เกมสร้างรายได้

อีกด้านของ “เกม” ในวันที่สร้างรายได้ จนกลายเป็นอาชีพ

อีกด้านของ “เกม” ในวันที่ เกมสร้างรายได้ จนกลายเป็นอาชีพ

ไม่รู้กี่ครั้ง ที่สื่อหรือผู้ใหญ่ในบ้านเราด่วนพิพากษา “เกม” ว่าเป็นสิ่งชั่วร้าย เมื่อมีเหตุการณ์ไม่ดีเกิดขึ้นกับเด็กๆ เมื่อไหร่ ก็โยงไปที่เกมได้เมื่อนั้น ทำให้เกมกลายเป็นสิ่งต้องห้ามสำหรับเด็กๆ ไปโดยปริยาย ในขณะที่ในต่างประเทศ สิ่งที่สื่อหรือผู้ใหญ่มองในแง่ลบทุกวันนี้ กลับกลายเป็นสิ่งที่สร้างอาชีพ สร้างรายได้ สร้างธุรกิจขนาดใหญ่ และพัฒนาจนกลายเป็นกีฬา ที่มีเงินรางวัลเทียบเท่ากับกีฬาระดับโลก หรือที่เรียกกันว่า กีฬา “E-Sports”

เรามีโอกาสได้พูดคุยกับ คุณสันติ โหลทอง บรรณาธิการอำนวยการนิตยสารคอมพ์เกมเมอร์นิวส์ และนายกสมาคมไทยอีสปอร์ต เกี่ยวกับการเติบโตและการผลักดันอีสปอร์ตในไทย ซึ่งปัจจุบันกำลังอยู่ในจุดเริ่มต้น เราอยากชวนคุณมาทำความรู้จักกับเกมในอีกด้านหนึ่ง หากวันนี้คุณกำลังมองว่าเกมคือตัวร้าย …ไม่แน่ว่าความคิดของคุณอาจจะเปลี่ยนไป

“เกม” หรือ “คน” ที่กำลังเป็นปัญหา?

คุณสันติ เล่าให้เราว่า สังคมไทยมีความหลากหลายทางความคิด จึงเป็นเรื่องธรรมดาที่มีทั้งคนยอมรับและไม่ยอมรับเกม

“เรื่องนี้สามารถมองได้หลายแง่ ส่วนของคนที่ไม่ยอมรับ หนึ่ง เขาอาจจะมองว่า เด็กที่เล่นเกมไม่สามารถยับยั้งชั่งใจให้เล่นเป็นเวลาได้ แต่กลับกัน คนที่เล่นเกมหลายคนก็สามารถแบ่งเวลาได้ ยับยั้งชั่งใจตัวเองได้ดี ดังนั้นปัญหานี้จึงไม่ได้เกิดกับทุกคน

“ถัดมาคือเขาขาดความเข้าใจ มองว่าเกมไม่ได้มีส่วนช่วยให้เกิดประโยชน์อะไรกับคนเล่น ทั้งที่จริงการเล่นเกมมีส่วนเสริมทักษะให้คนเล่นหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการใช้คีย์บอร์ด เมาส์ การใช้ภาษาอังกฤษ การติดตั้งซอฟท์แวร์ การเข้าสู่อินเทอร์เฟซ การโมดิฟายเครื่อง ฯลฯ คนเล่นเกมหลายคนสามารถใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีเหล่านี้ได้อย่างเต็มที่

“นอกจากนี้ หลายคนที่ชอบเกม อาจจะมองว่า เล่นเกมสนุกกว่าดูหนัง สนุกกว่าอ่านหนังสือ แต่คนที่ไม่ชอบก็จะมีความรู้สึกว่า ดูหนังยังจะสบายกว่า เล่นเกมบางทีใช้เวลาเป็นปี แต่ดูหนังใช้เวลาแค่สองชั่วโมง เรื่องนี้ก็ขึ้นอยู่กับรสนิยมและความชอบ

