เบื้องหลังความสำเร็จของ ระเฑียร ศรีมงคล ผู้บริหารบริษัทบัตรกรุงไทย

เบื้องหลังความสำเร็จของ ระเฑียร ศรีมงคล ผู้บริหารบริษัทบัตรกรุงไทย

คงไม่ผิดนักหากจะบอกว่าการพลิกฟื้นของบริษัทบัตรกรุงไทย จำกัด(มหาชน)หรือ “เคทีซี” จากการขาดทุนอย่างหนักให้กลับมามีกำไรได้ภายในปีเดียวคุณ ระเฑียร ศรีมงคลประธานเจ้าหน้าที่บริหารคนปัจจุบันมีส่วนสำคัญอย่างมากในความเปลี่ยนแปลงนี้

ก่อนจะก้าวเข้าสู่ธุรกิจการเงิน เขาเคยเป็นแพทย์มาก่อน และมองว่าทั้งสองอาชีพมีหลักการไม่ต่างกัน

“เป็นหมอต้องวินิจฉัยโรค แล้วหาวิธีแก้ไปทีละโรคเช่นเดียวกับการทำธุรกิจที่ต้องพิจารณาปัญหาที่เกิดขึ้น แล้วแก้ไปทีละปม”

คุณระเฑียรเริ่มทำงานที่บริษัทหลักทรัพย์ทิสโก้ จำกัดเป็นที่แรก โดยไม่รู้ด้วยซ้ำว่าบริษัททำธุรกิจอะไร ทุกอย่างจึงเป็นการเริ่มต้นเรียนรู้ใหม่ทั้งหมด

“เมื่อได้เข้าไปทำงาน ผมพยายามศึกษาทุกอย่าง เรียนรู้ให้มากกว่าคนอื่น ปกติเริ่มทำงานเวลา 8.30 น. แต่ผมไปถึงออฟฟิศ 6.30 น. ซึ่งจะมีเวลา 2 ชั่วโมงเพื่อเรียนรู้งานต่าง ๆ รวมทั้งคอมพิวเตอร์ เพราะช่วงนั้นบริษัทเริ่มมีคอมพิวเตอร์ผมไม่เคยใช้มาก่อน ตื่นเต้นมาก เมื่อยังไม่มีใครมาทำงานเราก็มีโอกาสได้ลองใช้คอมพิวเตอร์มากกว่าคนอื่น

“ทิสโก้คือโรงเรียนที่ดีที่สุดสำหรับผม เจ้านายของผมคือคุณสถิตย์ อ๋องมณี เป็นคนเก่งมาก ท่านสอนผมว่า ก่อนที่เราจะทำความเข้าใจเรื่องธุรกิจ ต้องเข้าใจกฎหมายก่อน ท่านให้หนังสือมาเล่มหนึ่ง ผมก็มานั่งศึกษา ถ้ามีอะไรที่เราไม่เข้าใจหรือไม่รู้ ผมก็เดินเข้าไปถามท่าน นอกจากนี้คุณสถิตย์ยังสอนผมเรื่องให้ความสำคัญกับเรื่องอื่น ๆ นอกเหนือจากงานด้านการตลาด ทั้งเรื่องของระบบปฏิบัติการต่าง ๆ การทวงหนี้เรื่องของไอที ฯลฯ คือให้ใส่ใจกับทุก ๆ เรื่อง”

หลังจากนั้นเขาทำงานในแวดวงการเงินการธนาคารมาโดยตลอด โดยเป็นอดีตรองกรรมการผู้จัดการสนับสนุนธุรกิจ บมจ.ธนาคารธนชาต, อดีตรองกรรมการผู้จัดการ กลุ่มปฏิบัติการ บมจ.ธนาคารนครหลวงไทย, อดีตประธานกรรมการตรวจสอบ บริษัทอินโดรามา เวนเจอร์ส จำกัด (มหาชน) ก่อนจะเข้ามาบริหารบริษัทบัตรกรุงไทย จำกัด (มหาชน)เมื่อปี พ.ศ. 2555

 

ระเฑียร ศรีมงคล

 

