เมื่อเด็กตาบอดกลายเป็นศิลปิน | กรุณาสัมผัส (Please Touch Exhibition)

ถ้าเด็กตาบอดที่ไม่เคยรู้จักการวาดรูปมาก่อน มีเครื่องมือที่ช่วยให้เขาวาดรูปได้และเห็นมันเป็นครั้งแรก คุณคิดว่าเขาจะวาดอะไร?

นี่คือคำถามที่ดึงเราเข้าไปในงานนิทรรศการกรุณาสัมผัส (Please Touch Exhibition) นิทรรศการภาพวาดของคนตาบอดงานนี้

Capture-002

หากใครยังจำได้ Secret เคยนำเสนอเรื่องอุปกรณ์วาดภาพสำหรับคนตาบอดที่มีชื่อว่า “เล่นเส้น” กันไปแล้ว อุปกรณ์ชิ้นนี้คิดค้นขึ้นโดยคุณต่อ ฉัตรชัย อภิบาลพูนผล ผู้ก่อตั้งบริษัทกล่องดินสอ โดยชุดเล่นเส้นประกอบด้วยปากกาไม้หรือพลาสติก เส้นไหมพรม และสมุดที่ติดแผ่นตีนตุ๊กแก วิธีใช้คือ ใส่ไหมพรมซึ่งใช้แทนน้ำหมึกลากเส้นไปบนสมุดที่ติดแผ่นตีนตุ๊กแก ไหมพรมจะติดบนตีนตุ๊กแกเป็นรูปตามที่ต้องการ โดยที่ปลายปากกาจะมีตัวตัดไหมติดเอาไว้ด้วย ซึ่งรูปที่วาดเสร็จแล้วจะเป็นเส้นนูน เด็ก ๆ สามารถใช้มือสัมผัสตามได้

คลิกที่นี่! เพื่ออ่านแนวคิดดีๆ ของคุณต่อ ฉัตรชัย อภิบาลพูนผล

อุปกรณ์เล่นเส้น
อุปกรณ์เล่นเส้น

 

ครั้งนี้บริษัท กล่องดินสอ จำกัด จับมือกับบริษัท ชูใจ กะ กัลยาณมิตร จำกัด สนับสนุนโดย ธนาคารยูโอบี จำกัด (มหาชน) จัดงาน “นิทรรศการกรุณาสัมผัส” ขึ้นที่หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร โดยนำอุปกรณ์เล่นเส้นมาเป็นพระเอกในงาน คือให้เด็กๆ สร้างสรรค์งานศิลปะขึ้นมาแล้วนำมาจัดแสดงเป็นครั้งแรก ร่วมกับศิลปินชื่อดัง เพื่อเปิดโอกาสให้คนตาดีได้รับรู้โลกของคนตาบอดผ่านภาพวาด และให้คนตาบอดได้เข้าถึงผลงานของศิลปินชื่อดังหลายท่านผ่านการสัมผัสภาพวาด ชื่อของนิทรรศการนี้จึงล้อเล่นกับป้าย “Don’t Touch” หรือ “ห้ามจับ” ที่มักติดอยู่หน้าผลงานศิลปินทั่วไป โดยกำลังบอกกับผู้เสพงานศิลป์ในนิทรรศการนี้ว่า  “Please Touch” หรือ “กรุณาสัมผัส” (กันเถอะ)

Capture-003 Capture-010  Capture-039 Capture-062

ภายในงานนิทรรศการนี้มีการจัดแสดงภาพวาดของน้องๆ ตาบอด จากโรงเรียนสอนคนตาบอดกรุงเทพฯ โรงเรียนธรรมิกวิทยา โรงเรียนสอนคนตาบอดพระมหาไถ่พัทยาและโรงเรียนสอนคนตาบอดและคนตาบอดพิการซ้ำซ้อน ลพบุรี โดยแต่ละชิ้นงานแสดงให้เห็นถึงการรับรู้โลกในด้านต่างๆ ทั้งความสุข ความกลัว รวมไปถึงการจินตนาการสิ่งต่างๆ รอบตัว เช่น ภาพจระเข้ ยอดมนุษย์ ท้องฟ้า บ่อน้ำ เครื่องดนตรี โจ๊กไก่และห้างสรรพสินค้า

