ศศิน เฉลิมลาภ

ศศิน เฉลิมลาภ ผู้ชายธรรมดาที่เดินดินด้วยสมองกับ “สองเท้า” ที่ไม่ธรรมดา

ศศิน เฉลิมลาภ ผู้ชายธรรมดาที่เดินดินด้วยสมองกับ “สองเท้า” ที่ไม่ธรรมดา

แปลก…เรากำลังแปลกใจ ที่การใช้ “สองเท้าเดิน” ของคนคนหนึ่งจากเขื่อนแม่วงก์สู่เมืองกรุง รวมระยะทางทั้งหมด 388 กิโลเมตร โดยมีมือถือและเฟซบุ๊กเป็นอาวุธจะสามารถสร้างกระแสความตื่นตระหนักในเรื่องการสร้างเขื่อนให้คนเมืองได้มากขนาดนี้เปล่า…เขาไม่ได้เป็นคนดัง เขาเป็นเพียงเลขาธิการมูลนิธิสืบนาคะเสถียร เป็นอดีตอาจารย์มหาวิทยาลัย เป็นผู้ที่เคยออกมาให้ข้อมูลเรื่องเส้นทางน้ำท่วมเมื่อปี 2554และเป็นผู้ชายเดินดินธรรมดาที่มีชื่อว่า ศศินเฉลิมลาภ เป็นใคร…เขาคนนี้เป็นใคร มีความเป็นมาอย่างไร ทำไมคนที่บอกว่าตัวเองเป็นคนขี้กลัว จึงกล้าลงมือทำสิ่งที่ใครๆ มองว่าเป็นเรื่องยิ่งใหญ่ได้อย่างง่ายๆเช่นนี้…

วันวานกับการแสวงหา“รสชาติของชีวิต”

ภาพของศศิน เฉลิมลาภ ที่หลายคนคุ้นเคยเมื่อมองจากภายนอกคือ ผู้ชายเคราหนา พร้อมแววตามุ่งมั่นเบื้องหลังแว่นสายตาหนาเตอะ แต่ภายในจิตใจที่ไม่มีใครได้สัมผัสนั้น หนุ่มใหญ่ใจกล้าคนนี้ วันวานเป็นเพียงเด็กชายขี้เหงาที่มีคุณแม่เป็นครูใหญ่โรงเรียนประชาบาล และมีหนังสือตั้งใหญ่กับธรรมชาติรายรอบบ้านเป็นเพื่อน

แล้ววันหนึ่งเส้นทางชีวิตของเด็กขี้เหงาก็เปลี่ยนไป เมื่อเขาได้ไปค่ายวิทยาศาสตร์ทางทะเล และค้นพบหนทางใหม่ที่ทำให้ชีวิตของเขาเริ่มมีความหมาย นั่นคือ  การได้ร่วมทำงานเพื่ออนุรักษ์สิ่งแวดล้อม…ทะเล ต้นไม้ ใบหญ้า ป่าเขา ฯลฯ ให้อยู่คู่โลกต่อไป

ด้วยนิสัยที่รักการผจญภัยมาตั้งแต่เด็กคุณศศินจึงเลือกเรียนที่ภาควิชาธรณีวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งระหว่างที่เรียนก็ได้มีโอกาสเดินทางไปเก็บข้อมูล สำรวจหิน ดิน แร่ ตามป่าเขา และเมื่อเรียนจบก็ทำงานเป็นอาจารย์คณะวิศวกรรมศาสตร์มหาวิทยาลัยรังสิต และเป็นนักวิชาการทางด้านนี้มากว่า 10 ปี

หลายปีต่อมา อาจารย์ศศินมีโอกาสเข้าไปช่วยเหลือ “หมู่บ้านคลิตี้” ซึ่งประสบปัญหาสารพิษตกค้างในลำห้วย เขาได้เข้าไปศึกษาและตรวจวัดสารตะกั่วในน้ำที่หมู่บ้านแห่งนี้อย่างจริงจัง และการลงพื้นที่ในครั้งนี้เองที่ทำให้เขาได้เข้าไปร่วมงานกับมูลนิธิสืบนาคะเสถียร

ด้วยนิสัยทำงานเกินงาน มูลนิธิสืบฯ จึงชักชวนให้เข้าไปร่วมเป็นเลขานุการและเข้าไปบริหารโครงการต่าง ๆ ของมูลนิธิ อาทิโครงการจอมป่า โดยต้องทำงานกับชุมชนที่อยู่ในป่า บริหารความขัดแย้งระหว่างชาวบ้านและเจ้าหน้าที่ให้สามารถอยู่ร่วมกันได้

