ปล่อยวาง ได้

มีความสุขได้ เพราะปล่อยวาง ได้ จริงหรือไม่?

มีความสุขได้ เพราะ ปล่อยวาง ได้ จริงหรือไม่? บทความดีๆ จาก พระไพศาล วิสาโล

ชีวิตมนุษย์ จะมีความสุขได้ ถ้าเรา ปล่อยวาง ได้ แม้มีข้าวของไม่กี่ชิ้นก็มีความสุขล้นเหลือ ตรงข้ามกับคนที่ประสบความสำเร็จอย่างสูงในทางโลก ยิ่งมีมากแต่ความสุขกลับลดลง

ในทัศนะของคนทั่วไป ความสุขของชีวิตอยู่ที่การมีหรือหามาได้มากๆไม่ว่าทรัพย์สินเงินทอง ชื่อเสียงเกียรติยศ อำนาจ ยิ่งมีมากเท่าไรก็ยิ่งเป็นสุขมากเท่านั้น ความสำเร็จหรือความเจริญก้าวหน้าก็เช่นกันวัดกันที่ตรงนั้น ถ้ามีเงินมากขึ้นมีรถยนต์เพิ่มขึ้น มีบ้านหลังใหญ่ขึ้นหรือมีตำแหน่งที่สูงขึ้น ก็ถือว่ามีความสำเร็จและเจริญก้าวหน้ามากกว่าเดิม

แต่ความสุขทางใจหรือความสุขทางธรรมนั้นสวนทางกับความสุขทางโลก คนเราจะพบกับความสุขทางใจได้ต่อเมื่อรู้จักลดละหรือสละออกไป เริ่มจากการสละหรือให้สิ่งของที่มีอยู่แก่ผู้อื่น เมื่อเราให้ทานหรือบริจาคข้าวของเงินทอง เราย่อมรู้สึกปีติยินดี โดยเฉพาะเมื่อเห็นผู้รับมีความสุข เราก็พลอยมีความสุขด้วย คนที่คิดแต่จะเอาเข้าตัวอย่างเดียวจะไม่มีวันรู้จักความสุขชนิดนี้ เพราะถูกความเห็นแก่ตัวครอบงำ

การให้หรือสละสิ่งของนอกจากเป็นการลดความเห็นแก่ตัวแล้วยังเป็นการลดความยึดติดถือมั่นในทรัพย์ด้วย ยิ่งของนั้นๆ เป็นสิ่งที่เรารักหรือหวงแหนมากเท่าไร การสละออกไปก็ยิ่งทำให้ความยึดมั่นใน “ของกู” เบาบางลงมากเท่านั้น เป็นการฝึกฝนจิตใจให้รู้จักปล่อยวางจึงช่วยให้เรามีความสุขใจได้ง่ายขึ้น เพราะหากมีเหตุให้ต้องสูญเสียทรัพย์ เราก็จะปล่อยวางได้รวดเร็ว ไม่มัวเศร้าโศกเสียใจ หรือหวนหา-อาลัย หรือเป็นทุกข์สองต่อ คือนอกจากเสียของแล้วยังเสียอารมณ์อีกต่างหาก

นอกจากความยึดติดถือมั่นในทรัพย์แล้ว ความยึดติดในอารมณ์ต่างๆ เช่น ความโกรธเกลียด ความคับแค้นข้องขัด ความน้อยเนื้อต่ำใจก็เป็นสิ่งที่ต้องลดละด้วย จึงจะทำให้เรามีความสุขอย่างแท้จริงการลดละอย่างหลังทำไม่ได้ด้วยการให้ทาน แต่ต้องอาศัยวิธีการอื่นได้แก่ การควบคุมกายและวาจาไม่ให้ทำตามอำนาจของอารมณ์ และการฝึกจิตให้เป็นอิสระหรือปล่อยวางอารมณ์เหล่านั้นได้ วิธีการดังกล่าวก็คือศีลและภาวนานั่นเอง

