เงาหนังหลังผ้าขาว ชูศักดิ์ ศรีขวัญ หนังตะลุงธรรมะ

 

…ฉันเป็นคนกำเนิดเกิดในปักษ์ใต้         ฉันชอบมากมายเลยหนอหนังตะลุง

ถึงตอนนี้ฉันจะมาอยู่กรุง                       ยังชอบหนังตะลุงเป็นชีวิตจิตใจ

หนังตะลุงนี้มีเอกลักษณ์                       ต้องมีคนชัก มือปากจึงพูดไป

จะเศร้าโศกศัลย์หรือตลกกินใจ             คนที่สั่งไปคือนายหนังตะลุง*…

หนังตะลุง อ่านว่า นั๋ง – ตะ – ลุง ความหมายในภาษาปักษ์ใต้แปลว่า นั่งเถอะลุง

นั่ง…เพื่อให้เห็นแก่นของการแสดงผลงานครั้งนี้ ผลงานที่ คุณชูศักดิ์ ศรีขวัญ หรือ พี่เชียร์ บอกว่า เขาได้นำหัวใจของหนังตะลุงออกมาแสดงให้ทุกคนได้ชมกัน

ผลงานที่เขาเรียกว่า “หนังตะลุงธรรมะ”

“จริงๆ แล้วหัวใจของหนังตะลุง คือ เพื่อเผยแผ่ศาสนา ซึ่งพี่ว่ามันมีความสำคัญมาก เพราะการนำพระพุทธศาสนาเข้าไปแทรกจะช่วยยกระดับจิตใจของคนได้มากที่สุด”

ดังนั้นทุกครั้งที่พี่เชียร์ลงมือวาด แกะสลัก ระบายสีลงบนผืน หนังตะลุง ธรรมะผืนนี้ เขาจะค่อยๆ มองตัวเองว่าสิ่งที่เขาต้องการจะขัดเกลามากที่สุดคืออะไร…เมื่อรู้จึงเริ่มลงมือทำไปพร้อมๆ กับการปรับปรุงตัวเอง

ในนิทรรศการ “หนังตะลุงธรรมะ” เราจึงได้เห็นกิ่งกัลปพฤกษ์ กิ่งใหญ่ออกดอกออกผลมากลายเป็นรถถังคันใหญ่ โน้ตบุ๊กสีดำ มือถือรุ่นใหม่ ปืน และสิ่งต่างๆ อีกมากมายไม่เว้นแม้แต่สวรรค์

เมื่อชมนิทรรศการเสร็จแล้ว พี่เชียร์จึงเริ่มนั่งบนเก้าอี้และเล่าที่มาของเขาให้ฟัง…

ในวัยเด็ก พี่เชียร์มักจะเห็นพ่อของเขานั่งทำงานศิลปะพื้นบ้านอาทิ วาดภาพ ปั้นพระ ทำเครื่องดนตรีไทยเสมอๆ เวลาว่างก็มักจะไปช่วยโรงเรียน ตกแต่งห้องเรียน ทำสื่อการสอน ส่วนคุณย่าของเขาชอบไปดูหนังตะลุงและไปวัด ซึ่งไปทีไรก็มักจะหอบหิ้วเขาติดไปด้วยทุกที

และนี่คงเป็นสิ่งที่ทำให้เขาสนใจทั้งศิลปะ ธรรมะ และพระพุทธศาสนาในเวลาเดียวกัน

_MG_9767
หนังตะลุงธรรมะ

“สมัยก่อนไม่มีของเล่น ย่าของพี่มักจะตัดใบนมแมวเป็นรูปหนัง-ตะลุงให้พี่เล่น” …ถึงแม้ไม่มีของเล่นพลาสติกแสนสวยอย่างเด็กในกรุงหากหนังตะลุงใบไม้ของย่าก็ทำให้เขาสนุกได้ไม่แพ้กัน

ในวัย 8 ขวบหลายคนอาจจะร้องไห้งอแงไม่อยากไปโรงเรียน หากพี่เชียร์กลับต่างออกไป เขาเริ่มสนใจใคร่รู้เกี่ยวกับ หนังตะลุง อย่างจริงจังจนขอไปเรียนทำ หนังตะลุง กับคนแถวๆ บ้าน ถึงเวลาเรียนก็ไปโรงเรียนกลับมาก็มานั่งฝึกวาดรูประบายสีลงบน หนังตะลุง กระดาษที่ทำขึ้นเอง