ในปี พ.ศ. 2554 เมื่อเกิดเหตุการณ์น้ำท่วมครั้งใหญ่ อาจารย์ศศินก็เริ่มเป็นที่รู้จักของสังคม หลังจากที่ออกมาวิเคราะห์สถานการณ์แบบเจาะลึก แต่เข้าใจง่ายก่อนอัพคลิปลงยูทูบให้ได้รับชมกันโดยทั่วถึง กล่าวได้ว่าช่วงนั้นอาจารย์เป็นที่พึ่งทางข้อมูลของผู้ประสบภัยเลยก็ว่าได้

ล่าสุด ผู้ชายที่ไม่เคยออกกำลังกายมีชีวิตชิล ๆ สบาย ๆ คนนี้ ได้ออกมาเดินเท้าเป็นระยะทาง 388 กิโลเมตร เพื่อคัดค้านการอนุมัติรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (EHIA) ของโครงการเขื่อนแม่วงก์ จังหวัดนครสวรรค์ ซึ่งเป็นหนึ่งในอภิมหาโปรเจ็กต์ป้องกันอุทกภัยของรัฐบาลที่มีวงเงินกว่า 3.5 แสนล้านบาท

…และนี่คือบทสัมภาษณ์ที่จะทำให้คุณรู้จักผู้ชายธรรมดาและการเดินด้วยสมองกับ “สองตีน” ที่ไม่ธรรมดาคนนี้มากยิ่งขึ้น

จากการทำงานที่ผ่านมาทั้งหมดอยากทราบว่า เป้าหมายชีวิตของอาจารย์คืออะไรคะ

ได้ทำงานที่สามารถเปลี่ยนแปลงอะไรเบื้องหน้าเราได้บ้าง ผมไม่ได้คิดอะไรใหญ่โตถึงขั้นเป็นนักปฏิวัติโลก แต่อยากทำอะไรที่คนอื่นไม่เคยทำ เช่นการเลือกที่จะใช้การเดินเพื่อต่อต้านการสร้างเขื่อนแม่วงก์ผมต้องการ “เริ่มที่ตัวเอง” เพราะนี่เป็นปัจจัยที่เราควบคุมได้

การเดินของอาจารย์ได้รับความสนใจไปทั่วประเทศ นอกจากความสำเร็จในแง่ที่ทำให้คนหันมาตระหนักเรื่องการสร้างเขื่อนหรือสิ่งแวดล้อมแล้วอยากให้อาจารย์เล่าถึงความประทับใจที่เกิดขึ้นระหว่างทางหน่อยค่ะ 

ผมประทับใจคนที่มาเดินด้วยแล้วเอาของมาให้ ผมพบว่าขบวนของเราเป็นที่พบปะของนักอนุรักษ์รุ่นพี่ที่ห่างหายกันไปนาน หลายคนได้มาเจอกัน มาอยู่ร่วมกันตลอด 13 วัน โดยไม่มีความขัดแย้งอะไรเลยที่ประทับใจมากก็คือคำพูดของทีมช่วงวันแรก ๆ เขาปรามผมว่า  “อย่าเรื่องมาก เราตกลงกันแล้ว ว่าพี่เป็นตีน ผมเป็นสมอง หน้าที่ของพี่คือเดิน อย่ามีข้อโต้แย้ง พี่แค่เดินตามที่ผมบอกเท่านั้นพอ” (หัวเราะ) หน้าที่ของผมคืออย่าเจ็บ เพราะถ้าเราเจ็บไปคนหนึ่งขบวนต้องล้มเลย

อาจารย์ได้บทเรียนอะไรจากการเดินในครั้งนี้บ้างคะ

ผมรู้สึกว่า สิ่งที่เราจะทิ้งไปไม่ได้เลยคือ มิตรภาพ เราเดินไม่ถึงกรุงเทพฯ หรอก ถ้าไม่มีคนให้กำลังใจ ผมมั่นใจในตัวเองและทีมระดับหนึ่ง แต่พอเจอปัญหาคนที่ช่วยเราฝ่าวิกฤติจริง ๆ คือมิตรที่ยื่นมือเข้ามาระหว่างทาง เช่น เราอาจเดินไม่ถึงก็ได้ ถ้าไม่บังเอิญมีเด็กจบใหม่ด้านพลศึกษามานำทำกายบริหารให้ทุกเช้า หรือนักวิ่งมาราธอนที่เห็นวิธีการเดินของเราแล้วทนไม่ได้ ต้องโทร.มาแนะนำให้พักบ่อย ๆ อีกอย่างหนึ่ง ผมเชื่อในสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ก่อนเดินผมก็ไปไหว้หลวงพ่อโต ไหว้ขอพรแม่…เรื่องแบบนี้ ถ้าคุณมีแต่พลังธรรมดา ๆ คุณไปไม่ถึงหรอก

