ลูกเรือไทย

นรกกลางทะเล ตีแผ่ชีวิต ลูกเรือไทย

ลูกเรือไทย กับชีวิตกลางทะเล

เมื่อชีวิตของ ลูกเรือไทย ท่านหนึ่งกำลังจะตกนรกทั้งเป็นจากการทำงานบนเรือไปยังประเทศอินโดนีเซีย มิหนำซ้ำยังถูกบริษัทนายจ้างหลอกลวงเงินเดือนและนำตัวเขาไปขังคุกของบริษัท เรื่องราวจะเป็นเช่นไร ติดตามอ่านได้เลย >>>

จากคนที่เคยติดคุกถึงสองครั้งสองครา ครั้งหนึ่งจากบาปที่ตนก่อ และอีกครั้งจากชะตาที่ตนไม่มีสิทธิ์กำหนด พลิกผันมาเป็นอาสาสมัคร ที่มุ่งมั่นในการช่วยเหลือ “เหยื่อ” คนอื่นให้รอดพ้นจากนรกบนดิน

ผมเกิดที่จังหวัดพิษณุโลก พออายุได้ประมาณ 15 ปีก็ย้ายมาอยู่กรุงเทพฯ เวลานั้นผมมีนิสัยเกเร ไม่กลัวใคร ด้วยเหตุนี้เองจึงเรียนจบเพียงชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 ผมไม่รู้จะประกอบอาชีพอะไร เพราะไม่มีความรู้ ได้แต่ติดตามพ่อค้ามือสองที่ทำงานมานานแล้วไปตามกองขยะต่าง ๆ เพื่อไปหาเก็บของมารีไซเคิล เช็ดถูให้เหมือนใหม่แล้วจึงนำมาขาย

หลังจากนั้นผมก็เริ่มขยับขยายมารับซื้อของใช้แล้วอย่างเช่นโทรศัพท์มือถือ แหวนคอมพิวเตอร์ และอื่น ๆ เพื่อนำไปขายต่อกระทั่งวันหนึ่งผมไปรับซื้อของจากโจรทั้ง ๆที่รู้ว่าเป็นของที่ถูกขโมยมา เมื่อโจรที่ขโมยของมาถูกจับได้จึงซัดทอดมาที่ผม ผมต้องเข้าไปชดใช้ความผิดของตนในเรือนจำเป็นระยะเวลา 2 ปี และเพิ่งออกจากคุกเมื่อปี 2554

หลังจากนั้นผมตั้งใจจะประกอบอาชีพสุจริต เพราะต้องดูแลลูกและแม่ของผมแต่สังคมไม่ยอมรับคนมีประวัติเคยติดคุกเท่าใด ทำให้ผมไม่มีทางเลือกมากนัก โชคยังดีที่ผมมีความรู้ด้านเครื่องยนต์อยู่บ้างจึงไปหานายหน้าจัดหางานและแจ้งว่าต้องการจะทำงานบนเรือประมงในตำแหน่งช่างเครื่อง

เมื่อตกลงกันแล้ว ผมก็จ่ายค่านายหน้าและเบิกเงินล่วงหน้าจากบริษัทจำนวน 25,000บาทเพื่อนำมาให้ครอบครัว เนื่องจากเรือที่ผมไปทำงานไม่กลับมาเมืองไทยบ่อยนัก โดยบริษัทแจ้งแต่เพียงว่าจะหักรายได้ทุกเดือนเพื่อไปใช้หนี้ที่ผมเบิกล่วงหน้าไป แต่ไม่ได้ระบุจำนวนเงินที่แน่นอน

ผมขึ้นเรือจากท่าวัดตึกในแม่กลองพร้อมกับเพื่อนคนไทยอีก 7 คนไปยังเกาะเบนจินา ประเทศอินโดนีเซีย เพื่อตรวจสอบเอกสารระบุตัวตน จากนั้นจึงแยกย้ายกันขึ้นเรือตามที่ทางบริษัทได้จัดสรรไว้ให้

เมื่อขึ้นเรือไปผมเริ่มรู้สึกถึงความไม่ชอบมาพากล เพราะผมไม่ได้ทำงานในตำแหน่งช่างเครื่องตามที่ตกลงกันไว้ตอนต้นแต่กลับต้องไปนั่งคัดปลาเพื่อแยกปลาตามชนิดและขนาด จากนั้นจึงนำปลามาดองเรียงเป็นถาดและแบกเอาไปแช่ในห้องเย็นใต้ท้องเรือ ผมและลูกเรือคนอื่น ๆ ต้องทำเช่นนี้ตั้งแต่ตีห้าถึงเที่ยงคืน จะได้หยุดพักก็เฉพาะเวลาอาหารเท่านั้น ยิ่งถ้าวันไหนอวนลากปลาขาด ลูกเรือก็ต้องนั่งซ่อมอวนกันตลอดคืนจนไม่ได้พักผ่อน

