ชลิดา

ชลิดา อนันตรัมพร เพราะเป็น “แม่” จึงมีวันนี้ นักบัญชีผู้พลิกชีวิตเป็นนักธุรกิจพันล้าน

ชลิดา อนันตรัมพร เพราะเป็น “แม่” จึงมีวันนี้ นักบัญชีผู้พลิกชีวิตเป็นนักธุรกิจพันล้าน

หากความรักของแม่คือพลังอันยิ่งใหญ่เหนือสิ่งอื่นใด ชีวิตของคุณ ชลิดาอนันตรัมพรกรรมการผู้จัดการ บริษัทอินเตอร์ลิ้งค์คอมมิวนิเคชั่นจํากัด(มหาชน) คืออีกหนึ่งบทพิสูจน์ถึงพลังความรักที่กลายเป็นจุดเปลี่ยน จากพนักงานบัญชีเงินเดือนหลักร้อยสู่เจ้าของธุรกิจนำเข้าและจัดจำหน่ายสายสัญญาณรายใหญ่ที่สุดของไทยซึ่งมีมูลค่าธุรกิจมากกว่าเจ็ดพันล้านบาท ทั้งยังมีบทบาทในแวดวงสังคมสงเคราะห์ด้านสตรีและเยาวชนมากมาย โดยน้อมนำพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเป็นแรงบันดาลใจอันยิ่งใหญ่ในการทำงานเพื่อสังคม

ชีวิตก่อนเริ่มทำธุรกิจเป็นอย่างไรคะ

ดิฉันเป็นคนจังหวัดพิจิตร เรียนจบด้านบัญชี นิสัยคนเรียนด้านนี้คือ ชอบตัวเลข ชอบอยู่เงียบ ๆ ตามลำพัง ไม่คิดว่าตนเองเป็นคนพูดเก่งหรือพูดขายของได้ ตอนเรียนหนังสือเคยสับสนระหว่างงานเลขาฯและงานบัญชี เมื่อมีโอกาสทดลองเรียนงานเลขาฯได้หนึ่งสัปดาห์ ได้เรียนชวเลข ก็รู้สึกว่าเราเป็นเลขาฯได้นะ แต่สุดท้ายก็ตัดสินใจเลือกเรียนบัญชี เพราะคิดว่าเหมาะสมกับตนเองมากที่สุด

เมื่อเรียนจบงานบัญชี ก็ได้ใช้วิชาอย่างเต็มรูปแบบ เริ่มตั้งแต่เป็นพนักงานบัญชีในบริษัทขนาดเล็ก ได้เงินเดือนไม่ถึงพันบาทต้องใช้ความขยันและความอดทน เรียนรู้ตั้งแต่การทำบัญชีสต๊อกสินค้า จนกระทั่งสามารถทำงบดุลบัญชีของบริษัทได้ ตำแหน่งสุดท้ายก่อนที่จะลาออกมาเลี้ยงลูกคือผู้ช่วยสมุห์บัญชี เงินเดือนหลายพันบาท

หลังจากแต่งงานกับสามีซึ่งเป็นวิศวกร (คุณสมบัติ อนันตรัมพร) เมื่อปี 2525 และมีลูกคนแรก (พญ.ลิลรฎา อนันตรัมพร) ในปี 2528 ตอนนั้นเราจำเป็นต้องทำงานทั้งคู่จึงต้องฝากลูกไว้กับเนิร์สเซอรี่ ดิฉันร้องไห้ทุกครั้งที่ไปส่งลูก เพราะคิดว่าทำไมชีวิตนี้จึงไม่มีโอกาสได้เลี้ยงลูกเอง ปรากฏว่าพอลูกอายุ 7 เดือน เกิดท้องเสียขั้นรุนแรงจนต้องเข้าโรงพยาบาลเพราะแพ้อาหารจากเนิร์สเซอรี่พอเห็นลูกป่วยหนักจึงตัดสินใจตอนนั้นเลยว่าต้องออกมาเลี้ยงลูกด้วยตนเอง

