หลวงปู่มั่น

หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต พระอาจารย์ใหญ่แห่งกองทัพธรรมสายวัดป่า

หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต พระอาจารย์ใหญ่แห่งกองทัพธรรมสายวัดป่า

คงมีพุทธศาสนิกชนชาวไทยน้อยคนนักที่จะไม่รู้จักนามพระครูวินัยธร ภูริทัตโตหรือหลวงปู่มั่น  ภูริทัตโต  เนื่องจากถือกันว่าท่านคือพระบุพพาจารย์แห่งพระวิปัสสนากรรมฐานในประเทศไทย  อันเป็นผลมาจากความมุ่งมั่นศึกษาและปฏิบัติภาวนาอย่างจริงจังจนบรรลุถึงธรรม  โดยท่านจะพำนักอยู่ตามป่าเขาเป็นที่มาของชื่อที่เรียกขานกันว่า พระฝ่ายอรัญวาสี  พระธุดงคกรรมฐาน  หรือพระป่า

จวบจนถึงปัจจุบัน  แม้ท่านได้ละสังขารไปนานกว่า 6 ทศวรรษแล้ว  หากคำสอนเรื่องราวการธุดงค์ตามป่าเขาและการเผยแผ่พุทธศาสนายังสถานที่ต่าง ๆ ด้วยจริยวัตรปฏิปทาอันงดงามของหลวงปู่มั่น ก็ยังคงอยู่ในความทรงจำและสร้างศรัทธาในหมู่ชาวพุทธรุ่นแล้วรุ่นเล่า…อย่างไม่เสื่อมคลาย

ชีวิตปฐมวัยและจิตใจที่ใฝ่ธรรม

ครั้งหนึ่งนานมาแล้ว…เด็กชายคนหนึ่งนามว่า “มั่น แก่นแก้ว”ได้ถือกำเนิดขึ้นในวันพฤหัสบดี เดือนยี่  ปีมะแม  ตรงกับวันที่ 20 มกราคม พ.ศ. 2413ณ บ้านคำบง  ตำบลโขงเจียม  อำเภอโขงเจียม  จังหวัดอุบลราชธานี (ปัจจุบันคือบ้านคำบง  ตำบลสงยาง  อำเภอศรีเมืองใหม่จังหวัดอุบลราชธานี)

เด็กน้อยเติบโตขึ้นด้วยความศรัทธาในพุทธศาสนาเป็นอย่างมาก  นับตั้งแต่ที่มีโอกาสบรรพชาเป็นสามเณรในสำนักวัดบ้านคำบงตอนอายุ 15 ปี ท่านได้ศึกษาพุทธศาสนาอย่างคร่ำเคร่งจริงจังจนมีความเจริญก้าวหน้าในทางธรรมอย่างรวดเร็ว สามเณรมั่นมีความประพฤติเรียบร้อย เป็นที่ไว้เนื้อเชื่อใจของครูบาอาจารย์  แต่หลังจากบวชเรียนได้เพียง 2 ปีก็ต้องลาสิกขาตามคำขอร้องของ นายด้วง แก่นแก้ว ผู้เป็นพ่อ  ที่อยากให้ลูกชายคนโตมาช่วยงานของครอบครัว

ทว่าจิตใจของเด็กชายมั่นยังคงฝักใฝ่ในธรรมอยู่เสมอ  กอปรกับยึดมั่นในคำกล่าวของผู้เป็นยายที่ว่า “เจ้าต้องบวชให้ยาย เพราะยายก็ได้เลี้ยงเจ้ายากนัก”เมื่อเจริญวัยขึ้นและน้อง ๆ เริ่มโตพอจะช่วยแบ่งเบาภาระงานบ้านได้แล้ว  นายมั่นในวัย 22 ปี จึงสบโอกาสขอพ่อแม่กลับเข้าสู่ร่มกาสาวพัสตร์ดังที่ใจปรารถนา  โดยอุปสมบทเป็นภิกษุในธรรมยุติกนิกาย  เมื่อวันที่ 12 มิถุนายน พ.ศ. 2436  และจำพรรษาอยู่ที่สำนัก พระอาจารย์เสาร์  กันตสีโล  หรือหลวงปู่เสาร์  ณ วัดเลียบ  จังหวัดอุบล-ราชธานี  โดยได้รับฉายาว่า “ภูริทัตโต”  ซึ่งมีความหมายว่า “ผู้ให้ปัญญา ผู้แจกจ่ายความฉลาด” และฉายานี้ก็เป็นดั่งคำทำนายถึงสิ่งที่จะเกิดขึ้นบนเส้นทางธรรมที่ทอดยาวของท่านในเวลาต่อมา…

