วิธีกำจัดความโกรธ

กุศโลบายวิธีกำจัดความโกรธ – บทความดีๆ จาก ท่าน ว. วชิรเมธี

กุศโลบาย วิธีกำจัดความโกรธ – บทความดีๆ จาก ท่าน ว. วชิรเมธี

บทความธรรมะดี ๆ วิธีกำจัดความโกรธ ด้วยธรรมะ

ปจฺฉา โสวิคเตโกเธอคฺคิทฑฺโฒวตปฺปติ” ภายหลังเมื่อความโกรธหายแล้วเขาย่อมเดือดร้อนเหมือนถูกไฟไหม้ ไม่ปรุง (ก็)ไม่เป็น

สาเหตุของความโกรธประการหนึ่งก็คือ เมื่อถูกว่ากล่าวหรือถูกกระทบกระทั่งแล้ว ผู้ที่ถูกกระทบหรือถูกว่ากล่าวนั้นมักขาดสติอดรนทนไม่ไหวนำมา “ปรุงแต่ง” ต่อไปเรื่องเล็กจึงกลายเป็นเรื่องใหญ่ลุกลามบานปลายออกไปไม่จบไม่สิ้น แต่หากใครก็ตามมีสติอยู่ตลอดเวลา เมื่อถูกดุด่าว่ากล่าวก็ไม่หลุดไม่รั่ว ไม่หลงไม่ไหลไปตามคำคน ยังคงหยัดยืนตื่นรู้อยู่ในปัจจุบันขณะ คำดุด่าว่ากล่าวทั้งหลายก็ทำอันตรายไม่ได้

ในคัมภีร์มังคลัตถทีปนีท่านยกตัวอย่างว่ามีพระมหา-เถระรูปหนึ่งชื่อ อภัย ท่านเป็นพระนักเทศน์มีชื่อจึงมีผู้เลื่อมใสศรัทธาท่านมากมาย วันหนึ่งหลังเทศน์จบพุทธบริษัทต่างพากันชื่นชม แต่พระมหาเถระรูปหนึ่งมีแก่ใจริษยาไม่โมทนาชื่นชมด้วย เมื่อแสดงธรรมจบแล้ว ขณะเดินกลับกุฏิทางเดียวกันพระมหาเถระรูปนั้นก็ด่าพระอภัยไปตลอดทาง ครั้นถึงทางแยกแล้วพระอภัยก็ไหว้ท่าน แล้วก็แยกย้ายกันไปพักยังกุฏิของตน

เมื่อกลับถึงกุฏิของตนแล้วศิษยานุศิษย์รุมถามพระอภัยว่าถูกเขาด่ามาตลอดทางทำไมไม่ตอบโต้กลับไปบ้าง พระอภัยเถระกล่าวตอบด้วยน้ำเสียงเปี่ยมเมตตาว่า

“ความอดทนเป็นภาระหน้าที่ของเรา ความไม่อดทนหาใช่ภาระหน้าที่ของเราไม่ ตลอดทางที่เดินกลับมา จิตของเรามิได้พรากจากกรรมฐานเลย”

นี่คือตัวอย่างอันดีของการอยู่กับปัจจุบัน คือ การตื่นรู้อยู่ทุกย่างก้าว เมื่อท่านวางจิตของตนไว้ที่เท้า ซึ่งกำลังก้าวย่างจิตของท่านจึงไม่ไปรับเอาคำด่ามาเป็นอารมณ์ให้ขัดเคืองภายใน เมื่อไม่เอาตัวตนออกรับเอาคำด่ามาปรุงแต่ง คำด่านั้นก็เลือนหายไปในอากาศ ไม่อาจทำอันตรายแก่ผู้ถูกด่าแต่อย่างใด การอยู่กับปัจจุบันเป็นป้อมปราการป้องกันความโกรธได้อย่างวิเศษดังกล่าวมา

อนตฺถชนโน โกโธ” ความโกรธก่อให้เกิดความพินาศ

  1. เจริญเมตตาภาวนา

หากความโกรธเปรียบเสมือนไฟ เมตตาก็เปรียบเสมือนน้ำ หากความโกรธเป็นเหมือนตะวัน เมตตาก็เป็นเหมือนจันทรา ความโกรธเป็นสาเหตุแห่งความทุกข์ เมตตาเป็นสมุทัยแห่งความสุข เมตตาเป็นด้านที่ตรงกันข้ามของความโกรธ หากเรามีเมตตาธรรมประจำอยู่ในเรือนใจจนเป็นพรหมวิหาร คือเป็นพื้นฐานของจิตใจอยู่เป็นนิตย์แล้วความโกรธก็ย่อมเกิดขึ้นมาไม่ได้ เมตตามีอานิสงส์มหาศาลเป็นต้นว่าทำจิตใจให้สดชื่นรื่นเย็น เป็นมนตรามหาเสน่ห์ทำให้เป็นที่สนิทเสน่หาของผู้ได้พบเห็น เป็นหนทางแห่งไมตรีจิตมิตรภาพ เป็นยาระงับความเบียดเบียนบีฑา เป็นปฏิปทาสมานรอยร้าว เป็นบาทก้าวสู่สันติภาพ

