พิธา ลิ้มเจริญรัตน์

บริหารงานตามจังหวะ “เร็ว ช้า หนัก เบา” ของ พิธา ลิ้มเจริญรัตน์

บริหารงานตามจังหวะ “เร็ว ช้า หนัก เบา” ของ พิธา ลิ้มเจริญรัตน์

พิธา ลิ้มเจริญรัตน์นักธุรกิจหนุ่มผู้พลิกหนี้สินกว่าร้อยล้านบาทให้กลายเป็นธุรกิจที่มีมูลค่านับพันล้านบาทแต่กว่าจะนำพาธุรกิจผลิตน้ำมันรำข้าวดิบและรำสกัดน้ำมันให้เติบโตอย่างทุกวันนี้  เขาต้องผ่านบททดสอบมากมายและเรียนรู้จังหวะการใช้ชีวิตและการบริหารงานในแบบ “เร็ว ช้า หนักเบา”

“ผมเข้ามารับช่วงดูแลธุรกิจต่อจากคุณพ่อ (คุณพงษ์ศักดิ์  ลิ้มเจริญรัตน์) ตั้งแต่อายุ 24 ปี  ตอนนั้นผมกำลังเรียนปริญญาโทอยู่ที่ประเทศสหรัฐอเมริกา  คุณพ่อเสียชีวิตกะทันหัน  จึงลาเรียนและกลับมาดูแลครอบครัวและธุรกิจก่อน  เพราะเพิ่งเริ่มธุรกิจได้เพียงเดือนเดียวเท่านั้น  เมื่อสูญเสียผู้นำ  พนักงานขาดความมั่นใจ  ธนาคารไม่กล้าปล่อยสินเชื่อเพิ่มเติมสำหรับนำมาหมุนเวียน  ธุรกิจจึงเดินต่อไปไม่ได้  ผมจึงต้องรีบเข้ามาแก้ปัญหาเหล่านี้โดยเร็ว

“เมื่อต้องเข้ามาบริหารงานแทนคุณพ่อในเวลานั้นปัญหาที่เห็นได้ชัดเจนและผมไม่คิดจะโทษใครคือความไม่เชื่อใจและไม่เชื่อถือว่าผมจะสามารถเข้ามาบริหารงานแทนคุณพ่อได้  ผมได้ยินคนพูดว่า ‘คุณเป็นหลานผมได้เลยนะคุณอายุเท่าหลานผมเลยด้วยซ้ำ’  ผมก็ยอมรับว่าคงแก่ไปกว่านี้ไม่ได้  และนี่คือจุดอ่อนของเรา  แต่เราสามารถปิดจุดอ่อนนี้ได้ด้วยการแสวงหาความรู้  ถึงยังไม่มีประสบการณ์ในตอนนั้นแต่เราหาความรู้ได้  ผมจึงทุ่มเทหาความรู้ทั้งจากการพูดคุยจากห้องสมุด  และอินเทอร์เน็ต  จนในที่สุดทุกคนก็เห็นถึงความตั้งใจ  ธนาคารเห็นศักยภาพว่าเราสามารถดูแลกิจการได้และยินดีปล่อยสินเชื่อให้มาดำเนินธุรกิจต่อไป

“ข้อดีของการเข้ามาบริหารในช่วงเวลานั้นคือการที่เราอายุยังน้อย  ไม่มีพันธะใด ๆ  จึงสามารถลงพื้นที่เข้าหาชาวนาได้  ไปต่างประเทศได้  ทำให้รู้จักธุรกิจของตัวเองตั้งแต่ต้นน้ำไปถึงปลายน้ำ  ตอนนั้นแม้จะเหนื่อย  แต่ก็ได้ข้อคิดว่า  การที่ทุ่มเทใส่ใจเรื่องใดเรื่องหนึ่งโดยไม่ยอมปล่อยไปง่าย ๆ ย่อมนำมาซึ่งความสำเร็จ

“ช่วงแรกที่เข้ามาทำงาน  ผมบอกกับทุกคนในบริษัทว่าคุณต้องเปลี่ยนจากการทำงาน ‘ให้’ พ่อมาเป็น ‘ร่วมทำงาน’ กับผม  ผมเข้าใจว่าทุกคนมีชีวิตและมีภาระเป็นของตัวเอง  ถ้าคุณมีความจำเป็นที่จะต้องทำงานที่มั่นคงกว่า  เราไม่โกรธกันแต่ในวันนั้นไม่มีใครลาออก  จนถึงทุกวันนี้ผ่านไปแล้ว 8 ปี ทุกคนในวันนั้นก็ยังอยู่  ผ่านร้อนผ่านหนาวมาด้วยกัน  ทุกข์และสุขร่วมกัน  ถึงวันนี้ถ้าเจอความทุกข์อีกก็คงไม่เป็นไรแล้วแต่ถ้าเราเจอแต่ความสุข  ไม่เคยทุกข์เลย  อย่างนี้คงทำใจลำบาก

