โค้ชเช

โค้ชเช ชเว ยอง ซอก ผู้ชายที่ทุ่มเททั้งชีวิตให้เทควันโดไทย

บ่ายวันนี้ท้องฟ้าแจ่มใสกว่าทุกวัน…ในทันทีที่รถบีเอ็มดับเบิลยูสีขาวป้ายแดงแล่นเข้ามาจอดที่ลานจอดรถของสมาคมเทควันโดแห่งประเทศไทย ชายหนุ่มที่เรารอคอยก็เดินลงจากรถ พร้อมกับทักทายทุกคนด้วยใบหน้ายิ้มแย้มไม่ต่างจากที่เห็นในจอโทรทัศน์ เขาคือ โค้ชเช

นาทีนี้คาดว่าชื่อของชเว ยอง ซอก (Choi Young Seok) ในฐานะโค้ชชาวเกาหลี ผู้ทำหน้าที่หัวหน้าผู้ฝึกสอนนักกีฬาเทควันโดทีมชาติไทย คงเป็นที่รู้จักของคนทั้งประเทศแล้ว บรรดาสาวน้อยสาวใหญ่อาจนิยมชมชอบหน้าตาที่หล่อเหลาไม่แพ้นักร้อง K – Pop ของเขา แต่สำหรับคนในแวดวงกีฬาต่างรู้ดีว่า โค้ชชเวคนนี้คือคนที่มุ่งมั่นทุ่มเทอย่างสุดหัวใจ เพื่อที่จะพานักกีฬาเทควันโดทีมชาติไทยไปคว้าเหรียญทองโอลิมปิกให้จงได้

ในอดีต โค้ชหนุ่มชาวเกาหลีวัย 41 ปีคนนี้ สามารถสร้างฮีโร่นักกีฬาเทควันโดในการแข่งขันระดับโอลิมปิกให้กับประเทศไทยถึง 3 คน คือ วิว – เยาวภา บุรพลชัย สอง – บุตรี เผือดผ่อง และ เล็ก – ชนาธิป ซ้อนขำ

หลังเข้ามาเป็นโค้ชให้กับนักกีฬาเทควันโดทีมชาติไทยในปี 2545 แปดเดือนต่อมานักกีฬาเทควันโดทีมชาติไทยก็สามารถคว้าเหรียญรางวัล ในการแข่งขันเอเชียนเกมส์ได้สำเร็จ

ทั้งนี้ ยังไม่นับผลงานอื่น ๆ ที่เขานำพานักเทควันโดทีมชาติไทยไปคว้าชัยชนะได้อีกมากมายหลายรายการ ทั้งการแข่งขันเวิลด์แชมเปี้ยนชิปและการแข่งขันระดับมหาวิทยาลัย ทำให้การจัดอันดับเทควันโดของไทยก้าวกระโดดจากอันดับที่ 150 ขึ้นไปอยู่ที่อันดับ 4 ของโลกภายในระยะเวลาเพียง 10 ปี ส่งผลให้คนไทยสนใจเล่นกีฬาชนิดนี้มากขึ้นเป็นประวัติการณ์ ด้วยเหตุนี้จึงไม่น่าแปลกใจ หากคนไทยจะเทใจรักผู้ชายเกาหลีคนนี้ และส่งเสียงกรี๊ดต้อนรับเขาไม่ต่างกับดารานักร้องชื่อดังแดนกิมจิเลยทีเดียว

