คนโกรธง่าย

ทำไมปฏิบัติธรรมแล้วกลายเป็น คนโกรธง่าย เอาซะอย่างนั้น ?

ทำไมปฏิบัติธรรมแล้วกลายเป็น คนโกรธง่าย เอาซะอย่างนั้น ?

ผู้อ่านถาม

ปฏิบัติธรรมแล้วรู้สึกว่า โมโหง่ายกว่าเดิมมาก เป็น คนโกรธง่าย กว่าเดิม เป็นเพราะอะไร แล้วจะแก้อย่างไร แบบนี้แสดงว่า ปฏิบัติมาผิดทางใช่หรือไม่

พศินตอบ

การปฏิบัติธรรมนั้นถ้าทำอย่างถูกต้องจิตใจจะรู้สึกเบาสบาย ไม่มีความอึดอัดอย่างเด็ดขาด ถ้าเกิดความอึดอัดย่อมหมายความว่ามีบางอย่างผิดที่ผิดทาง   การปฏิบัติธรรมนั้นเป็นเหมือนการลดน้ำหนักแหละครับ  มันจะต้องทำทุกมิติให้ครบเช่นถ้าคนจะลดน้ำหนักก็ต้อง 1.ควบคุมปริมาณอาหาร 2.เลือกอาหาร 3. ออกกำลังกาย  ต้องทำทั้งสามสิ่งนี้ให้ครบทุกข้อ และทำไปพร้อมๆ กันด้วย  ถ้าเลือกทำเพียงข้อหนึ่งข้อใดมันจะไม่ได้ผล การปฏิบัติธรรมก็เป็นแบบนั้นคือ ใช้หลักการว่าต้องทำให้ครบทุกมิติ

1.ศรัทธา ที่เป็นสัมมาทิฐิ ตรงนี้จะต้องมีมากพอ  เราก็ต้องหาอุบายเพื่อให้เรามีศรัทธาเพิ่มขึ้น เช่น หาหนังสือประวัติครูบาอาจารย์มาอ่าน มาศึกษาเรื่องการเวียนว่ายตายเกิดจนมั่นใจว่า ชาตินี้ชาติหน้ามีจริง นิพพานมีจริง เชื่อในกฎแห่งกรรมว่ามีผลจริง และมั่นใจว่าถ้าเราปฏิบัติอย่างถูกต้องตรงธรรม เราก็สามารถบรรลุเป็นอรหันต์ในชาตินี้ได้ ถ้าหมดความลังเลสงสัย  จิตก็พัฒนาได้เร็วขึ้นอีกมาก

2. ทาน ตรงนี้เราก็ต้องทำให้พอเพียง เพราะถ้าไม่สนใจทำเลย  เราก็จะเป็นคนที่ยึดมั่น ละวางไม่เป็น สละอะไรไม่ได้การจะไปถึงจุดที่รู้จักคำว่าเพียงพอมันก็ยากขึ้น  พระพุทธเจ้าท่านให้เราทำทานก็เพราะการทำทานช่วยให้เราเป็นคนไม่เห็นแก่ตัว  คิดถึงผู้อื่น  มีจิตใจโอบอ้อมอารีย์   จิตใจเช่นนี้เองจึงมีความเหมาะสมที่จะพัฒนาต่อไปได้ทั้งทางสมถะและวิปัสสนา

3. ศีล เรื่องนี้ก็ต้องรักษาให้บริสุทธิ์  โดยเน้นไปที่ใจของเราให้ได้ เรียกว่า คุมศีลตั้งแต่ที่ใจคือเห็นผู้คน เรา เขา มีความเสมอภาคกัน เป็นเพื่อนทุกข์เกิดแก่เจ็บตาย  หมั่นเจริญพรหมวิหารสี่ให้มาก เพราะข้อนี้พระพุทธเจ้าท่านตรัสว่าเป็นกรรมฐานที่เป็นคู่ปรับกับความโกรธ ความอาฆาต ความวู่วามทั้งหลาย  ซึ่งสำคัญมาก  กรรมฐานกองนี้จะละเลยไม่ได้เลย  ผู้ใดปฏิบัติธรรมโดยที่จิตไม่มีวิหารธรรมเป็นเครื่องอยู่  บุคคลผู้นั้นอย่าได้หวังว่าจะมีความก้าวหน้าในทางธรรม