“ช่วงที่ คุณนิวัตต์ จิตตาลาน ประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัทบัตรกรุงไทย จำกัด (มหาชน) เกษียณอายุ เคทีซีเปิดรับประธานเจ้าหน้าที่บริหารคนใหม่ ผมจึงลองมาสมัครสุดท้ายก็ได้รับโอกาสที่ดีในการทำงาน”

เมื่อถามถึงวิธีพลิกฟื้นบริษัทที่กำลังขาดทุนอย่างหนักให้กลับมามีกำไร เขาเล่าว่า

“ตอนเข้ามาเคทีซีใหม่ ๆ ผมตั้งโจทย์ง่าย ๆ คือดูว่าบริษัทมีโครงสร้างรายได้ โครงสร้างรายจ่ายอย่างไร ธุรกิจบัตรเครดิตจะมี 3 ส่วนใหญ่ ๆ ส่วนแรกคือ ที่มาของผู้สมัครบัตร ส่วนที่ 2 Execution คือการประสานงานให้การใช้บัตรซื้อสินค้าและเบิกเงินสดเป็นไปอย่างราบรื่น และสุดท้ายคือส่วนของ Collection คือส่วนติดตามทวงหนี้ ผมให้ความสำคัญกับ 3 ส่วนนี้เท่า ๆ กัน

“หลังจากนั้นต้องมาดูว่าส่วนไหนที่เป็นจุดอ่อน ส่วนไหนที่ให้ผลตอบแทนสูงสุด ส่วนไหนที่ต้องแก้ไขอย่างเร่งด่วนก็ไปแก้จุดนั้นก่อน ในเวลานั้นส่วนที่สำคัญที่สุดคือ Collectionก็ค่อย ๆ แก้ไปทีละส่วน จนสามารถพลิกสถานการณ์ที่ย่ำแย่ให้กลับมาดีได้ในที่สุด

“ผมโชคดีที่ได้ความร่วมมือจากพนักงานที่ช่วยขับเคลื่อนให้ธุรกิจเดินไปข้างหน้าอย่างไม่สะดุด ผมเชื่อว่าการที่องค์กรประสบความสำเร็จไม่ได้เกิดจากผมเพียงคนเดียว แต่เกิดจากความร่วมมือร่วมใจกันของทีมงานทุกคน”

ในฐานะที่เป็นผู้บริหารที่ประสบความสำเร็จคนหนึ่ง เขาเล่าถึงหลักในการบริหารงานบริหารคนว่า

“เรื่องของการบริหารงาน ผมจะไม่ใส่ใจอดีตมากนักเพราะกลับไปแก้ไขไม่ได้ ถึงมันจะผิดพลาด ก็เรียนรู้จากความผิดพลาด เพราะเสียใจก็ไม่ช่วยอะไร มันไม่เปลี่ยนสิ่งที่เกิดขึ้นแล้วให้ดีขึ้นได้ แล้วก็จะไม่กังวลกับอนาคตมากนักเพราะยังมาไม่ถึง ผมจะทำวันนี้ให้ดีที่สุด การบอกว่าไม่กังวลกับอนาคต ไม่ได้หมายความว่าประมาท เราต้องมีการตั้งรับกับปัญหาอันอาจจะเกิดขึ้นในอนาคต หรือทิศทางธุรกิจที่จะเป็นไป ว่าในอนาคตจะไปในทิศทางไหน การเตรียมการที่ทำในวันนี้ไม่ใช่ความกังวล แต่คือสิ่งที่ต้องทำ ถ้าวันข้างหน้าเป็นไปตามที่เราพยากรณ์ ก็แก้กันไปตามที่เตรียมตั้งรับไว้ แต่ถ้าไม่เป็นไปตามที่พยากรณ์ก็ไม่ต้องแก้อะไร แค่นั้นเอง