โค้ชเช

ก่อนอื่นอยากให้เล่าถึงชีวิตในวัยเด็กให้ฟังหน่อยค่ะ

ผมเกิดที่กรุงโซล คุณพ่อผมเสียตั้งแต่ผมอายุ 7 ขวบ ตอนที่คุณพ่อเสีย ด้วยความที่ยังเด็กผมเลยไม่รู้สึกว่าลำบากมาก แต่พอโตขึ้นก็เริ่มรู้ทีละนิด คุณพ่อของผมเป็นวิศวกร ส่วนคุณแม่เป็นแม่บ้าน คุณพ่อเสียชีวิตด้วยโรคมะเร็งปอดตอนอายุ 39 ปี ก่อนเสียท่านนอนพักรักษาตัวในโรงพยาบาลนาน 2 – 3 ปี มีค่าใช้จ่ายเยอะมาก ทำให้เราเป็นหนี้ตั้งแต่ตอนนั้น ตอนหลังเมื่อไม่มีคุณพ่อแล้ว คุณแม่ต้องทำงานหาเลี้ยงครอบครัวที่มีผม พี่สาว และคุณย่าเพียงลำพัง เช้ามาท่านก็ไปทำงานที่โรงงานทำขนม ตกเย็นก็ทำงานเป็นแม่บ้านตามบ้านต่าง ๆ ไม่ค่อยมีเวลาให้ครอบครัว ส่วนใหญ่ผมจึงอยู่กับคุณย่า

ผมรู้ดีว่าคุณแม่ของผมเหนื่อยมาก ท่านมักจะร้องไห้เป็นประจำเพราะสงสารลูกที่ต้องลำบาก เห็นอย่างนี้ผมจึงพยายามตั้งใจเรียน โชคดีที่ผมชอบอ่านหนังสือและชอบเอาชนะตัวเอง ทำให้ผมเรียนเก่งและตั้งเป้าหมายในชีวิตไว้ตั้งแต่ตอนอายุ 16 – 17 ว่าจะทำงานหาเงินให้ได้เยอะ ๆ เพื่อให้คุณแม่มีความสุขสบาย ผมเคยคิดว่าจะสร้างบ้านให้คุณแม่ แต่สุดท้ายก็ไม่มีโอกาสเพราะท่านเสียไปก่อน

ตอนที่ครอบครัวลำบาก โค้ชต้องต่อสู้ดิ้นรนขนาดไหนคะ

ใจผมคิดแต่ว่าจะทำทุกอย่างเพื่อคุณแม่ ผมพยายามทำงานพิเศษระหว่างเรียน ช่วงปิดเทอมตอนเรียนมหาวิทยาลัยปีที่ 2 ผมเคยทำงานเป็นคนงานก่อสร้าง เข็นพวกอิฐ หิน ปูน ทราย ได้เงินมาราว 60,000 บาทผมก็นำไปให้คุณแม่ทั้งหมด เพราะทราบดีว่าท่านมีค่าใช้จ่ายมากมาย ทั้งค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าเช่าบ้าน ค่าอยู่ ค่ากินของพวกเรา ผมไม่อายที่ต้องทำงานแบบนี้ ดีใจเสียอีกที่หาเงินให้คุณแม่ได้ แต่ถึงอย่างนั้นเราก็มีเงินไม่ค่อยพอใช้ครับ

ครั้งหนึ่งเราเคยซื้อเครื่องซักผ้าแบบผ่อนจ่ายรายเดือน แต่เราใช้ไปได้แค่ 3 – 4 เดือนเท่านั้น บริษัทก็มายึดคืนไปเพราะเราไม่มีเงินผ่อน นี่คือภาพความลำบากของครอบครัวที่ผมจำได้ ผมเลยตั้งใจว่า สักวันหนึ่งจะไปทำงานเมืองนอกเพื่อเก็บเงินให้คุณแม่

แล้วคุณแม่เคยตั้งความหวังอยากให้โค้ชมีอาชีพอะไรคะ

ในบรรดาลูกสองคน แม่ดูจะตั้งความหวังกับผมมากกว่าพี่สาว อาจจะเป็นเพราะผมเป็นลูกชาย ความจริงแล้วท่านอยากให้ผมเป็นอาจารย์ในมหาวิทยาลัย แต่ตัวผมเองตอนนั้นยังไม่ได้คิดว่าอยากเป็นอะไร

