ชัยชนะที่แลกมาด้วยหัวใจ ของ เรวัตร์ ต๋านะ

ชัยชนะที่แลกมาด้วยหัวใจ ของ เรวัตร์ ต๋านะ นักวีลแชร์เรซซิ่งทีมชาติไทย

ชัยชนะที่แลกมาด้วยหัวใจ ของ เรวัตร์ ต๋านะ นักวีลแชร์เรซซิ่งทีมชาติไทย

มันอยู่ที่ใจครับคุณเบิ้ม เรวัตร์ ต๋านะ นักวีลแชร์เรซซิ่งทีมชาติไทย ให้คำจำกัดความสั้น ๆ ง่าย ๆ เกี่ยวกับการปั่นวีลแชร์

เขาเป็นเด็กบ้านนอก เกิดที่จังหวัดเชียงใหม่ ฐานะทางบ้านไม่ร่ำรวยนัก การที่เขาเป็นโปลิโอทำให้หาที่เรียนต่อยาก เมื่ออายุได้ 17 ปี เขาจึงต้องย้ายจากบ้านเกิดไปอยู่พัทยา เพราะที่นั่นมีโรงเรียนระดับอาชีวศึกษาสำหรับผู้พิการที่ไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายใด ๆ และนั่นเองคือจุดเริ่มต้นของการปั่นวีลแชร์

“ตอนอยู่โรงเรียน ผมเห็นรุ่นพี่เล่นกีฬา ผมก็ลองเล่นทุกอย่าง ทั้งบาสเทนนิส แล้วก็ปั่นวีลแชร์ซึ่งเป็นสิ่งที่เราทำได้ดีที่สุด กีฬาประเภทนี้ขึ้นอยู่กับความอดทนของร่างกาย ต้องซ้อมหนักด้วย”

หลังจากซ้อมอยู่เพียงไม่กี่เดือนอาจารย์ก็เห็นแวว จึงชวนคุณเบิ้มไปแข่งกีฬาคนพิการแห่งชาติที่จังหวัดสุพรรณบุรีนับว่าเป็นความตาถึงของอาจารย์ เพราะคุณเบิ้มสามารถคว้าที่หนึ่งจากการแข่งขันครั้งนั้น ทำให้เขามุ่งมั่นฝึกซ้อมมาโดยตลอดไม่นานก็ติดทีมชาติและกวาดรางวัลเหรียญทองทั้งจากเอเชียนเกมส์ เฟซปิกเกมส์และพาราลิมปิกเกมส์ โดยเฉพาะพาราลิมปิกเกมส์ ครั้งที่ 12 ที่กรุงเอเธนส์ ประเทศกรีซ คุณเบิ้มสามารถทำสถิติโลกถึง 2 รายการคือ วีลแชร์เรซซิ่ง 4 คูณ 100 เมตร กับวีลแชร์เรซซิ่ง 4 คูณ 400 เมตร

ถึงอย่างนั้นการเป็นเจ้าของสถิติโลกกลับไม่ได้น่าเสน่หานักสำหรับคุณเบิ้ม ด้วยวัยเพียง 20 ต้น ๆ ยังต้องการความสนุกสนานในชีวิต เขาตัดสินใจหยุดปั่นวีลแชร์ไปเสียดื้อ ๆ เป็นเวลาถึง 8 ปี

“ช่วงนั้นผมไม่แตะวีลแชร์เลยครับมันเบื่ออย่างไรบอกไม่ถูก ผมกลับไปอยู่บ้านไปทำสวน ทำเต็นท์รถกับเพื่อน สนุกสนานกัน ตอนนั้นคิดแค่ว่า ใช้ชีวิตแบบนี้ก็มีความสุขดีอยู่แล้ว จะเล่นกีฬาไปทำไมกล้ามเนื้อผมจึงหายไปหมด น้ำหนักขึ้นถึง85 กิโลกรัม

