“ถึงเวลาเป็น “ผู้ให้” เหนื่อยแค่ไหนก็สู้ตาย”…ตุ๊ก - ดวงตา ตุงคะมณี

แม้จะเหลือเวลาอีกกว่าสองชั่วโมงจึงจะพักเที่ยง แต่ตลาดนัดดาราช่อง 3 ก็เริ่มคึกคักไปด้วยผู้คนที่มาเที่ยวชมจับจ่ายสินค้าสารพัดชนิด เสียงพ่อค้าแม่ขาย (มือสมัครเล่น) ช่วยกันเรียกลูกค้าอย่างสนุกสนาน ส่วนที่โดดเด่นกว่าร้านไหนๆ ก็ต้องยกให้ร้านของ ตุ๊ก - ดวงตา ตุงคะมณี และเพื่อนๆ

“มาทำบุญให้ผู้ป่วยยากไร้โรงพยาบาลจุฬาภรณ์กันนะคะ เราใกล้จะได้เงินไปทำบุญครบ 1,000,000 บาทแล้วนะคะ ซื้อแล้วไม่เป็นมะเร็ง ไม่เจ็บไม่จน อนุโมทนาบุญด้วยค่ะ”

ผู้คนที่เดินผ่านไปผ่านมาต่างหยุดมองต้นเสียงด้วยความสนใจ  ซื้ออะไรถึงไม่เป็นมะเร็ง ซื้ออะไรถึงได้เงินไปทำบุญเป็นล้าน! คุณดวงตาปลีกตัวจากการเป็นแม่ค้าชั่วคราวมาเล่าให้ฟัง

ธรรมะเปลี่ยนชีวิตตุ๊กหลายอย่างค่ะที่เห็นชัด ๆ ก็เรื่องการจัดการความทุกข์ ก่อนหน้านี้ตุ๊กจะหน้านิ่วคิ้วขมวดเพราะเครียด แบกทุกข์ไว้ตลอด แต่ถึงตอนนี้ตุ๊กเริ่มรู้จักวิธีจัดการกับความทุกข์ได้เร็วขึ้น รู้จักมองตัวเอง ดูใจตัวเอง แล้วหันมาปรับปรุงตัวเอง แทนที่จะมัวแต่เพ่งโทษผู้อื่นอย่างที่เคย เช่น คนนั้นทำอะไรก็ผิดทำอันนี้ก็ไม่ดี สรุปว่าไม่มีใครดีเท่ตัวตุ๊กเอง ตุ๊กเหนือกว่าคนอื่นหมด

ธรรมะยังทำให้ตุ๊กเริ่มรู้สึกว่าตลอดชีวิตที่ผ่านมาตุ๊กเป็นฝ่าย “รับ” มาเยอะมากแล้ว รับสารพัดรูปแบบ แต่แทบจะไม่เคย “ให้” อะไรหรือ “ให้” ใครเลย และถ้าให้ก็ไม่ได้เป็นความสมัครใจจริง ๆ มาวันนี้ตุ๊กมีความพร้อมมากขึ้น ตุ๊กก็น่าจะหันมาทำประโยชน์ให้สังคมบ้าง

การให้ของตุ๊กเริ่มต้นจากกลุ่มเพื่อนสนิทก่อน ถ้ามีเวลาว่าง พวกเราจะยกก๊วนไปกินข้าว ไปเที่ยว ไปทำบุญกัน ฯลฯดูเหมือนทุกคนจะมีความสุขกับการทำบุญมากกว่ากิจกรรมไหน ๆ พักหลัง ๆ กิจกรรมของกลุ่มจึงเน้นหนักไปทางบุญมากขึ้นเรื่อย ๆนั่นจึงเป็นที่มาของชื่อ “กลุ่มโมทนาบุญ”

ตุ๊กเหมือนหัวหน้ากลุ่มโมทนาบุญเป็นตัวตั้งตัวตีสรรหากิจกรรมให้น้อง ๆ ทำรวมถึง “เดคูพาจ” (Decoupage - งานฝีมือที่นำกระดาษแน็ปกินหรือกระดาษที่มีลวดลายมาติดบนภาชนะ) ที่กลายเป็นจุดขายของกลุ่มไปแล้ว เดิมทีตุ๊กตั้งใจจะทำเดคูพาจไว้แจกเพื่อน ๆ แต่ก็มีเพื่อนคนหนึ่งมาจุดประกายว่า

“เราก็ชอบทำบุญกันอยู่แล้ว ทำไมไม่ทำเดคูพาจขายเป็นการกุศลล่ะ คนซื้อจะได้ทำบุญและยังได้ของกลับไปใช้ด้วยเรียกว่าได้สองเด้งเลย”