4. สมาธิ การที่จิตเราจะตั้งมั่นสามารถพิจารณาสภาวธรรมต่างๆ ได้ดีนั้น ก็ต้องมีรากมีฐานเป็นความสงบของจิตด้วย ถ้าสมาธิไม่มีความสำคัญแล้วพระพุทธเจ้าคงไม่ระบุวิธีทำกรรมฐานเพื่อสร้างกำลังของจิตไว้มากถึง 40 วิธี
ถ้าเราพบว่า ตัวเองเป็นคนฟุ้งซ่านบ่อย ไม่สามารถควบคุมอารมณ์ได้ โกรธง่ายทุกข์ง่ายจนเกินไป แปลว่า จิตของเรามันยังกระด้างก็ให้ปราบพยศมันด้วยการทำสมาธิเสียก่อน  เรียกว่าใช้สมาธิเป็นเครื่องมือทรมานจิตให้มันเชื่องก่อน  แล้วจึงทำในขั้นตอนต่อไป

5. วิปัสสนา เมื่อจิตเป็นสมาธิ ความฟุ้งซ่านน้อยลง สามารถกำหนดอารมณ์เป็นหนึ่งได้แล้วจึงค่อยมาพิจารณาความจริงตามลำดับ ตรงนี้ก็เลือกเอาตามความพอใจทั้งกาย เวทนา จิต ธรรม

ถ้าอ่านมาตั้งแต่แรกจะเห็นได้ว่า ทุกอย่างมันร้อยถึงกันหมด ถ้าเราเริ่มต้นไม่ดี ปลายมันก็จะมีปัญหา ความศรัทธาไม่มีจะเอากำลังใจที่ไหนมาทำทานเสียสละ  ถ้าเสียสละแค่นี้ยังไม่ได้จะเอากำลังใจที่ไหนมาถือศีล มาเจริญพรหมวิหารสี่ ศีลไม่ถือ พรหมวิหารสี่ไม่เคยเจริญ  เมื่อทำสมาธิมันก็คอยจะมีแต่นิวรณ์  หลับตาไปก็มีแต่ความฟุ้งซ่านคิดโน่นคิดนี่ เพราะมันคิดฟุ้ง พูดฟุ้ง ทำฟุ้งมาทั้งวันอย่างนี้ก็ไม่มีทางที่จะได้สมาธิ  ที่ว่าทำสมาธิกันไม่ได้

ที่ว่าฌานนั้นทำยากทำเย็น  ปัญหามันก็มาจากตรงนี้คือศีลไม่ถือ  พรหมวิหารสี่ไม่มีเพียงพอนั่นเอง  เมื่อจิตไม่ได้สมาธิพอ  ไปทำวิปัสสนามันก็เกิดความล่าช้าคือ ทำไปเท่าไหร่มันก็ย่ำอยู่กับที่  ความก้าวหน้าทางธรรมเกิดน้อย  ใช้ชีวิตด้วยความลืมเนื้อลืมตัว   ทั้งวันเผลอออกนอกทางไปทั้งวัน  มีผัสสะเข้ามากระทบก็รับรู้ได้ไม่กระจ่างชัด ลดทุกข์ได้บ้างนิดๆ หน่อยๆแบบโลกๆ แต่ไม่สามารถตัดกิเลสก้าวสู่ความเป็นอริยบุคคลได้