ajmun1

จุดเริ่มต้นของการถวายชีวิตเพื่อการหลุดพ้น

เมื่อแรกอุปสมบท  ภิกษุมั่นได้เริ่มศึกษาข้อปฏิบัติเบื้องต้นเกี่ยวกับพระวินัยและข้อปฏิบัติอบรมจิตใจ  คือ  เดินจงกรมนั่งสมาธิ  และสมาทานธุดงควัตรต่าง ๆภายใต้การดูแลของหลวงปู่เสาร์  ซึ่งเห็นแววว่าลูกศิษย์ผู้นี้มีโอกาสจะบรรลุธรรมได้ท่านจึงเปิดโอกาสให้ร่วมฝึกกรรมฐาน  ทั้งยังให้ติดตามไปธุดงค์ตามที่ต่าง ๆ ด้วย

สถานที่แรกที่ภิกษุหนุ่มติดตามจาริกไปกับพระอาจารย์คือ ภูหล่น  จังหวัดอุบลราชธานี  ซึ่งพระมั่นสามารถทำสมาธิอย่างถูกต้องได้เป็นครั้งแรก  ความปีติในครั้งนั้นทำให้พระลูกศิษย์ให้คำมั่นกับพระอาจารย์ว่า

“ตั้งแต่วันนี้ต่อไป  ผมขอถวายชีวิตนี้ต่อพรหมจรรย์  ขอให้ครูบาอาจารย์เสาร์จงเป็นพยานด้วยเถิด”

และนั่นเป็นจุดเริ่มต้นแห่งตำนานการธุดงค์ของหลวงปู่มั่น  ก่อนที่การจาริกแสวงธรรมอีกหลายครั้งจะเกิดขึ้นตามมาอย่างไม่ขาดสาย

 

ตามรอยธุดงควัตร

ในสมัยพุทธกาล  “ธุดงค์” คือ วัตรหรือแนวทางปฏิบัติ 13 ข้อ ที่พระพุทธเจ้าทรงอนุญาตไว้ให้พระสงฆ์ที่ตั้งใจสมาทานความเพียรได้เลือกนำไปปฏิบัติตามความสมัครใจ  เพื่อมุ่งกำจัดกิเลสและขัดเกลาจิตใจ  แต่ต่อมาความหมายของธุดงค์ได้เปลี่ยนแปลงไป  โดยหมายถึง วัตรของพระภิกษุที่แบกกลดเข้าป่าเพื่อฝึกปฏิบัติซึ่งกล่าวกันว่า การถือสันโดษเช่นนี้จะช่วยให้จิตพัฒนาได้อย่างรวดเร็ว  แตกต่างจากการอยู่สถานที่เดิมเป็นเวลานาน ๆ  ซึ่งจะทำให้ติดสถานที่และได้รับความสะดวกมากเกินพอดี

เช่นเดียวกับการฝึกตนในช่วงแรกของพระมั่น  ที่แม้จะก้าวหน้าไปโดยลำดับ  แต่ในที่สุดท่านก็ตระหนักว่า  “ยังไปได้ไม่ไกลเท่าไร”  ท่านจึงตัดสินใจออกธุดงค์ไปในป่าเพียงลำพัง  ทั้งที่การเดินทางในสมัยนั้นนับว่ายากลำบากมาก  เพราะยังไม่มีการบุกเบิกเส้นทางหรือตัดถนนกันทั่วประเทศอย่างทุกวันนี้  แต่นั่นไม่ได้ทำให้จิตใจที่มุ่งมั่นเข้าถึงธรรมอันถ่องแท้ของพระมั่นย่อท้อลงเลย