จะเห็นได้ว่าการปฏิบัติธรรมหรือการทำบุญในพุทธศาสนาล้วนเป็นไปเพื่อการลดละหรือสละวางสิ่งซึ่งก่อความข้องขัดในจิตใจ ซึ่งมีแก่นแกนอยู่ที่ความยึดติดถือมั่นในตัวตน หรือยึดมั่นว่าเป็น “ตัวกูของกู” ความยึดติดถือมั่นดังกล่าวแสดงอาการออกมาในหลายรูปลักษณ์

เช่น อยากได้ไม่รู้จักพอ (ตัณหา) อยากใหญ่ใคร่เด่น (มานะ) และติดยึดในความเห็นของตน (ทิฏฐิ) ตราบใดที่ยังมีความยึดติดถือมั่นในตัวตนอย่างแน่นหนาก็ยากจะมีความสุขใจได้ แม้มีวัตถุพรั่งพร้อมและมีอำนาจล้นแผ่นดินก็ตาม

ความสำเร็จทางโลกนั้นมุ่งที่การแสวงหาสิ่งต่างๆ มาครอบครองให้มากที่สุด สิ่งที่มักตามมาก็คือ ความยึดติดถือมั่นในตัวตนเพิ่มพูนมากขึ้น ทำให้เกิดความอยากได้มากขึ้นกว่าเดิม ไม่มีความสุขกับสิ่งที่มีขณะเดียวกันก็เกิดความหลงตัวว่าเก่งและสูงเด่น รวมทั้งยึดมั่นในความเห็นของตนเหนียวแน่นกว่าเดิม ซึ่งมักนำไปสู่การวิวาทบาดหมางและทะเลาะวิวาท ดังนั้นจึงมักมีเรื่องร้อนใจอยู่เนืองๆ สุขแต่กายแต่ใจไม่เป็นสุข

อย่างไรก็ตาม ใช่ว่าใครมาปฏิบัติธรรมแล้วจะพบกับความสุขใจไปเสียหมดก็หาไม่ ตราบใดที่การกระทำดังกล่าวไม่ได้ช่วยลดละความยึดติดถือมั่นในตัวตน หรือตัณหา มานะ และทิฏฐิเลย จิตใจก็ย่อมรุ่มร้อนข้องขัด หาความสงบเย็นได้ยาก

มีคนจำนวนไม่น้อยเมื่อให้ทาน ใจก็ไม่ได้ลดละ กลับอยากได้มากขึ้น เช่น ทำบุญถวายสังฆทานก็อธิษฐานขอให้มั่งมี ได้โชคลาภหรือไม่ก็อยากประกาศให้สาธารณชนรู้ว่าตนเป็นคนใจบุญ บางคนชอบทำบุญ แต่ไม่อยากอุทิศส่วนบุญให้ใคร เพราะกลัวว่าบุญของตนจะเหลือน้อยลง

ส่วนใครที่เคร่งศีลหรือขยันทำสมาธิภาวนาแล้วเกิดความหลงตน รู้สึกว่าตนเองบริสุทธิ์กว่าคนอื่นหรือเหยียดผู้อื่นว่าด้อยกว่าตนอย่างนี้ก็ยากจะมีความสุขใจได้ เพราะมีมานะแน่นหนาและตัวตนใหญ่ขึ้นไม่ถือว่ามีความก้าวหน้าในการปฏิบัติ เพราะแทนที่กิเลสจะลดลงกลับพอกพูนมากขึ้น พระพุทธองค์ถึงกับตรัสว่า บุคคลที่เคร่งในศีลวัตรหรือได้คุณพิเศษทางจิต เช่น ได้ฌานสมาบัติ แต่หากเกิดความรู้สึกลำพองใจว่าฉันเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ ส่วนคนอื่นไม่ได้เป็นอย่างฉัน เกิดอาการยกตนข่มผู้อื่นแล้ว ล้วนเป็น “อสัตบุรุษ” ทั้งสิ้น

