ใจไม่ยอมแพ้

True story : ฉันรอดจากโรคร้าย เพราะใจไม่ยอมแพ้

True story : ฉันรอดจากโรคร้ายเพราะ ใจไม่ยอมแพ้

ฉันเป็นคนหนึ่งที่ ใจไม่ยอมแพ้ ถึงแม้จะเจ็บป่วยเป็นโรคร้าย ซึ่งเป็นโรคที่ฉันเคยคิดว่าไม่มีทางกล้ำกรายเข้ามาในชีวิต

ฉันเป็นคนต่างจังหวัด เข้ามาทำงานในกรุงเทพฯ กับสามี เราสองคนเช่าบ้านอยู่ใกล้ที่ทำงานแถวชานเมือง ทำงานประเภทที่เขาเรียกกันว่าหาเช้ากินค่ำ ช่วยกันเก็บหอมรอมริบเพื่อสักวันหนึ่งจะกลับไปทำมาค้าขายที่บ้านเกิด

คนทำงานหามรุ่งหามค่ำอย่างฉันไม่ได้ให้ความสำคัญกับการดูแลใส่ใจสุขภาพมากนัก เพราะที่ผ่านมาก็ไม่เคยเจ็บป่วยอะไรร้ายแรง แค่ปวดหัว ปวดท้อง เป็นไข้ กินยาไม่กี่วันก็หาย แต่แล้ววันหนึ่งฉันกลับรู้สึกได้ว่าร่างกายผิดปกติ แบบไม่ใช่แค่เจ็บไข้ทั่วไปอย่างที่เคยเป็น

ฉันรู้สึกแน่นตึงที่เต้านมข้างหนึ่ง จับคลำก็รู้ว่ามีก้อนเนื้อเล็ก ๆ อยู่ข้างใน ลองคุยกับเพื่อนและคนแถวบ้าน เขาก็บอกกันว่าไม่น่าใช่เรื่องใหญ่ ที่ผ่านมาก็ไม่เห็นมีใครในละแวกนั้นเป็นโรคร้ายอะไรกันสักคน เวลานั้นฉันเลือกเชื่อคนรอบข้าง และไม่ใส่ใจก้อนเนื้อก้อนเล็กนั้นอีก

เวลาล่วงเลยมา 3 ปี ก้อนเนื้อก้อนเล็กก็ใหญ่โตจนเท่ากับหัวทารก ผิวเต้านมเริ่มตึงและมีรอยยุบบนผิวดูน่ากลัว ฉันจึงรีบไปหาหมอที่สถานีอนามัยใกล้ที่พัก และได้รู้ว่าตัวเองเป็นมะเร็งเต้านมระยะที่ 3

“มะเร็ง”

แค่ได้ยินฉันถึงกับทรุด เพราะในความคิดของฉันโรคนี้รุนแรงถึงตาย อย่างไรคงมีชีวิตอยู่ได้ไม่นาน กลับบ้านมาฉันร้องไห้ฟูมฟายไม่หยุด ไม่ว่าสามีจะปลอบอย่างไรก็ไม่มีจิตใจที่จะฟัง จนเข้าวันที่ 3 ความเศร้าเริ่มจางคลาย เริ่มตั้งสติได้ว่าร้องไห้ฟูมฟายเพียงใดก็ไม่มีใครช่วยฉันได้ ต้องไปหาหมอเพื่อหาทางรักษา ถึงจะมีชีวิตอยู่ต่อไป

ฉันไปที่สถานีอนามัยอีกครั้ง หมอบอกว่าต้องส่งตัวไปรักษาที่โรงพยาบาล และบอกชื่อโรงพยาบาลให้ฉันเลือกว่าจะไปที่ไหน ฉันไม่รู้จักสักที่ จนได้ยินชื่อโรงพยาบาลรามาธิบดี ซึ่งเคยได้ยินชื่อจากในทีวี จึงเลือกให้เขาส่งตัวมาที่นี่ ทั้งที่ไม่รู้ด้วยซ้ำว่าอยู่ตรงไหนของกรุงเทพฯ สามีต้องหอบหิ้วฉันซึ่งมีสภาพซังกะตายมาถึงโรงพยาบาลตั้งแต่ตี 5 ทำเรื่องและเอกสารต่าง ๆ กว่าจะได้พบกับหมอก็บ่ายโมง