การธุดงค์ในเวลานั้นต้องเผชิญกับภัยอันตราย ทั้งจากคน  สัตว์ป่า  ไปจนถึงโรคภัยไข้เจ็บต่าง ๆ นานาอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงได้  ส่วนในทางจิตใจก็ต้องต่อสู้กับกิเลส  สิ่งเร้าความรู้สึกหรือเวทนาต่าง ๆที่เกิดขึ้นตลอดเวลา  แต่พระมั่นก็ยังคงไม่หวั่นเกรงต่อสารพันอุปสรรคและสารพัดเหตุการณ์ที่ต้องเผชิญ  จนก่อเกิดเป็นประสบ-การณ์ทางธรรมอันล้ำค่า  และกลายเป็นโอวาทธรรมสำหรับสั่งสอนลูกศิษย์ในเวลาต่อมาว่า…

“บรรดานักปฏิบัติต้องให้เฉลียวฉลาดรู้เท่าทันโจร  เมื่อรู้เท่าทันโจรแล้ว  โจรย่อมไม่มีโอกาสลักสิ่งของไปได้  แม้ฉันใดปฏิบัติให้มีสติและปัญญารักษาตน  กิเลสก็มิอาจเข้าถึงได้”

อย่างไรก็ตาม  แม้ว่าการธุดงค์จะถือเป็นการฝึกตนที่สำคัญ  แต่หลวงปู่มั่นก็ไม่ละเลยการศึกษาหาความรู้ด้านปริยัติ  ท่านกล่าวว่า

“ปริยัติ  ปฏิบัติ  ปฏิเวธ  จะแยกกันไม่ได้  หนัง  เนื้อ  เอ็น  กระดูก  ต้องอิงอาศัยกันอยู่ฉันใดก็ดี  ปริยัติ  ปฏิบัติปฏิเวธ  ก็อาศัยกันอยู่อย่างนั้น  สัทธรรมสามอย่างนี้จะแยกกันไม่ได้เลย”

ด้วยเหตุนี้การฝึกตนของท่านจึงดำเนินไปตามสามหลักนี้อย่างเคร่งครัด  ผ่านการบุกป่าฝ่าดงนับร้อย ๆ กิโลเมตร  ออกธุดงค์ไปพำนักตามที่วิเวกต่าง ๆ  โดยให้การสงเคราะห์ทางธรรมแก่ชาวบ้านที่พบปะตามรายทางที่ผ่านไปด้วย  รวมถึงครั้งที่ท่านจาริกไปยังภาคเหนือ  และได้สงเคราะห์สาธุชนในสถานที่ต่าง ๆ เป็นเวลานานถึง 11 ปี

ตัวอย่างที่สื่อถึงความเมตตาอันสูงส่งของหลวงปู่มั่นอย่างชัดเจนคือ  คราวที่ท่านธุดงค์ไปยังจังหวัดเชียงใหม่  และมีโอกาสสอนธรรมะแก่ชาวเขา  ตลอดเวลาหลายเดือนที่พำนักอยู่ที่นั่น  ท่านพยายามถ่ายทอดธรรมะจนกระทั่งทำให้ชาวเขาเหล่านั้นสนใจการปฏิบัติธรรมและภาวนาด้วยวิธีบริกรรม“พุทโธ” ได้ทั้งหมู่บ้าน

การธุดงค์ครั้งนั้นกลายเป็นจุดเริ่มต้นครั้งสำคัญที่ทำให้พุทธศาสนาเจริญงอกงามขึ้นในหมู่ชาวเขาแถบนั้นล่วงมาจนถึงปัจจุบัน