ในพระสูตรอันว่าด้วยเมตตาพระพุทธองค์ตรัสว่าเมตตามีอานิสงส์ 11 ประการ กล่าวคือ

  1. หลับก็เป็นสุข
  2. ตื่นก็เป็นสุข
  3. ไม่ฝันร้าย
  4. เป็นที่รักของมนุษย์ทั้งหลาย
  5. เป็นที่รักของอมนุษย์ทั้งหลาย
  6. เทวดารักษา
  7. ไฟ ยาพิษ และศัสตราไม่กล้ำกราย
  8. จิตสงบเป็นสมาธิเร็ว
  9. สีหน้าผ่องใส
  10. ตายก็มีสติ ไม่หลงฟั่นเฟือน
  11. เมื่อยังไม่บรรลุธรรมที่สูงกว่าย่อมเข้าถึงพรหมโลก

เมตตานิสงส์ 11 ประการนี้จะเกิดมีขึ้นแก่ผู้เจริญเมตตาเป็นนิตย์เท่านั้น ผู้ใดเป็นคนมักโกรธย่อมอยู่ห่างไกลจากคุณของเมตตาประดามีเหล่านี้

โกโธ สตฺถมลํโลเก” ความโกรธเป็นดังสนิมศัสตราในโลก

  1. สมานไมตรีด้วยวิถีแห่งการให้คนที่โกรธกันนั้นมีแนวโน้มที่จะเริดร้างห่างเหินกันไกล

ออกไปทุกที แม้กายอาจจะอยู่ใกล้กันชั่วแลตาเห็น แต่ใจนั้นดูเหมือนว่าจะอยู่ห่างกันไกลออกไปคนละที่ คนละโลกคนละภพภูมิ ดังที่โคลงโลกนิติกล่าวไว้ว่า

 

รักกันอยู่ขอบฟ้า                   เขาเขียว

เสมออยู่หอแห่งเดียว            ร่วมห้อง

ชังกันบ่แลเหลียว                   ตาต่อ  กันนา

เหมือนขอบฟ้ามาป้อง          ป่าไม้มาบัง

 

คนที่ถูกลิ่มคือความโกรธตอกลงไปในใจจนเกิดความร้าวฉาน จนยากจะสมานรอยร้าวให้ดีดังเดิมนั้น ปราชญ์ท่านว่า หากรู้วิธีเยียวยาอย่างแยบคายก็อาจกลับมาคืนดีกันใหม่ได้ไม่ยากนัก วิธีการหนึ่งซึ่งท่านแนะนำว่าทำแล้วได้ผลดีก็คือการสมานไมตรีด้วยการให้ เพราะการให้นั้นย่อมยังใจของปรปักษ์ให้อ่อนโยนเหมือนความในกวีนิพนธ์ที่ว่า

การให้เป็นเครื่องฝึกคนที่ยังฝึกไม่ได้ การให้ยังความประสงค์ทั้งปวงให้สำเร็จได้ ผู้ให้ก็เบิกบานขึ้นมาด้วยการให้ส่วนผู้ได้รับก็น้อมลงมาพบด้วยปิยวาจา

ความข้อนี้มีสาระใกล้เคียงกับกวีนิพนธ์ของสุนทรภู่ บทที่ว่า

 

ผูกสนิทชิดเชื้อนี้เหลือยาก

ถึงเหล็กฟากผูกไว้ก็ไม่มั่น

จะผูกด้วยมนต์เสกลงเลขยันต์

ก็ไม่มั่นเหมือนผูกไว้ด้วยไมตรี

 

การให้นั้นเป็นหนทางสร้างไมตรีได้อย่างวิเศษ เพราะการให้จะเป็นกุศโลบายเชื่อมหัวใจทั้งของผู้ให้และผู้รับ ให้น้อมลงมาพบกันฉันญาติสนิทมิตรที่รักอย่างถ้อยทีถ้อยอาศัยผู้ให้และผู้รับต่างก็พึ่งพาอาศัยกัน ที่ใดมีการให้ ที่นั้นไซร้ย่อมมีแต่มิตรภาพ การให้จึงเป็นเหตุปัจจัยสลายความโกรธที่ทรงประสิทธิภาพที่สุด

 

ที่มา : นิตยสารซีเคร็ต

เรื่อง ว.วชิรเมธี

ภาพ : https://pixabay.com


บทความที่น่าสนใจ

Dhamma Daily : ทำอย่างไรดีให้เลิกโกรธพี่สาว

เมื่อผมให้ความไม่โกรธ นั่นคือ “อภัยทาน”

Dhamma Daily : เห็นข่าวคน ทำร้ายสัตว์ รู้สึกโกรธ ควรปล่อยวางอย่างไร

โกรธอย่างไรให้เกิดปัญญา 10 เทคนิคดีๆ ใน การฝึกสติละความโกรธ

เจ้าชายผู้ชนะความโกรธ นิทานธรรมะสอนเรื่องเวรย่อมระงับด้วยการไม่จองเวร

© COPYRIGHT 2024 Amarin Corporations Public Company Limited.