อิทธิพล ตั้งโฉลก
ผลงานจากศาสตราจารย์เกียรติคุณอิทธิพล ตั้งโฉลก

นอกจากนี้ยังมีภาพวาดที่สร้างสรรค์จากอุปกรณ์เล่นเส้นของศิลปินชื่อดัง 12 ท่าน เช่น อาจารย์อิทธิพล ตั้งโฉลก ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ (จิตรกรรม) พุทธศักราช 2551, อาจารย์วุฒิกร คงคา, คุณวิศุทธิ์ พรนิมิต (คุณตั้ม), คุณอนุชิต คำน้อย (คุณคิ้วต่ำ), คุณมุนินทร์ สายประสาท (คุณมุนินฺ), คุณชัย ราชวัตร, คุณทีปกร วุฒิพิทยามงคล (คุณแชมป์) เป็นต้น

น้องเอโซ กับผลงาน “สวรรค์ของเอโซ”

น้องเอโซ อภิญญา ศิลปินตัวจิ๋วคนนี้ตาบอดสนิทตั้งแต่กำเนิด เธอหลงรักดอกไม้ รูปหัวใจ ดวงดาวจึงสร้างสรรค์ออกมาเป็นภาพ “สวรรค์ของเอโซ” ภายในภาพมีดอกไม้ในสวน พร้อมหัวใจที่เต็มไปด้วยดอกไม้และดวงดาว มีคนชมสวน มีลูกโป่ง

เธอเล่าว่า ก่อนหน้านี้เวลาใครพูดถึงศิลปะ เธอนึกไม่ออกเลยว่าหน้าตาเป็นอย่างไรและอยากรู้มาตลอดว่าศิลปะคืออะไร เมื่อได้มาจับผลงานของศิลปินชื่อดังในงานแล้วเธอจึงชื่นชอบมากโดยเฉพาะรูปที่เกี่ยวกับสายน้ำ

Please Touch Exhibition
น้องอบเชย กับผลงาน “วงดนตรี”

ส่วนน้องอบเชย จิรวัฒน์ บุญเพิ่ม ศิลปินน้อยที่ตาบอดสนิทตั้งแต่กำเนิด เล่าว่า เขาชอบเล่นดนตรีตั้งแต่เด็กๆ จึงหัดเล่นหัดซ้อมดนตรีอยู่เสมอ โดยเฉพาะกลองชุดและกีตาร์ ปัจจุบันก็ยังเป็นนักดนตรีของโรงเรียนและฝันว่าอยากเติบโตเป็นนักดนตรีที่มีชื่อเสียง เมื่อมีโอกาสได้วาดภาพ เขาจึงลงมือวาดสิ่งที่รักที่สุดลงไปนั่นคือเครื่องดนตรีชนิดต่างๆ

น้องอบเชยยังเล่าอีกว่า ตั้งแต่มีอุปกรณ์เล่นเส้น เขาชอบวาดรูปมาก เพราะได้ใช้จินตนาการที่ตัวเองมีอยู่แล้วถ่ายทอดออกมา และยังชอบสัมผัสผลงานเพื่อนๆ ศิลปินในงาน โดยเฉพาะภาพธรรมชาติ

คุณครูปิยวรรณ กันกง คุณครูสอนเด็กตาบอด โรงเรียนธรรมิกวิทยา จังหวัดเพชรบุรี เล่าว่า ก่อนหน้าที่มีอุปกรณ์เล่นเส้น การเรียนการสอนที่โรงเรียนเป็นไปอย่างจำกัด อย่างบทเรียนเรขาคณิต วิชาคณิตศาสตร์ จะใช้วิธีสอนโดยให้เด็กๆ สัมผัสกล่องหรือสิ่งของที่มีรูปทรงต่างๆ แต่เมื่อมีอุปกรณ์เล่นเส้นเด็กๆ ก็สามารถลองวาดตามได้ด้วยตัวเอง เช่นเดียวกันกับวิชาศิลปะ ก่อนหน้านี้คุณครูใช้วิธีบีบสีใส่มือเด็กๆ แล้วให้พวกเขาขยำ ก่อนจะแปะป้ายสีลงบนกระดาษ แต่เมื่อมีอุปกรณ์เล่นเส้นเด็กๆ ก็สามารถเรียนรู้การวาดภาพได้ง่ายและใกล้เคียงกับคนตาดียิ่งขึ้น

