การทำร้ายสัตว์

ไขข้อข้องใจเรื่องของ การทำร้ายสัตว์ พร้อมผลกรรมจากการผิดศีลข้อ 1

ไขข้อข้องใจเรื่องของ การทำร้ายสัตว์ พร้อมผลกรรมจากการผิดศีลข้อ 1

การทำร้ายสัตว์ ถือเป็นการกระทำที่ผิดศีล 5 ในข้อที่ 1 ที่ว่าด้วยเรื่องของการห้ามทำร้ายสัตว์ และถ้าหากทำผิดศีลข้อนี้ ผลกรรมที่ตามมาจะเป็นอย่างไรไปดูกันค่ะ

ศีล  เป็นข้องดเว้นไม่ให้ประพฤติ เพื่อให้คนมีพฤติกรรมดีงามและอยู่ในสังคมอย่างสงบสุข   ศีลมีหลายประเภท เช่น  ศีลสำหรับภิกษุมี 227 ข้อ  สำหรับภิกษุณีมี 311 ข้อ สำหรับสามเณรมี 10 ข้อ ส่วนฆราวาสอย่างเรามี 5 หรือ 8 ข้อ สุดแท้แต่จะเลือกปฏิบัติ  ศีลห้าจึงหมายถึง ข้องดเว้นห้าข้อนั่นเอง ได้แก่

ข้อหนึ่ง เว้นจากการฆ่า คือ การพรากจิตวิญญาณ ออกจากร่าง รวมถึงเว้นการเบียดเบียน ไม่ว่าจะเป็นการกักขังทุบตี ทำร้าย

ข้อสอง เว้นจากการลักขโมย หรือการครอบครองสิ่งที่เจ้าของยังมิได้อนุญาตยกให้

ข้อสาม เว้นจากการประพฤติผิดในกาม หรือคือเว้น การล่วงประเวณีในลูก สามี หรือภรรยาของผู้อื่น

ข้อสี่ เว้นจากการพูดไม่ตรงกับความจริง

ข้อห้า เว้นจากการเสพเครื่องดองของเมา เช่น สุราและเมรัยอันจะเป็นเหตุทำให้ผู้เสพขาดสติสัมปชัญญะ

การทำร้ายสัตว์ พร้อมผลกรรมจากการผิดศีลข้อ1

ถาม :  ถ้าเราไม่ได้ฆ่าเอง แต่สั่งให้เขาฆ่า นี่ถือว่าผิดศีล ข้อหนึ่งไหมคะ

ตอบ :  ผิดสิ่ ถ้ารู้ว่าสิ่งนั้นมีชีวิตแล้วสั่งให้ฆ่า เช่น ไข้หวัดนกระบาด เมื่อพบไก่ตาย เจ้าหน้าที่สั่งให้ฆ่าสัตว์ปีกทิ้งทั้งหมู่บ้านแบบนี้ คนสั่งให้ฆ่าเป็นจำเลยบาปที่หนึ่ง คนลงมือฆ่าเป็นจำเลยบาป ที่สอง ส่วนคนที่เห็นดีด้วยเป็นจำเลยบาปที่สาม  รู้ว่าเขาฆ่าเพื่อเราก็ผิด เช่น ไปกินอาหารทะเล แล้วสั่งให้เขาจับกุ้งที่ว่ายอยู่ในตู้กระจกมาเผาให้เรากิน อย่างเช่น ร้านอาหารที่ฮ่องกงเลี้ยงปลาไว้ในอะควาเรียมแล้วให้คนกิน  ไปชี้ว่าจะเอาตัวนั้นตัวนี้ แบบนี้ผิดแน่ๆ

ถาม : อย่างนี้ก็ห้ามกินกุ้งเต้นเลยสิคะ

ตอบ :  บาปแน่นอน เพราะกุ้งยังกระโดดอยู่เลยถ้าเราตั้งใจฆ่าแต่เขาไม่ตายล่ะคะผิดไหม แค่ตั้งใจฆ่าก็ผิดแล้วแม้สัตว์จะไม่ตายแต่การทำให้สัตว์ เดือดร้อนผูกพยาบาทจองเวรเราเมื่อไร ถือว่าเป็นบาป

ถาม : อาจารย์คะ ถ้าศีลข้อหนึ่งหมายรวมถึงการกักขังด้วย อย่างนี้ก็เลี้ยงปลาไม่ได้น่ะสิคะ

ตอบ :  ขึ้นอยู่กับว่าเลี้ยงอย่างไร ถ้าให้สัตว์อยู่ในสภาพที่สบายใจ มีอาหารให้กินสัตว์ไม่จองเวรเราไม่ถือว่าเป็นบาปหมาแมวก็เหมือนกันถ้าเราเลี้ยงเขาอุดมสมบูรณ์ให้อิสรภาพแก่เขานั่นไม่ถือว่าเป็นบาป แต่ถ้าเลี้ยงขังกรง ล่ามโซ่ ขาดอิสรภาพนั่นถือว่าเป็นบาปนะ