สังเกตได้ว่า คุณธรรมในศาสนาพุทธ จะไม่มีบทที่หนึ่ง บทที่สอง บทที่สาม เพราะแต่ละคนมีพื้นฐานแห่งธรรมที่ไม่เท่ากัน  เราจำเป็นต้องสำรวจตนเองว่า ตัวของเราอยู่ในขั้นไหนและทำไปตามขั้นตอนที่ว่ามา ไม่มีคุณธรรมใดที่เล็กน้อยจนเกินไป

แม้บางคนไม่เคยเจริญวิปัสสนาเลยในชีวิต แต่เขาก็สามารถมีจิตที่เบาบาง  มีเมตตาต่อบุคคลอื่นได้ ในขณะที่หลายคนเจริญวิปัสสนาอยู่เสมอ  แต่กลับเป็นคนที่โกรธง่าย เครียดง่าย และเบื่อง่าย เหล่านี้แสดงให้เห็นถึงพื้นฐานที่มีมาต่างกัน

เราต้องจำไว้เสมอว่าธรรมนั้นมีลักษณะร้อยเรียงกันไม่ได้มีลักษณะอยู่อย่างโดดๆ ถ้าช่วงต้นทำมาไม่ดี ช่วงสองก็มีปัญหา  ช่วงสามก็ไปต่อไม่ได้ ตรงนี้ต้องลองกลับไปไล่ดูครับว่า ตรงไหนที่เราขาดเราก็เสริมขึ้นมา ศรัทธา เราไม่พอเราก็หาอุบายมาเติม ทานเราไม่พอ ก็ทำเพิ่มศีลยังไม่ดี ก็ถือพรหมวิหารสี่แล้วคุมศีลไปที่ใจของเราจะได้ไม่ต้องอึดอัด จิตไม่ตั้งมั่น ก็ลองฝึกทำสมาธิดู  ถ้าทำวิปัสสนาแล้วพิจารณาไม่ชัดเจน ก็ถอยหลังไล่ไปดูที่ละข้อว่าเราขาดตรงไหน ก็เพิ่มเติมในส่วนนั้นเสีย

วิปัสสนานั้นคือดอกและผล จริงอยู่ดอกผลอาจดูมีค่า สวยงาม จนใครๆ อยากเอามาเป็นเจ้าของ แต่ก่อนที่จะมีดอกผลได้ เราก็ต้องมีราก มีใบ มีกิ่งมีลำต้น เช่นเดียวกับที่ต้องมีศรัทธา  มีศีล(และพรหมวิหารสี่) มีสมาธิมีวิปัสสนา

ถ้าทุกอย่างสมบูรณ์พร้อม ขอให้เชื่อมั่นได้เลยว่าความก้าวหน้าในทางธรรมจะเกิดขึ้นได้  จะเห็นผลภายในเจ็ดวันเจ็ดเดือนหรือเจ็ดปี  ไม่ผิดไปจากคำกล่าวของพระพุทธเจ้าแน่นอน

 

เรื่อง : พศิน อินทรวงค์

ที่มา : นิตยสาร Secret ฉบับ 224


บทความน่าสนใจ

การปฏิบัติสมาธิ มีหลายแบบหลายแนวไม่เหมือนกัน สรุปแล้วจะเชื่อสำนักใดดี?

ฝึกสมาธิภาวนา : สัจธรรมสากลสำหรับคนทั้งโลก โดย ว.วชิรเมธี

Dhamma Daily : ทำไม ปฏิบัติธรรม แล้วยังเอารัดเอาเปรียบและพูดจาว่าร้ายคนอื่น

เหตุผลที่นักปฏิบัติธรรมยังคงพ่ายแพ้กิเลส บทความจาก พระไพศาล วิสาโล

10 คติธรรมคำสอนของ หลวงปู่แหวน สุจิณโณ ที่ชาวพุทธควรน้อมนำมาปฏิบัติ

© COPYRIGHT 2024 Amarin Corporations Public Company Limited.