“อีกอย่างหนึ่ง ผมว่าคนจะมองเกมดีหรือไม่ดี ก็ขึ้นอยู่กับว่าเขาไปเจอเกมดีหรือเกมร้าย เด็กหลายคนที่มีมุมมองที่ดี ก็จะเลือกเล่นเกมที่มีประโยชน์ เกมประเทืองปัญญา ในขณะที่เด็กบางคนมีนิสัยก้าวร้าวรุนแรงอยู่แล้ว ยิ่งไปเลือกเล่นเกมที่มีเนื้อหารุนแรง เช่น เกม GTA ที่เคยตกเป็นข่าว ก็ยิ่งทำให้เตลิดเปิดเปิงไปกันใหญ่ เรื่องนี้ก็ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจว่า จะมองเกมหรือคนมีปัญหา”

สำนักงานของสมาคมไทยอีสปอร์ต

เด็กติดเกม เกมเมอร์ นักกีฬาอีสปอร์ต ความต่างที่หลายคนยังแยกไม่ออก

น้อยคนจะเข้าใจว่า เด็กติดเกมและเกมเมอร์ ไม่ใช่คนกลุ่มเดียวกัน แถมทุกวันนี้ยังมีกลุ่มคนเล่นเกมที่จัดเป็นนักกีฬาเพิ่มขึ้นมาอีกกลุ่ม หรือที่เรียกกันว่า นักกีฬาอีสปอร์ต ซึ่งแตกต่างจากกลุ่มคนเล่นเกมสองกลุ่มแรกอย่างสิ้นเชิง คุณสันติ อธิบายให้ฟังถึงความแตกต่างของคนเล่นเกมทั้งสามกลุ่มให้เข้าใจง่ายๆ ว่า

“เด็กติดเกมคือกลุ่มแรกที่น่าเป็นห่วง ติดเกม คือเล่นเอาสนุกอย่างเดียว เป็นกลุ่มที่ต้องได้รับการเยียวยา

“แตกต่างจาก เกมเมอร์ หรือนักเล่นเกม คนกลุ่มนี้สามารถเติบโตขึ้นไปในสายของผู้ที่มีความรอบรู้เกี่ยวกับเกม มีงานรองรับ มีบทวิเคราะห์ที่มีมูลค่า มีเนื้อหาที่สามารถถ่ายทอดออกไปให้คนอื่นรับรู้ได้ แล้วสามารถสร้างรายได้ เป็นที่ยอมรับได้ ขณะเดียวกันเกมเมอร์ก็ยังถูกแยกออกเป็นสองส่วน คือเกมเมอร์น้ำดี กับเกมเมอร์น้ำเสีย ไม่ได้หมายความว่า เกมเมอร์น้ำเสีย เขาจะแค่เล่นเกมเอามันส์ เขาเอาจริงนี่แหละ แต่มีเรื่องการพนันเข้ามาเกี่ยวข้อง หรือบางคนใช้เกมเป็นข้ออ้างที่จะอยู่กับเกมตลอดเวลา ส่วนเกมเมอร์น้ำดีนั้น เป็นกลุ่มคนที่เลือกเก็บด้านดีของเกมไปใช้เป็นประโยชน์ เช่น ผู้กำกับหนังที่เป็นเกมเมอร์หลายคนก็เลือกที่จะนำสเปเชียล เอฟเฟค จากเกมไปดัดแปลงในการสร้างภาพยนตร์ เกมเมอร์หลายคนที่อยู่ในวงการกีฬา ก็นำกราฟฟิกต่างๆ จากเกมไปใช้ในการรายงานสกอร์ในเกมการแข่งขัน หรืออย่างตัวผมเองเคยเล่นเกมวินนิ่ง 11 (เกมฟุตบอล) จนสามารถเอามาประมวลผลเป็นสูตร แล้วทำคู่มือออกมาขาย จนมีเงินเลี้ยงดูครอบครัวได้ การเป็นเกมเมอร์น้ำดี น้ำเสีย มันจึงขึ้นอยู่กับว่า เราสามารถใช้ประโยชน์จากการเป็นเกมเมอร์เอาไปช่วยเหลือชีวิตตัวเองได้อย่างไร