ทาน ศีล และภาวนานั้นเป็นเสมือนเครื่องขัดเกลากิเลสออกไปจากจิตใจ ยิ่งขัดเกลามากเท่าไร จิตใจก็จะงดงามผ่องแผ้วมากเท่านั้นไม่ต่างจากหินก้อนโตเทอะทะผิวหยาบ เมื่อถูกช่างแกะสลักเอาส่วนเกินออกไป สิ่งที่เหลือคือองค์พระปฏิมาอันงดงาม

หากให้ทาน รักษาศีล และบำเพ็ญภาวนาแล้วกิเลสไม่ได้ลดลงยังมีความยึดติดถือมั่นในตัวตนแน่นหนา ก็แสดงว่าทำผิดแล้ว หรือพูดให้ถูกต้องกว่านั้นก็คือ “ทำผิดในสิ่งที่ถูก” ความดีนั้นหากทำไม่ถูกวางใจไม่เป็น มันก็เป็นโทษแก่ตนเองได้ ท่านอาจารย์พุทธทาสจึงเตือนเสมอว่า ระวังอย่าให้ความดีกัดเจ้าของ

ไหนๆ จะทำความดีแล้ว ก็ควรทำโดยมุ่งลดละหรือสกัดส่วนเกินที่พอกหุ้มจิตใจออกไป เช่น เวลาทำบุญก็นึกถึงประโยชน์ของผู้รับเป็นสำคัญ ไม่นึกปรารถนาอะไรให้ตัวเอง หรือถ้าจะตั้งจิตปรารถนาก็ขอให้กิเลสลดลง ความโลภเบาบาง

ในทำนองเดียวกัน เมื่อรักษาศีลก็อย่าไปเพ่งโทษหรือจับผิดคนอื่น แต่หันมาดูใจของตนเองว่ากิเลสหรือมานะเพิ่มพูนขึ้นหรือไม่เมื่อทำสมาธิภาวนาก็อย่ามัวเปรียบเทียบตนเองกับคนอื่น แม้จะได้ความสงบก็ไม่ควรประมาทหรือหลงดีใจ เพราะสิ่งสำคัญอยู่ที่ว่าความยึดติดถือมั่นในตัวตนลดลงหรือไม่ ถ้ายึดติดถือมั่นในตัวตนมากขึ้นก็ถือว่าถอยหลัง

ผู้ที่ลดละความยึดติดถือมั่นในตัวตนได้เป็นลำดับ จิตใจจะสงบเย็น และเป็นสุขมากขึ้น เป็นความสุขที่มาจากภายใน ทำให้พึ่งพาวัตถุหรือสิ่งภายนอกน้อยลง ผลที่ตามมาก็คือ อยู่ง่ายและกินง่าย

บุคคลที่ลดละได้อย่างสิ้นเชิง แม้มีข้าวของไม่กี่ชิ้นก็มีความสุขล้นเหลือ ตรงข้ามกับคนที่ประสบความสำเร็จอย่างสูงในทางโลก ยิ่งมีมากแต่ความสุขกลับลดลง

 

ที่มา : นิตยสาร Secret

ภาพ : www.pexels.com


บทความที่น่าสนใจ

5 คำสอนจากพระ ที่คุณนำมาปรับใช้กับ ชีวิตประจำวัน ได้

วันที่ ฝึกสติ เป็น วันแห่งความสุข โดย พระเมธีวชิโรดม (ว.วชิรเมธี)

งานจิตอาสา ทางธรรม คือ ความสุขของผม : อ๊อฟ-อัครพล ทองธราดล

ความสุขพอเพียง เรียบง่าย ไม่ สิ้นเปลือง โดย พระอาจารย์ยุทธนา เตชปัญฺโญ

ความสุขคือ จุดเริ่มต้น  บทความดี ๆ เพิ่มพลังบวกให้ชีวิต

นิพพานชั่วขณะ ละวางตัวตน ธรรมะโดย พระไพศาล วิสาโล

เจริญมรณสติ วิถีสู่นิพพาน โดย พระไพศาล วิสาโล

© COPYRIGHT 2024 Amarin Corporations Public Company Limited.