สัปดาห์แรกผมทรมานมาก เพราะไม่ชินกับสภาพคลื่นลม ทำให้เมาเรือและอาเจียนตลอดเวลาจนไม่มีเรี่ยวแรงจะทำงานแต่กระนั้นก็หยุดมือไม่ได้ เพราะเพื่อนร่วมงานต่างพากันมองว่าผมเอาเปรียบผู้อื่นไม่ยอมทำงาน และทำให้งานล่าช้า บางคนถึงขั้นบันดาลโทสะด้วยการลงมือทุบตี ผมจึงต้องฝืนทำงานจนกระทั่งร่างกายรับไม่ไหวศีรษะทิ่มลงไปบนกองปลา

โชคยังเข้าข้างผมอยู่บ้างที่ไต้ก๋งเรือลำที่ผมโดยสารไม่โหดร้ายทารุณเท่ากับเรือลำข้าง ๆ ที่แล่นเคียงกันไป ระหว่างอยู่บนเรือผมเห็นเหตุการณ์ทุกอย่าง ไต้ก๋งเรือโดยสารลำข้าง ๆ เป็นคนอารมณ์ร้อน ดุด่าว่ากล่าวลูกน้องทั้งวันไม่หยุดหย่อน คนที่ทำงานไม่ทันเพื่อนก็จะถูกตีด้วยหางกระเบน ทั้ง ๆที่คนเหล่านั้นบ้างก็เป็นคนสติไม่สมประกอบบ้างก็ไม่สบายจนยืนแทบจะไม่ไหว

ผมและลูกเรือคนอื่น ๆ ต้องอยู่บนเรือหาปลาเป็นเวลาประมาณเดือนครึ่ง กว่าจะได้กลับเข้าฝั่งบนเกาะเบนจินาเพื่อถ่ายปลาระหว่างนั้นเราต้องทำงานกันทั้งวัน ไม่มีวันหยุด ไม่มีทางหนี เพราะรอบกายมีแต่ทะเลอันเวิ้งว้างกว้างใหญ่ แม้เจ็บป่วยเจียนตายก็ต้องสู้กัดฟันทน เพราะทางบริษัทไม่อนุญาตให้กลับไปขึ้นฝั่งหาหมอ อย่างเช่นกรณีของเพื่อนลูกเรือคนไทยที่ต้องเสียชีวิตไปเพียงเพราะไต้ก๋งเรือปฏิเสธที่จะวกเรือกลับเข้าฝั่งทั้ง ๆ ที่เขามีใบนัดผ่าตัดจากแพทย์

ยิ่งไปกว่านั้นผมและลูกเรือคนอื่น ๆก็ยังถูกบริษัทเรือฉ้อโกงในรูปแบบต่าง ๆไม่ว่าจะเป็นอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราที่ทางบริษัทเรือตั้งไว้สูงลิ่ว จากปกติเงิน 3,000บาทไทยต่อประมาณ 1 ล้านรูเปียะห์ แต่ทางบริษัทตั้งอัตราแลกเปลี่ยนไว้ที่ 4,000 -5,000 บาทต่อ 1 ล้านรูเปียะห์ ในขณะที่ลูกเรือได้รับเงินเพียงเดือนละ 6,000 บาทเท่านั้น ทั้งยังไม่ได้รับเงินเปอร์เซ็นต์จากการหาปลาตามที่ได้ตกลงกันไว้เบื้องต้นอีกด้วย

หลังจากที่ผมทำงานบนเรือได้ประมาณ 2 ปี ทางบ้านก็แจ้งข่าวว่ามีหมายศาลเรียกให้ผมไปไกล่เกลี่ยค่าเสียหายในคดีที่ผมเคยเซ็นรับรองผู้ต้องหาเอาไว้ ผมจึงเข้าไปคุยกับไต้ก๋งเรือเพื่อขอตัวกลับเมืองไทย แต่ไต้ก๋งเรือกลับต่อสายให้ผมคุยกับเจ้าของเรือที่เป็นเศรษฐีมีเงิน ซึ่งเขาพูดเพียงแต่ว่า “อยากกลับก็กลับ กลับได้ก็กลับ” เป็นคำตอบของคนที่พรั่งพร้อมด้วยเงินทองและอำนาจซึ่งยังคงติดตรึงอยู่ในใจผมตราบจนทุกวันนี้

