อริยทรัพย์

ดร.บุญยง ว่องวานิช ผู้เป็นดั่งอริยทรัพย์ในพุทธศาสนา

ดร. บุญยง ว่องวานิช ผู้เป็นดั่ง อริยทรัพย์ ในพุทธศาสนา

“ในความรู้สึกของข้าพเจ้าคุณ บุญยง ว่องวานิช เป็นบุคคลของพระธรรม โดยพระธรรม เพื่อพระธรรม เป็นเสมือนผู้มีพุทธศาสนาเป็นตัวเอง…เป็นผู้มีทรัพย์เป็นทรัพย์สมบัติ ( อริยทรัพย์ )ของพระศาสนา” - ท่านพุทธทาสภิกขุ

“คุณบุญยง ว่องวานิช เป็นปูชนียบุคคลอันสำคัญของประเทศชาติ เป็นผู้มีกุศลจิตและมีปณิธานอันมั่นคงต่อการอุทิศตนเพื่อพระพุทธศาสนาทั้งในและต่างประเทศ เป็นผู้เสียสละประโยชน์ส่วนตัวและส่วนรวมด้านการสงเคราะห์อนุเคราะห์…สมควรยกย่อง” - หลวงพ่อจรัญ ฐิตธัมโม

“คำว่า ‘เศรษฐี’ ที่เขาใช้เรียกขานคนมั่งมีทั่วไปนั้น มิใช่คำที่ควรใช้กับคนมั่งมีทั่วไป เพราะคนมั่งมีไม่ควรเรียกขานว่าเป็นเศรษฐี แต่คุณบุญยงว่องวานิช มีองค์คุณที่ควรร้องเรียกว่า‘เศรษฐี’ ได้เต็มที่ เพราะเป็นคนมีน้ำใจงาม มีเงินและใช้เงินให้เป็นประโยชน์แก่สังคม…เป็นคนที่ทำความดีตลอดมา…สนับสนุนบุคคล องค์กรให้ทำดีทุกวิถีทาง เป็นบุคคลตัวอย่างในการดำรงตนในพุทธธรรม จึงควรได้รับการยกย่องว่าเป็นผู้มีปัญญาอย่างแท้จริง” - หลวงพ่อปัญญานันทภิกขุ

จะมีคนสักกี่คน ที่พระสุปฏิปันโนพากันกล่าวขานถึงความดีงามเช่นนี้อีกทั้งจะมีสักกี่คนที่ได้รับการยอมรับในความสามารถ และได้รับการยกย่องสรรเสริญจากบุคคลทั่วไปให้เป็น“แบบอย่างของนักธุรกิจผู้ประสบความสำเร็จทั้งทางโลกและทางธรรม”

ดร.บุญยง ว่องวานิช คือเจ้าของความสำเร็จอันยิ่งใหญ่ และน่าภาคภูมิใจนี้ท่านเป็นเจ้าของธุรกิจที่มีมูลค่ารวมกว่าห้าพันล้านบาท โดยหนึ่งในนั้นคือผลิตภัณฑ์ตรางูที่คนไทยทั้งประเทศรู้จักคุ้นเคยกันเป็นอย่างดี

นอกจากนี้ท่านยังเป็นหนึ่งในผู้ก่อตั้งยุวพุทธิกสมาคมแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ และอีกหลายองค์กรการกุศลที่มุ่งก่อประโยชน์ต่อสังคมโดยไม่มีผลประโยชน์เคลือบแฝง

