ริชาร์ด เกียร์

ไม่แบ่ง… ไม่แยก แบบ ริชาร์ด เกียร์ ดาราหัวใจพุทธ

ไม่แบ่ง… ไม่แยก แบบ ริชาร์ด เกียร์ ดาราหัวใจพุทธ

ครั้งหนึ่งองค์ทะไลลามะได้เล่าเรื่องของพระภิกษุชรารูปหนึ่งที่หลบหนีออกมาจากทิเบต พระรูปนี้เป็นหนึ่งในภิกษุหลายๆ รูปที่ถูกคุมขังตั้งแต่ช่วงต้นทศวรรษ 1950 หลังการกวาดล้างอาราม ซึ่งเคยเป็นศูนย์กลางของพุทธศาสนานิกายวัชรญาณในเมืองลาซา

องค์ทะไลลามะจำพระภิกษุชราได้เพียงคลับคล้ายคลับคลาเท่านั้น เพราะพระรูปนี้ไม่ได้มีตำแหน่งใดเป็นพิเศษ เป็นพระธรรมดาเช่นเดียวกับภิกษุอีกหลายร้อยรูปในอาราม เมื่อองค์ทะไลลามะสอบถามพระภิกษุชราเกี่ยวกับประสบการณ์ในคุกที่ทิเบต ท่านก็ตอบว่า

“ผมตกอยู่ในภัยอันตรายที่ร้ายกาจมาก”

“อันตรายจากอะไรหรือ” องค์ทะไลลามะถามต่อ

“อันตรายจากการที่เกือบจะต้องกลายเป็นคนที่มีแต่ความโกรธแค้น”

ด้วยคำตอบนี้ องค์ทะไลลามะจึงทราบโดยทันทีว่า พระภิกษุชราที่นั่งตรงหน้าท่านไม่ใช่พระธรรมดา แต่เป็นพระที่พิเศษจริงๆ

เรื่องเล่าข้างต้นเป็นหนึ่งในหลายๆ เรื่องที่ฝังอยู่ในจิตใจของริชารด์ เกียร์ และจากประสบการณ์ความประทับใจที่เขามีกับทิเบตหลายต่อหลายครั้ง ทำให้เขาตัดสินใจอุทิศครึ่งหนึ่งของชีวิตเพื่อเรียกร้องความเป็นธรรมให้ชาวทิเบต

 

ริชาร์ด เกียร์

 

ริชาร์ด เกียร์ มีชื่อเต็มว่า ริชาร์ด ทิฟฟานี เกียร์ (Richard Tiffany Gere) เป็นลูกชายคนที่สองในจำนวนพี่น้องห้าคน เขาเกิดเมื่อวันที่ 31 สิงหาคม ค.ศ. 1949 ในสหรัฐอเมริกา

หลังจากเรียนจบชั้นมัธยมปลายในปี ค.ศ. 1967 ริชาร์ด เกียร์ ได้รับทุนของนักกีฬายิมนาสติกเพื่อเรียนต่อในมหาวิทยาลัยแมตซาชูเซตส์แอมเอิร์สต์ (The University of Massachusetts Amherst) เขาเลือกเรียนคณะจิตวิทยา พร้อมๆ กับเรียนวิชาเป่าทรัมเป็ตที่ตนรักไปด้วย อย่างไรก็ดี ริชาร์ดเรียนมหาวิทยาลัยได้เพียงสองปี ความเย้ายวนของวงการบันเทิงก็เรียกร้องใหเ้ ขาเลิกเรียนกลางคัน เพื่อไปเป็นนักแสดงละครเวทีในกรุงนิวยอร์ก

บทบาทของ แดนนี ซูโก (Danny Zuko) ตัวเอกในละครเพลงชื่อดังเรื่อง กรีส (Grease) ที่ริชาร์ด เกียร์ ได้รับในปี ค.ศ. 1973 ได้เปิดทางให้เขามีโอกาสร่วมงานกับสตูดิโอที่มีชื่อเสียงหลายแห่ง ทว่าเขาแจ้งเกิดจริงๆ ในปี ค.ศ. 1980 จากภาพยนตร์เรื่อง American Gigolo สองปีถัดมา เขาได้รับบทเด่นในภาพยนตร์เรื่อง An Officer and a Gentleman ซึ่งประสบความสำเร็จทั้งในด้านรายได้และคำวิจารณ์ แต่น่าเสียดายที่ผลงานหลังจากนั้นไม่เป็นที่นิยมมากนัก