หลังลาออกจากงานประจำ คุณชลิดาเลี้ยงลูกอย่างเดียวเลยหรือคะ

เมื่อลาออกมาอยู่บ้าน ด้วยความที่เป็นคนไม่หยุดนิ่ง อยู่เฉย ๆ ไม่เป็น ดิฉันจึงใช้เวลาว่างจากการดูแลลูกเปิดสำนักงานบัญชีและรับจดทะเบียนบริษัท ตอนนั้นเริ่มมีธุรกิจเล็ก ๆ เป็นของตัวเอง ใช้ชื่อว่าสำนักงานบัญชีบัณฑิตอนันต์จนกระทั่งตั้งท้องลูกคนที่สอง (นายณัฐนัย อนันตรัมพร) จึงปรึกษาสามีและไปจดทะเบียนตั้งบริษัทอินเตอร์เนชั่น-แนล (1987) จำกัด เพื่อทำธุรกิจซื้อมาขายไปทำให้มีรายได้เพิ่มในครอบครัว ซึ่งถือเป็นจุดเริ่มต้นของธุรกิจของกลุ่มบริษัทอินเตอร์ลิ้งค์ฯออร์เดอร์แรกก็ถูกทดลองความอดทน จำได้ว่าขายสายไฟฟ้าขนาดใหญ่ให้หน่วยงานหนึ่งซึ่งเมื่อร้านค้าเอาสายไปส่ง ฝ่ายพัสดุจะขอให้ดิฉันซึ่งกำลังอุ้มท้องลูกคนที่สองคลี่สายไฟฟ้าออกมาวัดความยาวตามที่ลูกค้าต้องการ

ต่อมาก็เริ่มไปยื่นซองเสนอราคาโต๊ะเก้าอี้ อุปกรณ์สำนักงาน ระยะหลังเริ่มเป็นออร์เดอร์อุปกรณ์สิ้นเปลืองของคอมพิวเตอร์ซึ่งกำลังเป็นที่ต้องการมากในยุคนั้น เช่น หมึกพิมพ์ ริบบอน (ผ้าหมึก) กระดาษต่อเนื่อง และแผ่นดิสเก็ตต์เก็บข้อมูลสินค้าตัวไหนที่ไม่รู้จักก็โทร.ไปขอความรู้จากเจ้าของสินค้าก่อน ซึ่งได้รับความเมตตาจากพวกเขาอย่างมาก

พัฒนาเป็นธุรกิจขนาดใหญ่ได้อย่างไรคะ

เมื่อได้พูดคุยกับทั้งฝ่ายลูกค้าและซัพพลายเออร์มากขึ้น จึงทำให้มีวิญญาณนักขายโดยไม่รู้ตัว ประกอบกับดิฉันชอบบริการลูกค้า อำนวยความสะดวกให้ลูกค้าที่ต้องการสินค้าต่างรุ่นต่างยี่ห้อ กลายเป็นศูนย์กลางรวมสินค้าพร้อมบริการประทับใจส่งให้ทุกอย่างทั้งขายปลีกและขายส่ง ตอนนั้นทั้งบริษัทมีแต่ดิฉันกับพนักงานอีกคนเท่านั้นซึ่งยังอยู่ด้วยกันจนถึงทุกวันนี้

