ลัคเนา

ลัคเนา อีกหนึ่งประตูสู่สังเวชนียสถาน

ลัคเนา อีกหนึ่งประตูสู่สังเวชนียสถาน

ปัจจุบันมีคนไทยเดินทางไปประเทศอินเดีย ในแต่ละปีเป็นจำนวนไม่น้อย แต่น้อยคน ที่จะรู้จักเมือง ลัคเนา (Lucknow) เมืองหลวงของรัฐอุตตรประเทศ ซึ่งอยู่ทางตอนเหนือของประเทศอินเดีย มีชายแดนติดกับประเทศเนปาล เป็นรัฐที่มีสถานที่สำคัญทางพุทธศาสนาหลายแห่ง

สายการบินไทยสมายล์ที่เปิดเส้นทางบินตรงไปยังเมืองนี้ช่วยให้การเดินทางไปท่องเที่ยวและแสวงบุญยังสถานที่สำคัญทางพุทธศาสนสถานในอินเดียสะดวกสบายมากขึ้นเพราะนอกจากเส้นทางนี้ ไทยสมายล์ยังเปิดเส้นทางบินกรุงเทพฯ - คยา กรุงเทพฯ - พาราณสี ทำให้ผู้ที่ต้องการไปสักการะสังเวชนียสถานสามารถมาลงที่ลัคเนา ซึ่งใช้เวลาบินแค่สามชั่วโมงกว่า แล้วเดินทางต่อไปยังเมืองสาวัตถี ลุมพินีกุสินารา เวสาลี พุทธคยา พาราณสี จากนั้นกลับกรุงเทพฯที่พาราณสีได้เลย โดยไม่ต้องย้อนกลับมาที่ลัคเนาอีก หรือกลับกัน ไปลงที่คยาหรือพาราณสีแล้วมาขึ้นเครื่องกลับเมืองไทยที่ลัคเนาก็ได้

ก่อนเดินทางไปอินเดียมีคนขู่ต่าง ๆ นานาทั้งเรื่องผู้คนอาหารการกิน น้ำดื่ม และอื่น ๆ อีกมากมาย ตลอดสามวันที่อยู่ในอินเดียก็พบว่าเรื่องที่ “เขาเล่ามา” นั้นมีทั้งที่เป็นจริงและไม่จริงเสียทีเดียว

อาหารการกินเป็นหนึ่งในเรื่องที่นักท่องเที่ยวไทยเป็นห่วงนักหนา ถึงขนาดมีคนบอกให้เอาบะหมี่สำเร็จรูปไปด้วย เพราะอาหารอินเดียใส่เครื่องเทศ แต่เมื่อไปถึงจริง ๆ ก็ไม่ถึงขนาดกินอะไรไม่ได้เลย อย่างแกงกะหรี่ไก่ รสชาติก็ไม่ได้แตกต่างจากที่บ้านเราเท่าใดนัก ยิ่งหากเป็นการเดินทางเพื่อแสวงบุญด้วยแล้ว ไม่ใช่เรื่องที่ต้องกังวลเลยแม้แต่น้อย แค่ระมัดระวังเรื่องความสะอาดเพื่อไม่ให้เจ็บป่วยเท่านั้น

เนื่องจากประชากรส่วนใหญ่ที่อาศัยในเมืองลัคเนานับถือศาสนาฮินดูและอิสลาม คนฮินดูไม่กินเนื้อวัว คนมุสลิมไม่กินหมูดังนั้นอาหารจึงทำจากเนื้อไก่และปลาเป็นหลัก ยิ่งกว่านั้นคนอินเดียจำนวนไม่น้อยที่เป็นมังสวิรัติ ยกเว้นของหวานที่หวานมาก ชนิดที่แม้แต่คนไทยที่ใส่น้ำตาลในอาหารคาวยังต้องถอยส่วนอาหารข้างทางนั้น ไกด์เล่าให้ฟังว่าเคยพานักท่องเที่ยวคนไทยกินไอศกรีมรถเข็น ผลคือท้องเสียกันทุกคนจนต้องเข้าโรงพยาบาลฉันจึงไม่กล้าลอง แม้จะเป็นอาหารที่ทอดบนกระทะร้อน ๆเพราะเกรงใจลำไส้ตัวเองที่ใช้งานหนักมานานหลายสิบปีแล้ว

