ผู้ป่วยแห่งเมืองเบอร์ลิน

ผู้ป่วยแห่งเมืองเบอร์ลิน ผู้เปลี่ยน “โรค” ให้เป็น “โชค”

“ทิโมธี เรย์ บราวน์” หรือที่รู้จักกันในชื่อ ผู้ป่วยแห่งเมืองเบอร์ลิน (berlin patient) ผู้เปลี่ยน “โรค” ให้เป็น “โชค”

ในปี พ.ศ. 2538 ชายชาวอเมริกันผู้หนึ่งชื่อ ทิโมธี เรย์ บราวน์ ทราบผลการตรวจว่าตัวเองติดเชื้อไวรัสเอชไอวี ที่เมืองเบอร์ลิน ประเทศเยอรมนี ในขณะนั้นการรักษาโรคนี้ยังไม่ได้มีประสิทธิภาพดีเหมือนในปัจจุบัน แต่เขาก็อดทนต่อผลข้างเคียงจากยาต้านไวรัสจนกระทั่งร่างกายกลับมาแข็งแรง และตรวจพบว่าระดับไวรัสในเลือดมีค่าต่ำมาก จนต่อมาเขาเป็นที่รู้จักไปทั่วโลกในนาม ผู้ป่วยแห่งเมืองเบอร์ลิน

เขารักษาและติดตามอาการอยู่กว่า 10 ปี จนวันหนึ่งไปตรวจตามนัด แพทย์ที่ดูแลแจ้งให้ทราบว่าเขาป่วยเป็นโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวชนิดเฉียบพลันเพิ่มอีกหนึ่งโรค แต่ละโรคที่เขาต้องพบเจอนั้นนับได้ว่าหนักหนาและรักษาได้อย่างยากยิ่ง ผู้ป่วยหลายคนมักถอดใจไม่สู้ต่อตั้งแต่ได้ยินคำว่าเอชไอวี หรือ มะเร็งแล้ว แต่การได้รู้ว่าป่วยเป็นโรคมะเร็งเพิ่มมาอีกโรคหนึ่ง ไม่สามารถสร้างความหวาดหวั่นใดๆ ให้เขาได้เลย

เมื่อยอมรับความจริงที่เกิดขึ้นได้และเข้าใจขั้นตอนการรักษาทั้งหมด เขาตัดสินใจสู้ต่อด้วยการให้ยาเคมีบำบัดและการปลูกถ่ายไขกระดูก การรักษามะเร็งเม็ดเลือดขาวด้วยการให้ยาเคมีบำบัดนั้น ผู้ป่วยเองต้องมีความอดทนอย่างยิ่งต่อผลข้างเคียงจากยา เพราะยาเหล่านี้มักทำให้เกิดอาการอ่อนเพลีย คลื่นไส้อาเจียนอย่างรุนแรง อีกทั้งยังสุ่มเสี่ยงต่อการติดเชื้อฉวยโอกาส เพราะภูมิคุ้มกันของร่างกายในช่วงนั้นจะลดลงอย่างมากอีกด้วย

            เขาทำสำเร็จ การให้ยาเคมีบำบัดผ่านไปได้ด้วยดี

ทว่าหลังจากนั้นไม่นาน โรคมะเร็งร้ายก็กลับมาเยือนเขาอีกครั้ง ครั้งนี้การรักษาลำบากขึ้นกว่าเดิม เพราะการที่เขาผ่านการรักษาเอชไอวีและปลูกถ่ายไขกระดูกมาแล้วครั้งหนึ่ง ทำให้การค้นหาเซลล์ต้นกำเนิดในการปลูกถ่ายไขกระดูกครั้งใหม่นั้นยากมากขึ้น แม้ว่าในขณะนั้นวิธีการรักษาพัฒนาขึ้นมากแล้วก็ตาม

            เมื่อเขามองเห็นและเข้าใจปัญหาที่เกิดขึ้นแล้ว เขาตัดสินใจสู้ต่ออีกครั้งโดยไม่ลังเล

 

 

การต่อสู้กับอุปสรรคหรือโรคร้ายใดๆ นั้น สิ่งที่เป็นเสมือนเครื่องมือลำดับถัดไปหลังจากที่เรายอมรับตามความเป็นจริงได้แล้ว ก็คือการมองอุปสรรคหรือโรคนั้นๆ ด้วยวิธีการแห่งโยนิโสมนสิการ คือ มองเห็นตามความเป็นจริง และ มองหาประโยชน์ จากเหตุการณ์นั้นๆ วิธีการนี้จะช่วยให้เราสามารถสะกัดกั้นอารมณ์อ่อนไหว ท้อแท้ คร่ำครวญ อันเป็นอารมณ์ในทางลบซึ่งมีแต่จะเข้ามาทำร้ายจิตใจ ฉุดรั้งและถ่วงเวลาไม่ให้เราเดินหน้าแก้ปัญหาต่างๆ ได้ทันท่วงที

กลุ่มแพทย์ชาวเยอรมันได้ทุ่มเท ค้นหาเซลล์ต้นกำเนิดที่เข้ากับเขาได้มาปลูกถ่ายให้อีกครั้ง หลังการรักษาครั้งนี้สำเร็จลุล่วงไปด้วยดี เขาก็หายจากโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาว สิ่งที่เขาได้จากการปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิดครั้งที่สองนี้ก็คือ เซลล์เม็ดเลือดขาวซึ่งมีการกลายพันธุ์แบบที่เชื้อเอชไอวีไม่สามารถผ่านเข้าไปทำร้ายตัวเซลล์เม็ดเลือดขาวของเขาเองได้อีก

ใช่แล้วครับ แปลว่าเขาหายขาดจากการติดเชื้อเอชไอวีด้วย

นับได้ว่าทิโมธี เรย์ บราวน์เป็นมนุษย์คนแรกและคนเดียวในโลกที่รักษาเอชไอวีแล้วหายขาด และรู้จักไปทั่วโลกในนามของ “ผู้ป่วย แห่งเมืองเบอร์ลิน (berlin patient)” ในทางการแพทย์เรื่องราวการต่อสู้ของเขาได้จุดประกายความหวังในการรักษาผู้ป่วยเอชไอวีคนอื่นๆ ให้หายขาดได้ในอนาคต ปัจจุบันคุณบราวน์ยังมีชีวิตและจัดตั้งมูลนิธิขึ้นที่วอชิงตันดีซี อเมริกาเพื่อให้ทุนในการศึกษาวิจัยการรักษาโรคเอดส์ต่อไป

เมื่อเราสามารถมองเห็นตามความเป็นจริงและมองหาประโยชน์จากเหตุการณ์ทุกเหตุการณ์ในชีวิตได้ ไม่ว่าโรคหรืออุปสรรคนั้นจะร้ายแรงขนาดไหน เราก็สามารถเปลี่ยนโรคให้เป็น โชคได้เสมอ

 

ที่มา  นิตยสาร Secret

เรื่อง นพ.ชวโรจน์ เกียรติกำพล

ขอบคุณภาพและข้อมูลจาก

:เว็บไซด์วิกีพีเดีย

:Timothy Ray Brown Foundation

http://www.ibtimes.co.uk/

Photo by Greg Rakozy on Unsplash

บทความน่าสนใจ

© COPYRIGHT 2024 Amarin Corporations Public Company Limited.