จนวันหนึ่งสมัยเรียนประถมเพื่อนชวนผมไปนั่งดูเขาซ้อมเทควันโด ทำให้ผมชื่นชอบกีฬาชนิดนี้ จึงเริ่มเล่นอย่างจริงจังตั้งแต่สมัยเรียนมัธยม และหลังเรียนเทควันโดได้ 3 – 4 เดือนผมก็ลงแข่งชิงแชมป์ประเภทเยาวชนได้เหรียญทองแดงกลับมา หลังจากนั้นก็ได้เหรียญทองมาตลอด ทำให้ผมรู้สึกมีความหวังกับการเป็นนักกีฬาเทควันโด และคิดว่าน่าจะเป็นหนทางหนึ่งให้ผมเรียนต่อในมหาวิทยาลัยได้ เพราะจะได้โควตานักกีฬาและทุนการศึกษา ซึ่งจะทำให้ผมช่วยแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายของคุณแม่ได้

โค้ชเช

การเป็นนักเทควันโดที่ประเทศเกาหลีต้องซ้อมหนักขนาดไหนคะ

ซ้อมหนักมากครับ เขาใช้ระบบทหารเลยทีเดียว ช่วงที่ผมฝึกซ้อมเทควันโดหนัก ๆ คือช่วงเรียนมัธยม ต้องฝึกซ้อม 3 เวลา คือ ช่วงเช้าตั้งแต่ 7 โมงครึ่งถึง 9 โมง หลังจากนั้นไปเรียน ซ้อมอีกครั้งช่วงบ่าย 2 โมงครึ่งถึง 5 โมง พักเสร็จก็ซ้อมต่อตั้งแต่ 1 ทุ่ม ถึง 3 ทุ่ม เป็นอย่างนี้ทุกวัน บางครั้งรู้สึกเหนื่อยมากจนท้อ แต่พอนึกถึงหน้าคุณแม่ คิดว่าท่านต้องเหนื่อยขนาดไหนกว่าจะส่งผมเรียนต่อได้ ช่วงแรก ๆ ผมต้องไปเรียนในค่ายสอนเทควันโดของเอกชนซึ่งมีค่าใช้จ่ายสูงมาก แต่คุณแม่ก็ยอมทำงานเพิ่มเพื่อหาเงินมาให้ผม

หลังเรียนจบมหาวิทยาลัยแล้ว งานแรกของโค้ชคืออะไรคะ

หลังเรียนจบผมไปเกณฑ์ทหาร 2 ปี เพราะผู้ชายเกาหลีทุกคนต้องเกณฑ์ทหาร หลังจากนั้นอาจารย์สอนเทควันโดก็แนะนำผมให้ไปเป็นโค้ชสอนเทควันโดที่ประเทศบาห์เรน ได้เงินเดือน 4,000 ดอลลาร์ ผมส่งมาให้คุณแม่เดือนละ 2,000 ดอลลาร์ ผมมีความฝันตั้งแต่เด็กแล้วว่าอยากไปทำงานเมืองนอก เพราะอยากหาเงินให้คุณแม่ใช้เยอะ ๆ แต่พอไปจริง ๆ กลับไม่ได้เป็นอย่างที่ผมคิด เพราะประสบปัญหาหลายเรื่อง แม้จะได้เงินค่อนข้างดี แต่ประเทศบาห์เรนอากาศร้อนมาก อุณหภูมิปกติ 48 – 50 องซาเซลเซียส บางวันก็ขึ้นไปถึง 51 – 52 ดังนั้นช่วงเวลาที่จะฝึกซ้อมได้ก็ต้องเป็นช่วงหลังพระอาทิตย์ตกดินแล้วเท่านั้น

ความจริงผมเซ็นสัญญาทำงานที่บาห์เรนสองปี แต่พอทำงานได้ปีครึ่ง ผมก็ได้วันลาพักร้อนนานหนึ่งเดือนจึงกลับเกาหลี ประจวบกับเป็นช่วงเวลาที่คุณแม่เสียพอดี ผมจึงตัดสินใจไม่กลับไปทำงานต่อ แต่ให้เพื่อนรุ่นน้องไปแทน

ช่วงที่คุณแม่เสีย ชีวิตเป็นอย่างไรบ้างคะ

ท่านเสียตอนที่อายุยังไม่ถึง 60 ด้วยซ้ำ ท่านป่วยเป็นโรคไขมันในเลือดสูงและเสียชีวิตด้วยโรคหัวใจ ผมคิดว่าเป็นเพราะคุณแม่ทำงานหนัก เลยทำให้ท่านเสียชีวิตเร็ว