คลิกเลข 2 ด้านล่าง เพื่ออ่านหน้าถัดไป

เมื่อเห็นว่าหมดหนทาง อีกทั้งไต้ก๋งเรือก็ไม่ยอมช่วย ผมจึงเก็บข้าวของลงจากเรือและไปขออาศัยอยู่ในสำนักงานของบริษัทบนเกาะเบนจินาชั่วคราวเพื่อติดต่อขอกลับไทย

หลังจากพักได้เพียง 3 วัน พนักงานของบริษัทก็แจ้งว่าไต้ก๋งเรือที่ผมโดยสารสั่งให้นำตัวผมไปขัง เพราะเป็นคนตกเรือ (คนตกเรือ หมายถึง คนที่กระทำผิด อย่างเช่นดื่มสุรา ทะเลาะวิวาท จึงไม่ได้รับอนุญาตให้ขึ้นเรือ)

คุกที่ใช้ขังคนตกเรือไม่ได้มีลักษณะแบบเรือนจำ เพราะเป็นห้องขังที่แต่ละบริษัทตั้งขึ้นมาเองเพื่อกักขังลูกเรือที่กระทำผิดดังนั้นห้องขังจึงมีลักษณะเป็นบ้านสองชั้นชั้นล่างจะแบ่งเป็นห้องคุมขังคนตกเรือ ห้องที่ผมถูกขังกว้างประมาณ 3 เมตรและยาว4 เมตร แต่จำนวนคนตกเรือที่ถูกขังในห้องแคบ ๆ นี้มีจำนวนกว่า 30 คน ทำให้ชีวิตความเป็นอยู่เป็นไปอย่างยากลำบาก ห้องน้ำก็สกปรกผิดหลักสุขอนามัย อาหารการกินมีเพียงสองมื้อ คือ มื้อเช้ากับมื้อเที่ยง และเราก็ไม่ได้รับอนุญาตให้ออกมาจากห้องขังยกเว้นเวลารับอาหารจากผู้คุมเท่านั้น

2

สำหรับผมแล้ว การถูกกักขังในที่แห่งนี้เปรียบเสมือนการตกนรกทั้งเป็น เพราะบางครั้งที่ผู้คุมเมาสุรา เขาจะเข้ามาทำร้ายทุบตีโดยที่เราไม่สามารถตอบโต้ได้ นอกจากนั้นเรายังต้องทำตามคำสั่งของผู้คุมทุกอย่าง ทั้งถางป่าเป็นพื้นที่กว้าง แบกไม้จากเรือเข้าไปเก็บไว้ในป่าที่อยู่ห่างไกล หรือแม้กระทั่งนำศพของลูกเรือที่เสียชีวิตไปฝังบ้างก็เป็นศพของคนแปลกหน้า บ้างก็เป็นศพของคนที่รู้จักคุ้นเคยกันดี เป็นความรู้สึกสะเทือนใจที่ยากจะพรรณนา

ผมพยายามหาวิธีกลับเมืองไทย เพราะทนกับสภาพความเป็นอยู่ไม่ไหว ทั้งสภาพจิตใจก็ย่ำแย่หลังจากติดคุกมาประมาณ 3 เดือนผมได้รับการช่วยเหลือจากผู้จัดการเรือบริษัทหนึ่งที่ประจำอยู่บนเกาะเบนจินา หลังจากที่ผมตัดสินใจเล่าเรื่องราวทั้งหมดให้เขาฟังซึ่งเขาแนะนำให้ผมติดต่อกับผู้จัดการมูลนิธิแห่งหนึ่งในประเทศไทย แต่เรื่องกลับเงียบหาย ไม่ได้รับการติดต่อใด ๆ กลับมาผมพยายามอีกครั้ง โดยครั้งนี้ผู้จัดการเรือแนะนำให้ผมติดต่อสถานทูตไทยในกรุงจาการ์ตา แต่เรื่องกลับเงียบหายเช่นเดิม