“ส่วนอีกกลุ่มคือนักกีฬาอีสปอร์ต เป็นกลุ่มที่เล่นเกมอย่างมีชั้นเชิง มีความเชี่ยวชาญ คุณอาจจะคิดว่าการเล่นเกมมีเพียงการคลิกซ้าย คลิกขวา เดินหน้า ถอยหลัง แล้วโจมตีให้ทัน แต่ถ้าเป็นสายอีสปอร์ตไม่ใช่เลย เขาต้องคำนวณระยะห่างว่ามีความแม่นยำของการโจมตีเท่าไหร่ ต้องมีระบบการวางแผน ต้องมีทีมเวิร์ค ต้องมีทริค ต้องแบ่งเวลาในการฝึกซ้อม ต้องมีระเบียบวินัย ที่สำคัญคือคนกลุ่มนี้เล่นเกมเป็นอาชีพ มีรายได้จากการลงแข่ง บางทีมีเงินเดือน ต่อให้คุณไม่ได้แชมป์ คุณก็มีเงินเดือน”

ผลงานของนักกีฬาอีสปอร์ตไทยในระดับโลก

จากข้อมูลในรายงานของสมาคม ไทยอีสปอร์ต ระบุไว้ว่า การแข่งขันอีสปอร์ตในประเทศไทยในยุคปัจจุบันถือว่ามีการเจริญเติบโตเพิ่มมากขึ้น เนื่องจากมีปัจจัยหลายๆ อย่างที่เอื้ออำนวยให้มีการจัดการแข่งขันอย่างต่อเนื่อง ซึ่งนั่นก็เป็นผลทำให้ความสามารถของนักกีฬาอีสปอร์ตไทยเพิ่มระดับสูงขึ้นด้วยเช่นกัน โดยวัดได้จากผลงานของนักกีฬาอีสปอร์ตไทย ที่สร้างผลงานในการแข่งขันระดับนานาชาติ

เงินรางวัลการแข่งขันจากอดีตมาจนถึงปัจจุบันนั้น จำนวนเงินจะสูงขึ้นเรื่อยๆ จากหลักหมื่นสู่หลักล้าน ซึ่งการแข่งขัน ระดับโลกมีเงินรางวัลสูงสุดอยู่ที่ 600,000,000 บาท กับการแข่งขันเกม DOTA2 ส่วนเกมเมอร์ไทยสามารถทำเงินได้ไม่น้อยเช่นกัน โดยเฉพาะการแข่งขันชิงแชมป์ระดับนานาชาติ อย่างในปี 2015 มีการแข่งขันรายการ FIFA Online 3 Asian Cup 2015 ที่ประเทศเกาหลีใต้ ทีมอีสปอร์ตไทย (คีน แอม กอล์ฟ) สามารถทำเงินรางวัลได้ถึง 2,100,000 บาท หรือในปี 2016 มีการแข่งขันรายการ EA Asian Cup 2016 Summer ที่ประเทศจีน ทีมอีสปอร์ตไทย (TNP) สามารถทำเงินรางวัลได้มากถึง 2,500,000 บาท

บรรยากาศความยิ่งใหญ่ของการแข่งขันกีฬาอีสปอร์ต
ทีม TNP ได้เงินรางวัลสูงสุดนักกีฬาอีสปอร์ตไทย
ทีม Amotel นักกีฬาอีสปอร์ตชาวไทยที่ได้แชมป์โลกจากเกม Special Force

คลิกเลข 2 เพื่ออ่านหน้าถัดไป

เปลี่ยนเด็กติดเกมให้กลายเป็นนักกีฬา

สมาคมไทยอีสปอร์ต กล่าวไว้ในการเข้าร่วมประชุมบูรณาการเกี่ยวกับอีสปอร์ตว่า ปัญหาของเด็กติดเกม ส่วนใหญ่แล้วจะมีอยู่ 3 ปัญหาหลักๆ นั่นคือ สุขภาพ เวลา และ เงิน ซึ่งทั้ง 3 ปัญหาจะแยกย่อยออกไปตามแต่การใช้ชีวิตของแต่ละคน โดยบุคคลที่ประสบปัญหาเหล่านี้ มักเป็นคนที่ใช้เกมไปในทางที่ผิด ซึ่งการแก้ปัญหาโดยการบำบัดเยียวยาถือเป็นปลายเหตุ กลับกันการปลูกฝังให้เล่นเกมอยากถูกต้อง เป็นสิ่งที่ควรทำมากกว่า โดยปลูกฝังให้เด็กฝึกเล่นแบบมีเป้าหมาย ใช้คำว่าอีสปอร์ตเข้ามาเป็นตัวขัดเกลา ปลูกฝังเด็กกลุ่มนั้นว่า หากก้าวขึ้นมาเป็นนักกีฬาอีสปอร์ตเมื่อไหร่ ก็จะได้รับ 3 สิ่งเหล่านี้เป็นรางวัลตอบแทน