ดร.บุญยง ว่องวานิช เกิดเมื่อปีพ.ศ. 2468 เป็นบุตรคนที่สองของ หมอล้วนและ นางเพิ่มพูล ว่องวานิช ก่อนตั้งครรภ์มารดาของท่านฝันว่า มีคนแต่งกายคล้ายเซียนเดินมาหา มือข้างหนึ่งถือเจดีย์  อีกข้างจูงเด็กมามอบให้ ไม่นานท่านก็ตั้งท้องบุตรชายคนที่สอง
เด็กชายบุญยงเรียนชั้นประถมศึกษาและมัธยมศึกษาจากโรงเรียนอัสสัมชัญบางรัก ซึ่งเป็นโรงเรียนเดียวกับที่หมอล้วนผู้เป็นบิดาเคยร่ำเรียนมา เขาให้ความเคารพรักและยำเกรงบิดามารดามาก

ดร.บุญยงได้เห็นตัวอย่างความขยันขันแข็งของพ่อที่สามารถสร้างเนื้อสร้างตัวจนเป็นเจ้าของห้างขายยาอังกฤษ (ตรางู) ด้วยตัวเองตั้งแต่ยังหนุ่ม นอกจากหมอล้วนผู้เป็นบิดาจะเป็นต้นแบบทางธุรกิจให้แก่ลูก ๆ แล้ว ทั้งท่านและภรรยาก็ยังเป็นเบ้าหลอมคุณธรรมให้ลูก ๆ ผ่านการพร่ำสอนและทำตนเป็นแบบอย่างอีกด้วย โดยสิ่งที่ลูก ๆ ได้รับการสั่งสอนอยู่เสมอคือ การรู้จักเป็นผู้ให้และการตอบแทนคืนสู่สังคมด้วยการนำกำไรจากธุรกิจมาสร้างสรรค์ประโยชน์ให้แก่ประชาชน โดยเฉพาะผู้ตกทุกข์ได้ยาก

ดร.บุญยงกล่าวว่า “คุณป๋าเป็นบูรพาจารย์ของลูก คุณป๋าได้สอนลูกในวิชาร้อยแปดพันประการ นับตั้งแต่การค้าขาย การต่อยมวย มาจนกระทั่งการวางตัวในสังคม…ลูก ๆ ยังจำได้ว่าตอนหนึ่งคุณป๋าสอนไว้ว่า อย่าได้เอาเปรียบคนอื่น เพราะคนที่เสียเปรียบเขาจะเกลียดเรา ถ้าเรายอมเสียเปรียบบ้างเล็ก ๆ น้อย ๆ คนที่ได้เปรียบเขาจะรักเรา วันหลังเขาจะช่วยเราเองโดยไม่ต้องขอร้อง…”

มรดกแห่งความดีงาม
ปี พ.ศ. 2482 ช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2ดร.บุญยงและครอบครัวต้องลี้ภัยทางการเมืองไปพำนักที่เกาะฮ่องกง ระหว่างนั้นท่านศึกษาต่อที่วิทยาลัยเซนต์สตีเว่น ซึ่งต่อมาที่นี่ถูกกองกำลังทหารญี่ปุ่นเข้ายึดพร้อมเกิดเหตุการณ์จราจลอย่างรุนแรงดร.บุญยงและเพื่อนนักศึกษาชาวไทยกว่าสามสิบชีวิตถูกกักขังไว้ภายในวิทยาลัย ครั้นเมื่อถูกปล่อยตัว หมอล้วนก็ให้ความเมตตาส่งตัวนักศึกษาทั้งสามสิบคนกลับประเทศไทยโดยไม่คิดค่าใช้จ่าย ทั้งที่ขณะนั้นเป็นสภาวการณ์ที่ยากลำบาก เสี่ยงต่อการที่เรือโดยสารจะถูกโจมตี และอาจมีอันตรายถึงชีวิต แต่หมอล้วนก็ยังช่วยด้วยความเต็มใจเหตุการณ์ครั้งนั้นนับเป็นบทเรียนครั้งสำคัญที่ ดร.บุญยงได้รับจากบิดา