ATT00001

สุบินนิมิตในชีวิตใต้ร่มกาสาวพัสตร์

ตลอดเส้นทางธรรม  หลวงปู่มั่น  ภูริ-ทัตโต ทุ่มเทชีวิตให้กับการบำเพ็ญธุดงควัตรไม่เว้นวาย  จนส่งผลเป็นประสบการณ์ทางธรรมที่มีคุณค่ามากมาย  ขณะที่หลายครั้งก็เกิดเป็นเรื่องราวที่ยากจะอธิบายได้

เรื่องหนึ่งซึ่งได้รับการเล่าขานมายาวนานคือเรื่องราวระหว่างที่หลวงปู่มั่นได้เพียรปฏิบัติภาวนาจนมีความก้าวหน้าอย่างต่อเนื่องกระทั่งเกิดสุบินนิมิตประหลาดขึ้น  ครั้งนั้นท่านได้เดินทางจาริกจากนครราชสีมาเข้าป่าดงพญาเย็น  เพื่อแสวงหาวิเวกไปเรื่อย ๆจนถึงบริเวณน้ำตกสาริกา  จังหวัดนครนายกอันเป็นป่าทึบและมีสัตว์ป่าชุกชุม  แต่ถึงแม้สภาพแวดล้อมจะดูไม่น่าไว้วางใจ  ท่านก็ตัดสินใจเข้าไปบำเพ็ญภาวนาในถ้ำไผ่ขวางซึ่งมีต้นไม้ขึ้นปกคลุมหนาแน่น  แม้ชาวบ้านจะทัดทานว่าเคยมีพระธุดงค์ไปมรณภาพในถ้ำที่มีบรรยากาศน่าสะพรึงกลัวแห่งนั้นมาแล้วถึง 6 รูป  แต่หลวงปู่มั่นก็ยังยืนยันจะพำนักอยู่ที่นั่น  โดยกล่าวกับชาวบ้านว่า

“ขอให้อาตมาเป็นองค์ที่ 7 ก็แล้วกัน”

จากนั้นท่านก็จัดแจงสถานที่และเดินดูรอบ ๆ บริเวณ  พอตกค่ำฟ้ามืดสนิท  ท่านก็เริ่มบำเพ็ญภาวนา  นั่งสมาธิโดยจิตเกิดความสงบตลอดคืน  แต่แล้วในวันถัดมาหลังจากที่หลวงปู่มั่นออกบิณฑบาตและฉันอาหาร  ท่านก็เกิดอาการท้องร่วงอย่างรุนแรง  เมื่อสังเกตดูอุจจาระพบว่า  อาหารที่ฉันเข้าไปยังอยู่ในสภาพเดิมคือไม่ย่อยจึงเข้าใจว่าพระรูปก่อน ๆ คงมรณภาพไปด้วยเหตุนี้  หลวงปู่มั่นจึงรำพึงกับตัวเองว่า “เราก็เห็นจะตายแน่เหมือนพระเหล่านั้น” กระนั้นด้วยความเด็ดเดี่ยวในธรรมและมุ่งมั่นไม่กลัวตาย  ท่านจึงตั้งปณิธานแน่วแน่ว่า

“หากจะตายขอตายตรงนี้  ขอให้ร่างกายหล่นลงไปในเหวนี้  จะได้ไม่ต้องเป็นที่วุ่นวายเดือดร้อนแก่ใคร ๆ  ถ้าไม่รู้แจ้งเห็นจริงก็จะไม่ลุกจากที่นั่งนี้เป็นอันขาด”

จากนั้นท่านใช้ธรรมโอสถรักษาอาการป่วยไข้เจียนตาย  ด้วยการนั่งสมาธิ  พิจารณาธรรม แยกธาตุขันธ์  เจริญอสุภกรรมฐาน ณ บริเวณถ้ำแห่งนั้นติดต่อกันเป็นเวลา3 วัน 3 คืน