แสดงว่าอาจารย์ก็คาดการณ์ว่าตัวเองมีโอกาสทั้ง “รอด” และ “ล้ม” หรืออาจจะตายก็ได้

แน่นอน แต่เราแลกได้…ถ้าโอกาสตายเพียงแค่ 30 เปอร์เซ็นต์ แต่รอด 70เปอร์เซ็นต์ ผมเอาอยู่แล้ว

ไม่กลัวหรือคะว่าจะต้องเจอหรือโดนอะไรสักอย่างจากคนที่ไม่เห็นด้วย

นั่นคือการผจญภัย คือรสชาติของชีวิต (หัวเราะ) ผมก็ไม่ได้บ้าบิ่นขนาดนั้น ผมรู้ว่าโอกาสรอดมีเท่าไหร่ ถ้าคำนวณแล้วโอกาสรอดมากกว่า 60 เปอร์เซ็นต์ถึงจะไป ที่เหลือก็ใช้ดวง เราเรียนรู้ทักษะการเอาตัวรอดมาแล้ว ดังนั้น ถ้าเรามีสติ มีความตั้งใจและไม่ประมาท สิ่งที่ต้องเผชิญก็แค่ความกลัว ความไกล ส่วนใหญ่ที่เอาตัวไม่รอดไม่ได้เกิดจากปัญหาข้างนอก แต่มาจากใจเราเอง บางครั้งรู้สึกกลัวเกินไป ประมาทเกินไป แต่จริง ๆ แล้วไม่มีเส้นทางไหนที่มันยากเกินไปหรอก

หลังการเดินสิ้นสุดลง และภารกิจเพื่อป่าแม่วงก์เสร็จสิ้นลงแล้ว ชีวิตของอาจารย์เป็นอย่างไรบ้างคะ

ผมอยากเดินอีกนะ เพราะช่วงที่เดินเรามีความสุขมากที่สุด เหมือนเราสร้างโลกในอุดมคติขึ้นมา มีแต่มิตรภาพ มีแต่ความสามัคคี มีแต่การแบ่งปัน พูดคุยกันในเรื่องที่มีสาระ ร่วมกันแก้ไขปัญหา เป็นโลกที่ไม่มีประโยชน์ส่วนตน มีแต่การทำเพื่อประโยชน์ส่วนรวม ถามว่า เขื่อนแม่วงก์มีปัญหากับชีวิตผมหรือชีวิตคนที่มาเดินไหม…ไม่มี

อ้าว! ถ้าอย่างนั้นก็ต้องมีคนตั้งคำถามสิคะว่า อาจารย์ “เดิน” ไปทำไม 

เพราะเราเห็นความไม่ถูกต้องในความเป็นมนุษย์ มนุษย์เป็นเผ่าพันธุ์เดียวที่สามารถทำในเรื่องที่ไม่ใช่เรื่องของเราได้เราขอประโยชน์ให้ป่า เพื่อเอาไว้ให้สปีชี่อื่นอยู่ ให้สัตว์ป่าได้อยู่อาศัย เป็นที่อภัยทาน…เรื่องแบบนี้มีแต่มนุษย์เท่านั้นที่จะทำได้

ผมเป็นคนประเภทที่เวลาทำอะไรต้องทำให้ดีที่สุด คำว่า “ดีที่สุด” คือดีที่สุดในชีวิตของเรา ผมจะทุ่มปัจจัยทั้งหมดที่มี เช่น ดูว่าตัวเองอดนอนพอหรือยัง ถ้ายังก็ต้องอดนอนจนกว่างานจะเสร็จ ถ้าเต็มที่แล้วผลจะออกมาดีหรือแย่ก็ไม่เป็นไร ถือว่าทำดีที่สุดแล้ว แต่ถ้าผมไม่ทำให้ดีที่สุด ผมก็ไม่ทำนะ ตอนมาทำงานที่มูลนิธิสืบฯ ผมจะบอกเขาตลอดว่า ถ้าเจอคนที่ดีกว่าให้เอาเขามาทำได้เลย

การที่ต้อง “ดีที่สุด” อยู่ตลอด ทำให้อาจารย์เหนื่อยกว่าคนอื่นไหมคะ

ก็เรามีแค่นี้ เราไม่มีอย่างอื่นนอกจากร่างกาย ชีวิต จิตใจ คุณพร้อมจะจนไหม…ผมพร้อม คุณพร้อมจะลดเงินเดือนไหม…ผมเคยมาแล้ว ลดเกือบครึ่ง เพราะเงินในมูลนิธิไม่พอ คุณพร้อมจะไปกู้เงินมาทำโครงการที่อยากทำไหม…ผมทำไม่รู้กี่ครั้งแล้ว ติดหนี้ก็ค่อย ๆ ผ่อนใช้ไป สักวันก็หมด ที่ผมทำแบบนี้ได้เพราะผมไม่ได้มองเรื่องเงินเป็นตัวตั้ง ผมไม่มีเป้าหมายในเรื่องวัตถุมาตั้งแต่ต้น ผมไม่รู้จักยี่ห้อรถ เสื้อผ้านาฬิกาเลย ผมใส่เพื่อใช้ประโยชน์เท่านั้นและผมไม่มีภาระอะไรที่ต้องห่วง