ผมเสียใจกับการจากไปของท่านมาก เพราะทุกอย่างในชีวิตที่ผมทำ ทั้งการตั้งใจเรียน ตั้งใจฝึกซ้อมเทควันโด อดทนกับการทำงานที่เมืองนอกก็เพื่อคุณแม่ทั้งนั้น แต่เมื่อไม่มีท่านแล้ว ผมก็ไม่รู้ว่าจะทำทุกอย่างไปเพื่อใคร ตอนนั้นชีวิตของผมสับสนมาก ยิ่งเมื่อรู้ว่าคุณแม่เป็นหนี้ธนาคารถึง 1 ล้านบาท ผมก็ไม่ทราบว่าจะแก้ปัญหานี้ได้อย่างไร

คุณแม่เป็นหนี้เพราะนำเงินมาเป็นค่าใช้จ่ายในบ้าน และนำเงินไปลงทุนเช่าแผงในตลาดขายผลไม้และขายหมู แต่หลังจากเสร็จงานศพของท่านแล้ว คุณลุงและญาติ ๆ ก็ระดมเงินมาช่วยใช้หนี้ให้จนหมด ตอนหลังเมื่อผมทำงานได้เงินเดือนมั่นคงแล้ว ผมก็ใช้เงินคืนให้กับญาติทุกคน

แล้วโค้ชมาทำงานที่ประเทศไทยได้อย่างไรคะ

หลังจากคุณแม่เสีย ผมไม่คิดว่าจะไปทำงานเมืองนอกเพื่อให้ได้เงินเยอะ ๆ อีก ผมรู้สึกว่าชีวิตมืดมน มองไม่เห็นอนาคตของตัวเอง ผมดื่มเหล้าอยู่ 2 เดือนเต็ม ๆ

ครั้งแรกที่ทางสมาคมเทควันโดไทยติดต่อมา ผมตอบปฏิเสธ เพราะคิดว่าเมื่อไม่มีคุณแม่แล้ว ก็ไม่อยากไปทำงานเมืองนอกอีก แต่เมื่อคิดอีกครั้งว่า หากผมมัวจมอยู่กับความเสียใจ ถ้าคุณแม่มองลงมาคงผิดหวังในตัวผม ผมเลยตอบตกลง

ช่วงนั้นผมใช้ชีวิตอย่างยากลำบากมาก ผมพยายามทุ่มเทให้กับการเป็นโค้ช ฝึกซ้อมกีฬาเทควันโดอย่างหนักเพื่อจะได้ไม่ต้องเศร้าใจกับการจากไปของคุณแม่ แต่บางครั้งพออยู่คนเดียว ผมก็อดร้องไห้คิดถึงท่านไม่ได้ ท่านเป็นทุกอย่างในชีวิตของผม (น้ำตารื้น) ที่ผ่านมาผมไม่เคยคิดถึงตัวเองว่าจะต้องมีเสื้อผ้าหรือได้ไปเที่ยว ผมคิดแต่จะเก็บเงินให้คุณแม่ พอท่านจากไป ผมแทบไม่เหลือความหวังใด ๆ แต่การมาเป็นโค้ชที่ประเทศไทยผลักดันชีวิตผมให้ฮึดสู้ขึ้นมาอีกครั้ง

โค้ชเช

 

ก่อนจะมาประเทศไทย โค้ชเคยรู้เรื่องเกี่ยวกับประเทศไทยมาก่อนไหมคะ

ผมไม่รู้จักอะไรเกี่ยวกับประเทศไทยเลยครับ ตอนอยู่บนเครื่องบินผมได้อ่านนิตยสารแนะนำประเทศไทย จึงรู้จักคำทักทายว่า “สวัสดี” เท่านั้น มาอยู่ที่นี่ผมต้องปรับตัวหลายอย่าง ผมมาถึงวันที่ 1 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2545 ซึ่งเป็นช่วงหน้าหนาวของประเทศเกาหลี แต่พอผมลงจากเครื่องเดินผ่านประตูสนามบินดอนเมือง ก็รู้ว่าประเทศไทยอากาศค่อนข้างร้อนทีเดียว แต่ก็ยังร้อนน้อยกว่าประเทศบาห์เรนมาก

