ดร.ธรณ์

ความสำเร็จคือ “ลงมือทำ” ผศ. ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์

ความสำเร็จคือ “ลงมือทำ” ผศ. ดร.ธรณ์ธำรงนาวาสวัสดิ์

เรื่อง อุราณี ทับทอง ภาพ สรยุทธ พุ่มภักดีสไตลิสต์ ณัฏฐิตาเกษตระชนม์ 

หากเอ่ยถึงเรื่อง “ท้องทะเลไทย” เชื่อว่าคนส่วนใหญ่ต้องนึกถึงผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ธรณ์ธำรงนาวาสวัสดิ์หรือดร.ธรณ์นักวิชาการด้านทะเลและสิ่งแวดล้อม ผู้มีบทบาทสำคัญในเรื่องเกี่ยวกับท้องทะเลมากมายเช่นารปฏิรูปอุทยานทางทะเลด้วยพีพีโมเดล การฟื้นฟูทะเลและปะการังหลายแห่งการรณรงค์ให้ร้านอาหารเลิกขายปลานกแก้วและหูฉลาม รวมไปถึงการผลักดันสัตว์สงวนชนิดใหม่ของไทยได้สำเร็จในรอบ 30 ปี

นอกจากเป็นนักอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเล ดร.ธรณ์ยังเป็นอาจารย์นักเขียนและนักเดินทาง ที่มุ่งมั่นแสวงหาความรู้และถ่ายทอดสู่สังคมในวงกว้าง เขายังได้รับรางวัลมาแล้วมากมาย ล่าสุดคือรางวัล “ชูเกียรติ อุทกะพันธุ์ประจำปี 2559”เขาบอกว่า ทุกรางวัลที่ได้รับ “ไม่ใช่เรื่องบังเอิญ” ทุกอย่างล้วนมีที่มาและเป็นแรงผลักดันให้เป็น “ดร.ธรณ์” เช่นทุกวันนี้

 “ผมเป็นเด็กเรียนห่วย”

ผมเกิดในครอบครัวข้าราชการ คุณตาคือ พระยาอัชราชทรงสิริ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตราธิราช (ชื่อในสมัยนั้น) คุณปู่คือ พลเรือตรี ถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์นายกรัฐมนตรีคนที่ 8 ของไทย คุณพ่อคือดร.เถลิง ธำรงนาวาสวัสดิ์ อดีตรัฐมนตรีช่วยและปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ส่วนคุณแม่ นวลนาถ ธำรงนาวาสวัสดิ์ ทำงานที่สำนักงานสถิติแห่งชาติ

สมัยเด็ก ๆ ผมไปไหนมาไหนกับคุณพ่อตลอด ท่านพาผมไปทำงานบุกเบิกเปิดอุทยานหลายแห่งตั้งแต่อายุ 4 - 5 ขวบ ผมนั่งฟังผู้ใหญ่คุยกันเรื่องการจัดการตั้งแต่ผมอายุไม่เท่าไหร่ จึงรู้ว่าระบบราชการเป็นอย่างไร คนรอบตัวที่รู้จักก็มีแต่ข้าราชการผมจึงไม่มีความคิดอยากจะเป็นหมอหรือเป็นวิศวกร เพราะไม่ใช่สายที่ผมเติบโตมาดังนั้นความคิดของลูกชายคนโตอย่างผมคือต้องเป็นข้าราชการ แต่ตอนเด็กก็ยังไม่รู้ว่าจะเป็นข้าราชการกระทรวงไหน

ตอนเรียนหนังสือ ผมไม่เคยเป็นเด็กเรียนเก่ง เรียกได้ว่าเป็นเด็กเรียนห่วยมาตลอดตั้งแต่อนุบาล ผมจบมัธยมจากโรงเรียนสาธิตจุฬาฯ ด้วยเกรดเฉียดตก 2.01 เรียนปริญญาตรี 5 ปี จบด้วยเกรด 2.53 เท่านั้น ผมมีปัญหากับการเรียนตั้งแต่เด็ก ๆ เพราะรู้สึกทุกอย่างช้าไปหมด เรื่องที่ผมสนใจก็รู้อยู่แล้วจากการอ่านหนังสือดังนั้นเรื่องที่ผมไม่สนใจหรือรู้สึกว่าไม่มีประโยชน์ในชีวิต ผมก็ไม่สนใจเลย

