยู่คุยกับคนโน้นคนนี้ ไม่กลับบ้านสักที ผมเบื่อมากเพราะบ้านไกลมาก จากพัฒนาการไปวัดปากน้ำเมื่อ 30 ปีที่แล้วทางด่วนก็ยังไม่มีเรื่องสนุกอย่างเดียวเวลานั้นคือ ตอนที่ถวายภัตตาหาร เพราะจะมีที่ขึ้นไปเป็นสเต็ป ซึ่งผู้ชายขึ้นได้อย่างเดียว นี่คือสิ่งที่รู้สึกว่าตัวเองได้ทำประโยชน์บ้าง

 

จุดเปลี่ยนที่มาสนใจธรรมะเกิดขึ้นตอนไหนคะ       

น่าจะประมาณ ม.2 - ม.3 นะครับ ผมเป็นเด็กชอบอ่านหนังสือมาก และอ่านทุกประเภทที่มีอยู่ในบ้าน จนวันหนึ่งผมได้เจอหนังสือ “คู่มือมนุษย์”ของท่านพุทธทาสภิกขุ ซึ่งเป็นของพี่บ้านตรงข้ามที่สนิทกัน ผมรู้สึกว่าชื่อหนังสือเจ๋งดีและน่าสนใจมาก เหมือนกับเวลาที่เราซื้อเครื่องใช้ไฟฟ้าแล้วมีคู่มือมาให้ ผมจึงยืมมาอ่าน แต่อ่านไม่เข้าใจเลย และรู้สึกว่าน่าเบื่อจึงหันไปอ่านหนังสือที่อ่านง่ายกว่าอย่าง“สิ่งมีชีวิตที่เรียกว่าคน” ของวินทร์ เลียววาริณก็เริ่มจากตรงนั้นก่อน

เกิดจุดพลิกผันอะไรที่ทำให้สนใจเรื่องธรรมะและการปฏิบัติธรรม

เกิดจากบ้านไฟไหม้ครับ ตอนอายุประมาณ 23 วันนั้นเป็นวันแต่งงานของพี่สาวทุกคนในบ้านไปทำบุญที่วัดปากน้ำ ขณะกำลังกรวดน้ำ คนข้างบ้านโทร.มาบอกว่า บ้านไฟไหม้ แต่ไม่เยอะ ทุกคนก็ทำพิธีต่อไปส่วนผมกลับมาดูบ้านก่อนเพียงคนเดียวพอมาเห็นก็อึ้ง เพราะข้างนอกดูไม่เป็นอะไรแต่ข้างในไหม้หมดเลย พอคุณพ่อคุณแม่และพี่สาวกลับมาเห็น เขาก็แย่เลย โดยเฉพาะคุณแม่ที่ทุกข์มาก เพราะเราเพิ่งรีโนเวตบ้านครั้งใหญ่เสร็จก่อนพี่สาวแต่งงานไม่กี่เดือน

พอดีกับช่วงนั้นมีน้องที่เป็นญาติกันไปปฏิบัติธรรม เขาเล่าว่าไปมา 8 วัน 7 คืน ได้เดินจงกรม นั่งสมาธิ และห้ามพูด ถ้าเป็นเวลาปกติให้ตายผมก็ไม่มีวันไป ช่วงก่อนไฟไหม้ แม่ไปเรียนฝึกสมาธิกับหลวงพ่อวิริยังค์ แล้วชวนผมไป ผมก็ไม่อยากไปแต่เวลานั้นอยากทำให้แม่รู้สึกดี จึงคิดไปปฏิบัติธรรม พอบอกว่าจะไป แม่ก็ดีใจมาก

แม่เคยบอกว่า การไปปฏิบัติธรรมได้บุญมากกว่าการสร้างวัดทั้งหลังอีก ผมจึงคิดเล่น ๆ ว่า การไปทำอะไรที่ลำบากอาจได้บุญมากกว่า ทั้งอยากลองไปทรมานตัวเอง ทำอะไรที่ขัดอกขัดใจ ตรงข้ามกับชีวิตปกติบ้างก็ดี จึงได้ปฏิบัติธรรมครั้งแรกที่ยุวพุทธฯศูนย์ 1 ที่เพชรเกษม ซึ่งไม่ได้จองไปก่อนแต่โชคดีที่มีคนสละสิทธิ์ 1 คน ผมจึงได้ปฏิบัติธรรมครั้งแรก