“หมอ หนูจะรอดไหม เป็นมะเร็งระยะที่ 3 ที่ 4 แล้วนะ”

ฉันรีบถามหลังจากที่หมอตรวจร่างกาย หมอยิ้มให้ก่อนถามสารทุกข์สุกดิบทั่วไป สามีจึงเอ่ยถามเรื่องค่ารักษาเพราะรู้ว่าค่ารักษาโรคนี้แพงมหาศาล ไม่มีทางที่คนหาเช้ากินค่ำอย่างเราจะจ่ายได้ แต่หมอก็ไม่ได้พูดให้เราเสียกำลังใจ แม้สามีของฉันจะสารภาพไปตามตรงว่าเราสองคนมีเงินติดตัวกันมาเพียง 400 บาทเท่านั้น

ครั้งนั้นหมอให้พยาบาลพาฉันไปหาฝ่ายสังคมสงเคราะห์ของโรงพยาบาลเพื่อทำเรื่องขอความช่วยเหลือจากมูลนิธิรามาธิบดีฯ หลังจากตรวจสอบความเป็นอยู่ที่บ้าน ฉันก็ได้รับเงินช่วยเหลือค่ารักษาพยาบาล

เมื่อได้เห็นน้ำใจของทุกคนที่ต่างช่วยเหลือฉันเป็นอย่างดี อย่างไรฉันก็ต้องสู้ ฉันต้องตัดเต้านมออกหนึ่งข้างเพื่อรักษาชีวิต จากนั้นต้องฉีดยารักษาทั้งหมด 16 เข็ม ฉายแสงอีก 25 ครั้ง ผลกระทบจากการรักษาทุกครั้งทำฉันแสนเจ็บปวดทรมาน สภาพเหมือนกับไร้ชีวิต ผมที่เคยยาวสลวยก็ร่วงจนหมด หลายครั้งที่ฉันแทบหอบสังขารตัวเองกลับบ้านไม่ไหว เคยทรุดลงกลางสะพานลอยจนคนเดินผ่านไปผ่านมาคิดว่าเป็นขอทาน และอีกหลายครั้งที่ฉันสิ้นหวัง ร้องไห้ฟูมฟาย คิดจบชีวิต เพราะไม่อยากทรมานอย่างนี้อีกแล้ว

แต่ทุกครั้งที่ฉันคิดอยากจากโลกนี้ไป ใบหน้าและรอยยิ้มของสามีจะผุดขึ้นมาเสมอ เพราะเขาไม่เคยแสดงความท้อแท้สิ้นหวังให้ฉันเห็นสักครั้ง เขามีแต่รอยยิ้มและคำปลอบใจ แม้เขาเองก็ล้าทั้งกายและใจไม่น้อย เพราะต้องทำงานหนักชนิดกะชนกะเพื่อหาเงินใช้จ่ายสำหรับเราสองคน แต่เขาก็ไม่เคยแสดงให้เห็นว่าเหนื่อย มีแต่จะสู้ไปพร้อมกับฉัน เขาเป็นกำลังใจสำคัญที่สุด ฉันอาจโชคไม่ดีที่เป็นโรคร้าย แต่โชคดีของฉันคือมีเขาเป็นคู่ชีวิต

นอกจากสามีแล้ว หมอและทุกคนที่โรงพยาบาลรามาธิบดีก็ดีกับฉันมาก เจอกันทุกครั้งก็ให้กำลังใจฉันเสมอ ทุกคนเป็นพลังใจสำคัญที่ทำให้ผ่านคืนวันที่แสนเจ็บปวดมาได้ และฟื้นฟูกายใจจนกลับมาดีได้ดังเดิม