“ส่วนเรื่องของการบริหารคน ผมเป็นคนให้คนอื่นเต็มร้อยก่อน เวลาเขาทำไม่ดีก็ค่อย ๆ ตัดคะแนนลง เมื่อให้คะแนนเต็มร้อยไว้ก่อน ผมก็จะพยายามช่วยให้เขาทำงานให้ได้ ถ้าเขาทำงานไม่ได้เพราะไม่มีความรู้ ผมจะพยายามใส่ความรู้ให้เขาจัดทำเทรนนิ่งให้เป็นเรื่องเป็นราว แต่ถ้าเขาทำไม่ได้เพราะไม่อยากทำ ก็ต้องดูว่ามีสาเหตุมาจากอะไร จากนั้นก็พยายามหาทางสร้างแรงจูงใจให้เขา คนเรามีที่มาต่างกัน ผมจะคอยเสริมส่วนที่เขาขาด ที่สำคัญคือ พยายามมองคนบวกไว้ก่อนจะไม่มองลบ และเน้นที่การให้โอกาส

“ชีวิตผมทำอะไรผิดพลาดเยอะ แต่ผมเป็นคนไม่ค่อยจำอะไรที่ผิดพลาด ผมคิดว่าถ้าผิดพลาด ต้องไปดูว่าผมพลาดเพราะอะไร แล้วต้องทำอย่างไรจึงจะไม่เกิดขึ้นอีก ผมเชื่อว่าคนที่ทำงานแล้วไม่ผิดพลาด คือคนที่ไม่ได้ทำอะไรเลย ถ้าให้ผมเลือกรับคนเข้าทำงาน ระหว่างคนที่ไม่เคยทำอะไรผิดพลาด กับคนที่ทำอะไรผิดพลาดแล้วรู้ว่าตัวเองผิดพลาดตรงไหน ต้องแก้ไขอย่างไร ผมเลือกคนที่เคยทำงานผิดพลาดมากกว่าเลือกคนที่ไม่เคยทำงานผิดเลย”

อย่างไรก็ตาม เขายอมรับว่าวิธีคิดในวันนี้แตกต่างจากในอดีตอย่างสิ้นเชิง

“เมื่อก่อนผมเป็นคนหยิ่ง ทะนง และจองหอง เพราะเป็นคนทำอะไรประสบความสำเร็จมาตลอด ไม่เคยทำอะไรไม่ได้สามารถหาเงินล้านได้ง่ายมาก จนเมื่อเกิดวิกฤติเศรษฐกิจปี พ.ศ. 2540 การเงินของผมเสียหายหนักมาก นั่นเป็นสิ่งที่ในชีวิตนี้ผมไม่เคยคิดว่ามันจะเกิดขึ้น ผมไม่เคยเข้าใจในเรื่องอนิจจัง จนกระทั่งเจอกับเหตุการณ์ดังกล่าว

“มาถึงวันนี้ผมดีใจที่เกิดวิกฤติครั้งนั้น เพราะทำให้ผมเข้าใจชีวิตมากขึ้น ก่อนเกิดเหตุการณ์นี้ ผมเป็นคนที่ตั้งอยู่บนความประมาทมากเกินไป ถึงวิกฤติเศรษฐกิจปี 40 จะทำให้ชีวิตติดลบ แต่มันก็ช่วยพลิกชีวิต พลิกมุมมองในการมองโลกของผมใหม่หมด ผมรู้สึกว่ามันเป็นการกลับด้านที่ดีมาก ๆทำให้ทุกวันนี้ผมใช้ชีวิตอย่างไม่ประมาท ใช้ชีวิตโดยมีสติเป็นที่ตั้ง และรู้สึกว่าชีวิตมีคุณภาพมากกว่าเดิม”

เมื่อเข้าใจสัจธรรมเรื่องนี้ เขาจึงต้องการปลูกฝังพนักงานให้ตระหนักเรื่องการมีสติ เพราะมีประโยชน์ทั้งในการทำงานและชีวิตส่วนตัว ในองค์กรเคทีซีช่วงนั้นจึงนิมนต์พระมาเทศน์ให้พนักงานฟังเป็นประจำ