การไปครั้งนั้นผมโคตรทรมานหงุดหงิดมาก อย่างที่บอกครับ ตอนเดินจงกรมก็อยากถีบคนข้างหน้ามาก เดินช้าไปไหม ก้าวยาว ๆ หน่อย คือในตัวในใจร้อนไปหมด แต่ก็มีคนพูดให้ความหวังว่า เช้าวันที่ 4 ทุกอย่างจะดีขึ้น ผมก็รอ ระหว่างนั้นก็ยอมทำตามทุกอย่างที่เขาบอก เพื่อพิสูจน์ว่า 8 วันที่มานี้ได้ผลจริงหรือไม่

พอเช้าวันที่ 4 ผมก็ยังหงุดหงิดเหมือนเดิมแต่พอกินข้าวเสร็จ และได้ฟังเทศน์เรื่องพ่อแม่เท่านั้น ผมร้องไห้เป็นวรรคเป็นเวรจนเสื้อยืดที่ใส่อยู่ไม่พอเช็ดน้ำตาน้ำมูก เพราะหนึ่ง ผมไปเพราะเรื่องพ่อแม่ สอง ผมเชื่อว่าเวลา 3 วันทำให้จิตใจอ่อนลงและพร้อมรับสิ่งที่เขาสอน และรู้สึกผิดเมื่อย้อนคิดสิ่งที่เคยทำไม่ดีกับพ่อแม่ พอเห็นประโยชน์ของการปฏิบัติแล้ว เวลาที่เหลือหลังจากนั้นจึงตั้งใจปฏิบัติเต็มที่ แม้จะทรมานก็ตาม

คลิกเลข 2 เพื่ออ่านหน้าถัดไป

ที่ว่าการปฏิบัติธรรมครั้งแรกนี้ทำให้คุณอุ๋ยไปผิดทาง คืออย่างไรคะ

ผมนั่งสมาธิด้วยความอยาก คืออยากได้ความสงบ อยากได้ความสุข ต่อมาเมื่อได้บวชกับหลวงพ่อวิริยังค์ที่วัดธรรมมงคลผมก็ยังคงคิดว่าความก้าวหน้าในการปฏิบัติคือต้องนั่งแล้วหายฟุ้งซ่าน มีสมาธิจิตรวมจึงจะเรียกว่าก้าวหน้า คือมองแต่แง่สมาธิอย่างเดียวเท่านั้น ทั้งหนึ่งพรรษาที่บวช ผมก็ปฏิบัติเพื่ออยากได้สมาธิ อยากได้ความสุขที่ว่านี้ แต่ยิ่งอยากก็ยิ่งไม่ได้ ผมยิ่งหงุดหงิดคิดว่ามาผิดทางเหรอ จึงลองผิดลองถูกทุกอย่างแต่กลายเป็นเวลาตลอด 4 เดือนนั้นผมไม่เคยได้ความสุขจากสมาธิเลย แต่อย่างน้อยก็ได้ประโยชน์ตรงที่เห็นเลยว่า การนั่งสมาธิด้วยความอยากได้ไม่มีทางก้าวหน้า และการที่ผมติดอยู่กับความสงบ พอไปเจอความวุ่นวาย คนเยอะ เสียงดัง ก็หงุดหงิดมากเพราะไม่ได้ฝึกให้รู้ทัน

หลังจากสึกก็ยังมุ่งไปทางนี้อีกสักพักจนสุดท้ายมาได้ยินคำที่ว่า การจะดูว่าการปฏิบัติก้าวหน้าหรือไม่ ให้ดูว่าความยึดมั่นถือมั่นน้อยลงหรือเปล่า จึงได้เข้าใจว่าความก้าวหน้าไม่ควรดูในเรื่องของสมาธิอย่างเดียว การมีสมาธิสูงไม่ได้หมายความว่าคุณปล่อยวางได้หรือเข้าใกล้เป้าหมายของพุทธศาสนา พอคิดได้อย่างนี้จึงมีกำลังใจว่าความฟุ้งซ่านเป็นเรื่องปกติ เวลาที่ฟุ้งซ่านเราก็รู้ทันไปเรื่อย ๆ