เมื่อร่างกายแข็งแรงแล้ว ฉันก็รีบออกไปหางานทำเพื่อแบ่งเบาภาระสามีที่ทำงานเพียงลำพัง ในที่สุดก็ได้งานเป็นยามที่คอนโดแห่งหนึ่งตั้งแต่ผมยังไม่ขึ้น ต้องใส่หมวกตลอดเวลา วันหนึ่งผู้จัดการเรียกฉันเข้าไปหา ฉันตกใจคิดว่าเขาอยากไล่ฉันออก จึงรีบยืนยันกับเขาว่าฉันแข็งแรงดีแล้ว

ผิดคาด เขากลับยื่นวิกผมให้และบอกให้ฉันสู้ คนรอบข้างที่รู้ว่าฉันป่วยก็มีน้ำใจต่อฉันมาก ฉันจึงมีกำลังใจดีขึ้นเรื่อย ๆ เราสองผัวเมียหาเงินมาใช้หนี้ที่เกิดในช่วงที่ฉันทำงานไม่ได้และตั้งใจจะเก็บเงินเพื่ออนาคตอีกครั้ง

แต่เรื่องราวไม่คาดฝันกลับเกิดขึ้นอีก

ช่วงหนึ่งฉันปวดท้อง และท้องอืดคล้ายอาการของโรคกระเพาะอาหารอักเสบ ต่อมาอาการกลับแย่ลง เพราะฉันถ่ายไม่ออกอยู่เป็นเวลา 2 เดือน ตอนนั้นในใจคิดแล้วว่า “มะเร็งเล่นงานอีกแน่”

พอมาหาหมอที่โรงพยาบาลจึงรู้ว่าฉันกำลังเป็น มะเร็งรังไข่ระยะที่ 3

แม้จะเตรียมใจมาก่อน แต่ก็อดคิดไม่ได้ว่าครั้งนี้คงไม่รอดแน่ ๆ ซึ่งต้องแอดมิตรอผ่าตัดทันที ระหว่างที่รออยู่หลายวันนั้น ฉันกินได้แต่นมถุง กินอะไรท้องก็ป่องออกมาจนน่ากลัว แม้กายจะเจ็บป่วย แต่ครั้งนี้กำลังใจฉันดีมาก เพราะลูกสาวและญาติพี่น้องมาเยี่ยมไม่ขาด สามียังคงเป็นกำลังใจสำคัญเสมอ แม้เขาต้องทำงานหนักทุกวัน และที่ทำงานก็ไกลจากโรงพยาบาล แต่เขาก็มาเยี่ยมฉันบ่อย ๆ ได้คุยกันบ้างครั้งละไม่กี่ชั่วโมงก็ทำให้ฉันสบายใจ

ถึงวันผ่าตัด หมอบอกสามีว่า ฉันมีสิทธิ์รอดเพียง 50/50 เพราะการเป็นมะเร็งทั้งสองแห่งเสี่ยงสูงมาก ครั้งนี้หมอใช้เวลาผ่าตัดถึง 12 ชั่วโมง หลังผ่าตัดฉันสลบไป 3 วัน รู้ตัวอีกทีก็นอนอยู่ในห้อง ICU ตามร่างกายมีสายอะไรต่อมิอะไรระโยงระยางเต็มตัว และต้องอยู่ดูอาการในห้องนี้อีกสองสัปดาห์

เมื่อย้ายมาอยู่ห้องรวม อาการก็ยังไม่ดีนัก ฉันจึงกลายมาเป็นเคสพิเศษที่นักศึกษาแพทย์มาดูการตรวจรักษาเกือบทุกครั้ง ช่วงที่ต้องล้างแผลก็แสนทรมาน ฉันได้แต่ร้องไห้ด้วยความเจ็บปวด หลายครั้งต้องเอาผ้าอุดปากเพื่อไม่ให้เสียงกรีดร้องดังเล็ดลอดออกมา

แม้ต้องทรมานแค่ไหน ฉันก็คิดเสมอว่าเรายังอาการดีกว่าคนอื่น เพราะทุกครั้งที่หมอเข้ามา ฉันมักได้ยินคนไข้เตียงอื่นพูดกันเสมอว่า เตียง 5 ไม่น่ารอดหรอก