ผมใช้ชีวิตเต็มที่เหมือนวัยรุ่นทั่วไปในสมัยนั้น แต่ช่วงปิดเทอมผมมักถูกบังคับให้ไปฝึกงานในฟาร์มที่เมืองนอก ผมไปอเมริกาสามเดือนไม่เคยเห็นดิสนีย์แลนด์สิ่งที่เห็นทุกวันคือแจ็คแรบบิทกระโดดอยู่รอบ ๆ ผมต้องตื่นเช้าตั้งแต่ตีสี่เพื่อผสมเทียมวัว นั่งเก็บรกวัวหลังคลอด เก็บเลือดวัวมาผสมสาหร่ายให้กุ้งกิน คอยเช็กข้อมูลในฟาร์ม เมืองนอกเป็นฝันร้ายที่สุดของผมในสมัยนั้นไม่มีอินเทอร์เน็ต ไม่มีเฟซบุ๊กไม่มีแม้แต่โทรศัพท์ทางไกล ต้องใช้ชีวิตในความโดดเดี่ยวกับเสียงหมาหอน

ผมไม่เคยถามพ่อว่าส่งผมไปทำไมเขาให้ไปผมก็ไป แต่วันนี้ผมรู้แล้วว่า ถ้าเราสามารถผ่านตรงนั้นได้ เราก็จะสามารถผ่านความเบื่อทั้งโลกได้

เกิดมาเพื่อรักทะเล

ผมเลือกเรียนด้านวิทยาศาสตร์ทางทะเลทั้งปริญญาตรีและปริญญาโทที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จนถึงปริญญาเอกที่มหาวิทยาลัย James Cook ประเทศออสเตรเลีย เพราะผมโตมากับความทรงจำในทะเล คุณพ่อเขียนในบันทึกว่าพาผมไปทะเลครั้งแรกตั้งแต่อายุ 6 เดือน 6 วัน หลังจากนั้นก็ไปพักบ้านที่หัวหินทุกปิดเทอม

ผมจำได้ดี สมัยก่อนบรรยากาศหัวหินเหมือนละครเรื่อง ปริศนา เราไปกันแบบครอบครัวใหญ่ ต้มพะโล้ หุงข้าวเป็นหม้อ ๆ ตอนนั้นหัวหินต่างจากทุกวันนี้มาก น้ำประปาไม่มี ต้องหาซื้อมาเอง บ้านพักก็เหมือนบังกะโล ผมไม่ได้อยู่แค่ห้าวันเจ็ดวัน แต่ไปอยู่อย่างน้อยเป็นเดือน แต่ละวันผมนอนกระดิกเท้า อ่านนิยายริมทะเล มีความสุขที่สุดในโลก อ่านเสร็จเดินลงชายหาด เล่นบนหาดทราย กลางวันเดินไปหาของกินในตลาด แล้วกลับมานอนอ่านนิยายต่อ ช่วงบ่ายก็ลงเล่นน้ำทะเล วนอยู่แค่นี้โดยไม่รู้สึกเบื่อเลย สมัยนั้นผู้คนไม่เห็นความสำคัญของทะเล ผมจึงรู้ตัวว่าต้องทำงานด้านทะเลตั้งแต่เรียนชั้นมัธยม เมื่อเรียนปริญญาตรีผมได้ทำงานกับ อาจารย์สุรพล สุดารา ท่านเป็นนักอนุรักษ์และนักเคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อมของไทยที่บทบาทมากในตอนนั้นท่านเป็นอาจารย์ที่ไม่เคยสอน แต่ให้โอกาสผมไปทำในสิ่งที่อยากทำ ทั้งงานสำรวจแนวปะการังทั่วประเทศเป็นครั้งแรก จัดนิทรรศการอนุรักษ์ทะเลให้ประชาชนเป็นครั้งแรกนั่นเป็นจุดเริ่มต้นที่ผมได้ทำงานภาคสังคมนอกจากเป็นอาจารย์สอนหนังสือจนถึงทุกวันนี้

งานที่อยู่กับทะเลที่ผมรักเป็นสิ่งที่ผมถนัดที่สุด มันสนุก ท้าทาย เมื่อทะเลต้องการผม ผมจะอยู่ตรงนั้น แต่ต้องขอบอกตามตรงอย่างชัดเจนว่า ผมไม่เคยคิดจะทำอะไรให้สังคม ผมไม่เคยสนใจสังคมไม่เคยช่วยเหลือคนด้อยโอกาส แล้วก็ไม่ได้รักสัตว์ทะเลมากกว่าชาวบ้าน ดังนั้นหากทะเลที่ไหน เจ้าของบ้านเขารักทะเลน้อยกว่าผม ผมก็กลับบ้าน

มองที่ผลลัพธ์

หลายคนรู้ดีว่าผมเป็นนักอนุรักษ์ที่ถือกระเป๋าชาแนล ขับรถสปอร์ต ใช้ของแบรนด์เนม บ้านที่ผมเกิดและอาศัยอยู่จนถึงทุกวันนี้อยู่ในย่านเอกมัย เป็นแหล่งความบันเทิงของคนกรุงเทพฯ ผมเติบโตมาในแบบของผม เดินจับโปเกมอน สังสรรค์กับเพื่อนฝูง นักอนุรักษ์ไม่จำเป็นต้องใส่รองเท้าแตะ สะพายเป้ ใส่เสื้อผ้าฝ้าย ผมนี่แหละที่ใส่ชุดแบรนด์เนมต่อสู้กับนายทุนเพราะผมโตมาแบบนี้