ขณะที่จิตของท่านดำเนินไปอย่างได้ผลก็ปรากฏนิมิตเป็นลูกสุนัขกำลังกินนมแม่ท่านพิจารณาใคร่ครวญดูว่าเหตุใดจึงมีนิมิตขึ้นมาได้  เพราะปกตินิมิตจะเกิดจากการปฏิบัติสมาธิในระดับที่ยังไม่เป็นวสีหรือยังไม่มีความชำนาญเท่านั้น  เมื่อท่านกำหนดจิตพิจารณาจึงเกิดญาณรู้ว่า  ลูกสุนัขตัวนั้นก็คือตัวท่านเอง  ซึ่งในอดีตเคยเกิดเป็นสุนัขอยู่ตรงนี้มาหลายชาติด้วยกัน

เมื่อหลวงปู่มั่นได้ทราบความเป็นไปในอดีตชาติของตน  ก็เกิดความสลดเป็นอย่างมาก  ทั้งเกิดความสงสัยว่า  ในเมื่อจิตของท่านยังคงเจิดจ้าอยู่  ทำไมจึงไม่สามารถพิจารณาธรรมให้ยิ่งขึ้นไปได้  ท่านจึงนำสิ่งที่ได้พบมาพิจารณาธรรมในข้อที่ว่า “กายะทุกขัง  อริยสัจจัง”  เพื่อพยายามค้นให้พบว่าท่านเคยเกิดเป็นอะไรอีก  จนกระทั่งพบความจริงว่า  ในสมัยพระศาสนาของพระพุทธโคดม  ตัวท่านเคยปรารถนาที่จะตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า  ซึ่งเป็นเหตุให้การพิจารณาธรรมนั้นพร่ามัว  และต้องสั่งสมบารมีชาติแล้วชาติเล่ากว่าที่ธรรมจะก้าวหน้าสูงสุด  ด้วยเหตุนี้ท่านจึงถอนความปรารถนาดังกล่าว  และหันมามุ่งมั่นที่จะพ้นทุกข์ในชาติปัจจุบันแทน

ต่อจากนั้นหลวงปู่มั่นก็เกิดนิมิตขึ้นอีกว่า  มียักษ์ตนหนึ่งจะเข้ามาทำร้าย  แต่ไม่สามารถทำอันตรายท่านได้  ในที่สุดยักษ์ก็ยอมศิโรราบ  ก่อนจะเนรมิตกายเป็นเทพบุตรและกล่าวอ้างพระรัตนตรัยเป็นที่พึ่งในเวลาต่อมา  จิตของท่านจึงรวมเห็นโลกทั้งใบราบเรียบเตียนลงจนเหลือเพียงความว่างเปล่าภายในจิตในถ้ำแห่งนั้นเอง

หลวงปู่มั่นได้พบเห็นนิมิตในสมาธิอยู่เป็นประจำ  จนครั้งหนึ่งเมื่อท่านเดินสวนทางกับ ท่านเจ้าคุณพระอุบาลีคุณูปมาจารย์ (จันทร์  สิริจันโท)  ท่านเจ้าคุณกล่าวกับหลวงปู่มั่นเป็นภาษาบาลีว่า “อฏฺฐงฺคิโกมคฺโค” (ทางมีองค์ 8 คือเครื่องไปจากข้าศึกคือกิเลส)  แล้วก็เดินจากไป  ผลที่ติดตามมาก็คือ  หลวงปู่มั่นยังคงเห็นนิมิตในสมาธิอย่างต่อเนื่องเป็นเวลานานถึง 3 เดือน จนในที่สุดก็ไม่มีนิมิตใด ๆ เกิดขึ้นอีก  เหลือเพียงความสุขสงบอันสุดจะประมาณได้  หลวงปู่มั่นกล่าวถึงสภาวะอันสำคัญนั้นไว้ว่า

“ตนของตนถึงความบริสุทธิ์แน่จริงหมดจากกิเลสแล้ว”

