ตัณหา และเวลา ขุนเขา

ตัณหา เวลา อัตตา ฟิสิกส์! โดย ขุนเขา สินธุเสน เขจรบุตร

ตัณหา เวลา อัตตา ฟิสิกส์! โดย ขุนเขา สินธุเสน เขจรบุตร

ใครที่ไม่ชอบวิชาเลขอย่าเพิ่งทำหน้าเบ้หรือเปิดข้ามหน้านี้ไป ด้วยความขนพองสยองเกล้าเสียก่อนนะครับ เพราะเรื่องนี้ไม่มีการบังคับให้ต้องคำนวณหรือแก้สมการแต่อย่างใด มีแต่การนำเสนอสิ่งที่น่าสนใจใกล้ตัวคุณ…

หากคุณอยากให้เวลาผ่านไปเร็วขึ้นคุณก็จะรู้สึกว่าเวลาผ่านไปอย่างเชื่องช้า แต่ถ้าคุณอยากให้เวลาผ่านไปช้าลง คุณก็จะรู้สึกว่าเวลาผ่านไปอย่างรวดเร็วจึงอาจกล่าวได้ว่า “ตัณหาคือนาฬิกาของจิตใจ” นั่นเอง

เคยมีคนถามสุดยอดอัจฉริยะอย่างอัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ ว่า “ทฤษฎีสัมพัทธภาพอันก้องโลกของเขาคืออะไร และเขาสามารถอธิบายความซับซ้อนของมันให้คนทั่วไปเข้าใจได้หรือไม่…”

ไอน์สไตน์ตอบว่า “เวลาวางมือบนเตาร้อน ๆ เพียงหนึ่งนาที คุณจะรู้สึกนานเหมือนหนึ่งชั่วโมง แต่เวลานั่งคุยกับสาวสวยหนึ่งชั่วโมง คุณจะรู้สึกว่ามันรวดเร็วราวกับหนึ่งนาที นั่นแหละคือทฤษฎีสัมพัทธภาพของผม…” แน่นอนครับว่า ทฤษฎีสัมพัทธภาพของจริงไม่ได้ตรงไปตรงมาขนาดนั้นอย่างไรก็ตาม นักวิทยาศาสตร์ทุกคนทราบดีว่า สิ่งที่ไอน์สไตน์พูดนั้น…คือความจริง!

คำว่า “เวลาของเราไม่เท่ากัน” อาจฟังดูเหมือนคำพูดที่หลุดออกมาจากปากของพระเอกที่กำลังอกหักในละครหลังข่าว แต่เวลาของมนุษย์แต่ละคนนั้นไม่เท่ากันจริง ๆ ทั้งนี้ก็เพราะการรับรู้เวลาเกิดขึ้นในสมองของเราเอง โดยส่วนของสมองที่ใช้รับรู้เวลานั้นมีอยู่ด้วยกันหลายส่วน รวมเรียกว่า “นาฬิกาภายใน” หรือ Internal Clock ซึ่งส่วนที่เกี่ยวข้องมากที่สุดมีชื่อว่า สเตรียตัม (Striatum) ดังนั้นผู้ที่ป่วยเป็นโรคพาร์กินสัน ซึ่งสมองส่วนสเตรียตัมถูกทำลาย จึงประสบปัญหาอย่างมากในการระบุและประเมินเวลา

สิ่งมหัศจรรย์ก็คือ แม้เข็มวินาทีบนหน้าปัดนาฬิกาจะเคลื่อนที่ไปข้างหน้าในจังหวะเท่าเดิมตลอด แต่การรับรู้จังหวะความ “สั้น - ยาว” ของคนแต่ละคนที่มีต่อเข็มวินาทีนั้นไม่เหมือนกันเลย ทั้งนี้ก็เพราะการรับรู้เวลาในแต่ละวินาทีจะผ่านการปรุงแต่งของตัณหา (ความอยาก) ซึ่งคอยบิดเบือนความจริงที่เรารับรู้อยู่เสมอ