หลังกลับถึงเมืองไทยได้ไม่นาน ดร.บุญยงก็มุ่งมานะฟื้นฟูกิจการของครอบครัวจึงไม่ได้เรียนต่อเช่นเดียวกับเพื่อนคนอื่น ๆความตั้งใจอย่างหนักบวกกับการเดินทางที่แสนทรหดทำให้ท่านป่วยเป็นโรคปอดจนร่างกายซูบผอม การแพทย์ไทยในขณะนั้นไม่สามารถรักษาอาการของท่านให้ทุเลาลงได้ดร.บุญยงจึงถูกส่งไปรักษาตัวที่ประเทศสวิตเซอร์แลนด์นานกว่าหนึ่งปี และได้รับการผ่าตัดใหญ่ถึงสองครั้งเพื่อดูดน้ำที่ค้างอยู่ในช่องปอดออกมา ตลอดระยะเวลาการรักษาที่แสนทรมานนั้น ท่านไม่เคยย่อท้อหรือหมดหวังเลย แต่กลับคิดวางแผนการณ์ในอนาคตเสมอ ด้วยพลังของความตั้งใจจริงและความอดทน อาการของท่านจึงดีขึ้นเรื่อย ๆ จนเป็นปกติ จากนั้น ดร.บุญยงได้ขออนุญาตพ่อและแม่ทำตามแผนที่วางไว้ ด้วยการไปศึกษาต่อจนสำเร็จปริญญาตรีทางด้านเคมี จากมหาวิทยาลัยโคลัมเบีย ประเทศสหรัฐอเมริกา

ภรรยาผู้ชี้ทางธรรม
ด้วยนิสัยขยันขันแข็งในการทำงานทำให้ ดร.บุญยงไม่ค่อยได้พบปะหญิงสาวคนใด กระทั่งบุญชักนำให้ท่านได้พบกับสาวิกา ออสกุล ดอกรักจึงผลิบานเป็นครั้งแรก หลังเดินทางขึ้นล่องระหว่างกรุงเทพฯ – เชียงใหม่ซึ่งเป็นบ้านเกิดของฝ่ายหญิงเป็นเวลานานพอสมควร ทั้งคู่จึงแต่งงานกัน ซึ่งท่านก็ได้ทำหน้าที่ของสามีที่ดี ให้ความรักและดูแลภรรยาไม่เคยขาดตกบกพร่อง อีกทั้งยังชักชวนกันเข้าวัดทำบุญทำทานเสมอ

ภรรยาของท่านได้ให้กำเนิดลูกชายและลูกสาวรวมทั้งสิ้นสี่คน คือ อัญญา, อนุรุธ,ล้วนชาย และ เพิ่มหญิง ลูก ๆ ทุกคนจบการศึกษาจากต่างประเทศ โดย ดร.บุญยงได้ขอร้องให้ภรรยาไปอยู่ดูแลไม่ห่าง เพราะอยากให้ลูกเติบโตขึ้นมาอย่างอบอุ่น มีกิริยามารยาทดีงาม ระหว่างนั้นท่านก็เทียวไปหาอย่างสม่ำเสมอ จนกระทั่งครบรอบปีที่ยี่สิบห้าของชีวิตคู่ ภรรยาของท่านก็ล้มป่วยด้วยโรคมะเร็งช่องท้อง และจากไปในเวลาเพียงเจ็ดเดือน สร้างความทุกข์ระทมให้ดร.บุญยงเป็นอย่างมาก ซึ่งท่านได้ระบายความในใจผ่านหนังสือที่ระลึกงานศพว่า