ATT00002

กำเนิดกองทัพธรรม

หลังจากบรรลุธรรมแล้ว  หลวงปู่มั่นได้เดินทางกลับไปยังภาคอีสาน  พร้อมกับความมุ่งมั่นที่จะถ่ายทอดความรู้ด้านการภาวนาที่ท่านเพียรศึกษามาอย่างยาวนาน

กระนั้นความตั้งใจของท่านก็ไม่อาจสัมฤทธิ์ผลได้โดยง่าย  เนื่องจากเวลานั้นผู้รู้ด้านวิปัสสนามีไม่มากนัก  และชาวบ้านในท้องถิ่นต่างก็สนใจแต่เรื่องเครื่องรางของขลังหรือไสยศาสตร์กันมาก  หลวงปู่มั่นจึงต้องใช้เวลาในการปลูกฝังความรู้ความเข้าใจด้านหลักธรรมและอบรมสั่งสอนสมถวิปัสสนาแก่ผู้คนอยู่นาน  โดยมุ่งหวังเพียงเพื่อให้คนพ้นทุกข์  โดยปฏิบัติตามแนวทางคำสอนขององค์พระศาสดาและยึดถือธุดงควัตร 13 ประการอย่างเคร่งครัดจนลูกศิษย์ลูกหาต่างประจักษ์ถึงญาณความรู้ของหลวงปู่มั่นที่ทั้งกว้างขวางและแม่นยำ

หลวงปู่ได้วางแนวทางในการปฏิบัติสมถะและวิปัสสนากรรมฐานตามหลักธรรมคำสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาพุทธเจ้าแก่สมณะและประชาชนอย่างกว้างขวางดังที่ หลวงตามหาบัว  ญาณสัมปันโนกล่าวไว้ในหนังสือ “หยดน้ำบนใบบัว” ว่า

“…พ่อแม่ครูอาจารย์มั่น  ท่านพาดำเนินอย่างถูกต้องแม่นยำ  ถือเอาธุดงควัตร 13 นี้เป็นพื้นเพในการดำเนิน  และการประพฤติปฏิบัติจิตใจของท่านก็เป็นไปโดยสม่ำเสมอไม่นอกลู่นอกทางทำให้ผู้อื่นเสียหาย  และริจะทำเพื่อความเด่นความดังอะไร ออกนอกลู่นอกทางนั้นไม่มี  เป็นแนวทางที่ราบรื่นดีงามมาก

“…หลักวินัยคือกฎของพระ  ระเบียบของพระ  ท่านตรงเป๋งเลย  และหลักธรรมก็ยึดธุดงค์ 13 ข้อนี้เป็นทางดำเนิน  ไม่ได้ออกนอกลู่นอกทางนี้ไปอย่างทางอื่นบ้างเลยนี่จึงเป็นที่น่าอนุโมทนาเป็นอย่างยิ่งมาตั้งแต่ขั้นเริ่มแรกของท่าน  ต่อจากนั้นท่านก็ปรากฏเห็นผลขึ้นมาโดยลำดับ…”

ด้วยความถึงพร้อมทั้งปฏิบัติ  ปริยัติและปฏิเวธเช่นนี้  หลวงปู่มั่นจึงได้รับการยกย่องจากผู้ที่มีศรัทธาในพุทธศาสนาทั้งหลายว่า “เป็นพระผู้เลิศทางธุดงควัตร”และมีผู้ติดตามศึกษาอบรมกับท่านเป็นจำนวนมาก  ทำให้พระป่าสายพระอาจารย์มั่น  ภูริทัตโต มีจำนวนเพิ่มขึ้นทุกขณะจนสามารถขยายงานการเผยแผ่ธรรมในภาคอีสานได้อย่างกว้างขวาง  โดยเฉพาะในจังหวัดอุดรธานี  หนองคาย  นครพนม สกลนคร  อุบลราชธานี  และขอนแก่น

จากนั้นแนวทางการสอนของท่านก็แพร่กระจายไปตามภูมิภาคต่าง ๆ เกิดเป็นกองทัพธรรมอันเข้มแข็ง  มีศิษยานุศิษย์เป็นพระเถระซึ่งเป็นที่เคารพศรัทธาของสมณะและประชาชนมากมายในทั่วทุกภูมิภาคของประเทศไทย