“โห นี่ยังมีคนเป็นหนักกว่าเราอีกนะ เรายังดีที่รอดมาได้” ฉันคิดในใจทุกครั้งที่ได้ยินคนพูดถึงคนไข้เตียงนี้ และอยากไปเยี่ยมให้กำลังใจเขา เพราะรู้ว่าคนป่วยต้องการกำลังใจอย่างมาก ยิ่งเป็นคนป่วยด้วยกัน คงเข้าอกเข้าใจกันได้ดี

“พี่ ๆ เตียง 5 เขาเป็นอะไรเหรอ หนูอยากไปให้กำลังใจเขา” ฉันพูดกับสามีและพี่สาวเสมอ แต่ทั้งสองก็ไม่เล่าให้ฟังได้แต่บอกให้ฉันห่วงตัวเองก่อน ค่อยคิดห่วงคนอื่น ซึ่งก็จริงฉันจึงคิดแค่ว่า ขอให้เขาดีขึ้นเถอะ สักวันคงได้คุยกัน

ทุกวันฉันจะพยายามขยับร่างกายและทำทุกอย่างตามที่หมอแนะนำ จนในที่สุดก็ลุกขึ้นมานั่งได้ และพยุงตัวยืนได้ด้วยไม้ค้ำยันสามขา แม้จะเจ็บมากแต่ฉันทน และไม่ยอมให้ความอ่อนล้าของกายมาบั่นทอนกำลังใจของฉัน จนเมื่อวันที่ฉันลุกขึ้นก้าวเดินได้จึงอยากไปเยี่ยมคนไข้เตียง 5

ฉันเงยหน้ามอง ไล่ตัวเลขตามหัวเตียง หนึ่ง สอง สาม สี่…และห้าคือหมายเลขเตียงของฉันเอง

“พี่โกหกหนูทำไม นี่หนูฟื้นแล้ว แข็งแรงแล้วไง หนูไม่ได้ตายอย่างที่ใครเขาพูดกันนะ”

ฉันต่อว่าสามีเมื่อรู้ความจริง และร้องไห้ด้วยความรู้สึกระคนเสียใจและดีใจ ถึงสภาพร่างกายจะย่ำแย่ แต่ใจฉันสู้ ฉันไม่ได้ยอมแพ้และตายไปเหมือนกับคำที่คนเขาพูดกัน

จากวันนั้นฉันมีแรงฮึดมากกว่าเดิม ฝึกเดินทุกวัน ค่อย ๆ เตาะแตะไปห้องน้ำเอง บางครั้งไปไม่ถึงฉี่ราดกลางทางก็มี แต่ทุกคนให้กำลังใจ หมอบอกว่าได้เท่านี้ก็เก่งแล้ว ฉันพยายามฟื้นฟูกายใจของตัวเอง จนในที่สุดหมอก็บอกว่าฉันกลับไปรักษาตัวที่บ้านได้แล้ว

ก่อนวันกลับฉันตื่นเต้นดีใจ แต่หันไปเจอสามีกำลังนั่งร้องไห้ พอถามจึงได้ความว่า เราไม่มีเงินพอจ่ายค่ารักษาพยาบาล จึงต้องติดต่อไปยังมูลนิธิรามาธิบดีฯอีกครั้ง ซึ่งก็ได้รับความช่วยเหลืออย่างดี ถือเป็นบุญของคนยากอย่างฉัน ฉันไม่มีวันลืมบุญคุณของทุกท่านจริง ๆ

ฉันรู้ดีว่า ที่ผ่านมานอกจากการรักษาของหมอแล้ว ยาที่วิเศษที่สุดของคนป่วยคือกำลังใจ ฉันโชคดีที่มีสามีอยู่เคียงข้าง ไม่ว่าฉันจะงอแงหรือหงุดหงิดใส่ เขาก็ไม่เคยว่ากล่าว เพราะเข้าใจจิตใจของคนป่วย รวมไปถึงครอบครัว หมอ พยาบาล และเจ้าหน้าที่ทุกคนที่โรงพยาบาล หากไม่มีทุกคนที่ว่ามานี้ ฉันคงไม่อาจผ่านคืนวันอันโหดร้ายมาได้