  1. นักกีฬา

เมื่อมีการแข่งขันอีสปอร์ต จากที่เคยเป็นแค่คนเล่นเกม ในวงการเกมจะขนานนามใหม่ว่า นักกีฬาอีสปอร์ต ที่อาจจะกลายเป็นอาชีพเสริมได้ทันที อีกทั้งยังต้องมีการเรียนรู้ หรือฝึกทักษะต่างๆ ในฐานะของนักกีฬา เพื่อให้มีความเชี่ยวชาญในการแข่งขันเกมนั้นๆ ทั้งเรียนรู้อุปกรณ์ไอทีต่างๆ เรียนรู้โปรแกรมที่ต้องใช้เพื่อแข่งขัน รวมทั้งฝึกฝนภาษา ในกรณีที่ต้องติดต่อการแข่งขันระดับนานาชาติอีกด้วย

  1. อาชีพ

การเป็นนักกีฬาอีสปอร์ต ถือเป็นอีกหนึ่งของอาชีพเสริมที่ทั่วโลกให้การยอมรับ ซึ่งมีข้อดีอันดับแรกคือการช่วยให้มีวินัย รู้จักแบ่งเวลาซ้อม พัก แข่งขัน หรือแม้แต่การใช้ชีวิตประจำวัน ถัดมาคือช่วยให้มีชื่อเสียง มีแฟนคลับ มีกองเชียร์ และมีคนติดตามในฐานะทีมที่ชื่นชอบ มีโอกาส การแข่งขัน สร้างโอกาสมากมายให้นักกีฬา ไม่ว่าจะเป็นการเป็นพรีเซ้นเตอร์ ต่อยอดไปเป็นผู้จัดการทีม และอื่นๆ อีกมากมาย และข้อสุดท้าย ซึ่งสำคัญที่สุดคือ มีรายได้ หากได้ที่ 1 หรือันดับดีๆ จะมีเงินรางวัลตอบแทนความสำเร็จ ซึ่งการแข่งขันระดับโลกมีเงินรางวัลเกิน 300 ล้านบาท ส่วนในประเทศไทยมีเงินรางวัลสูงสุดที่หลักล้านเช่นเดียวกัน

  1. รายได้

นอกจากเงินรางวัลที่ได้หากทีมประสบความสำเร็จแล้ว นักกีฬายังมีระบบเงินเดือน ที่ทางผู้สนับสนุนมอบให้เป็นเงินในการเลี้ยงชีพ ซึ่งในระดับโลกหลายทีมมีระบบเงินเดือน รวมถึงทีมจากประเทศไทยบางทีมก็มีการให้เงินเดือนกับนักกีฬาด้วยเช่นกัน

สิ่งที่จะตามมาหลังจากเป็นนักกีฬา นั่นคือการเป็นที่ยอมรับ และรู้จักกันในวงการแข่งขัน ซึ่งแน่นอนว่าความสามารถในการแข่งขัน หรือแม้แต่ความสามารถที่ได้ระหว่างการแข่งขัน ไม่ว่าจะเป็นการใช้โปรแกรมต่างๆ ภาษาที่ได้ ยังสามารถต่อยอดไปทำงานในสายอาชีพได้อีก ไม่ว่าจะเป็นโปรแกรมเมอร์ ผู้จัดการทีม ผู้ให้บริการเกม นักวิเคราะห์ หรือแม้แต่การผันตัวเองไปเป็นผู้จัดการแข่งขัน

นอกจากนี้ หากนักกีฬาประสบความสำเร็จในการแข่งขัน แล้วนำรายได้จากการแข่งขัน ไปใช้เป็นทุนการศึกษา หรือช่วยเหลือครอบครัวในด้านต่างๆ ก็ยิ่งถือว่าเป็นการใช้เงินรางวัลที่ได้มาให้เกิดประโยชน์อย่างสูงสุด