ATT00003

ปัจฉิมวัยและมรดกธรรมที่ไม่ดับไปพร้อมสังขาร

แม้จะล่วงเข้าสู่ปัจฉิมวัย  แต่หลวงปู่มั่นก็ยังคงเผยแผ่ความรู้ด้านวิปัสสนากรรมฐานอย่างจริงจังอยู่เช่นเดิม  อีกทั้งยังเทศนาธรรมอบรมจิตใจศิษยานุศิษย์เป็นประจำทุกวัน

จวบจนอายุย่างเข้า 80 ปี  หลวงปู่มั่นก็เริ่มอาพาธ  แม้จะได้รับการดูแลเป็นอย่างดีจากศิษย์ที่ใกล้ชิด  หากอาการอาพาธก็มีแต่ทรงกับทรุดลง  แต่กระนั้นท่านก็ยังคงให้โอวาทธรรมแก่ประชาชนที่มาเยี่ยมดูอาการอยู่หลายครั้ง  ดังเช่นครั้งที่วัดป่ากลางโนนภู่บ้านกุดก้อม  ซึ่งท่านได้ให้โอวาทไว้ว่า

“พวกญาติโยมพากันมามาก  มาดูพระเฒ่าป่วย  ดูหน้าตาสิ  เป็นอย่างนี้ละญาติโยมเอ๋ย  ไม่ว่าพระ ไม่ว่าคน  พระก็มาจากคน  มีเนื้อมีหนังเหมือนกัน  คนก็เจ็บป่วยได้  พระก็เจ็บป่วยได้  สุดท้ายก็คือตาย  ได้มาเห็นอย่างนี้แล้วก็จงพากันนำไปพิจารณา  เกิดมาแล้วก็แก่  เจ็บ  ตายแต่ก่อนจะตาย  ทานยังไม่มีก็ให้มีเสีย  ศีลยังไม่เคยรักษาก็รักษาเสีย  ภาวนายังไม่เคยเจริญก็เจริญให้พอเสีย  จะได้ไม่เสียทีที่ได้เกิดมาพบพระพุทธศาสนาด้วยความไม่ประมาท  นั้นละจึงจะสมกับที่ได้เกิดมาเป็นคน…”

จวบจนเวลา 02.23 น.  ของวันที่ 11 พฤศจิกายน พ.ศ. 2492  หลวงปู่มั่นก็มรณภาพด้วยอาการสงบ  โดยหลวงตามหาบัว  ญาณสัมปันโน ได้เล่าถึงเหตุการณ์ในเวลานั้นไว้ในหนังสือ ประวัติท่านพระอาจารย์มั่นฯ ว่า

“ดวงประทีปที่เคยสว่างไสวมาประจำชีวิตจิตใจได้ดับวูบสิ้นสุดลง ปราศจากความอบอุ่นชุ่มเย็นเหมือนแต่ก่อนมา  ราวกับว่าทุกสิ่งได้ขาดสะบั้นหั่นแหลกเป็นจุณไปเสียสิ้น  ไม่มีสิ่งเป็นที่พึ่งพอเป็นที่หายใจได้เลย  มันสุดมันมุดมันด้านมันตีบตันอั้นตู้ไปเสียหมดภายในใจ  ราวกับโลกธาตุนี้ไม่มีอะไรเป็นสาระพอเป็นที่เกาะของจิตผู้กำลังกระหายที่พึ่งได้อาศัยเกาะพอได้หายใจแม้เพียงวินาทีหนึ่งเลย  ทั้งที่สัตว์โลกทั่วไตรภพอาศัยกันประจำภพกำเนิดตลอดมาแต่จิตมันอาภัพอับวาสนาเอาอย่างหนักหนาจึงเห็นโลกธาตุเป็นเหมือนยาพิษเอาเสียหมดเวลานั้น  ไม่อาจเป็นที่พึ่งได้  ปรากฏแต่ท่านพระอาจารย์มั่นองค์เดียวเป็นชีวิตจิตใจ  เพื่อฝากอรรถฝากธรรมและฝากเป็นฝากตายทุกขณะลมหายใจเลย…”

