ลุลา

ความสุขอยู่ที่ไหนกัน ลุลา-กันยารัตน์ ติยะพรไชย

ทันทีที่แสงสปอตไลต์ส่องตรงมาที่ฉัน  เสียงปรบมือ  เสียงเรียกชื่อ “ลุลา  ลุลา  ลุลา” ก็ดังกระหึ่มขึ้น พร้อมๆ กันทั้งฮอลล์คอนเสิร์ต  ณ วินาทีนั้นเองที่ฉันรู้สึกได้ว่า “นี่แหละความสุข  ความฝันที่ฉันตามหามาทั้งชีวิต…ฉันเกิดมาเพื่อร้องเพลงจริงๆ”

ครอบครัวลุลาเป็นคนจีนค่ะ  เรามีกันอยู่ 5 คน  พ่อ  แม่  ลูกชายสอง  และลูกสาวอีกหนึ่ง  ลุลาเป็นลูกสาวคนเล็กของบ้าน ด้วยเหตุนี้เองคุณแม่จึงสนับสนุนลุลาเต็มที่ สนใจจะเรียนอะไร จะฝึกอะไรขอได้หมด ลุลาจึงได้เรียนตั้งแต่บัลเลต์ ร้องเพลง สเกตลีลา คอรัส (ร้องประสานเสียง) ทำอาหาร  ตัดผม  ฯลฯ

พอเรียนบัลเลต์ได้ดี  ลุลาก็เริ่มฝันจะเป็นนักบัลเลต์ แต่พอรู้แน่ว่านักบัลเลต์เป็นอาชีพที่เกิดได้ยากในเมืองไทย  ลุลาก็เริ่มเบนเข็มว่า “เป็นนักร้องดีไหม  เพราะเราก็ชอบร้องเพลง”  แต่พอนึกถึงภาพนักร้องเมืองไทยในช่วงนั้นที่เน้นว่าต้องหล่อ สวย หุ่นดี ยิ่งเป็นดาราด้วยยิ่งดี ความฝันนี้ก็ตกไปทันที เพราะลุลาไม่มีคุณสมบัติที่ว่าเลย

นอกจากร้องเพลงได้เท่านั้น คิดไปคิดมายังเหลืออีกอย่างที่ลุลาชอบ นั่นก็คืองานศิลปะ  เพราะลุลาชอบวาดรูป  ชอบออกแบบ  ลุลาจึงมุ่งมั่นเรียนด้าน Exhibition Design แทน

พอเรียนจบปั๊บ ลุลาก็เริ่มทำงานประจำ จนเวลาผ่านไป 2 - 3 ปี  ก็เริ่มรู้สึกว่า “งานที่ทำอยู่ไม่ใช่ตัวเรา”  แล้วจู่ ๆ ความฝันเดิมๆ ก็วนกลับเข้ามาในใจอีกครั้ง! พร้อมคำถามว่า “เรายังอยากเป็นนักร้องอยู่หรือเปล่า”

ตั้งแต่เรียนมัธยมจนกระทั่งมหาวิทยาลัย มีคนมาชวนลุลาเป็นนักร้องหลายครั้ง  แต่คุณแม่ก็ไม่เคยอนุญาตเลยสักครั้ง เพราะท่านมองว่า นักร้องเป็นงานฉาบฉวย  อยู่กับแสงสี  เสี่ยงต่อการเสียผู้เสียคน  จึงอยากให้ทำธุรกิจหรือทำงานที่มั่นคงมากกว่า แต่มาถึงวันนี้ลุลาเรียนจบอย่างที่คุณแม่ต้องการแล้ว  มีประสบการณ์ชีวิตมาระดับหนึ่งจึงอยากทำตามฝันของตัวเองดูบ้าง  ลุลาจึงตัดสินใจ “แอบ” คุณแม่ไปทำอัลบั้มแบบเงียบ ๆ จนได้…ก่อนจะเจ๊งไปแบบเงียบ ๆ จนต้องตัดสินใจออกจากค่ายเพลงทั้งที่ยังไม่หมดสัญญาด้วยซ้ำ