“พี่เรียนทำ หนังตะลุง มาเรื่อยๆ จนถึง ป.6 ระหว่างนั้นก็จะทำหนังตะลุงกระดาษไปขายตามโรงเรียนบ้าง งานวัดบ้าง หน้างานแสดงหนังตะลุงบ้าง

“สมัยก่อนหนังตะลุงฮิตมาก ในงานวัดประจำปี เด็กแต่ละคนจะวางแผนซื้อหนังตะลุงตัวนั้นตัวนี้มาเก็บสะสมไว้ แล้วนำมาอวดกัน

“สมัยพี่ยังเป็นเด็ก หนังตะลุงเป็นเหมือนเพื่อน บางครั้งเราอยู่คนเดียวก็เอาหนังตะลุงมานั่งเล่นของเราคนเดียว พากย์เป็นตัวนั้นตัวนี้เหมือนคุยกับเพื่อนทั้งที่เราคุยกับตัวเอง บางครั้งก็เอามาเล่นกับเพื่อนและน้องด้วย…แปลกดีที่หนังตะลุงช่วยทำให้สายสัมพันธ์ของเราแน่นแฟ้นขึ้น”

ทุกครั้งที่พี่เชียร์หอบหนังตะลุงไปขายหน้างาน ยามใดที่ดนตรีเริ่มบรรเลง ซึ่งหมายถึงการแสดงกำลังจะเริ่ม เขาจะรีบกุลีกุจอเก็บข้าวของเดินผ่านผู้ชมแล้วปีนบันไดขึ้นไปอยู่ชั้นบนเพื่อนั่งดูนายหนังคนเก่งเชิดและพากย์หนังตะลุง ดูนักดนตรีบรรเลงเพลง และดูแสงไฟที่ลอดผ่านหนังตะลุงทาบลงผืนผ้าสีขาวกลายเป็นรูปชายพุงป่องท่าทางน่าขบขัน

หลังจากนั่งดูมานาน วันที่ 22 เมษายน 2541 ซึ่งเป็นวันเกิดของเขา พี่เชียร์ได้รับของขวัญที่พิเศษสุด คือ การได้เชิดหนังตะลุงครั้งแรก…รอยยิ้มกว้างพร่างพรมบนใบหน้าของเขา

“พี่เริ่มตระเวนแสดงตามต่างจังหวัด งานทอดกฐิน งานบวชงานประจำปีบ้าง บางงานไปแสดงตามทุ่งนาโล่ง ข้างหน้าจอจะมีแม่ค้ามานั่งทำขนมขาย คนแก่ก็มาปูเสื่อรอดู ตอนนั้นพี่แสดงจนได้ชื่อสร้อยต่อท้ายว่า ‘ชูศักดิ์ ตะลุงอัจฉริยะ’ ” พูดจบพี่เชียร์ก็หัวเราะให้ฉายาที่ได้รับ พร้อมกับกล่าวอย่างถ่อมตัวว่า ที่เขาได้ฉายานี้มิใช่เพราะเก่งหากแต่เป็นเพราะเขาเป็นเด็กที่สามารถเชิดแบบผู้ใหญ่และเลียนเสียงคล้ายคนแก่ได้เท่านั้น

_MG_9771
หนังตะลุงธรรมะ

เมื่อได้ตระเวนแสดงทำให้เขาได้รู้ว่าการเป็นนายหนังหรือผู้เชิดและพากย์หนังตะลุงไม่ง่ายอย่างที่คิด

“นายหนังต้องมีความรู้มากกว่าชาวบ้าน รู้แบบรอบด้าน ทั้งทางกฎหมาย ศาสนา การเมือง วิถีชีวิตรวมถึงเรื่องในชุมชน นอกจากนี้นายหนังยังต้องปรับตัวให้เข้าได้กับทุกพื้นที่และต้องมีความรู้เป็นอันดับแรกว่าจะตรึงคนดูให้อยู่กับเราเป็นเวลานานได้อย่างไร”