มาถึงกรุงเทพฯปุ๊บ ผมก็นั่งรถตู้ของทางสมาคมไปนครสวรรค์ทันที อย่าถามนะครับว่าผมเห็นอะไรสองข้างทางบ้าง เพราะผมนอนหลับไปตลอดทาง ช่วงนั้นที่นครสวรรค์มีการแข่งชิงแชมป์เทควันโดประเทศไทย มีนักกีฬาเทควันโดจากหลายที่ ทางสมาคมเลยอยากให้ผมไปคัดเลือกนักกีฬาที่มีแววมาฝึกซ้อมเป็นนักกีฬาเทควันโดทีมชาติไทย

ช่วงเดือนแรกผมน้ำหนักลดไป 5 กิโลเพราะไม่คุ้นกับอาหารไทย ต้องกินแต่ข้าวผัดกับไข่เจียวอยู่เดือนหนึ่งเต็ม ๆ กว่าผมจะปรับตัวเรื่องอาหารได้ก็ต้องใช้เวลาถึงสองปี ตอนนี้ผมกินได้ทุกอย่าง ชอบยำวุ้นเส้น ส้มตำปู ส้มตำไทย ก๋วยเตี๋ยว ผัดผักบุ้งไฟแดง ผัดกะเพรา แกงเขียวหวาน แกงส้มปลาช่อน อาหารรสเผ็ดผมก็กินได้ครับ เพราะที่เกาหลีเราก็กินเผ็ดกันครับ

โค้ชพูดภาษาไทยได้ค่อนข้างดีทีเดียว ไม่ทราบฝึกอย่างไรคะ

แรก ๆ ที่มาอยู่เมืองไทยผมพักอยู่กับนักกีฬา ก็พยายามฝึกพูดกับเขา เพราะชีวิตส่วนใหญ่ของผมไม่ได้ออกไปไหน ผมไม่เคยนั่งรถแท็กซี่หรือรถเมล์ ถ้าไปไหนก็อาศัยติดรถนักกีฬาออกไป

ช่วงแรก ๆ ที่พูดภาษาไทยไม่ได้ ผมก็พยายามพูดภาษาอังกฤษ โชคดีที่กีฬาเทควันโดสามารถใช้ท่าทางในการฝึกสอนได้จึงทำให้ไม่ลำบากมาก ตอนนี้ผมพูดภาษาไทยได้ประมาณ 50 เปอร์เซ็นต์ ฟังเข้าใจประมาณ 80 เปอร์เซ็นต์ แต่อ่านกับเขียนไม่ได้เลย คิดอยู่ว่าถ้ามีเวลาว่างจะไปเรียนภาษาไทยเพิ่มเติม

ผมให้ความสำคัญกับการศึกษามาก หนึ่งคือ จะได้นำมาใช้ในการทำงานของตัวเอง โดยเฉพาะเรื่องจิตวิทยาในการแข่งขัน เพราะเทควันโดเป็นกีฬาที่ต้องใช้ “ใจ” สูง สองคือ ผมอยากเป็นตัวอย่างที่ดีของนักกีฬา อยากให้ทุกคนเห็นคุณค่าของการศึกษา ทุกวันนี้ผมเป็นอาจารย์พิเศษสอนเทควันโดที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และในอนาคตผมก็อยากสอนหนังสือ

ทราบมาว่ามีหลายประเทศอยากได้ตัวโค้ชไปฝึกสอน และเสนอเงินเดือนให้เยอะกว่าที่นี่ แต่โค้ชพูดเสมอว่า “ประเทศไทยจะเป็นที่สุดท้ายที่ผมจะเป็นโค้ช” ทำไมถึงคิดอย่างนั้นคะ