แต่สุดท้ายแล้วนั้น สิ่งสำคัญที่สุดคือ ตัวเราเอง กำลังใจจากใครก็ไม่ยิ่งใหญ่ไปกว่ากำลังใจที่เราสร้างขึ้นมาเอง ฉันมีชีวิตอยู่ได้เพราะใจสู้ ทั้งสู้กับโรคร้าย สู้กับความหดหู่สิ้นหวัง และสู้กับถ้อยคำที่บั่นทอนจิตใจจากคนไม่รู้จักที่ประดังเข้ามาตลอดเวลาที่รักษาตัว

หลังจากผ่านโรคร้ายครั้งที่สองมาได้ ทุกครั้งที่ฉันมาโรงพยาบาลเพื่อติดตามอาการ ฉันมักหาเวลาเข้าไปคุยกับคนโน้นคนนี้ เพราะที่นี่เป็นเหมือนอีกครอบครัวของฉัน เมื่อเจอผู้ป่วยก็จะเข้าไปคุยและให้กำลังใจ เพราะอยากให้เขาต่อสู้กับโรคภัยและต่อสู้กับความหดหู่ในใจให้ได้ เมื่อมีเวลาก็มาทำงานเป็นจิตอาสา แบ่งปันกำลังใจและความรักให้กับผู้ป่วยทุกคน เพราะไม่ว่าคนรวยหรือคนจน เมื่อป่วยไข้สภาพจิตใจก็ไม่ได้ต่างกัน

ฉันมักเล่าเรื่องราวของตัวเองให้ผู้ป่วยคนอื่น ๆ ฟังเสมอ หากใครได้ฟังเรื่องของฉันและมีกำลังใจต่อสู้กับโรคของเขา ก็เท่ากับฉันได้ทำงานตอบแทนมูลนิธิรามาธิบดีฯที่ดูแลฉันจนมีชีวิตรอดมาทำความดีเพื่อคนอื่น ๆ และตอบแทนผู้ใจบุญทุกท่านที่ร่วมสมทบทุนให้มูลนิธิเพื่อช่วยเหลือผู้ป่วยที่ตกทุกข์ได้ยากทุกคน

สุดท้ายนี้ฉันอยากให้คนที่เจ็บป่วยมองชีวิตที่ผ่านมาของฉัน แม้ฉันเป็นมะเร็งถึงสองแห่ง ใคร ๆ ก็คิดว่าฉันต้องตาย แต่ฉันกลับรอดชีวิตมาได้ด้วยความช่วยเหลือและพลังใจจากคนรอบข้าง

แต่สำคัญที่สุดคือ ฉันรอดตายมาได้ด้วยพลังใจอันยิ่งใหญ่ที่ฉันได้พยายามสร้างขึ้นเอง

 

ใจไม่ยอมแพ้

ข้อคิดจาก ดร.พระณธีวิชญ์ วรโภคินธนะโชค
ศูนย์ปฏิบัติธรรมนานาชาติ สวนป่าบุญชุ่มรมณียาราม เชียงราย

อย่าเห็นงานสำคัญกว่าสุขภาพ คนเราควรมีมงคลธรรมข้อที่ 21 คือ ความไม่ประมาทในสุขภาพในชีวิต ในวัย การมีสุขภาพดีต้องสร้างด้วยตนเอง อย่าตรากตรำทำงานหาเงินมากมายตลอดทั้งชีวิต เพื่อจะนำไปใช้ในโรงพยาบาล ชีวิตต้องคิดบวก มองบวกถึงจะอยู่รอด หากไม่ยอมแพ้ ท้อถอย ก็ย่อมสมปรารถนาในการมีชีวิตที่ยาวนาน