“วันหนึ่งผมไปเจอพี่อำไพ (อำไพ เสือเหลือง โค้ชวีลแชร์เรซซิ่ง) เขาชวนให้กลับมาลุยกันอีกสักรอบไหม ถ้าไม่มีรถเดี๋ยวหามาให้ ตอนนั้นพ่อแม่ น้อง ๆ ญาติ ๆ ก็อยากให้ผมกลับไปเล่น ผมมาคิดได้ว่า แรงเรายังมี ยังสู้ได้ ทำไมจะทำไม่ได้จึงกลับมาปั่นวีลแชร์อีกครั้ง”

คุณเบิ้มใช้เวลาเพียงแค่ 7 วัน ฮึดซ้อมอย่างหนักเพื่อลงแข่งพัทยามาราธอนระยะทาง 42 กิโลเมตร ซึ่งนับเป็นช่วงเวลาที่หนักที่สุดของเขา เนื่องจากน้ำหนักตัวที่มากขึ้น ทำให้แม้แต่จะก้มตัวลงบนรถแข่งยังทำไม่ได้ จึงต้องอาศัยความอดทนอย่างมาก แม้จะไม่ได้รางวัล แต่ครั้งนั้นเขาสามารถแซงคู่แข่งที่ฝึกซ้อมมาร่วมปีได้ไม่นานหลังจากนั้นเขาก็ติดอันดับ 10 จากบอสตันมาราธอน การแข่งขันอันเป็นฝันสูงสุดของนักปั่นวีลแชร์ทั่วโลก และล่าสุดเขายังคว้าเหรียญเงินมาได้จากการแข่งขันที่เมืองดูไบ

สิ่งที่ทำให้คุณเบิ้มมีเรี่ยวแรงต่อสู้อีกครั้งและมีพลังที่จะพุ่งทยานไปหาเป้าหมายที่สูงกว่าเดิมอยู่ตลอดเวลา อาจไม่มีคำอธิบายที่สลับซับซ้อนใด ๆ คุณเบิ้มบอกว่า เขาใช้เพียงแค่ “ใจ” เท่านั้นเป็นตัวขับเคลื่อน

“มันอยู่ที่ใจนะครับของพวกนี้ ถึงเหนื่อย ท้อ ก็ต้องทนเอา เราเป็นนักกีฬาก็ต้องฝึกซ้อม หยุดไม่ได้ วันไหนร่างกายล้าก็ต้องซ้อม เพียงแต่ไม่ต้องปั่นให้เต็มที่ ไม่ต้องนำทุกครั้ง แค่ปั่นเล่น ๆ ไปกับเพื่อนมันเป็นหน้าที่ เป็นวินัยครับ ถ้าเราทำได้เราก็จะประสบความสำเร็จ ผมคิดแค่นี้

“การเล่นกีฬาก็เหมือนทำอาชีพหนึ่งอย่าท้อเลยครับ ขนาดผมขาเสียยังทำมาหากินเป็นอาชีพเลี้ยงตัวเองได้เลย”

เชื่อว่าเรื่องราวชายคนนี้คงเป็นพลังขับเคลื่อนให้ทุกชีวิตไม่ย่อท้อต่อโชคชะตา

เรื่อง น.รำไพพรรณ ภาพ สรยุทธ พุ่มภักดี


บทความน่าสนใจ

เบื่องาน หมดไฟในการทำงาน ปลุกพลังในตัวคุณได้ง่ายๆ 5 ขั้นตอน

8 ขั้นตอน เปลี่ยนความผิดหวังให้เป็นพลังก้าวต่อไป

เรื่องดีๆที่อยากบอกต่อ – พลังแห่งศรัทธา

Bethany Hamilton : นักเซิร์ฟบอร์ด เสียแขนซ้ายเพราะฉลาม ! แต่พลังแห่งความมุ่งมั่นชนะทุกสิ่ง

5 เทคนิค มองโลกให้สวย ช่วยเพิ่มพลังบวกในชีวิต

สร้างพลังใจให้เข้มแข็ง ฟันฝ่าปัญหาใจ

 

© COPYRIGHT 2024 Amarin Corporations Public Company Limited.