อย่างไรก็ดี ในปี ค.ศ. 1990 ริชาร์ด เกียร์ กลับมาดังเปรี้ยงอีกครั้งจากบทบาทมหาเศรษฐีที่ตกหลุมรักหญิงขายบริการแสนสวยแสดงโดยจูเลีย โรเบิรต์ส์ ในภาพยนตร์เรื่อง Pretty Woman ความสำเร็จของภาพยนตร์เรื่องนี้ส่งให้เขากลายเป็นดาราแถวหน้าค่าตัวแพงของฮอลลีวู้ดไปในทันที

 

ริชาร์ด เกียร์

 

ปัจจุบันริชาร์ด เกียร์ ใช้ชีวิตอยู่ในนิวยอร์กกับ อเล็กซานดร้า ซิลวา (Alejandra Silva) ภรรยาคนที่สาม ทั้งคู่เพิ่งมีลูกด้วยกัน ความจริงริชาร์ด เกียร์ มีลูกแล้วหนึ่งคนกับอดีตภรรยาคนที่สอง แครี่ โลเวลล์ (Carey Lowell) ชื่อ โฮเมอร์ เจมส์ จิกมี เกียร์ (Homer James Jigme Gere) โดยชื่อ “โฮเมอร์ เจมส์” ตั้งตามชื่อพ่อของริชารด์ เกียร์ ส่วนจิกมีเป็นภาษาทิเบตที่มีความหมายว่า “ปราศจากความกลัว”

โดยปกติชีวิตของคนเราจะมีอยู่เพียง 1 – 2 ปีที่เป็นช่วงเวลาทองของชีวิต ในระยะเวลาสั้นๆ นี้ไม่ว่าเราจะหยิบจับอะไรก็ประสบความสำเร็จอย่างง่ายดาย สำหรับริชาร์ด เกียร์ ปีที่ดีที่สุดของเขาคือปี ค.ศ. 2002 เพราะในปีนั้นริชาร์ด เกียร์ ส่งผลงานที่ยอดเยี่ยมออกมาสู่สายตาผู้ขมถึงสองเรื่อง คือ Unfaithful และ Chicago โดยเฉพาะเรื่องหลังนี้ เขาได้แสดงความสามารถด้านการร้องเพลงและเต้นรำได้อย่างโดดเด่น จนสามารถคว้ารางวัลลูกโลกทองคำนักแสดงนำฝ่ายชายด้านภาพยนตร์คอมเมดี้หรือเพลงไปครอง

แม้ว่าริชาร์ด เกียร์ จะประสบความสำเร็จด้านการแสดงอย่างสูง แต่เมื่อแฟนภาพยนตร์นึกถึงชายผมขาว เจ้าของรอยยิ้มกรุ้มกริ่มผู้นี้ คนส่วนใหญ่มักจะนึกถึงเขาในฐานะผู้ให้การสนับสนุนองค์ทะไลลามะ และผู้ให้การสนับสนุนการปกป้องสิทธิมนุษยชนต่อชาวทิเบตมากกว่า เพราะเขาทำงานด้านนี้อย่างจริงจังมากว่า 30 ปีแล้ว ริชารด์ เกียร์ เล่าว่า สมัยหนึ่งเขาเป็นชายหนุ่มวัยต้นยี่สิบที่รู้สึกหดหู่กับชีวิตมาก เขามักจะนอนดึกเพื่ออ่านหนังสือและค้นหาคำตอบในเรื่องบางอย่าง ซึ่งเขาก็ไม่รู้ว่า คำตอบนั้นจะนำไปสู่อะไรกันแน่ จนวันหนึ่งเขาได้อ่านหนังสือเกี่ยวกับพุทธศาสนาแบบทิเบตที่เขียนโดย Evans-Wentz เนื้อหาในหนังสือเล่มนี้กระทบใจเขาเข้าอย่างจัง นับแต่นั้น ทิเบตก็กลายเป็นจุดหมายปลายทางที่เขาตั้งใจว่าจะต้องเดินทางไปให้ถึงในวันหนึ่ง

ในที่สุด ริชาร์ด เกียร์ ก็ได้เดินทางไปถึงทิเบตครั้งแรกในปี ค.ศ. 1978 ครั้งนั้นเขาได้ฝึกสมาธิหลายรูปแบบ แต่สิ่งที่ทำให้เขาหันมาทำงานเพื่อช่วยชาวทิเบตอย่างจริงจังเกิดขึ้นหลังจากที่เขาได้พบกับองค์ทะไลลามะในช่วงปี ค.ศ. 1982 – 1983

 

ริชาร์ด เกียร์

 

ริชาร์ด เกียร์

 

บุคลิกภาพที่อ่อนโยน เปี่ยมด้วยความเมตตาขององค์ทะไลลามะ ตลอดจนคำสอนที่เน้นให้คนเราขยายขอบเขตความรักและความเมตตาออกไปอย่างไม่มีประมาณของพระองค์ เป็นสิ่งที่ประทับใจเขาเป็นอย่างมาก