“…ผมเคยคิดเสมอว่า พ่อบ้านเป็นบุคคลที่มีความสำคัญที่สุดในบ้าน เพราะพ่อบ้านเป็นทั้งผู้นำและเป็นผู้หารายได้มาเลี้ยงครอบครัว แต่บัดนี้ผมรู้สึกตัวว่าผมคิดผิดไปเสียแล้ว บุคคลที่สำคัญที่สุดในครอบครัวคือ ‘แม่บ้านที่ดี’ ต่างหากเพราะแม่บ้านที่ดีเป็นศูนย์กลางของทุกสิ่งทุกอย่างในบ้าน เป็นศูนย์กลางของความรักของสามี ของบุตรธิดา และของบุคคลที่อาศัยอยู่ในบ้าน แม้แต่สัตว์เลี้ยงในบ้าน” ความเสียใจอย่างหาที่เปรียบไม่ได้ในครั้งนี้เองที่ส่งผลให้ ดร.บุญยงได้พบกับคุณแม่สิริ กรินชัย และได้ปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานจนคลายความทุกข์ลงไปได้

ธุรกิจควบคู่คุณธรรม
ดร.บุญยงได้ชื่อว่าเป็นนักธุรกิจที่ซื่อสัตย์ ไม่เอาเปรียบผู้บริโภค รวมถึงยังไม่เอาเปรียบคู่แข่งขันด้วย ครั้งหนึ่งเมื่อท่านทราบว่าเกษตรกรมีปัญหาหนี้สินรุงรังจึงได้ชักชวนเพื่อนก่อตั้งบริษัทอาหารสากลจำกัด เพื่อช่วยเกษตรกร ทั้งที่ไม่มีความเชี่ยวชาญด้านอาหารเลย แต่ด้วยความมุ่งมั่นท่านจึงพยายามทำทุกวิถีทางเพื่อให้เกษตรกรมีรายได้และไม่เป็นหนี้ จนเกิดธุรกิจผลไม้กระป๋องยี่ห้อ UFC ซึ่งเป็นเจ้าแรก ๆ ของประเทศไทยที่ประสบความสำเร็จเป็นอย่างมาก พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรม-ราชินีนาถ ได้เคยเสด็จฯขึ้นมาดูงานเป็นการส่วนพระองค์ เพราะทรงเห็นว่าเป็นกิจการที่ช่วยยกระดับเกษตรกรให้อยู่ดีกินดีขึ้นได้

“คนส่วนมากเข้าใจว่า ธรรมะกับธุรกิจไปด้วยกันไม่ได้ ธุรกิจต้องฉวยโอกาสต้องเฉือนกันให้ถึงที่สุด ให้ได้กำไรมาก ๆแต่ในด้านธรรมะนั้นมีแต่ความเมตตาไม่ทำให้ใครเดือดร้อน…ผมเป็นนักธุรกิจที่ได้ศึกษาธรรมะมาบ้างตามสมควร ผมคิดเอาเองว่า เป็นหน้าที่ของผมที่จะมาบอกมาทำความเข้าใจว่า ธุรกิจนั้นขาดธรรมะไม่ได้” นี่คือปณิธานอันแน่วแน่ที่นักธุรกิจสมัยนั้นน้อยคนนักจะกล้าทำตาม แต่ดูเหมือนยิ่งให้ก็ยิ่งได้รับ เพราะทุกธุรกิจของดร.บุญยงประสบความสำเร็จอย่างงดงามโดยเฉพาะผลิตภัณฑ์แป้งเย็นตรางูที่ยอดขายทะลุเป้าทุกปี จนได้ชื่อว่า “เจ้าพ่อแป้งเย็น”

อีกสิ่งที่การันตีความสำเร็จทางธุรกิจได้เป็นอย่างดีคือ ความสุขในการทำงานของพนักงานในบริษัท เพราะท่านไม่เพียงมอบงานหรือรายได้ให้เท่านั้น แต่ยังมุ่งพัฒนาจิตใจให้พนักงานด้วย โดย ดร.บุญยงกล่าวว่า “การอบรมทางใจนั้น เราเห็นว่าไม่มีทางอื่น นอกจากนำเอาพระพุทธศาสนาเข้ามาอบรมให้เขาเข้าใจว่า คนเราเกิดมาไม่เหมือนกันเพราะอดีตกรรม กรรมดีส่งผลให้คนเกิดมาดี กรรมชั่วส่งผลให้คนเกิดมาไม่ดี ฉะนั้นปัจจุบันจะต้องทำแต่กรรมดี ๆให้งดเว้นการทำชั่ว…ถ้าบริษัทเรามีพนักงานที่ดีทั้งทางกายและใจแล้ว การปกครองก็จะง่าย กิจการก็จะเจริญรุ่งเรือง เพราะเรามีพนักงานที่มีคุณสมบัติพร้อมที่จะทำงานให้เจริญก้าวหน้าได้ นี่เป็นปรัชญาในการทำงานของเรา”