จะเห็นได้ว่า คนเรามักจะให้ความสนใจกับเวลามากเป็นพิเศษในยามที่เราเป็นทุกข์ เช่น คุณจะคอยเหลือบมองหน้าปัดนาฬิกาในที่ประชุมหรือในห้องเรียนที่น่าเบื่อหน่าย คุณจะเฝ้ารอเสียงระฆังดังบอกเลิกเวลาในการนั่งสมาธิ เพราะคุณเริ่มเกิดความเจ็บปวดทรมาน และคุณจะนอนนับวันเวลาที่จะได้ออกมาจากโรงพยาบาลแล้วกลับไปอยู่บ้านเสียที ซึ่งพฤติกรรมเหล่านี้เกิดจากตัณหา (ความอยาก) ที่จะให้เวลาผ่านไปเร็วขึ้น ดังนั้นแม้เข็มวินาทีจะเคลื่อนที่ไปในจังหวะที่เท่าเดิม แต่คุณกลับรู้สึกว่ามันเคลื่อนที่ “ช้าเกินไป” อยู่ดี!

         หลวงพ่อชา ได้สอนเรื่องตัณหาไว้อย่างยอดเยี่ยม โดยท่านให้ลูกศิษย์ดูไม้ท่อนหนึ่งแล้วถามว่า “ไม้ท่อนนี้สั้นหรือยาว” ลูกศิษย์บางคนตอบว่า “สั้น” ส่วนบางคนตอบว่า “ยาว” สุดท้ายหลวงพ่อชาจึงเฉลยว่า “หากคุณอยากได้ไม้ที่ยาวกว่านี้ ไม้ท่อนนี้มันก็สั้น แต่ถ้าหากคุณอยากได้ไม้ที่สั้นกว่านี้ไม้ท่อนนี้มันก็ยาว…ตัณหาหรือความอยากของคุณต่างหาก ทำให้มีสั้นมียาว มีดีมีชั่วมีทุกข์มีสุขขึ้นมา ละตัณหาเสียได้เท่านั้นทุกอย่างก็จบ…”

ฉันใดก็ฉันนั้น หากคุณอยากให้เวลาผ่านไปเร็วขึ้น คุณก็จะรู้สึกว่าเวลาผ่านไปอย่างเชื่องช้า แต่ถ้าคุณอยากให้เวลาผ่านไปช้าลง คุณก็จะรู้สึกว่าเวลาผ่านไปอย่างรวดเร็วจึงอาจกล่าวได้ว่า “ตัณหาคือนาฬิกาของจิตใจ” นั่นเอง

ฉะนั้นเมื่อใดก็ตามที่เรามีอารมณ์ด้านลบ เช่น กลัว เบื่อ เครียด เจ็บทุกข์ ฯลฯ เมื่อนั้นตัณหาของเราจะยิ่งทวีความรุนแรงมากขึ้น เพราะเราอยากหนีออกไปจากปัจจุบันที่มีแต่ความทุกข์เต็มทีแล้ว จิตของเราจึงยิ่งยึดติดอยู่กับเหตุการณ์ในอนาคตเหนียวแน่นมากขึ้น แต่ความจริงก็คือ ยิ่ง “อยากมาก” เท่าไหร่ เวลาก็จะยิ่งดูเหมือน “ยืดยาว” มากขึ้นเท่านั้น

อีกหนึ่งคำถามที่คนมักจะสงสัยก็คือทำไมตอนเด็ก ๆ เวลาจึงดูเหมือนผ่านไปอย่างเชื่องช้า แต่พอโตขึ้นมา (โดยเฉพาะเมื่อเริ่มแก่ชรา) เวลาจึงผ่านไปอย่างรวดเร็วจนน่ากลัว! สาเหตุก็เกิดจากตัณหาอีกเช่นเคย กล่าวคือ ตอนเราเป็นวัยรุ่น เราไม่ค่อยคิดถึงเวลาที่เหลืออยู่ เพราะชีวิตเพิ่งจะเริ่มต้นได้ไม่นาน และเราก็คิด (อย่างผิด ๆ) ว่าจะมีชีวิตอยู่ไปชั่วนิรันดร์ แต่เมื่อเราเริ่มเป็นผู้ใหญ่และอายุมากขึ้น เราอยากให้เวลาผ่านไปช้า ๆ เพราะเราไม่อยากแก่ชราและจากโลกนี้ไป ตัณหาจึงทำให้เวลาดูเหมือนผ่านไปรวดเร็วกว่าเดิม ซึ่งเรื่องนี้มีเครื่องยืนยันจากห้องทดลองของนักจิตวิทยา