จากนั้นลุลาก็กลับมาทำงานประจำอีกครั้ง  คราวนี้ลุลาโหมงานอย่างหนัก  แต่ละวันต้องนั่งอยู่หน้าคอมพิวเตอร์ไม่ต่ำกว่า 12 ชั่วโมง  เสาร์ - อาทิตย์ก็มีงานตลอด  ไม่ค่อยได้เจอคุณแม่เลย  ส่วนอาหารการกิน  ลุลาเน้นข้าวกล่องเป็นหลัก  กินแค่พออิ่มและประหยัดเวลา  พอถึงเวลานอนก็ยังหลับไม่สนิทเพราะคิดถึงแต่งาน  เครียด  กังวลไปสารพัด  ด้วยเหตุนี้ลุลาจึงป่วยบ่อยขึ้นเรื่อย ๆ ก่อนจะลงเอยด้วย โรคออฟฟิศซินโดรม!

 

ลุลา

 

วันหนึ่งลุลาบังเอิญได้คุยกับพี่โปรดิวเซอร์คนหนึ่งเข้า  ความที่สนิทกัน  ลุลาจึงระบายความอัดอั้นตันใจเรื่องงานประจำให้เขาฟังจนหมดเกลี้ยง  พี่โปรดิวเซอร์จึงแนะนำให้ลองฟังเพลงแนวบอสซาโนวา(Bossanova) ดู  เนื่องจากบอสซาโนวาเป็นแนวเพลงที่มีจังหวะเดียวกันกับจังหวะการเต้นของหัวใจมนุษย์  ทำให้ฟังแล้วรู้สึกผ่อนคลาย  ยิ่งผสมผสานกับการร้องแบบกระซิบ ๆ  ไม่เต็มเสียง  ยิ่งเข้ากันได้ดี

สำหรับลุลาแล้ว  การฟังเพลงแนวบอสซาโนวาเปรียบเหมือนการได้เจอ “โอเอซิส” อย่างไรอย่างนั้น ยิ่งทำงานไปด้วย ฟังเพลงไปด้วยก็ยิ่งเพลิดเพลิน  เหมือนมีอะไรมาหล่อเลี้ยงจิตใจให้กลับมีพลังอีกครั้ง

หลังจากเป็นผู้ฟังที่ดีมา 2 ปี วันหนึ่งลุลาก็มีโอกาสได้ลองร้องเพลงแนวบอสซาโนวาเป็นครั้งแรก  แม้จะไม่มั่นใจเท่าไร  แต่พอร้องแล้วมีคนชื่นชอบ ลุลาก็ยิ่งมั่นใจ  จนในที่สุดก็ตัดสินใจแอบหนีคุณแม่มาร้องเพลงบอสซาโนวาทุกคืนวันพุธ ส่วนกลางวันก็ยังทำงานประจำแบบวุ่น ๆ ไปตามเดิม ช่วงนั้นนอกจากอาการออฟฟิศซินโดรมจะยังไม่หายขาดแล้ว  คุณหมอยังตรวจเจอซีสต์ในตัวลุลาเพิ่มอีกหลายแห่งด้วย

พอเห็นลุลาป่วยขนาดนี้คุณแม่จึงเอ่ยปากว่า  “เปลี่ยนงานดีไหมลูก  หรือไม่ก็ลาออกไปเรียนปริญญาโทก่อน”  ใจลุลาเองก็อยากจะพักอย่างที่คุณแม่บอกเหมือนกัน  จะได้รักษาตัวและเรียนปริญญาโทเสียที  แต่ก็ยังสองจิตสองใจอยู่  จนกระทั่ง พี่เต็ด – ยุทธนา บุญอ้อม เอ่ยปากชวนลุลามาทำอัลบั้มแนวบอสซาโนวาด้วยเท่านั้น  ลุลาก็ตัดสินใจเริ่มต้นชีวิตใหม่ทันที  พอกันทีชีวิตสาวออฟฟิศ!