นอกเหนือจากการพัฒนาคุณภาพจิตใจแล้ว ดร.บุญยงยังแบ่งปันที่ดินส่วนตัวเพื่อสร้างบ้านให้พนักงานผ่อนส่ง เพื่อพวกเขาจะได้มีบ้านเป็นของตัวเอง ในขณะที่นักธุรกิจทั่วไปมักใช้ที่ดินสร้างบ้านจัดสรรขายในราคาสูงเพื่อเก็งกำไรเข้ากระเป๋าตัวเอง การเป็นผู้ให้ด้วยความจริงใจนี้คือเหตุผลสำคัญที่ทำให้พนักงานทุกคนรักและเคารพ ดร.บุญยง จนส่วนใหญ่ขออยู่ทำงานให้บริษัททั้งที่อายุเลยวัยเกษียณแล้ว และหลายคนก็มีอายุงานยาวนานกว่า 40 ปี

กำเนิดยุวพุทธิกสมาคมฯ
ปี พ.ศ. 2491 ดร.บุญยงและเพื่อนอีกสองคนคือ คุณสุพจน์ แสงสมบูรณ์และ คุณเสถียร โพธินันทะ มองเห็นปัญหาเดียวกันว่า ผู้คนในสมัยนั้นเริ่มห่างไกลพระพุทธศาสนา จึงชวนกันก่อตั้งชมรมศึกษาธรรมะของคนรุ่นใหม่ หรือ Y.B.A (Young Buddhist Association) ขึ้น ซึ่งในขณะนั้นทั้งสามท่านมีอายุเพียง 23 ปีเท่านั้น จึงทำให้ Y.B.A กลายเป็นที่จับตามองของคนรุ่นใหม่หัวใจใฝ่พระธรรมจนมีสมาชิกเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ ไม่นานองค์กรนี้ก็เปลี่ยนชื่อเป็น ยุวพุทธิกสมาคมแห่งประเทศไทย มีความหมายว่า ผู้เยาว์ที่นับถือในคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า และได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯรับยุวพุทธิกสมาคมฯ เข้าไว้ในพระบรมราชูปถัมภ์จึงได้ชื่อว่า ยุวพุทธิกสมาคมแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ นับแต่นั้นเป็นต้นมา โดยจุดประสงค์หลักคือ การจัดกิจกรรมเพื่อโน้มน้าวให้เยาวชนและประชาชนทั่วไปเข้ามามีส่วนร่วมในพระพุทธ-ศาสนา ผ่านกิจกรรมต่าง ๆ เช่น บรรพชาสามเณรภาคฤดูร้อน โครงการธรรมยาตราโครงการธรรมทายาท เป็นต้น