เมื่อได้เข้าวงการหลังจากการบวชครั้งนั้น ยังปฏิบัติธรรมอยู่ไหมคะ

ก็ทำ ๆ หยุด ๆ นะครับ (หัวเราะ) แต่ผมจะกระตุ้นตัวเองด้วยการอ่านหนังสือธรรมะและการฟังเทศน์ ถ้าว่างผมจะฟังเทศน์ เพราะฟังแล้วคลายทุกข์ได้ดี ผมชอบฟังพระอาจารย์ชยสาโร เพราะรู้สึกว่าท่านตอบคำถามได้คมคายเหมือนหลวงปู่ชา เข้าใจง่าย ไม่นอกประเด็น หรือไม่ก็พระอาจารย์นวลจันทร์ท่านใช้คำเก่ง พลิกแพลงคำ และเก็บเอามาคิดได้ ถ้าทางปฏิบัติก็จะฟังพระอาจารย์หลายท่าน แต่จริง ๆ แล้วเรื่องวิธีปฏิบัติผมไม่ค่อยสงสัยนะ เพราะรู้ว่าต้องทำอย่างไร ขาดอย่างเดียวคือแค่ทำ บางทีอยากฟังเพราะอยากเอาไปตอบคำถามให้คนเข้าใจได้ง่าย ๆ เพราะชอบมีคนมาถามคำถามธรรมะกับผมบ่อย ๆ

ช่วงเวลาที่เหลือเข้าใจการปฏิบัติธรรมมากขึ้นไหมคะ

ตอนนั้นผมยังคิดในแง่บุญกุศลที่มองไม่เห็น ไม่ได้เข้าใจชัดเจนทีเดียวว่าการปฏิบัตินำมาแก้ทุกข์ปัจจุบันได้อย่างไร แต่พอจะเข้าใจคอนเซ็ปต์ของหลักสมถกรรมฐานที่ทำให้จิตสงบ จึงตั้งใจมากว่าถ้าได้บุญกุศลจริง ขอยกให้พ่อแม่ทั้งหมด จากที่เคยนั่งสมาธิไม่ได้ ในคอร์สนั้นก็มีครั้งหนึ่งที่เข้าถึงสมาธิในระดับที่สงบ ไม่ฟุ้งซ่าน และรู้สึกสว่าง สบาย ซึ่งผมทึ่งมากว่า ความสุขจากสมาธิที่เขาบอกกันมีจริง จากนั้นจึงกลายเป็นคนที่อินกับเรื่องนี้มาก และเป็นต้นเหตุให้ผมไปผิดทาง คือไปติดสุขในสมาธิ

พอกลับมาผมก็เหมือนกับพวกคลั่งลัทธิตั้งใจถือศีล 5 เลิกเหล้า เลิกบุหรี่ และพยายามรบเร้าชวนคนโน้นคนนี้ไปปฏิบัติธรรม จนวันหนึ่งก็รู้สึกตัวว่าเรากำลังทำตัวน่ารำคาญ จึงกลับมาคิดว่า วิธีที่ดีที่สุดที่จะชวนให้คนอื่นมาทางนี้ได้คือ เราต้องเปลี่ยนแปลงตัวเองได้จริง ใจเย็น ควบคุมสติตัวเองได้ พอคนอื่นเห็นว่าเราทำได้จริงเขาก็จะมาถามเอง ดีกว่าไปพูดชวนเขาอีก