จากพนักงาน 1 คน ค่อย ๆ เพิ่มขึ้นเป็น 9 คน และสามีก็ลาออกจากงานประจำมาช่วยงานธุรกิจครอบครัวเต็มเวลา โดยได้มาริเริ่มธุรกิจสายสัญญาณ และเป็นเจ้าแรกของประเทศไทยที่นำเทคโนโลยีสาย LANเข้ามาเผยแพร่ หลังจากนั้นก็ร่วมกับสามีสร้างธุรกิจครอบครัวให้เติบโต โดยเน้นสายสัญญาณและขยายงานไปรับเหมาติดตั้งงานโครงข่ายคอมพิวเตอร์ และให้บริการด้านวิศวกรรมวางระบบแบบครบวงจรอีกด้วยต่อมาจึงได้เปลี่ยนชื่อเป็นบริษัทอินเตอร์ลิ้งค์ คอมมิวนิเคชั่น (ประเทศไทย) จำกัดเพื่อใช้ชื่อให้สอดคล้องกับธุรกิจและสร้างความน่าเชื่อถือให้ลูกค้า โดยเป็นผู้นำเข้าสาย LAN ทั้งยี่ห้อ AMP และยี่ห้อ LINKจากอเมริกา พร้อมบริการวางระบบแบบครบวงจร ส่งผลให้ธุรกิจเติบโตอย่างต่อเนื่องจนสามารถจดทะเบียนเข้าตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยในนาม “บริษัทอินเตอร์ลิ้งค์คอมมิวนิเคชั่น จํากัด (มหาชน) หรือเรียก ชื่อย่อว่า ไอลิ้งค์ (ILINK)”

คลิกเลข 2 ด้านล่าง เพื่ออ่านหน้าถัดไป

เมื่อเป็นทั้งคุณแม่และเจ้าของธุรกิจสอนลูกอย่างไรคะ

สมัยเป็นลูกจ้าง ดิฉันนำงานกลับมาทำที่บ้านบ่อย ๆ เปิดกระเป๋าให้ยามตรวจได้เลยว่าเอาเอกสารอะไรกลับบ้านบ้าง ให้ยามถ่ายรูปเป็นหลักฐาน ดิฉันซื่อสัตย์และรักองค์กร คิดว่าความกตัญญูไม่เพียงต่อบุพการีเท่านั้น แต่เราเป็นพนักงาน ต้องกตัญญูต่อองค์กรด้วย จึงไม่เคยคิดไม่ดีต่อองค์กรไม่เคยคิดเลยว่าเราทำงานหนักเกินไป คิดตลอดเวลาว่างานต้องเสร็จ สมัยก่อนพนักงานส่วนใหญ่มีความรับผิดชอบต่องานสูงมากทุ่มเท ไม่มีการเรียกร้อง หน้าที่ที่เรารับผิดชอบคือทำก็ต้องทำ

ดิฉันทุ่มเทให้งานร้อยเปอร์เซ็นต์ รักในหน้าที่ มีจรรยาบรรณกับงานบัญชี ความลับรั่วไหลไม่ได้ ดิฉันดีใจที่เลือกเรียนบัญชี ยังบอกกับลูกทุกคนว่า ถ้าใครโตมาอยากเรียนบัญชี แม่ไม่ว่าเลย เพราะนักบัญชีเป็นอาชีพที่ดีที่สุด เป็นอาชีพที่แม่ได้ใกล้ชิดลูก เพราะงานบัญชีสามารถทำได้ตลอดเวลา หรือทำที่ไหนก็ได้ สำหรับดิฉัน ลูกคือสิ่งสำคัญที่สุดหากงานไม่เสร็จ แต่ถึงเวลาที่ต้องกลับไปรับลูกดิฉันก็พับเอกสารเข้ากระเป๋าไปหาลูกได้ทันที

กระทั่งมีธุรกิจเป็นของตัวเอง ดิฉันก็ยังนำงานกลับมาทำที่บ้านเป็นประจำ เวลาทำงานของคนทั่วไปอาจหมายถึงเวลา 8 โมงเช้าถึง 5 โมงเย็น แต่ทุกนาทีของดิฉันคือการทำงานหากทั้งวันยกให้งานสังคม เวลาที่เหลือจึงต้องจัดสรรงานธุรกิจ ไม่เคยหยุดนิ่งหรือหยุดทำงานเลย