ต่อมาในปี พ.ศ. 2523 สมเด็จพระ-นางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ทรงเล็งเห็นว่า ยุวพุทธิกสมาคมฯ เป็นองค์กรทางธรรมที่เป็นสาธารณประโยชน์อย่างแท้จริง จึงพระราชทานที่จำนวน 5 ไร่บริเวณซอยเพชรเกษม 54 ให้เป็นที่ตั้งของสมาคมจวบจนทุกวันนี้ ที่นี่นับเป็นสถานปฏิบัติธรรม ที่มีพระภิกษุและนักปราชญ์ ผู้มีความรู้ทางธรรมแวะเวียนมาชี้ทางสว่างเป็นประจำแทบทุกวัน ทั้งการสวดมนต์ ฟังธรรมบรรยายและสถานที่แห่งนี้ยังโดดเด่นในเรื่องการปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐาน โดยมีคุณแม่สิริกรินชัย เป็นแม่ทัพธรรม ปัจจุบันยุวพุทธิกสมาคมฯขยายออกเป็น 5 ศูนย์ คือ สำนักงานใหญ่ ซอยเพชรเกษม 54, ศูนย์วิปัสสนายุวพุทธฯเฉลิมพระเกียรติ, ศูนย์วิปัสสนายุวพุทธฯสวนประไพธรรม, ศูนย์วิปัสสนาเกษมธรรมทัต และศูนย์วิปัสสนายุวพุทธฯเกียรติภักดีกุล มีคุณอนุรุธ ว่องวานิชลูกชายคนโตของ ดร.บุญยงเป็นผู้สืบทอดมรดกทางธรรม และเป็นผู้ดำเนินการก่อสร้างศูนย์ย่อยร่วมกับผู้มีจิตกุศลจากทั่วทั้งประเทศ

ดวงจิตมุ่งสู่นิพพาน
ครั้นเมื่อถึงวัย 72 ปี ดร.บุญยงได้ตั้งปณิธานที่จะออกบวชตลอดชีวิต ท่านยกธุรกิจทั้งหมดให้ลูก ๆ รวมทั้งฝากฝังงานสาธารณประโยชน์นานัปการไว้ด้วย ซึ่งการบวชครั้งนี้ก่อให้เกิดคำถามจากผู้ที่ไม่เข้าใจว่า เหตุใด ดร.บุญยงซึ่งมีทรัพย์สมบัติหลายพันล้านจึงคิดบวชตลอดชีวิต ดร.บุญยงหรือ พระอมตธัมเมสโก ในเวลานั้นกล่าวว่า “ข้าพเจ้าตัดสินใจเปลี่ยนทรัพย์สินที่เก็บสะสมมาเพื่อใช้ในบั้นปลายของชีวิตให้เป็นอริยทรัพย์ ซึ่งสามารถจะนำติดตามตัวไปได้ทุกชาติทุกภพ…เพื่อนฝูงว่าอาตมาบ้า…มีเงินทองมากมาย ถ้าจะหาเวลาพักผ่อนควรไปเที่ยวรอบโลกจะดีกว่า…การเที่ยวรอบโลกนั้น สมัยเมื่อเป็นฆราวาส อาตมาไปมาแล้วหลายรอบ…เหนื่อยมาก เพราะต้องแข่งกับเวลา คิดว่าบวชจะดีกว่า…”

แต่แล้วหลังจากบวชได้เพียงปีเศษท่านก็เริ่มควบคุมการเดินไม่ได้ แพทย์วินิจฉัยว่าท่านเป็นโรคทางสมอง ต้องรีบเข้ารับการผ่าตัดด่วน ทางครอบครัวจึงขอร้องให้ท่านสึกเพื่อรักษาตัว ดร.บุญยงป่วยหนักเป็นระยะเวลายาวนานร่วมสิบปี จากเดิมที่เคยกระฉับกระเฉงก็กลายเป็นเคลื่อนไหวร่างกายแทบไม่ได้ พูดไม่ได้ และแทบจะช่วยเหลือตัวเองไม่ได้เลย