ปีเตอร์ แมนแกน (Peter Mangan) และโจ โบลินสกี (Joe Bolinsky) ในปี 1997 ที่ระบุว่า คนในวัย 20 ต้น ๆ สามารถคาดเดาว่าเวลาผ่านไป 3 นาทีได้อย่างแม่นยำ ในขณะที่คนในวัย 60 ต้น ๆ มักจะคาดเดาพลาด โดยพวกเขาเดาว่า เวลาผ่านไปเร็วกว่ากลุ่มวัยรุ่นถึง 20 เปอร์เซ็นต์!

อีกหนึ่งปัจจัยที่เป็นตัวบิดเบือนการรับรู้เวลาของมนุษย์ก็คือ “อัตตา” (ความมีตัวตน) โดยอัตตาของเราจะขยายใหญ่ขึ้นเสมอในเวลาที่เรามีความทุกข์และมีตัณหาจะเห็นได้ว่า เวลาที่เรารู้สึกเจ็บปวด ไม่ว่าจะเป็นทางร่างกายหรือจิตใจ คำพูดในสมองของเราจะเต็มไปด้วยคำว่า “ฉัน” เช่น“ทำไม ฉัน ถึงต้องป่วย” “เมื่อไหร่ ฉัน จะหายเสียที” “ทำไมเขาถึงได้ทำกับ ฉัน แบบนี้” “อีกนานเท่าไหร่ ฉัน จึงจะได้หยุดพัก” ฯลฯ

เรื่องนี้มีข้อพิสูจน์จาก แคทลีน โวห์ส (Kathleen Vohs) และ แบรนดอน ชไมเซล (Brandon Schmeichel)  นักวิจัยทางจิตวิทยา ที่พบว่า การพยายามควบคุมตัวเองจะทำให้เวลาดูเหมือนเคลื่อนที่ช้าลงโดยแคทลีนและแบรนดอนพบว่า ผู้เข้าร่วมวิจัยที่นั่งดูคลิปภาพยนตร์ตลกความยาว 11 นาที จะเดาว่า ภาพยนตร์ดังกล่าวมีความยาวมากกว่า 11 นาที หากพวกเขาถูกห้ามไม่ให้หัวเราะ ในขณะที่ผู้เข้าร่วมวิจัยซึ่งนั่งดูคลิปโดยไม่ถูกควบคุม จะรู้สึกว่าเวลาผ่านไปด้วยความเร็วปกติ ทั้งนี้เนื่องจากการพยายามควบคุมตัวเอง ทำให้ผู้เข้าร่วมวิจัยไม่อาจปล่อยให้ตัวตน “หลุด” เข้าไปอยู่ในภาพยนตร์ได้อย่างเต็มที่

ตรงกันข้าม เวลาที่เรามีความสุขเราจะจดจ่ออยู่กับสิ่งที่กำลังทำจน “ลืมตัว” ซึ่งในตอนนั้นเราจะไม่คำนึงถึงตัวตน ไม่กังวลถึงอนาคต และไม่หมกมุ่นอยู่กับอดีต เวลาจึงดูเหมือนผ่านไปอย่างรวดเร็วเพราะตัวเราไหลล่องไปกับปัจจุบันขณะโดยไม่มี “ตัณหา” มาคอยดึงจิตให้ผูกติดกับเข็มนาฬิกา

ด้วยเหตุนี้จึงไม่แปลกที่คนซึ่งกำลังทำในสิ่งที่เขารัก มักจะทำสิ่งนั้นไปได้เรื่อย ๆ จน “ลืมเวลา” เนื่องจากอัตตาของเขาได้กลืนหายไปกับสิ่งรอบกายและกิจกรรมที่เขากำลังทำอยู่ ทฤษฎีนี้ทางจิตวิทยาเรียกว่า “Flow” (การไหลของจิต) เป็นทฤษฎีซึ่งคิดค้นโดยนักจิตวิทยาชาวฮังการีนามว่า มีไฮ ชีกเซนต์เมอไฮ (Mihaly Csikszentmihalyi)