ยิ่งเราต่อสู้กับนายทุน เรายิ่งต้องสู้ด้วยความเจริญ ผมไม่มีวิธีการสู้แบบทำป้ายหาชาวบ้านมายืนร้องไห้ ตอนนี้ต้องพัฒนาแล้ว ผมมองที่ผลลัพธ์แล้วพุ่งเป้าทำเลยโดยไม่สนใจกระบวนการ เช่น ถ้าผมเป็นอธิบดีต้องคุยกับปลัด ถ้าเป็นปลัด ผมจะคุยกับรัฐมนตรี แต่ถ้าเป็นรัฐมนตรีอยู่แล้วไม่รู้จะคุยกับใคร ผมก็จะคุยกับสื่อ ผมไม่มีเป้าหมายที่ยิ่งใหญ่ ผมแค่เล็งเป้าให้แม่นแล้วลงมือทำ อย่างเรื่องผลักดันให้วาฬบรูด้าเป็นสัตว์สงวน ผมก็ทำเลย ไม่มีเครือข่ายล่ารายชื่อผ่านเทคโนโลยีจนสำเร็จ ทั้งที่ยังไม่มีสัตว์สงวนชนิดใหม่เกิดขึ้นเลยในรอบ 30 ปี

ผมเป็นคนมองที่ผลลัพธ์ว่าต้องการอะไร แล้วลงมือทำให้ได้ เมื่อ 20 ปีที่แล้วผมอยากขายหนังสือ ผมก็ไปขายในงานสัปดาห์หนังสือ ผมขายหนังสือครั้งแรกไม่ได้ขายแบบนั่งรอแจกลายเซ็น แต่ยืนเรียกให้คนมาซื้อทั้งวัน ตั้งแต่สิบโมงเช้ายันหนึ่งทุ่ม 10 วันขายได้ 18 เล่ม และยังคงขายหนังสือเล่มนั้นต่อมาอีก 20 ปีจนปัจจุบัน ดังนั้นคนที่ผ่านการนั่งดูแจ็คแรบบิทกระโดดด๊อง ๆ อยู่ 3 เดือน และยืนขายหนังสือวันละ 2 เล่มได้คงไม่ต้องพูดถึงคำว่าท้อ

คำว่าท้อกับผมไม่ข้องเกี่ยวกัน เพราะเรื่องใดที่ผมอยากทำผมจะทำไป ทำไปเรื่อย ๆ จนกว่าจะสำเร็จ

คลิกเลข 2 ด้านล่าง เพื่ออ่านหน้าถัดไป

เด็กชายลำไส้สั้น

ผมไม่เคยรู้สึกแย่หรือกังวลในชีวิตกระทั่งเจอเหตุการณ์ปวดกะโหลกอยู่เรื่องหนึ่ง คือ ลูกชายคนที่ 2 (ธรรธ ธำรงนาวาสวัสดิ์)เกิดมาลำไส้สั้น กินเท่าไหร่ก็ถ่ายเท่านั้นจนหมอแปลกใจ หาสาเหตุอยู่ 3 สัปดาห์น้ำหนักลดมาก จาก 2,400 กรัม เหลือ 1,800 กรัม หมอจึงตัดสินใจผ่าท้อง ปรากฏว่าเป็นโรคลำไส้สั้นตั้งแต่กำเนิด จากปกติลำไส้ของเด็กจะยาวประมาณ 3 เมตร แต่ลูกผมมีลำไส้ยาวเพียง 40 - 50 เซนติเมตรเท่านั้น

ลูกชายต้องอยู่โรงพยาบาลประมาณ 3 ปีจนดีขึ้น เป็นช่วงเวลาที่ผ่านทุกความรู้สึกมาแล้ว ทั้งมึนงง หาคำตอบ ต่อสู้ภรรยาต้องใช้ชีวิตในโรงพยาบาลเพื่อดูแลลูกผมต้องบินเทียวไปเทียวมาสิงคโปร์เพื่อซื้อนมที่ให้สารอาหารและป้องกันการติดเชื้อ เพราะไม่มีใครนำเข้ามาจำหน่ายในไทย ผมเขียนหนังสือเรื่อง เด็กชายลำไส้สั้น เพื่อแชร์ประสบการณ์ ปัจจุบันมีผู้ปกครองที่มีลูกป่วยเป็นโรคนี้มาปรึกษาผมหลายคนจนถึงทุกวันนี้