ริชารด์ เกียร์ จะไปฝึกปฏิบัติธรรมที่ธรรมศาลา (ดินแดนที่อินเดียยกให้องค์ทะไลลามะเพื่อตั้งเป็นอารามของพระทิเบต) ปีละ 2 – 3 ครั้ง ทำให้เขาเข้าใจเรื่องของ “ความว่าง” และ “การดำรงอยู่โดยอิงอาศัยกัน”ชัดเจนขึ้น

“สมัยนี้ผมมองปัญหาระหว่างจีนกับทิเบตต่างจากเมื่อสมัย 30 ปีที่แล้วมาก สมัยก่อนผมอาจจะโกรธแค้นรัฐบาลจีน แต่เดี๋ยวนี้ผมเชื่อว่าเราเป็นส่วนหนึ่งของกันและกัน เราเป็นส่วนหนึ่งของปัญหาที่เกิดขึ้น…ที่จริงแล้วปัญหาระหว่างจีนกับทิเบตแก้ไขได้ไม่ยาก เหมือนอย่างที่องค์ทะไลลามะกล่าวไว้เสมอว่า จีนสามารถคุมเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างประเทศทั้งหมดได้ เพราะนี่ไม่ใช่ประเด็นหลักที่ทิเบตสนใจ สิ่งที่ทิเบตต้องการจริงๆ คือการรักษาวัฒนธรรมทิเบตแบบดั้งเดิมและการคงไว้ซึ่งหลักประกันด้านความปลอดภัยในชีวิตของชาวทิเบตต่างหาก”

 

ริชาร์ด เกียร์

 

ริชาร์ด เกียร์ เป็นประธานผู้ก่อตั้ง Tibet House องค์กรไม่แสวงผลกำไรที่ทำงานเพื่อปกป้องวัฒนธรรมทิเบตมิให้สูญหาย เขาเป็นผู้สนับสนุนหลักขององค์กร Survival International ที่ทำงานเพื่อช่วยชาวทิเบตซึ่งกระจายอยู่ทั่วโลก และเป็นสปอนเซอร์หลักทุกครั้งที่องค์ทะไลลามะเดินทางไปเยือนนิวยอร์ก อีกทั้งยังพยายามเผยแพร่ข้อคิดและผลงานขององค์ทะไลลามะให้กระจายออกไปให้มากที่สุด โดยผ่านทางการพิมพ์หนังสือ การทำภาพยนตร์สารคดี และการจัดบรรยายธรรม นอกจากนี้ยังพยายามเขียนจดหมายถึงนักการเมืองของสหรัฐอเมริกา รัฐสภาของสหภาพยุโรป และคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ ฯลฯ เพื่อไม่ให้ทุกฝ่ายเพิกเฉยต่อพระและประชาชนชาวทิเบตที่กำลังถูกกักขังหรือได้รับการกดขี่อย่างน่าเวทนา

“การช่วยปกป้องทิเบตคือการปกป้องความเป็นไปได้ในการที่คนเราทุกคนจะเป็นพี่น้องกัน”

นอกจากนี้ เนื่องจากริชารด์ เกียร ์ ได้เดินทางไปที่ประเทศอินเดียบ่อยครั้ง เขาจึงสนับสนุนโครงการด้านพิทักษ์สิ่งแวดล้อมและการสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับโรคเอดส์ในอินเดียด้วย ด้วยเหตุที่ทำงานการกุศลหลากหลายด้าน ในที่สุดเขาจึงก่อตั้งมูลนิธิ The Gere Foundation ของตัวเองขึ้นในปี ค.ศ. 1999 มูลนิธิแห่งนี้มีเป้าหมายง่ายๆ แต่ไม่ธรรมดาว่า

เพื่อบรรเทาความทุกข์ยากของเพื่อนมนุษย์

 

Secret Box

ความทุกข์ยากทั้งมวลในโลกเกิดขึ้นจากการแสวงหาความสุขเพื่อตนเอง แต่ความสุขทั้งมวลในโลกจะเกิดขึ้นได้จากความต้องการให้ผู้อื่นมีความสุข
– ศานติเทวะ (พระสงฆ์ชาวอินเดียที่ได้รับการยกย่องในด้านความมีเมตตาและความอ่อนน้อมถ่อมตน ท่านเป็นผู้แต่งหนังสือเรื่องโพธิสัตตวจรรยาวตาร ซึ่งมีจุดมุ่งหมายหลักเพื่อให้คนเรามีเมตตาต่อกัน)

 

ที่มา  นิตยสาร Secret

เรื่อง  Violet

ภาพ japanese-buddhism.com, gala.de, lionsroar.com

Secret Magazine (Thailand)

IG @Secretmagazine

© COPYRIGHT 2024 Amarin Corporations Public Company Limited.