หลายคนอาจสงสัยว่า เพราะเหตุใดผู้ที่มีจิตใจดี ทำแต่บุญกุศลจึงต้องประสบชะตากรรมเช่นนี้ในบั้นปลายชีวิต พระชาญชัย อธิปัญโญ อดีตผู้อำนวยการยุวพุทธิกสมาคมฯ ได้อธิบายว่า “ความเจ็บป่วยแบบนี้พระอรหันต์ยังหนีไม่พ้นเลยนะภัยของวัฏสงสาร สังขารของเรานี้เป็นที่รวมของกองทุกข์ ผู้ที่จะผ่านบททดสอบทุกข์ไปได้ก็ล้วนต้องผ่านทุกขเวทนาจากความเจ็บป่วย…การทำบุญมามากหรือปฏิบัติธรรมมานานแล้วจะไม่ต้องมาพบสภาพเจ็บป่วยนั้น เป็นคนละเรื่องกัน ทำบุญมากก็มีโภคทรัพย์มาก รักษาศีลได้ดี ก็มีอายุยืนยาว ปฏิบัติภาวนาดี ใจก็มีแต่ความสุขร่างกายนี้เรารักษามันไว้ไม่ได้หรอก เป็นไปตามเหตุปัจจัยของเขา”

ระยะแรกที่ล้มป่วยนั้น ดร.บุญยงได้เขียนบทความขอบคุณต่อทุกสิ่งทุกอย่างไว้ นับเป็นงานเขียนชิ้นสุดท้ายที่ให้ข้อคิดทางธรรมอันลึกซึ้ง ต่ออนุชนคนรุ่นหลังได้เป็นอย่างดีท่านเขียนว่า…

“ขอบคุณกุศลผลบุญที่ได้กระทำสั่งสมนับภพนับชาติไม่ถ้วน ที่ส่งผลให้ชีวิตได้ถือกำเนิดมาในครอบครัวสัมมาทิฏฐิและได้ดำเนินชีวิตอยู่มาบนเส้นทางแห่งการสร้างกุศล จนได้มีโอกาสเข้าใจในธรรมะที่จะพัฒนาตนไปสู่การไม่กลับมาเวียนว่ายตายเกิดอีก

“ขอบคุณกฎแห่งกรรมข้ามภพชาติที่ปรากฏผลมาเป็นความป่วยไข้ ให้ได้ชดใช้จนหมดสิ้นในร่างกายนี้ จิตใจนี้

“ขอบคุณร่างกายนี้ จิตใจนี้ ที่ทำหน้าที่เป็นครูอาจารย์ แสดงธรรมะให้เกิดปัญญา เพื่อพัฒนาตนไปสู่ความรู้แจ้ง

“ขอบคุณความทุกข์กาย ทุกข์ใจ ที่ทำให้กระบวนการแห่งการเรียนรู้ธรรมะนี้มีเป้าหมายสูงสุด คือที่สุด คือความสิ้นภพสิ้นชาติ

“กราบน้อมรำลึกในพระพุทธคุณขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่ทรงตรัสรู้ธรรม ชี้เส้นทางแห่งการปฏิบัติ เพื่อการก้าวพ้นไปจากสังสารวัฏ”

ดร.บุญยง ว่องวานิช ได้แสดงให้เห็นประจักษ์แล้วว่า บทสรุปแห่งความสุขของมนุษย์นั้น หาใช่ทรัพย์สินเงินทองมูลค่ามหาศาลไม่ หากแต่เป็นคุณงามความดีในจิตใจต่างหาก ที่จะเป็นอริยทรัพย์ตามติดไปเป็นบุญกุศลจวบจนกว่าจะสิ้นสุดวัฏสงสาร…

ธรรมสถานพยานแห่งรักอันบริสุทธิ์
ด้วยความรักที่มีต่อภรรยา ดร.บุญยงได้สร้างธรรมสถานเพื่ออุทิศส่วนกุศลให้คุณสาวิกาถึง 7 แห่งด้วยกันคือ
● สถานปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐาน วัดระกาศ จังหวัดสมุทรปราการ
● ศาลาอเนกประสงค์ชื่อสาวิกา วัดต๊ำนกกก จังหวัดพะเยา
● กุฏิพระ วัดต๊ำนกกก จังหวัดพะเยา
● กุฏิสาวิกา วัดคูบัว จังหวัดราชบุรี
● กุฏิสาวิกา วัดอุโมงค์ จังหวัดเชียงใหม่
● สำนักวิปัสสนาบุญยงและสาวิกา วัดอัมพวัน จังหวัดสิงห์บุรี
● กุฏิสาวิกา วัดทรายใต้ จังหวัดลำปาง