ถาม :  แล้วถ้าเราเอาลูกเขามาขายล่ะคะ ผิดไหม

ตอบ : ผิดสิ่ เพราะเป็นการพรากลูกไปจากแม่ เป็นการเบียดเบียนเขา การค้าขายสัตว์มีชีวิตถือว่าเป็นมิจฉาอาชีวะ คือ อาชีพที่พระพุทธเจ้าทรงบัญญัติไม่ให้พุทธบริษัททำ

ถาม :  ถ้าทำผิดศีลข้อหนึ่ง เราจะต้องได้รับผลของกรรมอย่างไรคะ

ตอบ : ฆ่าสัตว์ทำให้มีอายุสั้น เบียดเบียนสัตว์ เมื่อกรรมให้ผลจะเจ็บไข้ได้ป่วย  โรคทั้งหลายที่เป็นโดยหาสาเหตุไม่ได้ และรักษาไม่หาย เช่น มะเร็ง มักเป็นผลของการผิดศีลข้อหนึ่ง ตัวอย่างเช่น ผู้หญิงคนหนึ่งตอนเด็กๆ เคยไปจับแมลงปอเข็มมาเด็ดก้นออกเอาหญ้าเสียบเข้าไป แล้วให้บินโดยมีหญ้าเสียบก้นในที่สุด  เมื่อกรรมให้ผลจึงเป็นริดสีดวงทวาร รักษาอย่างไรก็ไม่หาย

ถาม : ถึงแม้จะทำไปตั้งแต่ยังเป็นเด็กและไม่ได้เจตนาก็ผิดหรือคะ

ตอบ : ไม่เจตนา หมายถึง ไม่ได้ตั้งใจทำ แต่จงใจทำให้เขาเดือดร้อนเจ็บปวด หรือตาย ทั้งที่รู้ว่าเขามีชีวิต อย่างนี้เรียกว่ากระทำโดยมีเจตนา ถือเป็นความผิด

การฆ่าสัตว์ในแต่ละครั้ง ถ้าหากผู้ฆ่ารู้ว่า สัตว์นั้นยังมีชีวิต แม้ตัวเองก็คิดฆ่า มีความเพียรพยายามที่จะฆ่า และสัตว์นั้นต้องมาตายด้วยการกระทำของเรา ถ้าหากเราพิจารณาโดยละเอียดมองกระบวนการก่อนฆ่า ขณะฆ่าและหลังฆ่าแล้ว ยิ่งทำให้รู้ว่า ก่อนที่สัตว์จะถูกฆ่า จะต้องมีความสะดุ้งกลัวตกใจ ร้องไห้ เศร้าโศกเสียใจที่ต้องมาตายก่อนอายุขัย ในขณะฆ่าจะต้องได้รับความเจ็บปวด ทุกข์ทรมานจากพิษบาดแผลหรือคมศัตราอาวุธ

การฆ่าที่ประกอบด้วยเหตุปัจจัยหลายอย่างเช่นนี้  ผู้ฆ่าจะมีบาปมาก ยิ่งถ้าไปฆ่าสัตว์ที่เป็นแม่ลูกอ่อนหรือกำลังมีลูกเล็กๆต้องเลี้ยงดูอยู่อีกหลายตัว ยิ่งจะบาปมากเพราะไม่ใช่ฆ่าตัวแม่เท่านั้น แต่ยังฆ่าลูกอ่อนๆที่อยู่ในท้องอีกและพวกลูกน้อยที่ขาดแม่ ไม่ได้กินนมหรือได้รับการปกป้องคุ้มครองจากแม่ก็ต้องมาตายตามไปด้วย

ฉะนั้น การฆ่า คือ กรรม เมื่อสร้างเหตุปัจจัยไว้อย่างไร ผลของการฆ่า หรือ กฎแห่งการสะท้อนกลับ จะต้องเป็นไปเช่นเดียวกันกับเหตุที่ทำเอาไว้ คือ เมื่อถึงเวลาที่บาปกรรมนั้นส่งผล ตัวผู้ฆ่า จะต้องได้รับผลร้าย ประสพกับความลำบากเดือดร้อน เจอความวิบัติอุปัทวันตรายต่างๆ โรคภัยเบียดเบียน สูญเสียหรือพลัดพรากจากคนผู้เป็นที่รักทั้งหลายหรือ ทำให้อายุสั้นตายก่อนวัยสมควรเหมือนกัน


เรื่องจาก : นิตยสาร Secret คอลัมน์ Dhamma Talk, ชุมชนรักษ์ธรรม

ภาพ: Photo by Antonino Visalli on Unsplash


บทความที่น่าสนใจ

กรรมที่ฉันทำกับข้าวตอก เรื่องเล่า กฎแห่งกรรม ที่ทำกับสัตว์

กรรมไม่เคยละเว้นใคร ไม่ว่ากรรมนั้นจะเป็น “ บุญหรือบาป ”

ปัญหาธรรมประจำวันนี้ : เรื่องของเวรกรรมจะพิสูจน์ได้อย่างไร

© COPYRIGHT 2024 Amarin Corporations Public Company Limited.