ที่น่าสนใจยิ่งกว่านั้นก็คือ ดร.เฮอร์เบิร์ต เบนสัน (Dr. Herbert Benson)  ศาสตราจารย์ด้านการแพทย์จากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ได้ลองนำนักวิปัสสนากรรมฐาน จำนวน 36 คน ไปนั่งสมาธิในห้องทดลอง ผลปรากฏว่า ระหว่างที่คนเหล่านั้นกำลังอยู่ในสมาธิ ส่วนของสมองที่มีชื่อว่า โพสทีเรียร์ ซินกูเลต คอร์ติซีส (posterior cingulate cortices) ทำงานน้อยลงอย่างเห็นได้ชัด ซึ่งสมองส่วนนี้ก็คือส่วนที่ใช้ตระหนักรู้ในความเป็นตัวฉัน (“I” หรือ “Ego” นั่นเอง)

นี่คือเหตุผลว่า ทำไมเมื่อจิตของเราเป็นสมาธิ เราจึงรู้สึกว่าความเป็นตัวตนลดน้อยลง และตัณหาก็เบาบางลง จึงไม่น่าแปลกใจที่ระหว่างนั่งสมาธิบางคนจะรู้สึกเหมือนตัวเองหลุดเข้าไปอยู่ในอีกมิติเวลาหนึ่ง และเมื่อลืมตาขึ้นก็รู้สึกว่า เวลาหนึ่งชั่วโมงนั้นผ่านไปไวเหมือนโกหก 

นอกจากนั้นนักจิตวิทยายังพบว่าโดพามีนซึ่งเป็นสารที่หลั่งออกมาเวลาที่เรามีความสุข มีผลทำให้สมองรับรู้เวลารวดเร็วยิ่งขึ้นด้วย จึงไม่น่าแปลกที่ยาเสพติดบางชนิดซึ่งมีฤทธิ์กระตุ้นโดพามีนให้หลั่งออกมาเป็นจำนวนมาก เช่น โคเคน หรือ LSD จะทำให้เกิดความรู้สึกเหมือนช่วงเวลาอันยาวนานผ่านไปในพริบตาเดียว (Time Warp Effect) ตรงข้ามกับผู้ที่ป่วยเป็น โรคจิตเภท (Schizophrenia) ซึ่งต้องกินยาลดโดพามีนในสมอง คนเหล่านี้จะรู้สึกราวกับว่าเวลาแต่ละวันผ่านไปอย่างเชื่องช้าเหลือเกิน

ทั้งหมดที่กล่าวมาก็เพื่อจะสรุปในตอนท้ายนี้ว่า มนุษย์ไม่ได้แค่ “รับรู้” เวลาแต่หลายครั้งทีเดียวที่มนุษย์ “สร้าง” เวลาขึ้นมาจากความรู้สึกที่ถูกบิดเบือนและปรุงแต่งโดยตัณหาและอัตตา เพราะอันที่จริงแล้ว “เวลา” และ “นาฬิกา” เป็นเพียงสิ่งสมมุติที่มนุษย์สร้างขึ้นมาเพื่อความสะดวกในการใช้ชีวิตเท่านั้น

ทุกสรรพสิ่งในจักรวาลเคลื่อนไหวและเปลี่ยนแปลงไปตามกฎของอนิจจัง ดังนั้นใครก็ตามที่ต้องการให้สิ่งที่ตนรักคงอยู่ตลอดกาล หรืออยากให้สิ่งที่ตนชังจากไปเร็วกว่าปกติ ก็แน่นอนว่าจะต้องเจอกับความทุกข์ “อันแสนยาวนาน”…เป็นธรรมดา

 

Secret Box

“เวลา” มีได้ก็เพราะมีอัตตา

หากไร้ซึ่งอัตตา “เวลา” ก็ไม่มี…

พุทธทาสภิกขุ

 

 

จากคอลัมน์ MIND MANAGEMENT นิตยสารซีเคร็ต

เรื่อง ขุนเขา สินธุเสน เขจรบุตร www.facebook.com/KhunkhaoWriter

ภาพ Free-Photos on pixabay

 

© COPYRIGHT 2024 Amarin Corporations Public Company Limited.