เมื่อต้องทำงานหนักจึงอาศัยการทำงานเป็นการสอนลูก ลูกทุกคนโตมากับธุรกิจ เขาเห็นดิฉันทำงานหนักมาตลอด จึงทำให้พวกเขาซึมซับเรื่องความตั้งใจ ทุกคนตั้งใจเรียน ตั้งใจทำงาน ดิฉันและสามีไม่สปอยล์ลูกเลย แม้แต่ลูกชายคนเดียวก็ยังปลูกฝังให้เขารู้จักคุณค่าของเงิน ต้องนั่งรถเมล์ไปโรงเรียนเอง เสาร์ - อาทิตย์ก็ต้องตามพ่อกับแม่ไปทำงาน ส่งไปเรียนเมืองนอกก็จำกัดค่าใช้จ่าย สอนให้เขาเห็นคุณค่าของเงินและรู้จักต่อสู้ด้วยตนเอง ปัจจุบันลูกสาวคนโตเป็นแพทย์ที่ศิริราช ลูกชายคนที่สองและลูกสาวคนที่สามเรียนจบกลับมาเป็นผู้บริหารต่อยอดธุรกิจโครงข่ายไฟเบอร์ออปติกจนธุรกิจเติบโตแบบก้าวกระโดด ส่วนลูกสาวคนสุดท้อง (น.ส.ชุติภา อนันตรัมพร) ยังเรียนหนังสือระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย

ทำไมจึงหันมาทำกิจกรรมเพื่อสังคมคะ

ขณะที่เป็นผู้บริหาร ดิฉันศึกษาต่อปริญญาโทด้านการจัดการและบริหารองค์กรขนาดใหญ่ ที่สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (NIDA) ได้เรียนรู้เรื่องหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของในหลวง รู้สึกซาบซึ้งและตื้นตันใจอย่างมาก กลับมาถามตัวเองว่าฉันรักในหลวง แล้วทำอะไรเพื่อในหลวงแล้วหรือยัง คำตอบคือ ยังไม่ได้ทำเลย จึงบอกกับตัวเองว่าต้องทำอะไรเพื่อพระองค์ท่านให้ได้ ดิฉันอ่านหนังสือเพื่อศึกษางานด้านสังคมและน้อมนำพระราชดำรัสของในหลวงมาปรับใช้ในการทำงาน

จำได้ว่าปีนั้นในหลวงมีพระราชดำรัสว่าเศรษฐกิจแย่ลง อยากให้คนที่ไปต่างประเทศมองถึงความจำเป็น ถ้าไม่จำเป็น ให้เที่ยวในประเทศไทย ดิฉันจึงปรับกติกาใหม่ในองค์กรจากเดิมที่สนับสนุนให้พนักงานได้ท่องเที่ยวต่างประเทศ เปลี่ยนเป็นสนับสนุนให้หันมาเที่ยวในประเทศเป็นหลัก ส่งเสริมงานด้าน CSR แก่พนักงาน โดยจัดกิจกรรมโครงการจิตอาสาปลูกป่าเฉลิมพระเกียรติและปฏิบัติธรรมเพื่อถวายเป็นพระราชกุศล และสร้างห้องนิทรรศการไว้ห้องหนึ่งภายในบริษัท เพื่อเทิดพระเกียรติพระองค์ รวบรวมพระราชดำรัสของในหลวงที่เกี่ยวข้องกับการทำงานไว้เป็นพลังใจแก่ตัวเอง และเป็นแรงบันดาลใจแก่พนักงาน ดิฉันตั้งชื่อห้องนี้ว่า “ห้องคิดคำนึง”