สิ่งที่ผมทำ ใครจะเห็นไม่เห็นไม่ใช่เรื่องใหญ่ แต่เรามีความสุขที่จะทำ และมันก็มีประโยชน์ งานที่ผมทำแลกมาด้วยการนอนดึก ตื่นเช้า ไม่มีวันหยุด ไม่มีชีวิตส่วนตัว และไม่มีเงิน

ถ้าอย่างนั้น ศศินเฉลิมลาภ “มี”อะไรบ้างคะ

ผมมีอดีต ผมมีวันเวลาที่พอมองย้อนกลับไปแล้วทำให้ยิ้มได้ ผมไม่เคยดูถูกตัวเอง และมีมิตรแท้ที่ได้จากการทำงาน…

อาจารย์วางแผนอนาคตไว้บ้างหรือเปล่าคะ 

ไม่มีเลย ผมมองอนาคตตัวเองไม่ออก ก็คงจะมีช่วงหนึ่งที่เราหายสาบสูญไป ถ้าอะไรต่ออะไรไม่พร้อม ปัจจัยต่าง ๆมันไม่เอื้อต่อการมีชีวิตอยู่บนโลกนี้ ก็หลบไปตายเสีย เลือกที่ที่จะสาบสูญ ไปนั่งสักที่ที่เราชอบ เช่น ชายทะเล แล้วก็ค่อย ๆ ตายไป เพราะว่าชีวิตผมไม่ห่วงอะไรอีกแล้ว

จนถึงตอนนี้ แม้ระยะทางเดินเท้าครั้งประวัติศาสตร์ 388 กิโลเมตรจะสิ้นสุดลงแล้ว แต่หลังจากได้พูดคุยกับผู้ชายคนนี้เราก็มั่นใจเหลือเกินว่า ศศิน เฉลิมลาภ จะยังคง “เดิน” ต่อไปไม่หยุด…เพื่อทำหน้าที่ของมนุษย์ให้ “ดีที่สุด” ดังที่เขาทำมาโดยตลอด

แม้จะออกตัวว่าเป็นคนขี้กลัวแต่เมื่อตอนพาเด็กไปค่ายปลูกป่า เขากลับหนีไปเดินป่าคนเดียวโดยใส่เพียงกางเกงเลกับรองเท้าแตะไม่มีน้ำ ไม่มีอาหารติดตัว สุดท้ายหลังจากหายไปครึ่งวันเขาก็กลับมาพร้อมกับการค้นพบเส้นทางใหม่ที่น่าประทับใจ

เมื่อครั้งที่ทำซีเนียร์โปรเจ็กต์และต้องออกไปเก็บข้อมูลภาคสนามเขาไปพักอยู่บ้านพักป่าไม้และเดินป่าคนเดียวนานถึง 10 วัน ประสบการณ์ครั้งนั้นทำให้เขาผูกพันกับธรรมชาติอย่างแน่นแฟ้น

เรื่อง ณัฐนภ ตระกลธนภาส www.facebook.com/nutthanop.tr ภาพ Mthai


บทความน่าสนใจ

สาวปริญญาตรี กวาดถนน อาชีพสุจริต ไม่แคร์ระดับความรู้

“สุขกับปัจจุบัน” มิว นิษฐา จิรยั่งยืน

ท้อแท้ แต่อย่าท้อถอยกับ 7 ข้อคิด และ คำคมสร้างแรงบันดาลใจ จุดไฟให้ชีวิต

เพราะมีลูกเป็นแรงบันดาลใจผมจึงไม่ท้อ โก้ นฤเบศร์ จินปิ่นเพ็ชร

James Kearsley ชายหนุ่มผู้ เอาชนะโรคร้าย กลายมาเป็นนักเพาะกายสร้าง แรงบันดาลใจ

อีกมุมหนึ่งของพี่ขวัญ สู่ขวัญ บูลกุล

แค่กล้าตัดสินใจ “โลกใบใหม่” ก็อยู่แค่เอื้อม “จินนี่-ธนิดา กาญจนวัฒน์”

 

 

© COPYRIGHT 2024 Amarin Corporations Public Company Limited.