หลัก 5 ข้อในการทำงาน
1. ซื่อสัตย์สุจริต
2. ขยันขันแข็ง
3. กตัญญูกตเวทิตา
4. สมชีวิตาหรือการรู้จักเก็บออมเงิน
5. อตัมมยาที่แปลว่า จิตที่ความชั่ว ปรุงแต่งไม่ได้ มีความเข้มแข็ง ในการทำความดี

บำเหน็จแห่งความดีงาม
นอกเหนือจากการเป็นผู้ร่วมก่อตั้งยุวพุทธิกสมาคมฯแล้ว ดร.บุญยงยังก่อตั้งองค์กรเพื่อสังคมอีกมากมาย เช่น มูลนิธิสรรพวรรณิตเพื่อมอบรางวัลให้คนที่ทำความดี นับเป็นภาคเอกชนแรก ๆ ที่มอบรางวัลยกย่องสังคม นอกจากนี้ก็ยังได้รางวัลประกาศเกียรติคุณมากมายอาทิ เครื่องราชอิสริยาภรณ์เบญจมาภรณ์มงกุฎไทย, ตริตาภรณ์มงกุฎไทย และตริตาภรณ์ช้างเผือกพร้อมได้รับพระราชทานปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาปรัชญาจากมหาวิทยาลัยรามคำแหง ในปีพ.ศ. 2532 เป็น ดร.บุญยง ว่องวานิชนับแต่นั้นเป็นต้นมา

 

เรื่อง ชลธิชา แสงใสแก้ว ภาพ ยุวพุทธิกสมาคมฯ และหนังสือ“คนต้นแบบ ดร.บุญยง ว่องวานิช” สำนักพิมพ์อมรินทร์ธรรมะ


บทความน่าสนใจ

“ธรรม” ตามจริต ณ ธรรมสถานว่องวานิช

ค้นพบความสุขทางใจ ณ ศูนย์วิปัสสนายุวพุทธฯ สวนประไพธรรม

เปลือยใจ “น้ำฝน กุลณัฐ” หญิงมั่นหัวใจแกร่งยอดกตัญญู

“ซูเปอร์ฮีโร่ไม่ใช่เรื่องเพ้อฝัน แต่เป็นธรรมประจำใจ”… เอ พศิน เรืองวุฒิ (1)

“ซูเปอร์ฮีโร่ไม่ใช่เรื่องเพ้อฝันแต่เป็นธรรมประจำใจ”… เอ พศิน เรืองวุฒิ (จบ)

เบื้องหลังความสำเร็จของ ระเฑียร ศรีมงคล ผู้บริหารบริษัทบัตรกรุงไทย

หลิง จันทิมา ติยะวัชรพงศ์ เจ้าของสินค้าสุขภาพแบรนด์ Healthy Mate กับการค้นพบธรรมะ

กว่าจะมีวันนี้ “ โจว ฉุนเฟย ” เศรษฐีจีน ผู้เป็นต้นแบบของความเพียร

รักวัวให้ผูก รักลูกต้องสอนให้รู้จัก “ให้” บทเรียนสำคัญจาก สุดยอดมหาเศรษฐีใจบุญของโลก

อนาถบิณฑิกเศรษฐี บุรุษผู้มีแต่ให้

เอ่ยคำ ขอโทษ ให้มากกว่าคนอื่นคือ “นิสัยของเศรษฐี”

 

 

 

© COPYRIGHT 2024 Amarin Corporations Public Company Limited.