เริ่มทำกิจกรรมเพื่อเยาวชนได้อย่างไรคะ

ดิฉันมีลูกคนสุดท้องตอนอายุ 43 ปี ก็กลัวว่าลูกจะไม่ฉลาด จึงให้เรียนวิชาเลขตั้งแต่เล็ก ๆ ปรากฏว่าพอเก่งเลขแล้ว วิชาอื่นก็เก่งตามไปด้วย จึงคิดใช้วิชาคณิตศาสตร์เป็นวิทยาทาน ด้วยการไปสอนเด็กด้อยโอกาสตามโรงเรียนต่าง ๆ เกิดเป็นแรงบันดาลใจจัดทำโครงการพี่สอนน้อง “ปลูกปัญญา พร้อมมอบความอบอุ่น” 84 โรงเรียนถวายในหลวง ดิฉันจัดกิจกรรมให้พนักงานมีจิตสาธารณะ โดยเป็นครูอาสาไปสอนวิชาคณิตคิดเลขเร็ว วิทยาศาสตร์น่ารู้ และภาษาอังกฤษเพื่อปลูกฝังให้เด็ก ๆ ช่างสังเกต ช่างสงสัย กล้าแสดงออก และสร้างจินตนาการ เราไม่สอนตามตำรา แต่จะเน้นการปฏิบัติจริงกระตุ้นให้เกิดแรงบันดาลใจในการเรียนรู้ สอดแทรกเรื่องความสนุกลงไปเพื่อให้เด็กประทับใจและกลายเป็นความรักในวิชาเหล่านี้

อีกหนึ่งวิชาที่ดิฉันตั้งใจมากคือ การน้อมนำพระราชกรณียกิจของพระบาทสมเด็จ-พระเจ้าอยู่หัวมาถ่ายทอดผ่านวิชาศิลปะ วิชานี้นอกจากมีพระองค์ท่านเป็นแรงบันดาลใจแล้วยังนำวิธีการที่ลูกคนเล็กได้ไปเรียนศิลปะแล้วเห็นผลมาใช้ด้วย เมื่อลงพื้นที่ ดิฉันเห็นเด็กรุ่นหลังส่วนใหญ่แทบไม่รู้จักในหลวงเลย ไม่มีการสอนเรื่องพระราชกรณียกิจในตำรา ดิฉันจึงอยากสอนเด็ก ๆ ให้รักในหลวง และเห็นถึงความเหน็ดเหนื่อยของพระองค์ที่ทรงทำเพื่อคนไทยทุกคน โดยสอนให้เรียนรู้และเกิดจินตนาการจากเพลง วีดิทัศน์ และภาพถ่าย กระตุ้นให้เกิดจินตนาการโดยจัดประกวดวาดภาพในหัวข้อฉันรักในหลวง

โครงการพี่สอนน้องฯมีเป้าหมายที่ 84โรงเรียน เริ่มต้นในโรงเรียนแห่งแรกที่จังหวัดพิจิตร และขยายไปจังหวัดต่าง ๆ แต่เมื่อทำกิจกรรมได้ 10 โรงเรียน ดิฉันมาคิดว่า การทำความดี ทำแล้วก็เลิกได้ หรือใครจะไม่ทำก็ได้ ดิฉันกลัวว่าถ้าเป็นแค่โครงการ วันหนึ่งจะเลิกก็ได้ จึงใช้เงินตัวเองห้าแสนบาทมาจัดตั้ง “มูลนิธิอินเตอร์ลิ้งค์ให้ใจ” เพื่อเป็นเครื่องเตือนใจตนเองว่า จะไม่มีวันเลิกทำความดี มูลนิธิจึงจัดกิจกรรมอย่างต่อเนื่องจนเข้าสู่โรงเรียนที่ 55 แล้ว

คลิกเลข 3 ด้านล่าง เพื่ออ่านหน้าถัดไป

คุณชลิดาได้อะไรจากการทำงานเพื่อสังคมบ้างคะ

สิ่งที่ดิฉันได้รับทุกวันนี้คือ ความสุข สิ่งที่เห็นแล้วภูมิใจมากก็คือ หลังทำกิจกรรมน้อง ๆ จิตอาสาไม่มีอาการเหนื่อยเลย ระหว่างเดินทางกลับ ทุกคนคุยกันอย่างมีความสุขว่า น้องคนนี้น่ารักมาก เด็กคนนี้ฉลาด เด็กคนนั้นตั้งใจเรียน มีแต่ความสดชื่น ไม่มีความเหนื่อยหน่ายเลย การทำบุญด้วยแรง เราจะได้รับความภูมิใจเมื่อได้ทำจนสำเร็จและจะติดตัวเราตลอดไป