“คนไทยส่วนใหญ่นับถือศาสนาพุทธ นับถือและศรัทธาพระสงฆ์ ผมคิดว่าการนิมนต์พระดี ๆ มาพูดเพื่อเตือนสติเรื่องการใช้ชีวิตเป็นสิ่งจำเป็นและสำคัญมาก เพราะสติเป็นเรื่องสำคัญในการดำรงชีวิต เป็นตัวควบคุมทุกอย่าง รวมทั้งช่วยให้ทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ยิ่งองค์กรของเรามีคนทำงานที่อายุน้อยเป็นจำนวนมาก เป็นวัยที่หลงระเริงและขาดสติได้ง่าย ผมในฐานะที่เคยผ่านชีวิตที่ประมาทมาก่อน จึงคิดว่าการนำธรรมะเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งขององค์กรเป็นเรื่องที่ควรทำเป็นอย่างมาก และอีกหนึ่งเจตนาคือต้องการให้คนในองค์กรเข้าใจในหลักคำสอน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของไตรลักษณ์หรือมรรค 8 เพื่อนำมาปรับใช้ในชีวิตประจำวันและกำจัดทุกข์ได้ด้วยตัวเอง”

แม้จะพยายามสนับสนุนให้พนักงานนำธรรมะไปใช้ในชีวิตประจำวัน แต่ในแง่ของการทำธุรกิจ หลายคนอาจมองว่าการให้บริการบัตรเครดิตเป็นการกระตุ้นกิเลสประเภทหนึ่ง เขามีมุมมองในเรื่องนี้ว่า

“เราไม่เคยกระตุ้นความโลภของใคร เพราะเราไม่ยัดเยียดสิ่งที่คนไม่ต้องการ เราให้บริการคนที่มีความต้องการอยู่แล้วคนที่มีความจำเป็นต้องใช้จ่าย

“ส่วนเรื่องของการติดตาม ผมขอชี้แจงว่า ถ้าเป็นลูกค้าที่ดี ปฏิบัติตามกฎทุกอย่าง แล้วพนักงานทำอะไรไม่ถูกบอกได้เลย เราจะจัดการทันที เพราะพนักงานติดตามของเราผ่านการอบรมให้พูดจาสุภาพ เคารพลูกค้า ไม่มีการพูดข่มขู่กรรโชกอย่างแน่นอน แต่ก็อยากให้เข้าใจว่าการติดตามหนี้เป็นหน้าที่ของพนักงานของเราที่มีต่อบริษัท เขาไม่รู้ว่าเรื่องที่ลูกค้าเล่าเพื่อขอผ่อนปรนหนี้เป็นเรื่องจริงหรือเท็จ คนไม่จ่ายหนี้มีเหตุผลทุกคน พนักงานต้องทำเพราะเป็นหน้าที่พอหมดหน้าที่ คนเหล่านี้ก็เข้าวัดทำบุญตามปกติ”

                นับเป็นแนวคิดของผู้บริหารที่สามารถประสานทั้งทางโลกและทางธรรมให้เดินควบคู่กันไปได้เป็นอย่างดี 

เรื่อง อุรัชษฎา ขุนขำ ภาพ วรวุฒิ วิชาธร สไตลิสต์ ณัฏฐิตา เกษตระชนม์

 

บทความน่าสนใจ

ยืดหยุ่นให้กับนิยามความสำเร็จของตัวเอง แล้วจะประสบความสำเร็จ

หยุดทำ 10 สิ่งนี้หากคุณ อยากประสบความสำเร็จ

กฎ 3 ข้อของ การสื่อสาร ให้ประสบความสำเร็จ

6 เคล็ดลับ ประสบความสำเร็จสำหรับ คนทำงาน

5 เทคนิค พูดให้ประสบความสำเร็จ เคล็ดลับดีๆ ที่ไม่ควรมองข้าม

7 คมความคิดของแจ็ค หม่า มหาเศรษฐีผู้ประสบความสำเร็จระดับโลก

7 แนวคิดเด็ดของผู้ประสบความสำเร็จในไทย

คุณหมอ ศศธร จากเด็กหญิงเฉียดตายสู่หมอเวชศาสตร์ฉุกเฉินที่อังกฤษ

ไข่มุก ชุติมา ดุรงค์เดช กล้าที่จะ”ฝัน”และทำมันให้เป็น “จริง”

‘หมอบอส’ คุณหมอนักปรุง กับความชอบและความฝันที่เดินไปพร้อมกัน

 

© COPYRIGHT 2024 Amarin Corporations Public Company Limited.