จากนั้นเราก็คุยกันว่า ไหน ๆ ตั้งใจจะทำบุญกันแล้ว ก็ทำขายแบบไม่หักค่าใช้จ่ายไปเลย ใครอยากหุ้นทำบุญด้วยก็ว่ามาคราวนี้ก็ถึงเวลาเตรียมทีมผลิต ซึ่งมีด้วยกัน 5 คน คือ ตุ๊ก น้องโย พี่โย(ทัศน์วรรณ เสนีย์วงศ์ ณ อยุธยา) ทิพย์และจุ๋ม (สองคนนี้เป็นเพื่อนสมัยเรียน ป.1โรงเรียนเซนต์ฟรังซีสซาเวียร์คอนแวนต์)ส่วนเพื่อน ๆ ในกลุ่มที่เหลือก็จะแวะเวียนกันมาเป็นกำลังใจเวลาทำบ้าง มาช่วยกันขายบ้าง

ตุ๊กเองไม่ค่อยมีเวลาว่าง แต่พอกลับจากถ่ายละคร ถึงจะดึก จะเหนื่อยแค่ไหนก็ต้องหาเวลาทำเดคูพาจให้ได้อย่างน้อยวันละใบก็ยังดี ไม่น่าเชื่อเหมือนกันว่า พอจับอุปกรณ์ทำเดคูพาจปั๊บ อาการเหนื่อยล้าที่มีก็หายไปหมด มีแต่ความมุ่งมั่น เพราะรู้ว่าเรากำลังจะทำบุญ เรากำลังจะเป็นผู้ให้

สำหรับเรื่องการขาย ปู - ปริศนา กล่ำพินิจ แนะนำว่า ให้มาขายที่ตลาดนัดดาราช่อง 3  จะได้ทำบุญแบบครบวงจรเพราะที่นี่จะนำค่าเช่าร้านที่เก็บได้ไปทำบุญเดือนละ 30,000 บาทอยู่แล้ว เป็นอันว่าหมดปัญหาเรื่องทีมผลิตและตลาดที่จะวางขายไป

ตอนหลังตุ๊กมาคิดต่อว่า โครงการทำเดคูพาจขายนี้ถ้าจะให้ดีเราต้องตั้ง “ยอดเงินทำบุญ” ด้วย เพราะพอมีเป้าหมายเราจะได้ขยันและตั้งใจมากขึ้น แต่เราก็รู้กันว่า ถ้าไม่ได้จริง ๆ ก็ไม่ได้ซีเรียสอะไร

ตุ๊กและเพื่อน ๆ ตั้งเป้าไว้ว่าจะต้องมียอดเงินทำบุญเดือนละ 100,000 บาท เป็นเวลา 10 เดือนหรือยอดรวม 1,000,000 บาท เงินทุกแสนเราตกลงว่าจะบริจาคไม่ซ้ำที่กัน อย่างแสนแรกเรามอบให้ เด็กพิการตาบอดซ้ำซ้อน จากนั้นแสนต่อ ๆ มาเรามอบให้วัดพระบาทน้ำพุ โรงพยาบาลสงฆ์ โรงพยาบาลทหารผ่านศึก โรงพยาบาลรามาธิบดี มูลนิธิอาสาเพื่อนพึ่ง (ภาฯ) ยามยาก ทหารภาคใต้ ผู้ป่วยยากไร้โรงพยาบาลศิริราช ร่วมบุญกับครอบครัวข่าว 3 และแสนสุดท้ายจะนำไปบริจาคให้ผู้ป่วยมะเร็งยากไร้โรงพยาบาลจุฬาภรณ์

เวลาจะไปบริจาคแต่ละที ตุ๊กก็จะชวนเพื่อน ๆ ในกลุ่มโมทนาบุญไปกันให้ได้มาก ๆไม่ต้องมานั่งคิดว่าใครทำมากทำน้อย เพราะถือว่าทุกคนมีจิตเป็นกุศล มีความตั้งใจที่จะทำบุญ ตั้งใจที่จะให้เหมือน ๆ กัน

การทำความดีสำหรับตุ๊กแล้วง่ายมากค่ะ “แค่คิดว่าจะทำ จะให้ ก็ได้บุญที่ใจแล้ว”อิ่มใจ สุขใจ ยิ่งพอเห็นคนมาทำบุญด้วยการซื้อของที่เราทำ ถูกใจสินค้าบุญของเรา ตุ๊กก็ยิ่งมีความสุขค่ะ


เรื่อง วรลักษณ์ ผ่องสุขสวัสดิ์ ภาพ สรยุทธ พุ่มภักดี

Posted in MIND
BACK
TO TOP
A Cuisine
Writer

© COPYRIGHT 2024 Amarin Corporations Public Company Limited.