ดิฉันเชื่อว่า การทำความดีต้องใช้ใจนำทาง พยายามบ่มเพาะเรื่องเหล่านี้แก่พนักงานและลูก ๆ มาตลอด เมื่อลงพื้นที่ดิฉันพาลูกไปด้วยเสมอ เพื่อให้เขาซึมซับในสิ่งที่เราทำ หากเขารู้จักการให้แล้ว เชื่อว่าต้องเอาใจใส่คนรอบข้างหรือครอบครัวของเขาเองมากขึ้นด้วย ดิฉันบอกกับพนักงานเสมอว่าหากเป็นคนดีขององค์กรแล้ว แม้คุณจะออกไปทำงานที่ใด คุณก็ยังเป็นคนดีของสังคม กลับไปบ้านคุณก็เป็นคนดีของพ่อแม่เป็นคนดีของครอบครัว

หลังจากทำงานกับเด็ก ๆ ดิฉันมีแนวคิดว่า หากเราสามารถพัฒนาครูที่ดีได้ 1 คน จะสามารถสร้างเด็กที่ดีได้หลายคน จากแนวคิดนี้ทำให้เกิด “โครงการพัฒนาครู” ขึ้น ครูเป็นเสมือนพ่อแม่คนที่สองของนักเรียนทุกคน ทุกครั้งที่มูลนิธิจัดกิจกรรม ดิฉันต้องลงพื้นที่ภาคสนามก่อนเสมอเพื่อให้รู้ปัญหาแต่ไม่มีวิทยากรคนใดที่สามารถลงพื้นที่กับมูลนิธิได้ทุกครั้ง ดิฉันจึงต้องเป็นวิทยากรเอง โดยไม่สอนเชิงวิชาการ แต่เป็นผู้ที่แลกเปลี่ยนความรู้สึกในฐานะที่เราเป็นแม่เป็นผู้ปกครองที่พาดวงใจน้อย ๆ มาฝากคุณครูดูแล เกิดการแลกเปลี่ยนกันว่าผู้ปกครองคาดหวังอะไรกับคุณครู สร้างแรงบันดาลใจให้คุณครูพัฒนาความรู้เด็ก ๆ ให้เรียนเก่งและเป็นคนดีให้มากที่สุด ไม่ใช่เพียง 5อันดับแรกของห้องเท่านั้น แต่มองในจุดที่ขาดและเติมเต็มให้แก่การพัฒนาเด็กซึ่งเป็นผ้าขาวที่รอการเติมแต่งจากคุณครูที่รักศิษย์

ที่สำคัญคือ ให้คุณครูได้ภาคภูมิใจในอาชีพของตนเอง เพราะหลายคนคิดว่าอาชีพครูเงินเดือนน้อย เป็นอาชีพลำบาก แต่มีผลวิจัยระบุว่า เงินเดือนครูสูงกว่าอีกหลายอาชีพมาก และเป็นอาชีพที่ไม่ว่าใครก็ยกมือไหว้ เพราะฉะนั้นต้องภูมิใจในอาชีพของตนเอง

ทุกวันนี้ดิฉันไม่เคยคิดว่างานสังคมเป็นภาระหรือรู้สึกเหนื่อยเพราะเรื่องนี้เลย แต่มันคือความสุข เวลาลงพื้นที่ ทุกคนจะเห็นว่าดิฉันกินง่ายอยู่ง่าย ใช้ชีวิตแบบราบเรียบ ทุกครั้งที่มูลนิธิจัดกิจกรรมพัฒนาคุณครู ดิฉันบอกกับคุณครูทุกคนว่า ดิฉันเป็นเพียงผู้หญิงตัวเล็ก ๆ คนหนึ่งซึ่งไม่ได้อาจหาญมาสอนหรือลบหลู่คุณครูแต่อย่างใด เพียงหวังส่งเสริมให้คุณครูสอนเด็กให้เป็นคนดี ไม่ใช่เพื่อมูลนิธิอินเตอร์ลิ้งค์ให้ใจเท่านั้น แต่ทุกท่านกำลังทำเพื่อถวายในหลวงของพวกเรา