อ่านถึงตรงนี้หลายคนอาจสงสัยแล้วว่า เด็กๆ ตาบอดรู้จักสีสันต่างๆ ได้อย่างไร คุณครูเฉลยว่า คุณครูสอนเรื่องการใช้สี โดยนำสีต่างๆ มาจับคู่กับสิ่งของ เช่น สีฟ้า เป็นสีเดียวกับสีของท้องฟ้าและน้ำทะเล จากนั้นเด็กๆ ก็จะจินตนาการสีฟ้าในแบบฉบับของตัวเอง

ต่อ ฉัตรชัย อภิบาลพูนผล
คุณต่อ ฉัตรชัย อภิบาลพูนผล

คุณต่อ ฉัตรชัย อภิบาลพูนผล เล่าว่า โปรเจคนี้เป็นเพียงจุดเริ่มต้น โดยมีปลายทางคือการสร้างศิลปินตาบอดขึ้นมา แต่การจะไปถึงจุดนั้นได้ต้องอาศัยองค์ประกอบหลายส่วน ได้แก่ พัฒนาอุปกรณ์ให้เหมาะสำหรับพวกเขา ปรับหลักสูตรการเรียนการสอนและส่งเสริมให้สังคมเปิดพื้นที่ให้ตนตาบอดแสดงผลงานของพวกเขาด้วย

คุณต่อยังเล่าอีกว่า คนปกติสามารถวาดภาพออกมาได้จากการรับรู้และอาศัยภาพที่มีอยู่แล้วในหัว ต่างจากเด็กตาบอดสนิทที่ไม่เคยมีภาพเหล่านั้น ฉะนั้นภาพจากน้องๆ ตาบอดที่เห็นภายในงานนี้จึงล้วนเป็นภาพที่สะท้อนอารมณ์และจินตนาการของเด็กๆ แม้เราอาจไม่เข้าใจว่าภาพนั้นคือภาพอะไร แต่ก็สามารถสัมผัสถึงอารมณ์ในภาพนั้นๆ ได้

ผู้ช่วยศาสตราจารย์วุฒิกร คงคา กับผลงาน “Mr. Universe”

ผู้ช่วยศาสตราจารย์วุฒิกร คงคา จิตรกรมือรางวัล เจ้าของผลงานสร้างสรรค์ Mr. Universe หรือผู้ชายในจินตนาการ ที่นำมาจัดแสดงภายในงานนี้ เล่าว่า หลังจากเห็นผลงานของเด็กๆ ที่นำมาจัดแสดงในงานแล้วรู้สึกประทับใจในความสามารถ ขณะเดียวกันก็ประทับใจอุปกรณ์เล่นเส้นที่ช่วยแปรรูปจินตนาการของพวกเขาออกมาให้ทุกคนเห็น เขามองว่า การจะพัฒนาคนตาบอดให้เป็นศิลปินไม่ใช่เรื่องยากเพราะทุกคนล้วนมีความสามารถในตัว

นอกจากนี้เขายังกล่าวว่า หลังจากจบงานนี้ไปคนตาบอดคงมีโอกาสสัมผัสงานศิลปะจากศิลปินแบบนี้ได้ยาก แม้แต่งานประติมากรรมที่สามารถสัมผัสได้ ศิลปินส่วนใหญ่ก็คงไม่ต้องการให้แตะต้องเพราะกลัวชำรุด เขาจึงคาดหวังว่าในอนาคตจะมีอุปกรณ์ที่ผลิตขึ้นเพื่อให้ศิลปินสร้างสรรค์งานเพื่อการสัมผัสได้หลากหลายรูปแบบยิ่งขึ้น

แม้วันนี้เด็กๆ ยังไม่ได้ก้าวขึ้นเป็นศิลปินมีชื่อเสียงอย่างเต็มขั้น แต่อย่างน้อยการจัดแสดงงานศิลป์ครั้งนี้ก็สะท้อนให้สังคมเห็นแล้วว่า ไม่มีอะไรเป็นไปไม่ได้สำหรับคนตาบอด

ร่วมสัมผัสจินตนาการของเด็กๆ ตาบอดได้ในนิทรรศการกรุณาสัมผัส จัดขึ้นวันที่ 15 ถึง 24 มีนาคม 2559 ณ ห้องโถงชั้น 1 หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร

เรื่อง รำไพพรรณ บุญพงษ์ ภาพ สรยุทธ พุ่มภักดี

Posted in MIND
BACK
TO TOP
A Cuisine
Writer

© COPYRIGHT 2024 Amarin Corporations Public Company Limited.