ผมอยู่เมืองไทยมา 12 ปี ผมรักเมืองไทย รักคนไทย รักนักกีฬาเหมือนลูกชายลูกสาวของตัวเอง ผู้ใหญ่ในสมาคมก็ดูแลผมดีมาก ผมรู้สึกเหมือนเป็นคนในครอบครัว มาทำงานที่นี่ผมไม่ได้เซ็นสัญญา เพราะเราอยู่กันเหมือนพี่เหมือนน้อง ผมคิดว่าเวลาเรามีความสุขก็มีความสุขด้วยกัน เวลาลำบากก็ลำบากด้วยกันเยอะ คนชอบถามว่า ทำไมกีฬาเทควันโดของไทยประสบความสำเร็จ ผมจะตอบเสมอว่าไม่ใช่เพราะโค้ช แต่มาจาก 3 อย่างรวมกัน คือ สมาคม นักกีฬา และโค้ช ขาดอย่างใดอย่างหนึ่งไม่ได้

โค้ชเช

สำหรับตัวผม แทบจะเรียกได้ว่าให้เวลากับกีฬาเทควันโดมากกว่าครอบครัวด้วยซ้ำ ทั้งฝึกซ้อม เดินทางพานักกีฬาไปแข่งขันรายการต่าง ๆ ผมให้ใจผมหมดทั้งใจกับกีฬาเทควันโด ผมมองประเทศไทยเป็นบ้านหลังที่สองของผม และไม่อยากไปสอนคนชาติอื่นให้มาแข่งกับนักกีฬาของไทยที่ผมมองว่าเป็นเหมือนลูกชายลูกสาวของผม

ครั้งที่นักกีฬาไทยต้องแข่งกับนักกีฬาเกาหลี ผมไม่ได้คิดเรื่องอื่นใดนอกจากตั้งใจฝึกซ้อมนักกีฬาของเราอย่างหนัก เพราะรู้ดีว่าคู่ต่อสู้ของเราเก่งกาจขนาดไหน

หลายครั้งที่เห็นโค้ชคอยลุ้นนักกีฬาอยู่ข้างสนาม และคอยดูแลปกป้องสิทธิ์ให้นักกีฬาตลอด คาดว่าเวลามีการแข่งขัน โค้ชคงกดดันมากเช่นกันนะคะ

จริง ๆ แล้วคนอื่นอาจไม่รู้ว่าเวลานักกีฬาลงแข่ง ผมตื่นเต้นกว่านักกีฬาด้วยซ้ำ เพราะไม่รู้ว่าพวกเขามีความพร้อมมากแค่ไหน หรือจะทำได้ไหม นัดใหญ่ ๆ อย่างเอเชียนเกมส์ โอลิมปิก พอเราเข้าไปได้รอบลึก ๆ ผมนอนไม่หลับเลยทีเดียวเพราะลุ้นไปกับนักกีฬาด้วย แต่ผมก็มีวิธีคลายเครียดของตัวเอง ผมชอบฟังเพลงบัลลาร์ดที่มีท่วงทำนองเนิบช้า แต่ช่วงแรก ๆ ที่มาที่นี่ ผมชอบฟังเพลงของปาล์มมี่ (ว่าแล้วก็ร้องเพลง อยากร้องดัง ๆ “….ด่าดาดาดัม จ่าดัม จ่าดัม ด่าด้า…” ให้ฟังอย่างสนุกสนานทันที) แต่เพลงประจำตัวของผมที่ไปงานไหนก็ต้องร้องทุกงานคือเพลงของ อัสนี – วสันต์ (ตอนแรกโค้ชพูดชื่อนักร้องด้วยสำเนียงเกาหลีว่า “อะซันยะซัน” ฟังแล้วนึกเท่าไหร่ก็นึกไม่ออกว่ามีนักร้องไทยชื่อนี้ จนกระทั่งโค้ช ร้องว่า “หยุดบอกว่ารักสักทีได้ไหม ถ้าไม่ได้หมายความเพียงแค่ฉัน…” เราจึงร้องอ๋อเลยทีเดียว)