ขณะอยู่โรงพยาบาล ผมและภรรยาเห็นคนไข้หลายคนที่เขาลำบากกว่าเราโรคลำไส้เป็นโรคที่น่ากลัวที่สุด เป็นมะเร็งเดี๋ยวก็ตาย แต่โรคลำไส้ทำให้เราออกจากโรงพยาบาลไม่ได้ เพราะอาจตายจากการติดเชื้อ เป็นอีกโรคที่ทดสอบพ่อแม่ว่ารักลูกจริงหรือเปล่า ต้องอยู่ไปเรื่อย ๆ หายเมื่อไหร่ก็ไม่ทราบ บางคนเมียทิ้งไปเลยบางคนจะจับลูกกระโดดตึกก็มี เพราะไม่มีอะไรเหลือแล้ว ลูกก็ต้องดูแล งานก็ต้องทำ เราเป็นเคสแรกของโรงพยาบาลที่ผ่านมาได้ แต่ผมไม่ได้รู้สึกว่าเราโชคดีกว่าใครแต่กลับรู้สึกว่ามีคนลำบากกว่าเราเยอะ

ส่วนลูกคนโต (ธรา ธำรงนาวาสวัสดิ์) เป็นโรคสมาธิสั้น ผมมองว่าเป็นเรื่องธรรมดาเพราะเด็กเป็นโรคนี้กันมาก ผมเลี้ยงลูกด้วยหนังสือตามคำแนะนำของคุณหมอ เป็นวิธีที่ง่ายที่สุดและได้ผล ตอนนี้ธราเป็นเด็กที่ชอบอ่านหนังสือที่สุด ไม่มีปัญหาเรื่องการเรียน และสอบชิงทุนโอลิมปิกวิชาการมาสองสามรอบแล้ว

 

สุขในสิ่งที่รัก

ผมชอบเที่ยว เพราะในโลกนี้ยังมีอีกหลายอย่างให้เราประหลาดใจ ผมจะเขียนเรื่องที่ผมสนใจ เรื่องที่ผมไปเที่ยวทั่วโลกโดยมีภาพภรรยาขึ้นปกหนังสือทุกเล่ม เรื่องที่เกี่ยวกับทะเล ซึ่งเคยคิดว่าขายไม่ได้ แต่ก็กลับขายดี ล่าสุดผมเขียนเรื่อง วาฬบรูด้ากับปริศนา 7 ประการ สไตล์นิยายอย่างที่ผมชอบและอยากเขียน

ความสุขของผมคือ อ่านหนังสือเที่ยวกับภรรยา และกลับมาเขียนหนังสือผมไม่เคยคิดว่าต้องให้ลูกเรียนจบมาทำงานราชการ แค่ธรรมชาติผลักดันให้พวกเขาเอาตัวรอดได้ผมก็แฮ็ปปี้ ผมไม่จำเป็นต้องมีเป้าหมาย ผมอายุ 50 แล้ว จนตายผมก็คงหลุดจากวงจรของทะเลไปไม่ได้แล้วมันช้าเกินกว่าที่ผมจะถอยไปไหน

ชีวิตผมถูกกำหนดไว้แล้วว่าต้องอยู่กับทะเล ผมไม่สามารถออกจากวังวนนี้ได้เพราะมีพ่อ แม่ คุณครู อีกมากมายที่แนะนำลูกหลานลูกศิษย์ให้มองผมเป็นแบบอย่าง มันเป็นวังวนแห่งความหวังที่ไม่สามารถทำลายได้

ผมถึงจุดที่เลยความรู้สึกภาคภูมิใจมาแล้ว ผมไม่มีแรงบันดาลใจ เพียงแค่ผมเป็นคนที่ลงมือทำในสิ่งที่ผมอยากทำ แต่ผมไม่อาจทำลายแรงบันดาลใจของผู้อื่นที่เขามองเห็นจากตัวผมได้ เพราะไม่มีโรงเรียนไหนสอนแรงบันดาลใจได้ มีแต่คนรุ่นหนึ่งสร้างไว้ให้คนอีกรุ่นดูเป็นตัวอย่าง ผมยังเคยบอกว่า ทวดกับปู่ไม่อยู่แล้ว แต่พ่อยังอยู่ความภูมิใจยังอยู่ แรงบันดาลใจยังอยู่

รางวัลต่าง ๆ ที่ได้รับเป็นสิ่งหนึ่งที่ทำให้เห็นว่า เราใช้ชีวิตอย่างมีความหมายและได้ทำสิ่งที่เรารักอย่างเป็นประโยชน์

Secret คือแรงบันดาลใจ
สั่งซื้อนิตยสารหรือสมัครสมาชิก Secret ได้ที่ 0-2423-9889
ทาง Naiin.com : https://www.naiin.com/magazines/title/SC/

Posted in MIND
BACK
TO TOP
cheewajitmedia
Writer

© COPYRIGHT 2024 Amarin Corporations Public Company Limited.