ความรู้สึกของลุลาตอนนั้น “ดีใจอย่างบอกไม่ถูกค่ะ  มันพองฟูไปหมด  มันเหมือนกับคนที่ทิ้งความฝันไปแล้ว  เกือบจะไม่รู้จักความฝันและความหวังแล้วด้วยซ้ำ แต่อยู่ ๆ ก็มีคนหยิบยื่นโอกาสมาให้อีกครั้ง ถึงจะต้องแอบคุณแม่ไปทำอัลบั้มก็ยอม”

ครั้งนี้ลุลาทำงานด้วยความคิดแบบนักดีไซน์ที่ว่า  “Innovation is everything.” หมายความว่า การมีนวัตกรรมทำให้เราสามารถเปลี่ยนแปลงทุกอย่างให้น่าสนใจได้  คราวนี้แหละที่ลุลาจะได้พรีเซ้นต์ตัวเองในแง่มุมต่าง ๆ เหมือนการดีไซน์งานศิลปะสักชิ้นขึ้นมาด้วยความรัก ไร้ความกดดัน  ไร้ความคาดหวัง แค่คิดก็รู้สึกว่าชีวิตนี้ไม่เสียใจแล้วที่จะได้ทำอัลบั้มอย่างที่ตัวเองต้องการออกมา

ในที่สุดปี 2551  อัลบั้ม Lula Urban Lullaby  อัลบั้มเดี่ยวอัลบั้มแรกในชีวิตลุลาก็เสร็จสมบูรณ์ค่ะ  หลังจากปล่อยเพลงโปรโมตออกไปได้ไม่นาน  ก็เกิดปรากฏการณ์ต่าง ๆ ตามมามากมายตามสื่อต่าง ๆ  ไม่ว่าจะในกูเกิล (Google) ที่มีสถิติการค้นหาชื่อลุลาสูงสุด  ทำไมนักร้องคนนี้ต้องร้องเพลงแอ๊บแบ๊วขนาดนี้  ฯลฯ  แต่ไม่ว่าจะเป็นการพูดถึงในลักษณะไหน  ลุลาก็ถือว่าเป็นความสำเร็จและเป็นกำลังใจที่ดีมาก ๆ ค่ะ

ส่วนคุณแม่ กว่าท่านจะรู้ว่าลุลาไม่ได้แค่เรียนปริญญาโทอย่างเดียว  แต่ยังแอบไปทำอัลบั้มด้วยก็เมื่อท่านได้ฟังเพลง “ทะเลสีดำ” ที่เปิดตามคลื่นวิทยุแล้วค่ะ ฟังครั้งแรกก็ยังไม่ได้ว่าอะไร  แต่ได้ยินวิทยุเปิดบ่อยขึ้นเรื่อย ๆ  ท่านก็เริ่มยอมรับแล้วว่า “ลูกสาวคนนี้ไม่ธรรมดา”

“ทุกสิ่งที่ลุลาทำพิสูจน์ได้ว่าไม่ได้เกิดขึ้นง่าย ๆ  แต่เกิดจากความพยายามล้วน ๆ  ซึ่งถ้ามีสิ่งเหล่านี้อยู่กับตัวแล้ว  แน่นอนว่าโลกนี้ก็ไม่มีอะไรที่เป็นไปไม่ได้”

 

Secret BOX
แม้ก้าวแรกแห่งการเริ่มต้นจะ “ยาก” ที่สุด แต่ถ้าเรา “สู้”…โลกนี้ก็ไม่มีอะไรที่เป็นไปไม่ได้
ลุลา - กันยารัตน์  ติยะพรไชย

 

ที่มา  นิตยสาร Secret ฉบับที่ 137

เรื่อง วรลักษณ์ ผ่องสุขสวัสดิ์  

ภาพ ฝ่ายภาพ อมรินทร์พริ้นติ้งฯ

Secret Magazine (Thailand)

IG @Secretmagazine

© COPYRIGHT 2024 Amarin Corporations Public Company Limited.