น่าเสียดายที่เมื่อเขาย่างเข้าสู่วัยรุ่น เหตุการณ์ความไม่สงบทางภาคใต้ที่กระจายไปทุกหัวระแหงเป็นตัวแปรให้การแสดงหนังตะลุงเงียบเหงาลง

“พอมีเหตุการณ์ความไม่สงบ นายหนังก็ออกมาเล่นในเวลากลางคืนไม่ได้ คนดูก็ไม่ออกมาดูเพราะหวาดกลัวจะโดนทำร้าย ส่วนคนทำหนังตะลุงก็ไปซื้ออุปกรณ์ไม่ได้เพราะร้านค้าปิด

โชคดีที่เหตุการณ์รุนแรงไม่ได้ทำให้หนังตะลุงล้ำค่าหายไปพร้อมกับความสงบที่ปลิดปลิว “หนังตะลุงสามารถอยู่รอดมาได้จนถึงปัจจุบันทั้งที่ศิลปะอื่นๆ เริ่มหายไปหมดแล้ว เพราะหนังตะลุงมีการพัฒนา ปรับตัว ถึงแม้รูปทรงของหนังตะลุงจะโบราณก็จริง แต่เนื้อเรื่องเวลาเชิดกลับเข้ากับปัจจุบันมากที่สุด

“ศิลปะที่หายไปส่วนมากมักโดนกลืนเพราะไม่ได้ใช้ในชีวิตประจำวันแล้วแต่ที่หนังตะลุงอยู่รอดเพราะเขายังใช้ในชีวิตประจำวันอยู่ คนยังดู ให้ความสนใจและคิดที่จะรักษาหนังตะลุงไว้ให้ลูกหลานได้ดูและรู้สึกสนุกเหมือนที่เขาเคยดู”

พี่เชียร์เองก็ไม่ต่างกัน ในหัวใจของเขายังคงมีภาพเงาของหนังตะลุงทาบทับอยู่ไม่เคยเลือน

“สำหรับพี่ หนังตะลุงเป็นเหมือนคนในครอบครัวที่เราไม่อยากให้หายและตายไป เป็นเหมือนคนที่เราอยากพาไปที่นั่นที่นี่ให้คนอื่นได้รู้จัก”

พี่เชียร์ทอดถอนใจอย่างไม่รู้ว่าหนังตะลุงที่เขารักอย่างคนในครอบครัว อย่างเพื่อนผองน้องพี่ จะเลือนหายไปจากความทรงจำของคนปัจจุบันเมื่อใด

_MG_9768
หนังตะลุงธรรมะ

“หนังตะลุงคงไม่เลือนหาย ตราบใดที่คนที่เข้ามาอยู่กับหนังตะลุงยังคงให้ความสนใจและให้ความสำคัญ พี่รู้สึกว่าหนังตะลุงมีความสำคัญ และพี่ก็พยายามรักษาและพัฒนา แต่หากไม่มีคนเห็นความสำคัญ หนังตะลุงก็คงจะถูกลืมโดยอัตโนมัติและหายไปในอีกไม่ช้า

“พี่อยากให้ทุกคนให้ความสำคัญและเห็นคุณค่าของศิลปะที่เรามีอยู่แล้ว ไม่ใช่แกล้งลืมมันไปเพื่อที่จะพยายามปรับให้ตัวเองทันสมัย ทั้งที่เราเติบโตมากับสิ่งนั้น”

คำพูดทิ้งท้ายของพี่เชียร์ทำให้เรานึกถึงเพลงหนังตะลุงอีกท่อนหนึ่ง…

หนังตะลุงเคยเรืองรุ่งในปักษ์ใต้           ผู้คนมากมายเขาให้ความสนใจ

แต่วันนี้หนังตะลุงหายไป                      เพราะมีหนังใหญ่เข้ามาแทนหนังเงา

มาเถิดมา มาร่วมกันสร้างสรรค์            อย่าให้มันสูญสลายหายไป

กลับคืนเมืองใต้ดูหนังตะลุงต่อไป        สร้างความหวังใหม่ให้กับนายหนังตะลุง*

 

เรื่อง ณัฐนภ ตระกลธนภาส

ภาพ สรยุทธ พุ่มภักดี

 

 

 

Posted in MIND
BACK
TO TOP
A Cuisine
Writer

© COPYRIGHT 2024 Amarin Corporations Public Company Limited.