คนอินเดียที่พบเจอในระยะเวลาสั้น ๆ นั้นค่อนข้างเป็นมิตรและชอบถ่ายรูป น้องสื่อมวลชนบางคนเข้าไปถ่ายใกล้ ๆ เขาก็ยอมให้ถ่ายโดยไม่รำคาญหรือหงุดหงิดแต่อย่างใดแถมหลายคนชอบมาขอถ่ายรูปกับนักท่องเที่ยว หากอยากรู้ว่าใครหน้าตาดีในสายตาคนอินเดียที่นี่ให้วัดเรตติ้งจากการที่เขามาขอถ่ายรูปด้วย

สถานที่ท่องเที่ยวตามแผนการเดินทางกับบริษัททัวร์ส่วนใหญ่เป็นโบราณสถานที่เกี่ยวข้องกับศาสนาฮินดูและศาสนาอิสลาม แต่หากมีเวลาไม่มากนัก สถานที่ที่น่าสนใจและไม่ควรพลาดคืออัมเบดการ์ เมโมเรียล ปาร์ค ซึ่งตั้งตามชื่อดร.บาบาสาเฮบ พิมเรา รามจิ อัมเบดการ์ (Dr.BabasahebBhimrao Ramji Ambedkar) บุคคลสำคัญคนหนึ่งของประเทศอินเดีย

ประวัติโดยสังเขปของ ดร.อัมเบดการ์ คือท่านเกิดเป็นคนในวรรณะจัณฑาล ซึ่งเป็นชนชั้นต่ำสุดในสังคมอินเดีย แต่บิดามารดาพยายามทุกวิถีทางเพื่อส่งให้ท่านเรียนจนจบมัธยมซึ่งท่านต้องอดทนต่อการถูกดูถูกเหยียดหยามจากเพื่อนนักเรียนด้วยกัน โดยต้องไปนั่งเรียนบนพื้นที่มุมห้องด้านหลัง ไม่สามารถดื่มน้ำจากก๊อกน้ำ ต้องให้เพื่อนนักเรียนคนอื่นเทน้ำกรอกใส่ปากให้

อย่างไรก็ตาม เนื่องจากท่านเป็นคนเรียนเก่งมาก ทำให้มหาราชาพระองค์หนึ่งผู้ประสงค์จะสนับสนุนคนในวรรณะต่ำให้ได้รับการศึกษา จึงได้พระราชทานทุนการศึกษาจนเรียนจบปริญญาโทจากสหรัฐอเมริกา หลังจากนั้นท่านก็ขวนขวายหาทางเรียนต่อจนจบปริญญาเอกด้วยตนเอง และกลับมาทำงานเป็นอาจารย์ รวมทั้งเคลื่อนไหวทางการเมืองเพื่อเรียกร้องสิทธิที่เท่าเทียมกันของ

คนต่างวรรณะ ต่อมามหาตมาคานธีเชิญให้ท่านมาเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมรวมถึงมีส่วนในการร่างรัฐธรรมนูญฉบับแรกของอินเดีย ซึ่งรับรองความเท่าเทียมกันของคนอินเดียด้วยการร่างมาตรายกเลิกวรรณะจัณฑาล เพื่อให้คนทุกศาสนา ทุกวรรณะมีสิทธิ์เลือกตั้งเหมือนกัน

ภายหลัง ดร.อัมเบดการ์เปลี่ยนมานับถือศาสนาพุทธ ส่งผลให้คนวรรณะจัณฑาลเปลี่ยนมานับถือพุทธศาสนาตามเป็นจำนวนมาก พุทธศาสนาจึงกลับมาเป็นที่สนใจอีกครั้งในอินเดีย ดร.อัมเบดการ์เสียชีวิตเมื่อปี ค.ศ. 1956 หลังจากปวารณาตนเป็นพุทธมามกะอย่างเป็นทางการได้เพียง 3 เดือน

แม้เลือกเกิดไม่ได้ แต่เลือกที่จะมีชีวิตที่ดีและมีประโยชน์ต่อผู้อื่นได้ 

ที่มา : คอลัมน์ Travel In Peace นิตยสาร Secret

เรื่อง / ภาพ ปถวิกา


บทความน่าสนใจ

อินเดียไม่เคยเปลี่ยนเราต่างหากที่ต้องเปลี่ยน – บันทึกการเดินทางในดินแดนภารตะ

ปัญหาธรรมประจำวันนี้ : ปฏิบัติธรรมที่อินเดียทำให้ เห็นธรรม ถ่องแท้กว่าหรือไม่

7 เรื่องน่ารู้เกี่ยวกับ วัดราชบพิธ สถิตมหาสีมารามราชวรวิหาร

วัดพระแท่นศิลาอาสน์ ปฏิบัติธรรมท่ามกลางความสงบและเรียบง่าย

© COPYRIGHT 2024 Amarin Corporations Public Company Limited.