เมื่อได้เข้าวงการหลังจากการบวชครั้งนั้น ยังปฏิบัติธรรมอยู่ไหมคะ

ก็ทำ ๆ หยุด ๆ นะครับ (หัวเราะ) แต่ผมจะกระตุ้นตัวเองด้วยการอ่านหนังสือธรรมะและการฟังเทศน์ ถ้าว่างผมจะฟังเทศน์ เพราะฟังแล้วคลายทุกข์ได้ดี ผมชอบฟังพระอาจารย์ชยสาโร เพราะรู้สึกว่าท่านตอบคำถามได้คมคายเหมือนหลวงปู่ชา เข้าใจง่าย ไม่นอกประเด็น หรือไม่ก็พระอาจารย์นวลจันทร์ท่านใช้คำเก่ง พลิกแพลงคำ และเก็บเอามาคิดได้ ถ้าทางปฏิบัติก็จะฟังพระอาจารย์หลายท่าน แต่จริง ๆ แล้วเรื่องวิธีปฏิบัติผมไม่ค่อยสงสัยนะ เพราะรู้ว่าต้องทำอย่างไร ขาดอย่างเดียวคือแค่ทำ บางทีอยากฟังเพราะอยากเอาไปตอบคำถามให้คนเข้าใจได้ง่าย ๆ เพราะชอบมีคนมาถามคำถามธรรมะกับผมบ่อย ๆ

คลิกเลข 3 เพื่ออ่านหน้าถัดไป

ล่าสุดเห็นว่าไปบวชกับพระอาจารย์นวลจันทร์ เป็นลูกศิษย์ท่านมานานหรือยังคะ

เป็นเรื่องบังเอิญมาก น่าจะประมาณ4 - 5 ปีที่แล้ว แม่ผมซื้อหนังสือธรรมะของท่านมา ผมจึงได้อ่าน และพออ่านจบ วันต่อมาพี่ที่เป็นทีมงานของท่านโทร.มาบอกว่าทำโครงการเพลงธรรมะให้ท่านอยู่ ถามว่าผมสนใจไหม ผมก็ตกลงเลย เพราะเพิ่งอ่านหนังสือท่านจบ จึงเลือกคำสอนของท่านเรื่อง“ทุกข์ทุกวัน” มาแต่งเป็นเพลงให้ท่านและได้เข้าไปกราบท่าน จากนั้นเวลาท่านมากรุงเทพฯก็จะนำภัตตาหารไปถวายและตามไปฟังเทศน์

คิดว่าตอนนี้เดินมาถึงจุดไหนของเป้าหมายที่วางไว้

โห ยังห่างไกลมากครับ แต่ก็มาไกลกว่าแรก ๆ ผมยังมีความเป็นอุ๋ยคนเดิมอยู่ในตัวบ้าง แต่จะมีอีกคนหนึ่งที่มาคอยเตือนให้เพลา ๆ ลงหน่อย ถ้าพยายามเอาชนะเขา หรือกำลังเดินสวนทางกับเป้าหมายที่จะไปก็จะมีอีกคนคอยเตือนว่า อย่าลืมเจตนาว่าเราทำเพื่ออะไร   คนที่คอยเตือนผมให้เดินทางไปตามเป้าหมายสูงสุดที่วางไว้อยู่เสมอก็คือ ปัญญานั่นเอง

“ความสุขมีวันหมดอายุและกลายเป็นความทุกข์ แต่ถ้าเรียนรู้ที่จะอยู่กับทุกข์ให้ได้ ทุกข์นั้นจะน้อยลง”

เรื่องโดย : เชิญพร คงมา

ภาพโดย :  สรยุทธ พุ่มภักดี

บทความที่น่าสนใจ

เชน ธนา กับเบื้องหลังความสำเร็จ

ตูน รณชย ทหารอากาศสุดเท่ ผู้เป็นหางเสือแห่งชีวิต พิชิตความสำเร็จ

9 เคล็ดลับสร้างความสุขง่ายๆทำได้ด้วยตัวเอง

เชษฐ์ วรเชษฐ์ เอมเปียร์ กับชีวิตในแบบ “ธรรมะ ธรรมชาติ ธรรมดา”

Posted in MIND
BACK
TO TOP
cheewajitmedia
Writer

© COPYRIGHT 2024 Amarin Corporations Public Company Limited.