ยาที่แสนวิเศษที่สุดที่จะเยียวยาคนมีความทุกข์จากโรคภัยร้ายแรง คือ พลังใจที่เข้มแข็ง จากคนที่เรารัก คนรอบข้าง รวมทั้งสิ่งสำคัญที่สุดคือ พลังหรือกำลังใจจากตนเอง ควรยึดหลักพละ 5 คือพลังห้าประการ โดยเชื่อมั่นว่าตนเองจะต้องอยู่รอดปลอดภัย มีความเพียร ขยันที่จะทำทุกวิถีทางให้ตนมีชีวิตยืนยาว มีความระลึกรู้สึกตัวเองทั่วพร้อมอยู่ตลอดเวลา มีจิตตั้งมั่นในสิ่งเดียว คือตนเองต้องปลอดภัย มีปัญญาในการหาวิธีประคับประคองชีวิตตนเองให้อยู่รอดตามที่ตั้งใจไว้ นี่เป็นการชนะมะเร็งด้วยธรรมะของพระพุทธเจ้า คิดบวก คิดดี มีธรรมะ ชีวิตยืนยาว พลังใจเป็นสิ่งสำคัญมากต่อเวลาชีวิต

เรื่องราวนี้สอนธรรมะเกี่ยวกับเรื่อง

• มงคล 38 ประการ ข้อที่ว่าด้วยยการไม่ประมาทในสุขภาพ ในชีวิต ในวัย ในธรรม
• การคิดบวกอยู่รอด คิดลบชีวิตสั้น
• พลังใจเป็นสิ่งสำคัญมากที่สุด
• พละ 5 คือ ศรัทธา วิริยะ สติ สมาธิ ปัญญา (เป็นการชนะโรคมะเร็งด้วยธรรมะของพระพุทธเจ้า)
• อิทธิบาท 4 คือ ฉันทะ ต้องพอใจ ต้องการที่จะมีชีวิตยาวนาน อยู่รอด วิริยะ ต้องพากเพียรอดทนเพื่อให้มีชีวิตอยู่รอด จิตตะ ต้องมีใจตั้งมั่นแน่วแน่ที่จะมีชีวิตอยู่ วิมังสา พิจารณาอย่างรอบคอบในการดำเนินชีวิตอย่างถูกต้อง
• ผู้ประมาทเหมือนคนที่ตายแล้ว คนที่ไม่ประมาท แม้มัจจุราชก็มองไม่เห็น
• ความทุกข์ทำให้เรามองเห็นธรรมะ
• ความอดทนเป็นมงคลอันสูงสุด
• เรามีความแก่ มีความเจ็บป่วย เป็นธรรมดา ไม่สามารถจะล่วงพ้นความเจ็บไข้ไปได้

 

ร่วมสมทบทุนมูลนิธิรามาธิบดีฯ ในโครงการกองทุนเพื่อผู้ป่วยยากไร้ได้ที่

• ธนาคารไทยพาณิชย์ บัญชีกระแสรายวัน สาขารามาธิบดี เลขที่ 026-3-05216-3
• ธนาคารกรุงเทพ บัญชีกระแสรายวัน สาขาอาคารสมเด็จพระเทพรัตน์ โรงพยาบาลรามาธิบดี เลขที่ 090-3-50015-5
• ธนาคารกสิกรไทย บัญชีออมทรัพย์ สาขาอาคารสมเด็จพระเทพรัตน์ โรงพยาบาลรามาธิบดี เลขที่ 879-2-00448-3

 

ที่มา : นิตยสาร Secret  ฉบับที่ 233

เรื่อง : เก่ง

เรียบเรียง :  เชิญพร คงมา  ภาพ : นิตยสาร Secret

Secret Magazine (Thailand)


บทความน่าสนใจ

เจ้าของกับเพื่อนสี่ขา ป่วยเป็น “ มะเร็ง ” พร้อมๆ กัน พวกเขาเลือกเดินหน้าสู้กับโรคร้าย

จู เด็กหญิงผู้ต่อสู้กับโรคมะเร็งด้วยรอยยิ้ม

© COPYRIGHT 2024 Amarin Corporations Public Company Limited.