ทราบว่าตอนนี้ภรรยาและลูกชายของโค้ชก็อยู่ที่นี่ด้วยกันใช่ไหมคะ

โค้ชเช

ผมซื้อคอนโดอยู่ย่านศรีนครินทร์ และตอนนี้ลูกชายวัย 5 ขวบของผม (ชเว ยุน มิน) ก็เรียนอยู่ที่โรงเรียนนานาชาติ ด้วยความที่ผมต้องเดินทางบ่อย และต้องทุ่มเทเวลาให้กับการฝึกซ้อมนักกีฬาเยอะมาก ช่วงแรกก็เลยมีปัญหาครอบครัว เกิดความไม่เข้าใจกับภรรยา (คิม อุน ซุก) เหมือนกัน เพราะเธอต้องดูแลลูกเล็ก ๆ คนเดียว ที่สำคัญ เธอยังพูดภาษาไทยไม่ได้ เวลาลูกไม่สบายจะไปหาหมอก็ลำบาก แต่ตอนนี้เธอพูดภาษาไทยได้บ้างแล้ว และมีเพื่อนที่นี่เยอะขึ้น จึงใช้ชีวิตได้อย่างสบาย

โค้ชเช

หลายคนถามว่าผมรู้จักกับภรรยาชาวเกาหลีได้อย่างไร บังเอิญตอนกลับไปเที่ยวเกาหลี เพื่อนสมัยประถมของผมแนะนำให้รู้จักกับเธอ ตอนคบกันใหม่ ๆ พอมีเวลาว่างเธอก็บินมาเที่ยวเมืองไทยกับครอบครัว เราคบกันได้สองปีก็แต่งงานกันครับ

แม้ว่าผมจะกินอาหารไทยได้ทุกอย่าง แต่ก็ชอบกินอาหารเกาหลีที่ภรรยาทำมากกว่า หลังเลิกงานทุกวันเป็นช่วงเวลาที่ผมมีความสุขมาก ผมจะกลับบ้านไปอาบน้ำให้ลูกชาย ส่วนภรรยาก็ทำกับข้าวอร่อย ๆ ให้กิน

ผมคิดไว้ว่า ถ้ามีโอกาสก็จะทำงานที่เมืองไทยไปจนอายุ 60 ปี หลังจากนั้นผมก็อยากไปใช้ชีวิตที่เกาหลี ไปเยี่ยมเพื่อน ๆ บ้าง อาจอยู่ที่นี่ครึ่งปี อยู่เกาหลีครึ่งปี เพราะถึงอย่างไรผมก็ยังคิดถึงบ้านเกิดเมืองนอนของผม

แต่ ณ วันนี้ผมมีเป้าหมายเดียวเท่านั้นคือ ทำให้นักกีฬาเทควันโดไทยคว้าเหรียญทองจากกีฬาโอลิมปิกเกมส์ให้ได้

สุดท้ายนี้ผมอยากขอบคุณคนไทยทุกคนที่ให้กำลังใจผมตลอดมา ไม่ว่าผมจะไปไหนก็มีแต่คนให้กำลังใจว่า “สู้ ๆ” ผมไม่มีอะไรจะตอบแทนคนไทย นอกจากทุ่มเทให้กับเทควันโดไทยแบบหมดหัวใจครับ

 

Secret BOX

เล่นกีฬา…วินัยเป็นเรื่องใหญ่ เล่นเก่งไม่เก่งเป็นเรื่องรอง

โค้ชชเว ยอง ซอก


บทความน่าสนใจ

“โย ยศวดี” เบรกงานวงการบันเทิง เตรียมคัดตัวปัญจกีฬาทีมชาติไทย

Jason Brown นักกีฬาผู้มี น้ำใจ รู้จักการให้และการแบ่งปัน

“แม่ลออ วรรณสุคำ” ครูผู้เป็นมารดาของนักกีฬาทีมชาติไทย

 

Posted in MIND
BACK
TO TOP
A Cuisine
Writer

© COPYRIGHT 2024 Amarin Corporations Public Company Limited.