“หลักการทำงานของผมคือการเรียงลำดับความสำคัญ ส่วนการบริหารจัดการต้องรู้จังหวะ ต้องรู้หลัก ‘เร็ว ช้า หนัก เบา’  คือต้องเข้าใจว่าบางครั้งต้องอดทน  บางครั้งต้องเร็ว  ตัดสินใจด้วยความว่องไว  เช่น ถ้าเป็นเรื่องการลงทุนเรื่องเครื่องจักรหรือการเจาะตลาด  ต้องทำอย่างรวดเร็ว ว่องไว  แต่ถ้าเป็นด้านการบริหารคน  บางครั้งต้องช้าลง หนักแน่นขึ้น  ต้องฟังเยอะ  ไม่ด่วนตัดสินใคร  ต้องพูดคุยกัน  เพราะหากเป็นผู้บริหารแล้วใจไม่นิ่ง  พนักงานจะเสียกำลังใจได้

“ผมยึดหลักที่ว่า  อยู่กับปัจจุบัน  และไม่นึกถึงอดีต ที่ผ่านมา  และไม่กังวลถึงอนาคตที่ยังมาไม่ถึง  เราอาจมีการวางแผนอนาคต  แต่ก็ต้องทำสิ่งที่อยู่ตรงหน้าให้ดีที่สุด  คือฝึกอยู่กับปัจจุบัน  เมื่อนำหลักนี้มาใช้ในชีวิตประจำวัน  ทำให้ชีวิตมีความสุข  เพราะอดีตผ่านไปแล้ว  อนาคตก็ยังมาไม่ถึงเวลาที่อยู่ตอนนี้คือเวลาที่ดีที่สุด”

“สำหรับการทำธุรกิจ  ผมวัดความสำเร็จจากศักยภาพของสินค้า  ในห้องทำงานของผมมีเมนูในการทำนวัตกรรมข้าวติดไว้  เรารู้ว่าศักยภาพของข้าวทำอะไรได้อีกมาก  สิ่งที่ตั้งเป้าหมายไว้  ตอนนี้ทำได้เพียง 20 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น  อาจเป็นเพราะนวัตกรรมของบ้านเมืองเรายังช้า  ดังนั้นบริษัทจึงร่วมมือกับมหาวิทยาลัยในต่างประเทศ  ซึ่งมีความรู้ในการพัฒนาศักยภาพสินค้า  เพราะเรามีวัตถุดิบอยู่ในมือ  และสินค้าของเราก็มีจุดแข็งไม่แพ้สินค้าจากต่างประเทศ  แล้วมีเหตุผลอะไรที่เราจะไม่พัฒนาสิ่งที่เรามีอยู่ให้เต็มศักยภาพ”

ถือเป็นหนึ่งตัวอย่างที่แสดงได้เห็นว่าความสูญเสียและอุปสรรคสามารถเป็นแรงผลักดันให้ชีวิตคนเราประสบความสำเร็จได้เช่นกัน

 

เรื่อง เชิญพร คงมา  ภาพ วรวุฒิ วิชาธร  สไตลลิสต์  ณัฏฐิตา เกษตระชนม์


บทความน่าสนใจ

เทคนิคการบริหารเวลา สำหรับคนที่ชอบอ้างว่า “ไม่มีเวลา”

เบื้องหลังความสำเร็จของ ระเฑียร ศรีมงคล ผู้บริหารบริษัทบัตรกรุงไทย

อรรณพ จิรกิติ เจ้าของสีลมคอมเพล็กซ์ นักธุรกิจผู้คืนกำไรสู่สังคม

อาจารย์หมอประทีป ไวคำนวณ เมื่อชีวิตพลิกจากนักธุรกิจสู่การเป็นหมอจิตอาสา

มีใจเที่ยงธรรม คุณสมบัติของการเป็นผู้บริหารที่ดี

อันซะกิ – ผู้บริหารความตาย

นักธุรกิจผู้ยึดหลัก อิทธิบาท4 และตื่นรู้อยู่กับปัจจุบัน เป้ พงศกร พงษ์ศักดิ์

บันได 9 ขั้นสู่ความพอเพียง กับ ธรรมธุรกิจ

เฉิน กวงเปียว จากเด็กยากจน สู่เจ้าของธุรกิจรีไซเคิลยักษ์ใหญ่ของจีน

© COPYRIGHT 2024 Amarin Corporations Public Company Limited.