คลิกเลข 3 ด้านล่าง เพื่ออ่านหน้าถัดไป

ผมรู้สึกอับจนหนทางจึงพยายามหาทางติดต่อกับอดีตไต้ก๋งเรือของผมอีกครั้งและยื่นขอเสนอว่า ผมขอกลับบ้าน โดยแลกกับการทำงานบนเรือโดยไม่ขอรับค่าจ้างอีก 2เที่ยว ไต้ก๋งก็รับปากเป็นมั่นเป็นเหมาะ แต่ผมกลับถูกหลอกอีกครั้ง โดยหลังจากกลับมาจากหาปลาเที่ยวที่ 2 ผมก็สอบถามความคืบหน้าว่าจะได้กลับเมืองไทยเมื่อใด ครั้งนี้ไต้ก๋งเรือตอบเพียงแค่ว่าเถ้าแก่ไม่ยอมให้กลับ และตัวเขาก็ช่วยอะไรไม่ได้ ผมจึงเริ่มมีปากเสียงกับไต้ก๋งเรือ และหาโอกาสใช้โทรศัพท์บนเรือโทร.ติดต่อเพื่อนที่มหาชัยให้โอนเงินในบัญชีที่ผมมีทั้งหมดมาให้เพื่อที่จะนำไปให้ผู้ใหญ่บ้านกัมปงและตำรวจอินโดนีเซีย เพื่อดำเนินการไกล่เกลี่ยกับทางบริษัทเรือให้ผมได้กลับประเทศไทย ผมรอดำเนินการตามกระบวนการของประเทศอินโดนีเซียเป็นระยะเวลา 1 เดือนก็ได้เดินทางกลับบ้านเกิดดั่งใจหวัง ผิดกับลูกเรือคนอื่น ๆ ที่ยังต้องทนทุกข์ทรมานอยู่ในนรกบนเกาะเบนจินา

หลังจากที่กลับมาประเทศไทยแล้วผมก็ทำพาสปอร์ตเพื่อเดินทางไปทำงานยังประเทศอิหร่านต่อ เพราะครอบครัวของผมที่เฝ้ารอยังต้องกินต้องใช้ แต่หลังจากที่ผมไปประเทศอิหร่านได้เพียงไม่นานก็ได้ข่าวว่ามูลนิธิ LPN (Labour Rights Promotion Network) เข้าไปช่วยเหลือลูกเรือประมงบนเกาะเบนจินา ผมจึงรีบกลับมาเมืองไทยทันทีเพื่อตรวจสอบว่ามีเพื่อนของผมได้กลับมาบ้างหรือไม่ และตรงนี้เองที่จุดประกายให้ผมได้เข้ามาทำงานเป็นจิตอาสาให้มูลนิธิผมทำงานช่วยเหลือทางมูลนิธิ LPN โดยการให้ข้อมูลเกี่ยวกับลูกเรือประมงและความโหดร้ายทารุณบนเกาะเบนจินา เพราะผมคือผู้ที่เคยประสบเหตุด้วยตนเอง

ผมคิดเสมอว่าผมเคยเดินทางผิดมาครั้งหนึ่งแล้ว ดังนั้นผมจะพยายามทุกทางเพื่อช่วยเหลือคนที่ประสบชะตากรรมเช่นเดียวกับผม และป้องกันไม่ให้มีผู้โชคร้ายต้องตกนรกทั้งเป็นเพิ่มขึ้นอีก

เรื่อง ธนพล ธรรมรักษา เรียบเรียง อิศรา ราชตราชู ภาพ สรยุทธ พุ่มภักดี สไตลิสต์ ณัฏฐิตา เกษตระชนม์

คลิกเลข 3 ด้านล่าง เพื่ออ่านหน้าถัดไป

ข้อคิดจากพระครูธรรมธร ดร.สาคร สุวฑฺฒโน

ความผิดพลาดเป็นครูอันประเสริฐ ชีวิตของคนบางคนมืดมาสว่างไปบ้างก็สว่างมามืดไป บางคนมืดมามืดไป ในขณะที่บางคนสว่างมาสว่างไป คนที่ผิดพลาดแล้วรู้จักแก้ไขถือเป็นคนที่รู้จักพัฒนาตนเอง มักเป็นคนดีได้ในที่สุด ส่วนคนที่ผิดพลาดแล้วไม่ยอมแก้ไขคือคนที่ตกอยู่ในความมืดแล้วไม่ยอมหาแสงสว่างให้กับชีวิตของตน ผู้ที่รู้จักเรียนรู้จากความผิดพลาดมักจะประสบความสำเร็จได้ในที่สุด

 

Posted in MIND
BACK
TO TOP
cheewajitmedia
Writer

© COPYRIGHT 2024 Amarin Corporations Public Company Limited.