เส้นทางชีวิตของหลวงปู่มั่น  ภูริทัตโตได้ยุติลงด้วยสิริอายุ 79 ปี 9 เดือน 21 วันรวม 56 พรรษา หากแต่มรดกธรรมของท่านจะยังคงดำรงอยู่ต่อไป…ตราบนานเท่านาน

Cover หลวงปู้มั้น 39273

หลวงปู่มั่น  หลวงปู่เสาร์  และเรื่องเล่าจากพระธาตุพนม

ย้อนกลับไป  เมื่อครั้งที่พระมั่นติดตามหลวงปู่เสาร์เดินทางจากประเทศลาวข้ามฝั่งกลับมายังประเทศไทย  ท่านทั้งสองตัดสินใจปักกลดปฏิบัติภาวนาอยู่ในบริเวณพระธาตุพนม  ซึ่งในเวลานั้นยังเป็นพระธาตุร้าง  แต่หลวงปู่เสาร์พบว่าสิ่งปลูกสร้างอันเก่าแก่และมีหญ้าขึ้นรกปกคลุมไปหมดนี้  น่าจะมีพระบรมสารีริกธาตุประดิษฐานอยู่  จึงเชิญชวนชาวบ้านละแวกนั้นมาร่วมกันทำความสะอาดและบูรณะพุทธสถานโบราณแห่งนี้กันคนละไม้ละมือ  จนองค์พระเจดีย์กลับมาสวยงามอีกครั้ง

หลังจากบูรณะพระธาตุพนมแล้วเสร็จ  และสั่งสอนเรื่องการรักษาศีลเจริญกรรมฐานแก่ชาวบ้านได้ระยะหนึ่ง  พระมั่นก็ได้แยกตัวออกมาเจริญสมณธรรมตามลำพังในที่ต่าง ๆ  ไม่ว่าจะเป็นป่ารกชัฏ  ป่าช้า  หุบเขา  ลำห้วย  ท้องถ้ำ  รวมถึงในหลายพื้นที่ทั้งฝั่งซ้ายและฝั่งขวาของแม่น้ำโขง  จนสามารถสั่งสมองค์ความรู้ทางธรรมและบารมีสูงขึ้นตามลำดับเวลาและตามระยะทางที่ธรรมะได้นำพาท่านไป

(ผู้สนใจสามารถอ่านเรื่องราวตอนนี้ได้ในหนังสือ บันทึกการเดินทางตามรอยธุดงค์หลวงปู่มั่น  จอมทัพธรรม  จัดพิมพ์โดย สำนักพิมพ์อมรินทร์ธรรมะ)

ขอขอบคุณ ข้อมูลและภาพจากหนังสือ “บันทึกการเดินทางตามรอยธุดงค์ หลวงปู่มั่น จอมทัพธรรม” โดย พศิน อินทรวงค์ และจากเว็บไซต์ www.luangpumun.org, th.wikipedia.org


Secret box

ได้สมบัติทั้งปวง ไม่ประเสริฐเท่าได้ตน

เพราะตัวตนเป็นบ่อเกิดแห่งสมบัติทั้งปวง

หลวงปู่มั่น  ภูริทัตโต


เรื่อง ศิษย์แว่น  ภาพ วรวุฒิวิชาธร, สำนักพิมพ์อมรินทร์ธรรมะ ขอขอบคุณ พิพิธภัณฑ์หุ่นขี้ผึ้งไทย จังหวัดนครปฐมสำหรับการอำนวยความสะดวกในการถ่ายภาพหุ่นขี้ผึ้งหลวงปู่มั่นภูริทัตโต

Posted in MIND
BACK
TO TOP
cheewajitmedia
Writer

© COPYRIGHT 2024 Amarin Corporations Public Company Limited.