เมื่อคนเล่นเกมหันมาสนใจการแข่งขันมากขึ้น อาจจะเริ่มจากเป็นผู้ชมที่ดี จนเริ่มมาเป็นนักกีฬามืออาชีพ สิ่งเหล่านี้จะช่วยขัดเกลาคนเล่นเกม ให้รู้จักแบ่งเวลาในการเล่น เมื่อแบ่งเวลาเป็น สิ่งที่จะตามมาคือมีสุขภาพที่ดี และมีการใช้ชีวิตที่ถูกต้อง มีงานที่ดี รวมถึงสามารถมีรายได้จากงานประจำและรายได้เสริมที่ได้จากการแข่งขัน เป็นต้น

คุณสันติ โหลทอง บรรณาธิการอำนวยการนิตยสารคอมพ์เกมเมอร์นิวส์ และนายกสมาคมไทยอีสปอร์ต

อีสปอร์ตในสายตาของหน่วยงานภาครัฐ

คุณสันติทิ้งท้าย ด้วยการอธิบายถึงเรื่องอีสปอร์ตในมุมมองของหน่วยงานภาครัฐว่า

“อีสปอร์ตบ้านเราโตมาแบบไม้ล้มลุก แบบไม้พื้นบ้าน ไม่มีการฟาร์ม ถามว่าตอนนี้ขาดอะไร ขาดการยอมรับ มันต้องมีคนสักคนคุยกับผู้ใหญ่ และต้องมีผู้ใหญ่สักคนยอมคุยกับเด็ก แล้วหารือร่วมกัน

“ถ้าถามว่า หากสนับสนุนเกมแล้ว เด็กเกิดเล่นเกมเยอะขึ้นมาจะทำอย่างไร ก็ต้องถามกลับว่า เราจะทำให้การบริโภคเกิดประโยชน์ได้อย่างไร มันก็ต้องมีกฎ ดีกว่าปล่อยให้ลอยไป ผมว่าเราควรต้องคุยกัน ทุกวันนี้ เราไม่ยอมคุยกัน จะประหารกันอย่างเดียว ช่วยพิพากษาผมหน่อย อย่าเพิ่งรีบประหาร

“แนวทางที่จะทำให้เกมมีภาพลักษณ์ที่ดีขึ้น มันไม่ได้อยู่ที่เกม แต่อยู่ที่คนวางกฎ แต่การออกกฎนั้นจะต้องยอมรับกันทั้งสองฝ่าย ไม่ใช่ออกโดยภาครัฐอย่างเดียว หรือออกโดยวงการเกม วงการอีสปอร์ตอย่างเดียว พอสร้างกฎมา ก็ใช้กฎให้แม่นยำ มีมาตรการลงโทษที่เหมาะสมกับพฤติกรรมที่เกิดขึ้น ถ้าดีก็ต้องสนับสนุนเขา ถ้าไม่ดี ก็เลิกสนับสนุน ถ้าเกิดว่าไม่มีการให้การสนับสนุนคนเล่นเกม มองเกมไม่ดีอยู่อย่างนั้น มันก็ลำบาก ทิศทางมันก็หม่นหมอง และสุดท้ายนักกีฬาอีสปอร์ตไทยก็จะไปเติบโตแต่ในต่างแดน ซึ่งถือเป็นเรื่องน่าเสียโอกาส”

บรรยากาศการจัดการแข่งขัน อีสปอร์ต ระดับโลก
บรรยากาศการจัดการแข่งขัน อีสปอร์ต ในประเทศไทย

แม้วันนี้วงการอีสปอร์ตไทยจะยังเดินทางไปไม่ถึงจุดที่นักเล่นเกม รวมทั้งสมาคมไทยอีสปอร์ตมุ่งหวัง แต่อย่างน้อยๆ นักกีฬาอีสปอร์ตทีมชาติไทยทุกคนก็พิสูจน์ให้สังคมเห็นแล้วว่า เกมไม่ได้ทำให้เด็กเสียคนเสมอไป และการจะทำให้อีสปอร์ตกลายเป็นอีกหนึ่งอาชีพทางเลือกของคนรุ่นใหม่ ก็ไม่ใช่เรื่องที่ไกลเกินฝันอีกแล้ว

เรื่อง รำไพพรรณ บุญพงษ์ ภาพ ศรายุธ นกแก้ว / Compgamer

Posted in MIND
BACK
TO TOP
A Cuisine
Writer

© COPYRIGHT 2024 Amarin Corporations Public Company Limited.