วันนี้เรียกว่าประสบความสำเร็จในชีวิตแล้วหรือยังคะ 

 หลายคนบอกว่าวันนี้ดิฉันประสบความสำเร็จแล้ว เพราะมองจากธุรกิจ แต่ดิฉันกลับถามตัวเองว่า ชีวิตประสบความสำเร็จแล้วจริงหรือ สมัยเป็นลูกจ้าง ดิฉันเริ่มต้นจากเงินเดือนไม่ถึงพัน ค่อย ๆ ไต่เต้าจนเงินเดือนขึ้นมาทีละน้อย เป็นหลักพัน ตอนนั้นตั้งเป้ากับตัวเองว่า ถ้าเงินเดือนถึงหมื่นบาท จะลาออกจากงานเพราะรู้สึกว่าเยอะมาก ถือว่าประสบความสำเร็จแล้ว เมื่อทำธุรกิจก็ตั้งเป้าว่า ถ้ามีเงินเก็บล้านบาท ก็พอแล้ว ชีวิตคงประสบความสำเร็จแล้วในตอนนั้น

ปรากฏว่า ช่วงที่ดิฉันเก็บเงินได้หลักแสน คุณแม่ก็ป่วยหนัก เก็บเงินได้เท่าไหร่ก็นำไปจ่ายค่ารักษาคุณแม่จนหมด ไม่ถึงล้านสักที สุดท้ายดิฉันเชื่อว่าผลของความกตัญญูทำให้วันหนึ่งดิฉันมีเงินล้านจริง ๆ แต่นั่นไม่ได้ตอบโจทย์ในชีวิตเลย เงินล้านไม่ได้บอกเราเลยว่านั่นคือความสำเร็จ ดิฉันกลับพบบทเรียนที่ทำให้รู้ว่า คนที่มีเงินมากมาย แต่อาจไม่ได้รับมิตรภาพที่แท้จริง สู้เป็นคนธรรมดาดีกว่า จะมีอะไรมาวัดได้ว่าต้องมีเงินแค่ไหนจึงเรียกว่ามีมากหรือน้อย มีอะไรมาชี้วัดได้ว่านั่นคือความสำเร็จ แต่ความภูมิใจต่างหากที่เป็นความสำเร็จที่แท้จริง

ดิฉันภูมิใจที่ผ่านปัญหาต่าง ๆ มาได้ด้วยความกตัญญูต่อบุพการี และสามารถตอบแทนบุญคุณผู้ใหญ่ทุกคนที่ดิฉันเคารพได้ ไม่ว่าจะเป็นลูก ๆ หรือพนักงาน ดิฉันอยากให้พวกเขาภูมิใจในตัวเอง เหมือนทุกวันนี้ดิฉันอยู่ได้เพราะความภูมิใจ เงินไม่ได้เป็นปัจจัยวัดความภูมิใจของใคร มีเงินหมื่นล้านแต่ไม่มีคนนับถือก็ไม่มีความหมายชีวิตนั้นก็ไม่มีคุณค่า

ดิฉันเชื่อว่า การทำความดีต่างหากที่วัดความภูมิใจของเรา 


เรื่อง อุราณี  ทับทอง  ช่างภาพสรยุทธ  พุ่มภักดี  สไตลิสต์ณัฏฐิตา  เกษตระชนม์

Secret คือแรงบันดาลใจ
สั่งซื้อนิตยสารหรือสมัครสมาชิก Secret ได้ที่ 0-2423-9889
ทาง Naiin.com : https://www.naiin.com/magazines/title/SC/

Posted in MIND
BACK
TO TOP
cheewajitmedia
Writer

© COPYRIGHT 2024 Amarin Corporations Public Company Limited.